ลำไย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ลำไย งานวิจัยและสรรพคุณ 34 ข้อ


ชื่อสมุนไพร ลำไย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น บ่าลำไย, มะลำไย (ภาคเหนือ), เจ๊ะเลอ (กะเหรี่ยง), หลงหลาน (จีน), ริวกัน (ญี่ปุ่น)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dimocarpus longan Lour.
ชื่อสามัญ Longan
วงศ์ Sapindaceae


ถิ่นกำเนิดของลำไย

ลำไย เป็นไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อน และกึ่งเขตร้อนของเอเชีย โดยเชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทางตอนใต้ของจีนแถบมณฑลกวางตุ้งกวางสี เสฉวน และฟูเกี๋ยน ที่มีความสูง 150-450 เมตร จากระดับน้ำทะเลไปจนถึงอัสสัมของอินเดีย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับในประเทศไทยพบมากได้ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย ลำปาง และแม่ฮ่องสอน เป็นต้น


ประโยชน์และสรรพคุณลำไย

  • แก้หวัด
  • แก้ริดสีดวง
  • แก้มาลาเรีย
  • ช่วยขับนิ่ว
  • แก้ท้องเสีย
  • แก้นอนไม่หลับ
  • แก้ผอมแห้งแรงน้อย
  • แก้ขี้ลืม
  • แก้ใจสั้น
  • บำรุงม้าม
  • แก้ปวด
  • แก้ปัสสาวะขัด
  • แก้อุจจาระเป็นเลือด
  • ช่วยห้ามเลือด
  • รักษากลากเกลื้อน
  • รักษาแผลหนอง
  • รักษาแผลทั่วไป
  • แก้ท้องร่วง
  • แก้เสมหะ
  • ช่วยขับลมในลำไส้
  • แก้น้ำลายเหนียว
  • แก้ตกขาว
  • ช่วยขับพยาธิเส้นด้าย
  • ช่วยลมถ่ายโลหิตทางทวารหนัก
  • ใช้บำรุงเลือด
  • บำรุงร่างกาย
  • บำรุงระบบประสาท
  • บำรุงประสาทตา
  • บำรุงผิวพรรณ
  • ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของโลหิต
  • ช่วยบำรุงกำลังของสตรีหลังจากคลอดบุตร
  • ช่วยให้ความจำดี
  • ช่วยลดความเครียด
  • แก้กระวนกระวาย

           ลำไยถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายด้านอาทิเช่น เนื้อผลสุกใช้รับประทานเป็นผลไม้สดหรือทำน้ำลำไยและใช้ทานเป็นของหวานก็ได้ เช่น วุ้นลำไย ข้าวเหนียวเปียกลำไย ลำไยลอยแก้วเป็นต้น และยังสามารถนำมาแปรรูปได้หลากหลาย เช่น ลำไย บรรจุกระป๋อง ทำไวน์ลำไย ลำไยอบแห้ง เป็นต้น ส่วนเนื้อไม้ใช้เผาถ่านจะได้ถ่านที่มีคุณภาพดี

