ซ่อนกลิ่น ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ซ่อนกลิ่น งานวิจัยและสรรพคุณ 9 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร ซ่อนกลิ่น
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ดอกลีลา, ดอกซ่อนชู้, ดอกรวงข้าว (ทั่วไป, ภาคกลาง), หอมไก๋, หอมไกล (ภาคเหนือ), ดอกเข่า (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Polianthes tuberosa Linn.
ชื่อสามัญ Tuberose
วงศ์ AMARYLLIDACEAE

ถิ่นกำเนิดซ่อนกลิ่น 

ซ่อนกลิ่นเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้อยู่ในตระกลูของว่านหางจระเข้ โดยเชื่อกันว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมน่าจะอยู่ที่บริเวณเทือกเขาแอนดีส จากนั้นจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ต่อไปในพื้นที่ใกล้เคียง สำหรับซ่อนกลิ่นในประเทศไทยนั้น คาดว่าชาวสเปนเป็นผู้นำมาปลูกในบริเวณหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ก่อนแล้วต่อมาชาวจีนที่ค้าขายอยู่ระหว่างประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้นำเข้ามาที่ประเทศไทยอีกต่อหนึ่ง โดยมีการคาดการณ์ว่ามีน่าจะนำเข้ามาในประเทศไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และยังมีการสันนิษฐานว่าเข้ามาก่อนรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วนในปัจจุบันนั้นซ่อนกลิ่น สามารถพบ และปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่จะพบมากทางภาคเหนือ ภาคกลางและภาคอีสาน

ประโยชน์และสรรพคุณซ่อนกลิ่น 

  • ช่วยลดการอักเสบ
  • บรรเทาความผิดปกติของกระดูก
  • ช่วยให้ผ่อนคลายอารมณ์
  • ช่วยลดความถึงเครียด
  • ทำให้ใจเย็น
  • ทำให้จิตใจสงบ
  • ช่วยให้มีสมาธิ
  • ช่วยให้นอนหลับง่าย
  • ช่วยกระตุ้นกำหนัด

           ซ่อนกลิ่น เป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมมากโดยเฉพาะช่วงค่ำจนถึงก่อนรุ่งสาง ซึ่งคนไทยในอดีตมักจะใช้มาประกอบในงานศพ เพราะในอดีตยังไม่มีการฉีดยาฟอร์มาลีนให้กับศพ จึงใช้กลิ่นของดอกซ่อนกลิ่นช่วย ดังนั้นคำนิยมคนไทยจึงมองว่าดอกซ่อนกลิ่นเป็นดอกไม้ที่ไม่เป็นมงคล ไม่ควรปลูกไว้ในบ้าน เพราะเชื่อว่าเป็นลางไม่ดีแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้าน แต่สำหรับในต่างประเทศ เช่น อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย กลับเชื่อกันว่า ช่อดอกซ่อนกลิ่น และพวงมาลัยของดอกซ่อนกลิ่น เป็นเครื่องหมายของความสุขสดชื่น และความปรารถนาดี

            นอกจากนี้ชาวจีน ยังใช้ดอกซ่อนกลิ่นมาทำให้แห้งเพื่อใช้ปรุงอาหาร เช่น ต้มจืด เป็นต้น และที่สำคัญ ชาวตะวันตกใช้ดอกซ่อนกลิ่นมาสกัดเอาน้ำมันหอมระเหยเพื่อใช้เป็นหัวน้ำหอมในแบรนด์ดังระดับโลก เช่น โจมาโลน, ชาแนล, จิวองซี่ เป็นต้น


รูปแบบและวิธีการใช้
 

รูปแบบ และวิธีการใช้ซ่อนกลิ่น ในการช่วยบำบัดรักษาอาการต่างๆ ตามสรรพคุณทางยานั้น ส่วนมากแล้วจะเป็นการใช้น้ำมันหอมระเหยที่มีกลิ่นหอมของดอกซ่อนกลิ่น รักษาทางสุคนธบำบัด ดังนั้นจึงไม่ปรากฏข้อมูลในการนำส่วนอื่นๆ มาใช้เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาอาการต่างๆ

