เล็บมือนาง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เล็บมือนาง งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร  เล็บมือนาง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น  จะมั่ง , จ๊ามั่ง , มะจีมั่ง (ภาคเหนือ) , เล็บนาง (สตูล) , ไท้หม่อง (กะเหรี่ยง),อะดอนิง , วะดอนิง(มลายู)
ชื่อวิทยาศาสตร์  Quisqualis indica Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์   Kleinia quadricolor  Crantz, Comdretum indicum (L.) DeFilipps. Quisqualis glabra  Burm.f. Quisqualis pubescens  Burm.f. Quisqualis spinosa  Naves ex F. Villar. Quisqualis loureiri  G. Don.Quisqualis sinensis  Lindl.Quisqualis grandiflora  Miq. Quisqualis longiflora  C. Presl. Quisqualis obovata  Schumach. & Thonn. Quisqualis villosa  Roxb.
ชื่อสามัญ  Rangoon creeper, Chinese honeysuckle, Drunken sailor
วงศ์  COMBRETACEAE

 

ถิ่นกำเนิดเล็บมือนาง

ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของเล็บมือนาง เชื่อว่าอยู่บริเวณเอเชียใต้ (อินเดีย-ศรีลังกา) จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย ฯลฯ) จึงนับได้ว่า เล็บมือนางเป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมในดินแดนประเทศไทยชนิดหนึ่ง และยังสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคกลาง จะพบมากกว่าภาคอื่น


ประโยชน์และสรรพคุณเล็บมือนาง

  • ช่วยรักแผลฝี หนอง
  • แก้ปวดศีรษะ
  • แก้ไข้ 
  • แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ 
  • เป็นยาสมานแผล
  • ช่วยเจริญอาหาร
  • ใช้เป็นยาแก้ไอ
  • แก้อาการพุงโร ตานขโมย
  • ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
  • ช่วยรักษาตานซาง
  • แก้อุจาระเป็นฟองและอุจจาระขาว
  • แก้เหม็นคาวในเด็ก
  • แก้สะอึก
  • แก้ตกขาว
  • ช่วยย่อยอาหาร 
  • ช่วยลดอาการข้างเคียงที่เกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อกระบังลมได้
  • ช่วยทำให้ม้ามแข็งแรง

เล็บมือนาง

เล็บมือนาง

ลักษณะทั่วไปเล็บมือนาง

เล็บมือนางจัดเป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งมีอายุหลายปี มักจะเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น มีความยาว 5-10 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาบปนแดง ค่อนข้างเรียบ กิ่งอ่อนมีขนนุ่ม ก่องแก่มีหนามทรงพุ่มแน่นทึบ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบจักเว้าเข้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 7-9เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-18 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว เนื้อบาง ท้องใบมีขนปกคลุมเป็นจำนวนมาก ใบอ่อนเป็นสีเขียวอมแดง เนื้อใบบางค่อนข้างเหนียว ก้านใบยาวประมาณ 1 เซนติเมตร  ดอกออกตามปลายกิ่งแขนง เป็นช่อรวมกันหลายสิบดอก แต่ละดอกเป็นหลอดยาวคล้ายดอกปีบหรือดอกเข็ม หลอดยาว ๒-๓ นิ้ว มีกลีบที่ปลายหลอดดอกละ ๕ กลีบ ลักษณะกลีบเรียงปลายมนคล้ายเล็บมือ เป็นที่มาของชื่อเล็บมือนาง ดอกเล็บมือนางเมื่อเริ่มบานมีสีขาว แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพูและสีแดงเข้มขึ้นตามลำดับจนร่วงหล่น เนื่องจากในแต่ละช่อมีดอกมากมายและบานไม่พร้อมกัน จึงจะเห็นในแต่ละช่อมีทั้งดอกสีขาว สีชมพูและสีแดงอยู่ด้วยกัน โดยดอกเล็บมือนางมีทั้งขอบกลีบชั้นเดียว และกลีบหลายชั้น (ซ้อน)  ดอกเล็บมือนางมีกลิ่นหอมเย็น โดยเฉพาะในช่วงอากาศเย็นในเวลากลางคืน และกลิ่นจะจางลงเมื่ออากาศร้อน  ผลเป็นผลแห้งและแข็ง ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวย มีสัน 5 สันตามยาว ผลมีขนาดโตประมาณ 0.5 นิ้ว และยาวประมาณ 1.5 นิ้ว ผลสุกเป็นสีน้ำตาลอมสีดำ ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด


การขยายพันธุ์เล็บมือนาง

ต้นเล็บมือนาง สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยเมล็ด การตอนกิ่ง หรือเอาเหง้าไปปลูก สำหรับการเอาเหง้าไปปลูกต้องฝังให้ลึกประมาณ 4 นิ้ว ส่วนการปลูกด้วยเมล็ดจะโตช้า ปัจจุบันจึงนิยมตอนกิ่งมากกว่า สำหรับสภาพดินที่ดีในการปลูกควรเป็นดินร่วนระบายน้ำได้ดี โดยผสมปุ๋ยคอกในดินพอประมาณ แล้วเพาะเมล็ดหรือปักชำกิ่งลงไปแล้วรดน้ำให้ชุ่ม ทั้งนี้เล็บมือนางเป็นไม้กลางแจ้ง จึงต้องการแสงมากพอสมควร และต้องการน้ำปานกลาง ในช่วงที่เริ่มปลุกในเดือนแรกๆ ต้องรดน้ำทุกๆวันแต่เมื่อมีลำต้นแข็งแรงแล้ว จะรดน้ำวันเว้นก็ได้ เมื่อดอกเริ่มบานควรเพิ่มปุ๋ยบำรุงดอกโดยส่วนใหญ่เท่าที่พบ ต้นเล็บมือนางจะไม่มีโรค แต่มักจะมีหนอนมากินใบจำนวนเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่ไม่ค่อยมีผลกับดอกมากนัก เมื่อต้นเริ่มโตควรหาหลักหรือทำร้านให้กิ่งได้เลื้อยและเกาะยึดและเป็นการพยุงลำต้นด้วย


องค์ประกอบทางเคมี

ในต้นพบสารจำพวก Quisqualic acid ส่วนในใบพบสาร Quercetin-3-glucoside, Pelargonidin-3-glucoside, Potassium quisqualate ในดอกพบสาร Cyanidin monoglycoside, Flavonoids, Rutin, Pelargonidin-3-glucoside ส่วนผลพบสาร Alanine, Aspartic acid, Asparagine, Glycine, Glutamic acid, Histidine, Quisqualic acid, Proline, Leucine, Lysine, Valine, Serine, Threonine และในเมล็ดพบ Potassium quisqualate สำหรับในน้ำมันหอมระเหยพบสาร เช่น Alkaloid, D-Manitol, Quisqualic acid, Trigonelline เป็นต้น

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของเล็บมือนาง

                     โครงสร้างเล็บมือนาง

           ที่มา : Wikipedia

นอกจากนี้ เล็บมือนางยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของใบเล็บมือนาง (100 กรัม)

-           พลังงาน                  76                    แคลอรี่

-           โปรตีน                     4.8                   กรัม

-           คาร์โบไฮเดรต           18.1                 กรัม

-           ใยอาหาร                 2                      กรัม

-           วิตามิน เอ                11,180             หน่วย

-           วิตามิน บี 1             0.04                 มิลลิกรัม

-           วิตามิน ซี                 70                    มิลลิกรัม

-           แคลเซียม                104                  มิลลิกรัม

-           ฟอสฟอรัส               97                    มิลลิกรัม



รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ช่วยขับพยาธิตัวกลม,พยาธิไส้เดือน โดยใช้เมล็ดในของผลเล็บมือนางที่แก่และแห้ง 2-3 เมล็ด ( 4-5 กรัม) หั่นทอดกับไข่ให้เด็กอายุประมาณ 5-6 ขวบรับประทานหรือบุบพอแตกต้มกับน้ำดื่มก็ได้ ส่วนผู้ใหญ่ ใช้ 5-7 เมล็ด (หนัก 10-15 กรัม) ทุบพอแตก ต้มเอาน้ำหรือนำมาป่นให้เป็นผงผสมกับน้ำผึ้ง แล้วปั้นเป็นยาลูกกลอนก็ได้ ใช้เป็นยาแก้ตานซาง ตานขโมยในเด็กโดยใช้เมล็ดแห้ง 2-3 เมล็ด ทบให้แหลกแล้วผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอนให้เด็กรับประทาน หรือนำมาต้มกับน้ำรับประทาน หากเป็นรากใช้ 6-10 กรัม ใช้รักษาโรคผิวหนังให้ใช้เมล็ดแช่ในน้ำมันแล้วนำมาทาบริเวณที่ต้องการ ใบสดใช้ตำพอกรักษาบาดแผล แก้ฝี แก้อักเสบ 

