มะกล่ำตาหนู ประโยชน์ดีๆ สรรพรคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
มะกล่ำตาหนู งานวิจัยและสรรพคุณ 26 ข้อ
ชื่อสมุนไพร มะกล่ำตาหนู
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กล่ำเครือ, มะกล่ำเครือ, มะแดก (ภาคเหนือ), หมากกล่ำตาแดง, ตากล่ำ (ภาคอีสาน), ไม้ไฟ, มะขามเถา (ตรัง), เกมกรอม (สุรินทร์, เขมร), เซียงจือจี้, เซียงซือจื่อ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Abrus precatorius Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Abrus abrus (L.) Wright, A. cyaneus R.Vig., A. maculatus Noronha, A. minor Desv., A. pauciflorus Desv., A. squamulosus E.Mey., A. tunguensis Lima, Glycine abrus
ชื่อสามัญ Jequirity bean, American pea, Crab’s eye, Lucky bean, Buddhist rosary bean
วงศ์ PAPILIONACEAE
ถิ่นกำเนิดมะกล่ำตาหนู
จากการศึกษาค้นคว้า มีรายงานระบุว่ามะกล่ำตาหนู เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในอินโดนีเซีย โดยจัดเป็นพืชพื้นถิ่นของที่นั่น และมีเจตการกระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนใกล้เคียง ได้แก่ มาเลเซีย ไทย กัมพูชา ลาว พม่า ไปจนถึงภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น อินเดีย บังคลาเทศ เนปาล และศรีลังกา สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วไปทั่วทุกภาคของประเทศ ตามที่โล่ง ที่รกร้างต่างๆ ป่าเต็งรัง และป่าเปิดทั่วไป
ประโยชน์และสรรพคุณมะกล่ำตาหนู
- ช่วยกระตุ้นน้ำลาย
- แก้เจ็บคอ
- แก้หลอดลมอักเสบ
- แก้ตับอักเสบ
- แก้ปวดบวมตามข้อ
- แก้ปวดบวม
- แก้ปวดตามแนวประสาท
- แก้อักเสบ
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้จุดด่างดำบนใบหน้า
- แก้กล่องเสียงอักเสบ
- แก้หวัด
- ช่วยขับพิษร้อน
- แก้ร้อนในกระหายน้ำ
- แก้คออักเสบ
- แก้ไอ
- แก้คอบวม
- แก้เสียงแหบ
- แก้หืด
- ช่วยขับเสมหะ
- แก้อาเจียน
- แก้ดีซ่าน
- แก้กลากเกลื้อน
- แก้ฝีมีหนอง
- แก้โรคผิวหนัง
- ช่วยฆ่าพยาธิผิวหนัง
มีการนำมะกล่ำตาหนู มาใช้ประโยชน์ต่างๆ ในต่างประเทศมีการสกัดสาร glycyrrhizic acid มาใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล และยังมีการสกัดสาร abrin จากเมล็ดของมะกล่ำตาหนูมาใช้เป็นยาฆ่าแมลงอีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้มะกล่ำตาหนู
ใช้แก้ร้อนในกระหายน้ำ กระตุ้นน้ำลาย โดยการนำใบมาชงน้ำร้อนดื่ม ใช้แก้เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ ขับปัสสาวะ โดยใช้ใบมาต้มน้ำดื่ม ใช้แก้เจ็บคอ ไอแห้ง กล่องเสียงอักเสบ แก้หวัด ขับปัสสาวะ กัดเสมหะ โดยใช้รากแห้ง 10-15 กรัม มาต้มน้ำดื่ม ใช้ขับพิษร้อน แก้กระหายน้ำ แก้คออักเสบ ขับเสมหะ แก้ไอ เสียงแห้ง กล่องเสียงอักเสบ แก้หวัด โดยใช้ เถาแห้ง 10-15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้โรคผิวหนัง หิด กลากเกลื้อน ฝีหนอง ฆ่าพยาธิผิวหนัง โดยใช้เมล็ดมาบดผสมกับน้ำมันพืชทาบริเวณที่เป็น
ลักษณะทั่วไปของมะกล่ำตาหนู
