กระดูกไก่ดำ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
กระดูกไก่ดำ งานวิจัยและสรรพคุณ 15ข้อ
ชื่อสมุนไพร กระดูกไก่ดำ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น บัวลาคำ , เกี๋ยงผา(ภาคเหนือ), เฉียงพร้ามอญ , สันพร้ามอญ,สำมะงาจีน, เฉียงพร้าบ้าน,เฉียงพร้าม่าน,ผีมอญ (ภาคกลาง),กะลาดำ,กระดูกดำ (จันทบุรี),แสนทะแมน,ปองดำ(ตราด),เฉียงพร้า(สุราษฎร์ธานี),ซ่าเลิมหลาม(ไทยใหญ่) ,กรอกะโต๊ะ (กะเหรี่ยง) , ปั๋วกู่ตาน(จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Justicia gendarussa Burm.f.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gendarussa vulgaris Nees,Gendarussa vulgaris Bojer
วงศ์ ACANTHACEAE
ถิ่นกำเนิดกระดูกไก่ดำ
เชื่อกันว่ากระดูกไก่ดำเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้บริเวณประเทศ อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ และเนปาล แล้วต่อมาได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทย สามารถพบได้เกือบทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักจะพบตามธรรมชาติในป่าดงดิบเขา หรือพบได้ตามริมหนองคลองบึง และริมแม่น้ำ ซึ่งคนไทยก็มีการใช้ประโยชน์จากต้นกระดูกไก่ดำมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว
ประโยชน์และสรรพคุณกระดูกไก่ดำ
- ใช้รักษาอาการปวดศีรษะ
- แก้ไข้
- แก้ไอ
- ช่วยลดความร้อนในร่างกาย
- แก้เลือดคั่งค้าง
- ช่วยกระจายเลือด
- แก้ฝีฝักบัว
- แก้ช้ำใน
- แก้อาเจียนเป็นเลือด
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้ท้องเสีย
- แก้ปวดบวมตามข้อ
- ใช้เป็นยาพอกถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น พิษงู ผึ้ง ต่อ แตนต่อย
- แก้โรคผิวหนัง และผื่นคันตามตัว
- เป็นยาขับลมขึ้นตามข้อกระดูก
ลักษณะทั่วไปกระดูกไก่ดำ
กระดูกไก่ดำจัดเป็นไม้พุ่มขนาดย่อมคล้ายกับต้นเสลดพังพอน มีความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นและกิ่งเป็นสีม่วงแดงถึงสีดำ ผิวลำต้นและกิ่งมีลักษณะเกลี้ยงมันเป็นปล้องข้อ ดูคล้ายกับกระดูกไก่ (จึงเป็นที่มาของชื่อต้นกระดูกไก่ดำ) โดยขนาดของข้อลำต้นจะยาวข้อละประมาณ 2-2.5 นิ้ว ส่วนข้อของปล้องกิ่งยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว ใบออกเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับเป็นคู่ ลักษณะเป็นรูปใบหอก เล็กเรียวแหลมทั้งปลายใบและโคนใบ ขอบใบเรียบกว้างประมาณ 1-3เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-15เซนติเมตร แผ่นใบเรียบเป็นมัน ด้านหน้าใบสีเขียวสด มีเส้นกลางใบเป็นสีแดงอมดำที่เห็นชัด ส่วนหลังใบเป็นสีเหลืองสีเขียว ก้านใบสั้นและใบมีรสขม ดอกออกเป็นช่อบริเวณส่วนยอดและปลายกิ่ง โดยในช่อ จะมีความยาวประมาณ 2-3 นิ้ว ดอกจะมีลักษณะเป็นหลอดเล็ก ๆ ในก้านบริเวณปลายดอกจะแยกออกเป็นกลีบดอก ซึ่งกลีบดอกเป็นสีขาวแกมชมพู มีลักษณะโค้งงอนเหมือนช้อน ข้างในหลอดดอกมีเกสรเพศผู้ โผล่ ส่วนบริเวณโคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ผลออกเป็นฝัก ยาว 1-1.5 เซนติเมตร โดยเมื่อแก่ฝักจะแตกออกมา ด้านในมีเมล็ดหลายเมล็ดลักษณะกลมแบนมีสีดำ
การขยายพันธุ์กระดูกไก่ดำ
กระดูกไก่ดำ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด และการปักชำ ซึ่งในอดีตการขยายพันธุ์ของกระดูกไก่ดำ จะเป็นการขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ดในธรรมชาติแต่ในปัจจุบันได้เริ่มมีการนำกระดูกไก่ดำมาเพาะปลูกกันบ้างแล้ว จึงมีการนำกระดูกไก่ดำมาปักชำกิ่ง และเพาะเมล็ดเพื่อนำมาปลูกตามบริเวณบ้านเรือนและสวนสาธารณะกันมากขึ้น ส่วนวิธีการเพาะเมล็ดและปักชำกระดูกไก่ดำนั้น ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและปักชำกิ่งของไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นทั่วๆไป ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของรากและใบกระดูกไก่ดำที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรพบว่า พบสาระสำคัญ เช่น Juaticin , Vitexin , apiginin และ patentiflorin A เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมี ในน้ำมันหอมระเหยของใบกระดูกไก่ดำพบว่า มีสารที่เป็นองค์ประกอบหลัก อาทิเช่น 1-nonanol , α-ionone , trans-β-ionone และ isopropyl myristate เป็นต้น