 

ลักษณะทั่วไปของซ่อนกลิ่น 

ซ่อนกลิ่นจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกหรือไม้หัวใต้ดินชนิดหนึ่ง ประเภทใบเลี้ยงเดี่ยวมีอายุได้ประมาณ 2-3 ปี มีหัวอยู่ใต้ดิน ซึ่งใช้เป็นแหล่งสะสมอาหาร  ราก จะเป็นระบบรากฝอยสีน้ำตาลขนาดเล็กมีจำนวนไม่มาก โดยจะมีขนาดสั้นจนถึงยาว และจะยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร ลำต้นมีสีเขียวตั้งตรงขึ้นจากอ มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 0.5-1 ซม. สูง 50-70 เซนติเมตร ใบเป็นใบที่เจริญมาจากหัวมีสีเขียวขนาดเล็ก เรียวยาวใบหนา โผล่พ้นดิน แผ่ออกเป็นทรงกลมรอบๆ หัว แต่ละใบ กว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร และจะมีหน่องอกออกจากหัวเดิมเป็นหัวใหม่ได้เรื่อยๆ จนกลายเป็นกอใหญ่ ดอกออกเป็นช่อเดี่ยวแบบช่อเชิงลด โดยดอกย่อยแทงก้านจากลำต้นกางกอขึ้นมาไม่มีก้านแยก ต้นหนึ่งๆ จะมีช่อดอก 20-30 ช่อย่อย และใน 1 ช่อดอกย่อยจะมีดอก 2-3 ดอก โดยที่แต่ละดอกจะยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร และจะเรียงกันเป็นแนวตามกำหนด ซึ่งมีทั้งพันธุ์กลีบดอกขั้นเดียวเรียกว่าดอกลา และพันธุ์กลีบดอก 2 ชั้น เรียกว่าดอกซ้อน ในระยะแรกดอกตูมจะมีสีเขียว และค่อยๆ มีขนาดใหญ่ขึ้น จะเปลี่ยนเป็นสีขาวมีสีขมพูเจือบริเวณปลาย ดอกจะเริ่มบานตั้งแต่ตอนเย็นโดยทยอยบานจากโคนตอนล่างของช่อดอกขึ้นมาเรื่อยๆ เมื่อบานเต็มที่จะมีสีขาวครีม  นอกจากนี้ดอกซ่อนกลิ่น จะมีกลิ่นหอมแรงมากโดยเฉพาะเวลากลางเย็นและกลางคืน

ซ่อนกลิ่น

การขยายพันธุ์ซ่อนกลิ่น

ซ่อนกลิ่น สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้หัว ทั้งวิธีการแยกหัวปลูก การแบ่งหัว และยังสามารถขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อได้อีกด้วย แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในการขยายพันธุ์ในปัจจุบัน คือ วิธีการแยกหัวปลูก โดยมีวิธีการดังนี้ เตรียมการตัดเลือกหัวของซ่อนกลิ่นที่มีขนาดใหญ่ และควรเก็บจากกอี่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป ไม่มีร่องรอยของแมลง และโรคพืช โดยควรเก็บในฤดูแล้งจากนั้น เตรียมดินโดยขุดให้ลึกประมาณ 6-8 นิ้ว ตากดินไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ และใส่ปุ๋ยคอมในอัตรา 200 กก./ไร่ แล้วทำการยกร่อง โดยให้มีระยะห่างกันแปลงละ 30 ซม. และมีความสูงของคันดิน 30 ซม.