มะกล่ำตาหนู จัดเป็นไม้เถาเลื้อยเนื้ออ่อน อายุหลายปี สูงได้ถึง 5 เมตร เถามีสีเขียว ขนาดเล็ก ลักษณะกลมเล็กเรียวและมีขนสีขาวปกคลุม โคนเถาช่วงล่างแข็งและมีขนาดใหญ่ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ออกแบบเรียงสลับ โดยในหนึ่งก้านจะมีใบย่อย 8-20 คู่ เป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน คล้ายใบมะขาม แผ่นใบเรียบ หลังใบมีขนปกคลุม ส่วนท้องใบมีขนเล็กน้อย ปลาย และโคนใบมน มีหนามขนาดเล็กติดอยู่ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-8 มิลลิเมตร และยาว 5-20 มิลลิเมตร ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะ บริเวณซอกใบ ยาว 2.5-12 เซนติเมตร โดยดอกเป็นขนาดเล็กรูปดอกถั่ว กลีบดอกสีชมพูแกมม่วง กลีบกลางรูปไข่กลับ กลีบคู่ข้างรูปขอบขนาน กลีบคู่ล่างรูปไข่แกมรูปขอบขนาน มีเกสรตัวผู้ 9 อัน กลีบดอกมีรอยหยัก 4 รอยฟันเป็นสีเขียวอมเหลือง ผิวนอกมีขนปกคลุม กลีบดอกล่างจะใหญ่กว่ากลีบดอกช่วงบน และจะอัดแน่นติดกันอยู่ในช่อเดียวกัน และมีก้านช่อดอกใหญ่ นิ่ม มีขนปกคลุม ยาว 9 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวหรือสีม่วงอ่อน เชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก ผลเป็นฝัก ลักษณะของฝักออกเป็นพวง เป็นรูปกระบอกแกมรูปไข่ แบนยาว ปลายแหลม มีขนาดกว้าง 1.2-1.4 เซนติเมตรและยาว 2-4.5 เซนติเมตร ฝักมีขนสีน้ำตาล เปลือกฝักเหนียว ฝักอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนฝักแก่มีสีน้ำตาลแตกได้ตามแนวยาว ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 3-6 เมล็ด เมล็ดอยู่ 3-6 เมล็ด รูปกลมรี ผิวเรียบ เงามัน มีสีแดง บริเวณขั้วจะมีแถบสีดำ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-5 มิลลิเมตร
การขยายพันธุ์มะกล่ำตาหนู
มะกล่ำตาหนู สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด ซึ่งการขยายพันธุ์มะกล่ำตาหนูนั้น ปกติจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากกว่าถูกนำมาปลูกในเชิงพาณิชย์ สำหรับการขยายพันธุ์ในธรรมชาติจะเป็นการขยายพันธุ์โดยเมล็ดแก่ที่แตกออกจากฝักแล้วตกลงพื้นดินแล้วเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ นอกจากนี้มะกล่ำตาหนูยังเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภท มีความทนทานต่อโรค และทนความแห้งแล้งได้ดีอีกด้วย
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของมะกล่ำตาหนู พบว่ามีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด เช่น ในเมล็ดพบสาร Glycyrrhizic acid, abruquinone B,G,A , Abraline, Abrussic acid, Precalorine, Campesterol, abrusoside, Cycloartenol, Gallic acid, Hypaphorine, Squalene และสารทีมีพิษ คือ Abrine รากมะกล่ำตาหนูพบสาร Precasine, Abrol, Abrasine และ Precol ส่วน ใบ พบสาร Trigonelline
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะกล่ำตาหนู
มีผลรายงานการศึกษาวิจัย ทางเภสัชวิทยาของมะกล่ำตาหนู ระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาไว้ดังนี้
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการศึกษาวิจัยโดยทดลองในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่บริเวณหูด้วย croton oil พบว่าสาร triterpenoid saponin 2 ชนิด ซึ่งแยกได้จากส่วนเหนือดินของมะกล่ำตาหนู (Abrus precatorius Linn.) แสดงฤทธิ์ต้านการอักเสบ และอนุพันธ์อะซิเตตของสารทั้ง 2 ชนิด ออกฤทธิ์ได้แรงกว่าอีกด้วย
ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ มีรายงานการศึกษาสาร Isoflavanquinone ที่แยกได้จากสารสกัดส่วนเหนือดินของมะกล่ำตาหนู ด้วยคลอโรฟอร์ม คือ abruquinone B และ abruquinone G สาร abruquinone B มีฤทธิ์ต้านเชื้อ Mycobacterium tuberculosis ที่เป็นสาเหตุของวัณโรค ด้วยความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งเชื้อ = 12.5 มคก./มล. ต้านเชื้อ Plasmodium fulciparum ที่เป็นสาเหตุของโรคมาลาเรียด้วย IC50 = 1.5 มคก./มล. และเป็นพิษต่อเซลล์ KB และ BC cell lines ส่วนสาร abruquinone G มีฤทธิ์ต้านเชื้อ Herpes simplex virus type I ที่เป็นสาเหตุของโรคเริม เป็นพิษต่อเซลล์เพียงเล็กน้อย
ฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง และต้านการอักเสบมีการศึกษาฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง และฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารกลุ่ม isoflavanquinone จำนวน 11 ชนิด (abruquinones A, E, B, F, I, D, G, M, N, O และ P) ที่แยกได้จากส่วนรากของมะกล่ำตาหนู (Abrus precatorius L.) โดยนำสารทั้ง 11 ชนิด ไปทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งในช่องปากชนิด CAL-27, เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิด Caco-2 และเซลล์มะเร็งปอดชนิด NCI-H460 ด้วยวิธี MTT [3-(4, 5-dimethylthiazole-2-yl)-2, 5-diphenyl-tetrazolium bromide] colorimetric assay พบว่า สาร abruquinones M, N, A และ B มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์ CAL-27, Caco-2 และ NCI-H460 โดยมีค่าความเข้มข้นในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนเซลล์ครึ่งหนึ่ง (IC50) อยู่ระหว่าง 1-33±4, 9-16±5 และ 1-31±5 ไมโครโมลาร์ ตามลำดับ โดย abruquinones B มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์ CAL-27 และ NCI-H460 ได้ดีที่สุด (ค่า IC50 เท่ากับ 1.27±0.07 และ 0.79±0.22 ไมโครโมลาร์ ตามลำดับ) ในขณะที่ abruquinones A มีฤทธิ์ยับยั้งยังการเพิ่มจำนวนของเซลล์ Caco-2 ได้ดีที่สุด (ค่า IC50 เท่ากับ 8.66±0.49 ไมโครโมลาร์) นอกจากนี้ abruquinones M, A และ B ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยมีผลยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระในเซลล์ phagocytes และ polymorphonuclear cells และยับยั้งการสร้างโปรตีน tumor necrosis factor α (TNF-α) ในเซลล์ human monocytic leukemia (THP-1) โดยมีค่า IC50 น้อยกว่า 1 จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า สารกลุ่ม isoflavanquinone ที่แยกได้จากส่วนรากของมะกล่ำตาหนู มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งชนิด CAL-27, Caco-2 และ NCI-H460 และต้านการอักเสบได้
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาขั้นต้นในห้องทดลอง พบว่าสารสกัดหยาบของต้นมะกล่ำตาหนู มีฤทธิ๋ต้านเชื้อรา 6.3 μg/ml มะเร็งช่องปาก 19.8 μg/ml มะเร็งเต้านม 13.0 μg/ml และวัณโรค 100 μg/ml ได้อีกด้วย
การศึกษาทางพิษวิทยาของมะกล่ำตาหนู
มะกล่ำตาหนูเป็นพืชที่มีพิษร้ายแรงอีกชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะในส่วนของเมล็ด โดยมีรายงาน และผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาดังนี้ ภายในเมล็ดมะกล่ำตาหนู มีส่วนประกอบของสารที่เป็นพิษ คือ N-methyltryptophan, abric acid, glycyrrhizin, lipolytic enzyme และ abrin ซึ่งสูตรโครงสร้างของ abrin คล้าย ricin เป็นส่วนที่มีพิษสูงมาก หากเคี้ยว หรือกินเข้าไป
โดยสาร abrin นี้จะประกอบด้วยโปรตีนย่อย 2 ตัว คือ A และ B สาย B ที่ทำให้การแพร่เข้าสู่เซลล์ของเอบรินสะดวกขึ้น ซึ่งสาย A จะป้องกันการสังเคราะห์โปรตีนด้วยการหยุดยั้งการทำงานของ 26 S ของไรโบโซม หนึ่งโมเลกุลของเอบริน สามารถหยุดการทำงานของไรโบโซมได้ถึง 1500 ไรโบโซมต่อวินาทีและการสังเคราะห์โปรตีน มีผลทำให้เซลล์ตาย