ลำไย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ลำไย

- ใช้แก้หวัด แก้ริดสีดวงทวาร โดยใช้ใบ 10-15 กรัมต้มกินด่างน้ำ
- ใช้เป็นยาบำรุง โดยใช้เนื้อลำไย จำนวนพอประมาณดองเหล้าทิ้งไว้ กินครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ
- ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย โดยนำเนื้อลำไยแห้ง 10 กรัม ถั่วลิสง 15 กรัม ต้มน้ำกิน
- ใช้บำรุงเลือด โดยนำเนื้อลำไย 30 กรัมต่อน้ำตาล 3 กรัม ตุ๋นหลายๆ ชั่วโมง กินครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ ใช้แก้ท้องเสีย โดยนำเนื้อลำไยตากแห้ง 14 เมล็ด และขิง 3 แผ่น หั่นบางๆ ต้มน้ำกิน
- ใช้รักษาปัสสาวะไม่ออก โดยใช้เมล็ดลำไย (แกะเปลือกสีดำออก) ทุบให้แตก ต้มน้ำกิน
- ใช้รักษากระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ โดยใช้เมล็ดลำไยคั่วให้แห้ง แล้วบดเป็นผง ชงน้ำกินครั้งละ 15-20 กรัม
- ใช้รักษากลากเกลื้อน โดยใช้เมล็ดลำไย (แกะเปลือกสีดำออก) ฝนกับน้ำส้มสายชู ทาบริเวณที่เป็น
- ใช้รักษาอุจจาระเป็นเลือด ใช้เมล็ดลำไย (เอาเปลือกสีดำออกมา) บดเป็นผง กินครั้งละ 6 กรัม ให้กินขณะท้องว่าง ครั้ง 2-3 ครั้ง จนกว่าจะหาย
- ใช้แก้รักแร้มีกลิ่น โดยใช้เมล็ดลำไย 15 กรัม พริกไทย 9 กรัม บดเป็นผงทารักแร้
- ใช้รักษาโรคมาลาเรีย โดยนำใบสดประมาณ 20 กรัม น้ำ 2 แก้ว ผสมเหล้าอีก 1 แก้ว มาต้มรวมกันให้เดือนจนเหลือน้ำ 1 แก้ว แล้วนำมาดื่ม
- ใช้แก้ตกขาว โดยนำรากมาต้มน้ำดื่ม
- ใช้ขับพยาธิเส้นด้าย ด้วยการนำรากมาต้มน้ำหรือเคี้ยวให้ค้นผสมกิน
- ใช้แก้ท้องร่วง โดยนำเปลือกต้นที่มีสีน้ำตาลอ่อน มาต้มน้ำดื่ม
- ใช้รักษาแผลหกล้ม โดนมีดบาด แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก โดยใช้เมล็ดบดเป็นผงแล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น
- ใช้รักษาแผลมีหนอง สมานแผล ห้ามเลือด แก้ปวด โดยนำเมล็ดมาต้มหรือบดเป็นผงรับประทาน ใช้รักษาแผลเรื้อรังและมีหนอง โดยนำเมล็ดไปเผาเป็นเถ้า แล้วนำมาผสมกับน้ำมะพร้าว ทาบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของลำไย

ลำไย จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ทรงพุ่มหนาทึบ ลำต้นสูง 5-10 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาล แตกเป็นร่องเล็กๆ ตามยาว แตกกิ่งก้านสาขามากตั้งแต่ด้านล่างของต้น

           ใบ ออกแบบเรียบสลับเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ใบย่อยรูปไข่หรือรูปขอบขนานกว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 5-15 เซนติเมตร โคนใบเบี้ยวปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ หลังใบสีเขียวเข้ม เป็นมันมีขนอ่อนนุ่ม ท้องใบสีเขียวหม่น

           ดอก ออกเป็นช่อบริเวณปลายยอดหรือปลายกิ่ง โดยแต่ละช่อมีดอกย่อยขนาดเล็ดสีขาว โดยขนาดดอกประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร

           ผล เป็นผลสด ฉ่ำน้ำลักษณะทรงกลม เปลือกผลบางสีน้ำตาลหยุ่นคล้ายหนัง มีลายจุดสีน้ำตาลเข้ม ด้านในมีสีขาว ส่วนเนื้อเรียบ เยื่อหุ้มเมล็ดมีสีใสฉ่ำน้ำ มีรสหวานกลิ่นหอม

เมล็ด เป็นรูปกลมสีดำ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-3 เซนติเมตร

ลำไย

ลำไย

การขยายพันธุ์ลำไย

ลำไยสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีอาทิเช่น การเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ปักชำ เป็นต้น แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันคือการตอนกิ่ง เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่าย มีความสะดวก และได้พันธุ์เดิมจากต้นแม่ สำหรับการตอนกิ่งลำไย นั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกับการตอนกิ่งไม้ยืนต้นทั่วไป ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ส่วนวิธีการปลูกนั้นทำได้โดยขุดหลุมขนาด 30x50 เซนติเมตร หากอยู่ในสภาพที่มีความชื้นสูงควรตากหน้าดินทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่อาศัยอยู่ในดินจากนั้น คุกเค้าปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายแล้วหรือปุ๋ยหมักกับดินชั้นบนอัตรา 1:1, 2:1 ใส่ลงไปบริเวณก้นหลุม แล้วจึงนำต้นลำไย ลงปลูกกลบดินให้แน่นกระชับโดยกลบดินให้สูงกว่าระดับพื้นและให้รอยเชื่อมต่อต้นพันธุ์อยู่หัวผิวดินและรดน้ำให้ชุ่มหลังปลูก