            สำหรับการปลูก ควรปลูกตอนต้นฤดูฝนประมาณเดือน พ.ค.-ก.ค. ใช้ระยะปลูก 30x30 หรือ 40x40 ซม. และปลูกแบบสลับฟันปลา 1 หัว/หลุม โดยให้หัวโผล่ขึ้นมาประมาณ 1 ใน 3 เพื่อป้องกันไม่ให้หัวเน่า และควรใช้ฟาง หรือ หญ้าแห้งคลุมเพื่อเก็บความชื้น และช่วยป้องกันวัชพืชงอกบนแปลง

            สำหรับการให้น้ำช่วงแรกควรให้น้ำวันเว้นวัน จากนั้นควรเว้นระยะ 2-3 วันต่อครั้ง (ถ้าฝนไม่ตก) แล้วแต่สภาพดิน โดยซ่อนกลิ่น จะเริ่มออกดอกในช่วงระยะเวลา 80-100 วัน หลังจากการปลูก และสามารถออกได้ตลอดทั้งปีและมักออกดอกมากในช่วงฤดูร้อน

ซ่อนกลิ่น

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีในน้ำมันหอมระเหยของซ่อนกลิ่น พบว่า มีสารสำคัญดังนี้ methyl anthranilate, eugenol, benzyl alcohol, geraniol, butyric acid, methyl benzoate, nerol, farnesol

โครงสร้างซ่อนกลิ่น

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของซ่อนกลิ่น

ฤทธิ์ผ่อนคลายความตึงเครียด ลดความวิตกกังวล มีข้อมูลจากกงานวิจัยของกลุ่มนักวิจัยในประเทศอิหร่านพบว่านักเรียนระดับ grade 7 ที่ได้สูดดมน้ำมันหอมระเหยจากดอกซ่อนกลิ่นที่หยดลงบนผ้าเช็ดหน้าซึ่งใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที ระหว่างสอบมีความวิตกกังวลน้อยลงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับน้ำมันหอมระเหยจากดอกซ่อนกลิ่น นอกจากนี้มีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาอีกฉบับหนึ่งพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากดอกซ่อนกลิ่นมีฤทธิ์ต้านเชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียได้อีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของซ่อนกลิ่น

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้น้ำมันหอมระเหยของดอกซ่อนกลิ่น มาใช้ในทางสุคนธบำบัด เพื่อรักษาภาวะอาการต่างๆ ตามสรรพคุณนั้นควรระมัดระวังในการใช้เดียวกันกับการใช้น้ำมันหอมระเหยของสมุนไพร ชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดีไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้
 

เอกสารอ้างอิง ซ่อนกลิ่น
  1. เดชา ศิริภัทร. ซ่อนกลิ่นความหอมสำหรับทั้งสุข และเศร้า. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 274. กุมภาพันธ์ 2545
  2. ปราณี วงษ์เทศ, พิธีกรรมเกี่ยวกับการตายในประเทศไทย (กรุงเทพฯ:เอราวัณการพิมพ์, 2551), 13. 2534. พิมพ์ในงานการจัดนิทรรศการ เรื่อง ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต 17 ตุลาคม - 6พฤศจิกายน 2534),3-7.
  3. รศ.ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร.ซ่อนกลิ่น ซ่อนชู้ หรือ ซ่อนประโยชน์. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการแพทย์ทางเลือกแบบบูรณาการ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  4. Lodhia MH, Bhatt KR, Thaker VS. Antibacterial Activity of Essential Oils from Palmarosa, Evening Primrose, Lavender and Tuberose. Indian Journal of Pharmaceutical Sciences. 2009;71(2):134-136. doi:10.4103/0250-474X.54278.
  5. Tem Samitinand.  Thai Plant Names.  Revised Edition 2001.  810 p. (423)
  6. Ghorat F, Shahrestani S, Tagabadi Z, Bazghandi M. The Effect of Inhalation of Essential Oils of Polianthes Tuberosa on Test Anxiety in Students: A Clinical Trial. Iranian Journal of Medical Sciences. 2016;41(3 Suppl):S13.