ทั้งนี้ในการศึกษาทางเภสัชศาสตร์ พบว่า เมล็ด (ผล) เล็บมือนางมีสารสำคัญในการออกฤทธิ์ขับพยาธิ คือ Quisqualic acid เมล็ดเล็บมือนางจึงถูกนำมาใช้ถ่ายพยาธิอย่างแพร่หลาย ไม่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังนิยมใช้ในประเทศจีน ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย เป็นต้น


การศึกษาทางเภสัชวิทยา

ฤทธิ์ขับพยาธิไส้เดือนและสารสำคัญในการออกฤทธิ์ขับพยาธิไส้เดือน  จากการทดสอบในหลอดทดลอง พบว่าผลดิบหรือผลคั่ว ไม่สามารถฆ่าพยาธิไส้เดือนได้ สารสกัดด้วยน้ำจากผล ความเข้มข้น 500 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ไม่มีฤทธิ์ฆ่าพยาธิลำไส้ (Blastocystis hominis) แต่ที่ความเข้มข้น 1,000 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร จะมีฤทธิ์ยับยั้งพยาธิลำไส้ได้ปานกลาง  ในประเทศจีนมีการใช้เล็บมือนางแทน santonin ในยาชื่อว่า Shih-Chiin-Tzu น้ำมันเล็บมือนางมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายพยาธิอย่างแรง มีสารที่พบในน้ำมันคือ quisqualic acid มีฤทธิ์ฆ่าพยาธิไส้เดือน โดยขนาดที่ฆ่าพยาธิ Ascaris suum ได้คือ 1/1500 กรัม/มิลลิลิตร 

นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยในด้านอื่นๆระบุว่า น้ำต้มที่ได้จากเมล็ดมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีฤทธิ์เป็นยาฆ่าไส้เดือนและปลิงได้อีกด้วย และจากการทดสอบฤทธิ์การต้านเชื้อแบคทีเรีย โดยใช้สารสกัดเมล็ดด้วยน้ำร้อน พบว่าไม่มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของการเป็นหนอง และแบคทีเรียในลำไส้


การศึกษาทางพิษวิทยา

การทดสอบความเป็นพิษ จากรายงานการทดสอบความเป็นพิษของสาร quisqualic acid ในสัตว์ทดลอง พบว่าการฉีด quisqualic acid เข้าสู่สมองบริเวณ limbic lobe ของหนู และ แมว ทำให้สัตว์ชักและแพ้ได้ ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยใช้ยากันชัก pentobarbital ฉีดเข้าช่องท้อง ในขนาดสูงกว่าขนาดรักษา แต่แก้ไม่ได้ด้วยยากันชัก diazepam ส่วนการฉีด quisqualic acid เข้าสู่สมองบริเวณ striatum ของหนูอายุ 7 วัน จะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นตาย ส่งผลให้ สมองส่วน striatum และ hippocampus เล็กลง นอกจากนั้น quisqualic acid ยังทำให้เกิดการตาย (necrosis) ของเซลล์ glioma ของหนูที่ใช้เพื่อทดสอบความเป็นพิษ อย่างไรก็ตามพิษดังกล่าวข้างต้นของ quisqualic acid จะเกิดขึ้นเมื่อฉีดเข้าตรงบริเวณประสาทโดยตรงเท่านั้น และควรมีการศึกษาอย่างละเอียดต่อไป ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ สารสกัดจากผลด้วยเอทานอล หรือน้ำเมื่อเอาสาร histidine ออก พบว่าไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์เมื่อใช้สารสกัดขนาดเข้มข้น 50 มิลลิกรัม/จานทดสอบของเชื้อ


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในเมล็ดเล็บมือนางมีพิษ ห้ามรับประทานมากเกินกว่าปริมาณที่กำหนด หากได้รับพิษโดยจะทำให้มีอาการสะอึก อาเจียน วิงเวียนศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย และมีอาการถ่าย

 