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของลำไย ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดดังนี้
           ใบ พบสาร sitosterol Stigamasteryl glucoside stigmasterol Epifriedelinol 16-Hentriacontanol
           เมล็ด พบสาร Saponaretin, fatty acid หลายชนิด

           และยังมีเมล็ดลำไยมีสารประกอบกลุ่ม โพลีฟีนอลได้แก่ corilagin, gallic acid, ellagic acid โดยมีงานวิจัยจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อปี พ.ศ.2550 พบว่า สารสกัดเมล็ดลำไย มีคอลิราจิน 0.50-0.64 มิลลิกรัม/กรัม DW กรดแกลลิก 9.18-23.05 มิลลิกรัม/กรัม DW และ กรดแอลลาจิก 8.13-12.65 มิลลิกรัม/กรัม DW สารสกัดจากดอกลำไยพบสาร proantocyanidin A2, acetonylgeraniin A  ส่วนสารสกัดจากกิ่งลำไยพบสาร ellagic acid, Epigatechin เป็นต้น นอกจากนี้ในสารสกัดจากเนื้อลำไย ยังพบสาร 4-0-methylgallic acid, epicatechin อีกด้วย อีกทั้งในเนื้อผลของลำไยยังมีคุณค่าทางโภชนาการอีกดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อลำไยสุก 100 กรัม

พลังงาน 60 กิโลแคลอรี่
คาร์โบไฮเดรต 15.14 กรัม
เส้นใย 1.1 กรัม
ไขมัน 0.12 กรัม
โปรตีน 1.31 กรัม
วิตามิน บี1 0.031 มิลลิกรัม
วิตามิน บี2 0.14 มิลลิกรัม
วิตามิน บี3 0.3 มิลลิกรัม
วิตามินซี 84 มิลลิกรัม
แคลเซียม 1 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 0.13 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 21 มิลลิกรัม
โพแทสเซียม 266 มิลลิกรัม
แมกนีเซียม 10 มิลลิกรัม
แมงกานีส 0.052 มิลลิกรัม
สังกะสี 0.05 มิลลิกรัม

 

โครงสร้างลำไย 

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของลำไย

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดส่วนต่างๆ ของลำไยหลายฉบับดังนี้

           ฤทธิ์ต้านเชื้อรา มีรายงานการศึกษาวิจัยโดย การทดสอบฤทธิ์ในการต้านเชื้อราและยีสต์ของสารสกัดจากเมล็ดลำไย 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สารสกัดจากเมล็ดลำไยพันธุ์ใบดำ และสารสกัดจากเมล็ด เนื้อ และลำไยทั้งผลพันธุ์อีดอ เปรียบเทียบกับสารโพลีฟีนอลิกที่พบในลำไย ได้แก่ กรด gallic กรด ellagic และ corilagin พบว่าสารสกัดจากเมล็ดลำไยทั้ง 2 พันธุ์ มีฤทธิ์ต้านยีสต์ Candida  หลายชนิด และเชื้อรา Cryptococcus neoformans  ขณะที่สารสกัดจากเนื้อและลำไยทั้งผลไม่มีฤทธิ์ ชื่อกรด ellagic จะมีฤทธิ์แรงที่สุดในการต้านเชื้อราตามด้วย corilagin และ กรด gallic ตามลำดับ กรด ellagic สามารถต้านเชื้อ Candida parapsilosis  และ Cryptococcus neoformans  ได้ดีกว่าเชื้อ C. krusei  และ C. albicans สารสกัดจากเมล็ดลำไยพันธุ์ใบดำ มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อราแรงกว่า และมีปริมาณของกรด ellagic และ กรด gallic สูงกว่าพันธุ์อีดอ นอกจากนี้ยังพบว่าสาร corilagin และกรด gallic มีฤทธิ์อ่อนจนถึงปานกลางในการต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus  และ Streptococcus mutans และ เมื่อนำสารสกัดจากเมล็ดลำไยมาใช้ในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการดูแลช่องปาก พบว่าผงฟู่ซึ่งมีสารสกัดจากเมล็ดลำไย 5% จะช่วยลดการยึดติดของเชื้อ C. albicans  กับแผ่นแปะฟัน (acrylic strips) ได้ อีกทั้งน้ำยาบ้วนปากที่มีสารสกัดจากเมล็ดลำไย 0.5% มีผลต้านเชื้อราได้ดีกว่าผลิตภัณฑ์ตามท้องตลาดอื่นๆ