เนื่องจากสารพิษจะไปทำลายเม็ดเลือดแดง ระบบทางเดินอาหาร และไต อย่างไรก็ดีสาร abrin นี้เมื่อถูกความร้อนจะสลายตัวง่าย แต่จะคงทนอยู่ในทางเดินอาหาร โดยขนาดเพียง 0.01 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือกินเพียง 1 เมล็ด ก็ทำให้เสียชีวิตได้ และหากถูกตาก็อาจจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองและอาจถึงกับตาบอดได้ นอกจากนี้ยังมีรายงานการทดสอบน้ำมันเสตียรอยด์ที่สกัดจากเมล็ดมะกล่ำตาหนู ด้วยปิโตเลียมอีเทอร์พบว่ามีฤทธิ์คุมกำเนิด และยังทำให้หนูขาวและหนูตะเภาเป็นหมันอีกด้วย
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
เมล็ดมะกล่ำตาหนู มีพิษมาก ห้ามนำมาเคี้ยวรับประทานเด็ดขาด โดยเฉพาะเด็ก เนื่องจากเมล็ดมะกล่ำตาหนูเป็นพืชที่มีเมล็ด สีสัน งดงามสะดุดตา แต่เมล็ดมีพิษที่รุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยมีการศึกษาวิจัยพบว่าเมล็ดในปริมาณเพียง 0.5 มิลลิกรัม ก็สามารถทำให้เกิดอาการเป็นพิษได้ ระยะแรกจะมีอาการของระบบทางเดินอาหาร ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากรับประทาน ได้แก่อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระมีมูกเลือด และช็อกจากการเสียเลือด (hypovolemia) ได้ ระยะต่อมา ประมาณ 2-3 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการทางระบบอื่น เช่น ซึม กล้ามเนื้ออ่อนเพลีย หัวใจสั่น มือสั่น ผิวหนังแดง ชัก เลือดออกในตา (retinal haemorrhage) ตับวาย ไตวาย เป็นต้น โดยมีรายงานผู้ได้รับพิษจากกินเมล็ดมะกล่ำตาหนู 1 ราย เมื่อปี พ.ศ. 2541 ผู้ป่วยเป็นเด็กชาย อายุ 4 ปี ดังนั้นผู้ใหญ่ควรดูแลเด็กให้ดีอย่าให้เด็กนำเมล็ดมะกล่ำตาหนูมาเล่นหรือรับประทาน
เอกสารอ้างอิง มะกล่ำตาหนู
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “มะกล่ําเครือ (Ma Klam Khruea)”. หนังสือสมุนไพร ไทย เล่ม 1. หน้า 209.
- พญ.นาฑีรัตน์ สังขวิภา.สมุนไพรบางชนิดมีพิษให้ระวัง.คอลัมน์ข่าว.นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 62.มิถุนายน 2527
- วิทยา บุญวรพัฒน์. “มะกล่ำตาหนู”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 420.
- ฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนเซลล์มะเร็งและการต้านการอับเสบของมะกล่ำตาหนู.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “มะกล่ําตาหนู”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 590-591.
- วาสนา โตเลียง. 2548. ฤทธิ์ฆ่าหอยเชอรี่ Pomacea canaliculata Lamarck ของซาโปนินจากกากเมล็ดชา Camellia oleifera Abe. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท สาขาเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ.
- “มะกล่ำตาหนู Crab's Eye Vine/Amrerican Pea”. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. หน้า 31.
- ฤทธิ์ของสาร I soflaranquinone จากมะกล่ำตาหนู.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
- พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ. “มะกล่ำเครือ”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. หน้า 117.
- นันทวัน บุณยประภัศร และอรนุช โชคชัยเจริญสุข. 2542. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน. กรุงเทพฯ : บริษัทประชาชนจํากัด หน้า 482.
- ฤทธิ์ต้านการอักเสบของมะกล่ำตาหนู.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- มะกล่ำตาหนู.พืชมีพิษ.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/rse/toxic2.htm
- มะกล่ำตาหนู.ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=257