เอกสารอ้างอิง

  1. เดชา ศิริภัทร.เล็บมือนาง:ไม้เถาดอกหอม กลีบงาม จากวรรณคดีไทย.คอลัมน์อื่นๆ.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 252.เมษายน.2543.
  2. เล็บมือนาง,สายน้ำผึ้ง.สมุนไพรที่มีการใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์.มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. คณะกรรมการวิชาการดำเนินงานส่วนสวนสมุนไพรพืชสวนโลก.2549.สวนสมุนไพรในงานมหกรรมพืชสวนโดลก 2549.Herbal Garden in Royal Flora Expo 2006. บริษัท สามเจริญพาณิชย์(กรุงเทพฯ)จำกัด.กรุงเทพมหานคร.
  4. วิทยา บุญวรพัฒน์.  “เล็บมือนาง”.  หน้า 502.หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. 
  5. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.  “เล็บมือนาง”.  หน้า 701-703.หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. 
  6. กองวิจัยทางการแพทย์.  สมุนไพรพื้นบ้าน ตอนที่ 1.  กรุงเทพฯ: กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  กระทรวงสาธารณสุข, 2526.
  7. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์.  “เล็บมือนาง (Lep Mue Nang)”.  หน้า 271.หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. 
  8. เล็บมือนาง.กลุ่มยาถ่ายพยาธิ.สรรพคุณสมุนไพร200ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_04_6.htm.
  9. Addae JI, Stone TW. Effects of anticonvulsants on responses to excitatory amino acids applyed topically to rat cerebral cortex. Gen Pharmacol 1988;19(3):455-62.
  10. Zaczek R, Coyle JT. Excitatory amino acid analogs: Neurotoxicity and seizures. Neuropharmacology 1982;21(1):15-26.
  11. Silverstein FS, Chen R, Johnston MV. The glutamate analogue, quisqualic acid in neurotoxic in stratum and hippocampus of immature rat brain. Neurosci Lett 1986;71(1):13-8.
  12. Chen KK, Hou H. The alleged anthelmintic property of Quisqualis indica with case reports. Am J Med Sci 1926;172(1):113-6.
  13. Kaijima M, Tanaka T, Yonemasu Y. Epileptogenic properties of quisqualic acid: microinjection into the unilateral amygdala in cats. Brain Nerve 1987;39(10):971-4.
  14.  Brill HC, Wells AH. The physiological active constituents of certain Philippine medicinal plants II. Philippine J Sci 1971;2:16-95.
  15. Devenport GJ. Quisqualis indica, a substitute for santonin. Shanghia China Med J 1981;32:133.
  16. Yamamoto H, Mizutani T, Nomura H. Studies on the mutagenicity of crude drug extracts I. Yakugaku Zasshi 1982;102:596-601.
  17. Zaczek R, Koller K, Cotter R, Heller D, Coyle JT. N-acetylaspartylglutamate: An endogenous peptide with high affinity for a brain glutamate receptor. Proc Natl Acad Sci USA 1983;80(4):1116-9.
  18. Wu KM. Chemical analysis of and animal experimentation on Quisqualis indica. Nat Med J China 1962;12:161-70.
  19. Kiang PC. Chinese drugs of therapeutic value to western physicians. China Med J 1923;37:742-6.
  20. Kato S, Higashida H, Higuchi Y, Tatekenaka S, Negishi L. Sensitive and insensitive states of cultured glioma cells to glutamate damage. Brain Res 1984;303(2):365-74.
  21. Funda H, Tanaka T, Kaijima M, Nakai H, Yonemasu Y. Quisqualic acid-induced hippocampal seizures in unanesthetized cats. Neurosci Lett 1985;59(1):53-60.
  22. Rondouin G, Lerner-Natoil M, Hashizume A. Wet dog shakes in limbic versus generalized seizures. Exp Neurol 1987;95(2):500-5.
  23. Ishizaki T, Kato K, Kumada M, et al. Effect of quisqualic acid upon Ascaris suum in vitro in comparison with those of kainic acid, alpha-allokainic acid and pyrantel palmoate. Japan J Parasitol 1973;22(4):181-6.
  24. Yang LQ, Singh M, Yap EH, Ng GC, Xu HX, Sim KY. In vitro response of Blastocystis hominis against traditional Chinese medicine. J Ethnopharmacol 1996;55:35-42.