           ฤทธิ์ลดภาวะกรดยูริกในเลือด มีการศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ xanthine oxidase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับภาวะกรดยูริกในเลือดสูงของสารสกัดจากเมล็ดลำไย พบว่าสารสกัด ความเข้มข้น 20 50 และ 100 มคก./มล. เมื่อเปรียบเทียบกับ allopurinol (สารยับยั้งเอนไซม์ xanthine oxidase) ความเข้มข้น 0.2 มคก./มล. มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ xanthine oxidase ต่ำกว่า allopurinol เมื่อทดลองในเซลล์ตับ (clone-9 cells) และพบว่าสารสำคัญหลัก 3 ชนิด ที่แยกได้จากสารสกัดเมล็ดลำไย ได้แก่ gallic acid, corilagin และ ellagic acid ก็มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ xanthine oxidase ได้เช่นกัน นอกจากนี้สารสกัดจากเมล็ดลำไย ยังลดระดับของกรดยูริกในเซลล์ตับ เมื่อฉีดสารกัด ขนาด 80 มก./กก. เข้าทางช่องท้องของหนูแรท 30 นาที ก่อนที่จะถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะที่มีกรดยูริกในเลือดสูง เปรียบเทียบกับ allopurinol ขนาด 3.5 มก./กก. พบว่า สารสกัดมีผลลดระดับของกรดยูริกและเอนไซม์ xanthine oxidase ในเลือด แต่ทั้งสารสกัดและ allopurinol ไม่มีผลยับยั้งเอนไซม์ xanthine oxidase ในตับ ในหนูที่มีกรดยูริกในเลือดสูง จะมีปริมาณของตัวนำกลูโคส GLUT9 ในตับสูงด้วย ซึ่งพบว่า สารสกัดและ allopurinol จะลดระดับของ GLUT9 ในตับได้

           ฤทธิ์ต้านมะเร็ง มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านมะเร็งของสารสกัดลำไย พบว่าสารสกัดแยกส่วน (fraction) จากเมล็ดแห้งหรือเนื้อลำไยแห้ง มีฤทธิ์เหนี่ยวนำให้เกิดการตายแบบ apoptosis ของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ RKO-2, DLD-1, HT-15, SW-48 และ HCG สารสกัดแยกส่วน (fraction) จากเมล็ด มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่ ยับยั้งการเจริญเติบโต และยับยั้งการลุกลามของเซลล์มะเร็งไปยังเซลล์ข้างเคียง และเมื่อทดสอบกับเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ SW480 พบว่าสารสกัดดังกล่าวยังมีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ matrix metallo-proteinases-2 และ -9 ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการบุกรุกและการแพร่กระจายของมะเร็ง ส่วนการทดลองในหนูที่เหนี่ยวนำให้เป็นมะเร็งลำไส้ด้วยสาร dimethylhydrazine พบว่าสารสกัดแยกส่วนจากเนื้อลำไยและเมล็ด มีฤทธิ์ป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ สารโพลีแซคคาไรด์จากเมล็ด มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งปอด A549 และต้านเนื้องอกในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดเนื้องอก ส่วนสารโพลีแซคคาไรด์จากเนื้อผล มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งรังไข่ SKOV3 และ HO8910 และเซลล์มะเร็งหลังโพรงจมูก HONE1 และอีกทั้งยังมีฤทธิ์ต้านเนื้องอกในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดเนื้องอก และสารโพลีฟีนอลในเมล็ดยังสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ Colo 320DM, SW480 และ HT-29 ส่วนสารสกัดจากเปลือกผลซึ่งมีสารสำคัญ ได้แก่ gallic acid, ellagic acid และ corilagin สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร SGC-7901 และเซลล์มะเร็งปอด A-549 ได้ แต่ไม่มีผลกับเซลล์มะเร็งตับ HepG2