ที่มา : Wikipedia
รูปแบบ/ขนาดวิธีใช้
ใช้แก้ไอ แก้ไข้ แก้เลือดคั่งค้าง ช่วยกระจายเลือดลม ช่วยขับปัสสาวะ แก้ท้องเสีย โดยใช้รากหรือลำต้นหรือใบต้มกับน้ำดื่ม แก้อาการปวดศีรษะ แก้โรคหืด แก้ไอ แก้ปวดท้อง ท้องเสีย โดยใช้ใบสดนำมาตำหรือคั้นเอาแต่น้ำมาดื่ม แก้อาเจียนเป็นเลือด ขับปัสสาวะ โดยใช้น้ำคั้นจากใบผสมกับเหล้ากิน แก้ท้องร่วงอย่างแรง โดยใช้ใบมาต้มกับนมรับประทาน ใช้เป็นยาถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยโดยใช้รากและใบนำมาตำผสมกันแล้วใช้พอกบริเวณที่เป็น ใช้แก้โรคผิวหนังและอาการผื่นคันตามตัวโดยใช้รากนำมาต้มกับน้ำอาบ
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์ต้านอักเสบ ลดปวด มีผลการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดกระดูกไก่ดำ มีฤทธิ์ต้านอักเสบ และลดอาการปวด ซึ่งน่าจะมาจากสารในกลุ่ม flavonoids เช่น vitexin และ apigenin ที่ออกฤทธิ์ผ่านกลไกเดียวกันกับ ยากลุ่ม NSAIDs โดยไปยับยั้งเอนไซม์ทั้ง cyclooxygenase (COX) และ lipoxygenase pathways ทำให้มีผลยับยั้งการหลั่งสารที่เหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบหลายชนิด เช่น prostaglandins, histamine, NO, iNOS, MMP-9, prostaglandins และยังพบว่าสารสกัดกระดูกไก่ดำยังออกฤทธิ์ที่ opioid receptor ซึ่งเป็นกลไกเดียวกับ morphine แต่มีฤทธิ์ลดปวดน้อยกว่า morphine 2 - 5 เท่า
ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย มีผลการศึกษาวิจัยสารสกัดเมทานอลของใบกระดูกไก่ดำ ระบุว่ามีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด ทั้งแบคทีเรียแกรมบวก แบคทีเรียแกรมลบ เช่น Staphylococcus , aureus, Staphylococcus mutans, Bacillus subtilis, Micrococcus luteus ,Proteus vulgaris, Proleus mirabilis, Klebsiella pneumoniae, Escherichia coli, Shigella Flexner, Salmonella paratypi A และ Salmonella typhimusium
การศึกษาทางพิษวิทยา
มีผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของกระดูกไก่ดำฉบับหนึ่งระบุผลวิจัยไว้ว่า เมื่อนำสารสกัดที่ได้จาก รากที่นำมาต้มกับน้ำรากที่นำมาแช่ในแอลกอฮอล์ หรือใช้รากที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ฉีดเข้าในท้องของหนูทดลองในปริมาณ 1-2 กรัม/กิโลกรัม(น้ำหนักตัว) มีผลทำให้หนูมีอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น และเมื่อฉีดเข้าหนูทดลองในปริมาณ 10-20 กรัม/ 1 กิโลกรัม (น้ำหนักตัว) ทำให้อุณหภูมิในร่างกายของหนูทดลองต่ำลงมาก และมีอาการถ่ายอย่างเฉียบพลันและตายในที่สุด
ข้อแนะนำ/ข้อควรระวัง
ในการใช้กระดูกไก่ดำเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคนั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดีไม่ควรใช้มากจนเกินไป หรือใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้กระดูกไก่ดำเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง
- วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “กระดูกไก่ดํา”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 19-20.
- รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2558-2559 โครงการพฤกษศาสตร์พื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือตอนบน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ สมุนไพรไม้พื้นบ้าน.เล่ม 4(604)
- วุฒิ วุฒิธรรมเวช. “กระดูกไก่ดํา”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย. หน้า 75.
- วิทยา บุญวรพัฒน์. “กระดูกไก่ดำ”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 28.
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “เฉียงพร้ามอญ”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 237-239.