           ฤทธิ์ปกป้องระบบประสาท มีรายงานการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดน้ำจากดอกลำไย พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ยับยั้งการเกิด lipid peroxidation ในสมองหนู เมื่อทดลองในหลอดทดลอง โดยมีฤทธิ์ดีกว่ากลูตาไธโอน และ Trolox ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และในหนูแรทที่ได้รับสารสกัดน้ำจากดอกลำไย ขนาด 500 มก./วัน เป็นเวลา 7 วัน จะพบการเกิด lipid peroxidation ในสมองน้อยกว่าหนูที่ไม่ได้รับสารสกัด สำหรับการทดสอบผลในการปกป้องระบบประสาท โดยป้อนหนูด้วยสารสกัด ขนาด 125 250 และ 500 มก./กก. เป็นเวลา 1 ชม. ก่อนเหนี่ยวนำให้เกิดพิษต่อสมองด้วยสาร 1-methyl-4-phenylpyridinium (MPP+) จากนั้นป้อนสารสกัดด้วยขนาดเดิมต่อไปอีก เป็นเวลา 8 วัน พบว่า สารสกัดขนาด 250 และ 500 มก./กก. มีผลยับยั้งการเกิด lipid peroxidation และเพิ่มปริมาณของ dopamine และเอนไซม์ tyrosine hydroxylase ในเซลล์สมองส่วน substantia nigra ของหนู ลดระดับของเอนไซม์ heme oxygenase-1 (เกี่ยวข้องกับภาวะ oxidative stress) และลดการรวมกันของ α-synuclein (โปรตีนที่เกี่ยวข้องกับโรคพาร์กินสัน) นอกจากนี้สารสกัดยังมีฤทธิ์ลดการอักเสบของเซลล์ประสาท microglia ที่ถูกกระตุ้นด้วย ED-1 เพิ่มระดับของ procaspase 12 และลดระดับของ active caspase 3 (เกี่ยวข้องกับการตายของเซลล์แบบ apoptosis) จากการศึกษาดังกล่าวแสดงว่าสารสกัดน้ำจากดอกลำไยมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ และต้านการตายของเซลล์ประสาท

           ฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ และยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ มีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดน้ำจากกิ่งลำไย ความเข้มข้น 2 - 10 มก./จานเพาะเชื้อ มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ เมื่อทดลองกับเชื้อ Salmonella typhimurium  TA 98 และ TA 100 ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยสารก่อกลายพันธุ์ 2-aminoanthracene (2-AA) และ 4-nitroquinoline-N-oxide (4-NQO) สารสกัดความเข้มข้น 0.05 - 0.6 มก./มล. และสารสำคัญหลักที่แยกจากสารสกัดน้ำ ได้แก่ ellagic acid, gallic acid และ epicatechin ความเข้มข้น 0.02 - 0.3 มก./มล. มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เมื่อทดสอบด้วยวิธี superoxide scavenging, nitric oxide scavenging, reducing power และ ferrous-ion chelating และยังลดการเกิดออกซิเดชั่นของไขมันได้ นอกจากนี้สารสกัดน้ำ ความเข้มข้น 0.05 - 0.2 มก./มล. สามารถยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ได้ 45.5 - 92.2% เมื่อทดลองในเซลล์ RAW 264.7 ซึ่งถูกเหนี่ยวนำด้วย lipopolysaccharide และสารสกัดที่ความเข้มข้น 0.5 - 1.5 มก./มล. สามารถยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสได้ 39.3 - 89.0% จากผลการทดลองสรุปว่า สารสกัดน้ำจากกิ่งลำไยมีคุณสมบัติในการต้านการก่อกลายพันธุ์ ต้านการอักเสบ และต้านเอนไซม์ไทโรซิเนสได้

ลำไยอบแห้ง

การศึกษาทางพิษวิทยาของลำไย

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ตามตำรายาไทยตำรายาพื้นบ้านและตำรายาจีนได้ระบุถึงข้อห้ามหรือข้อควรระวังในการใช้หรือรับประทานลำไยทั้งในรูปแบบผลสดและผลตากแห้งเอาไว้ดังนี้

           สำหรับผู้ที่อาการท้องเสีย อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ฝาบนลิ้นสีขาว และหนา หรือเป็นหวัด เจ็บคอ (ทอลซิลอักเสบ) ไม่ควรรับประทานลำไย หากรับประทานลำไยมากเกินอาจทำให้เกิดอาการร้อนใน เกิดแผลในช่องปาก และตาแฉะได้ ดังนั้นควรรับประทานแต่พอดี และผู้ที่มีอาการไอมีเสมหะ เจ็บคอ มีหนองเป็นแผลอักเสบ ไม่ควรรับประทานลำไย นอกจากนี้ ตามโภชนาการแล้วไม่ควรรับประทานลำไยไม่เกิน 1 ส่วนต่อวัน ซึ่งหากเป็นลำไยสดก็ประมาณ 6-10 ผล แต่หากเป็นลำไยแห้ง รับประทานเพียง 2-3 เม็ด เพื่อให้ได้สารอาหารที่เพียงพอและไม่มากจนเกินไป ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานควรระมัดระวังในการรับประทานลำไยเนื่องจากลำไยเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลสูงซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้

เอกสารอ้างอิง ลำไย
  1. นิดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า 203-205.
  2. วิทิต วัณณาวิบูล. ลำไย ยาบำรุงธรรมชาติ. คอลัมน์อาหารสมุนไพร. นิตยาสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 77. กันยายน 2528.
  3. อรัญญา ศรีบุษราคัม. ลำไย...คุณค่าที่มากกว่าความหวาน. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. ภาสกิจ วัณณาวิบูล. รู้เลือกรู้ใช้ 100 ยาจีน. กทม. ทองเกษม 2555.
  5. ฤทธิ์ต้านเชื้อราของสารสกัดเมล็ดลำไย. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. รศ.ดร. กรณ์กาณจน์. ภมรประวัติธนะ. ลำไย ผลไมรสชาติดี เครื่องสำอาง ชั้นเยี่ยม. คอลัมน์ บทความพิเศษ. นิตยาสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 364. สิงหาคม 2552.
  7. เศรษมันต์ กาญจนกุล. ลำไยขาวในผลไม้เมืองไทย. กทม. เศรษฐศิลป์. 2555 หน้า 104-105.
  8. ฤทธิ์สารสกัดเมล็ดลำไยในการลดภาวะระดับกรดยูริกในเลือดสูง ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  9. พาวิน มะโนชัย, ยุทธนา เขาสุเมรุ, ชิติ ศรีตนทิพย์และสันติ ช่างเจรจา. 2547. เทคโนโลยีการผลิตลำไย พิมพ์ครั้งที่ 1. สำนักพิมพ์ฟิสิกส์เซ็นเตอร์. กรุงเทพฯ. 125 หน้า
  10. ฤทธิ์ของสารสกัดจากกิ่งลำไยในการต้านการก่อกลายสายพันธุ์ และยับยั้งสร้างไนตริกออกไซด์ ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  11. พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์, ดุษฎี ณ ลำปางและรำไรวรรณ อภิชาตพงศ์ชัย 2542. ลำไย. ผลไม้เศรษฐกิจสำคัญเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงใหม่. คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 137 หน้า
  12. สารสกัดจากดอกลำไยกับฤทธิ์ในการปกป้องระบบประสาท. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.