เทียนขาว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
เทียนขาว งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ
ชื่อสมุนไพร เทียนขาว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ยี่หว่า, เมล็ดยี่หร่า (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cuminum cyminum Linn.
ชื่อสามัญ Cumin, Cummin
วงศ์ APIACEAE -UMBELLIFERAE
ถิ่นกำเนิดเทียนขาว
เทียนขาวมีถิ่นกำเนิดในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มาถึงประเทศอินเดีย และยังพบในประเทศจีน ในบางมลฑล สำหรับในประเทศไทยยังไม่พบข้อมูลว่ามีการปลูกเทียนขาว เพื่อใช้ประโยชน์ หรือ ปลูกในเชิงพาณิชย์ โดยส่วนมากแล้วมักจะนิยมนำเข้ามาจากต่างประเทศมากกว่า ทั้งนี้เทียนขาว มีชื่อเรียกภาษาไทยอีกชื่อหนึ่งว่า ยี่หร่า หรือ เมล็ดยี่หร่า แต่ไม่ใช่ชนิดเดียวกันกับยี่หร่า (Ocimum gratissimum Linn) ที่เราใช้ใบเป็นส่วนประกอบในการทำอาหารแต่อย่างใด
ประโยชน์และสรรพคุณเทียนขาว
- ช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญ
- ทำให้ร่างกายสามารถรับสารอาหารได้ง่ายขึ้น
- ช่วยเพิ่ม Hemoglobin ในเลือดทำให้ร่างกายมีความอดทนในการออกกำลังกายมากยิ่งขึ้น
- ใช้ขับผายลมในเด็ก
- เป็นยาหอมขับลมในลำไส้
- ช่วยบำรุงธาตุ
- แก้ดีพิการ
- ขับเสมหะ
- แก้นิ่ว
- ขับระดูขาว
- แก้ปวดมวน ไซร้ท้อง (ผสมกับยาระบาย)
- แก้ท้องเสีย
- รักษาอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต
- แก้ลมวิงเวียน
- แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน
- แก้ลมจุกแน่นในท้อง
- รักษาอาการทางระบบทางเดินอาหาร
- บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย
- บรรเทาอาการปวดท้อง
- ช่วยขับลม
- แก้อาเจียน
- แก้ธาตุไม่ปกติ
- บำรุงโลหิต
เทียนขาว (เมล็ด) สามารถนำไปแปรรูปทำให้แห้ง เพื่อใช้ทำเป็นเครื่องเทศได้ โดยนำไปใช้ใส่แกงพะโล้ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ แกงป่า มัสมั่น หรือ แกงกะหรี่ เป็นต้น และมีการใช้น้ำมันระเหยง่ายของเมล็ดเทียนขาว เรียกว่าน้ำมันยี่หร่า (cumin oil) ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอม น้ำหอม เครื่องดื่มและยาขับลมอีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
เทียนขาว เป็นสมุนไพรที่มีการใช้ตามตำรายาไทยมาตั้งแต่โบราณแล้ว และโดยส่วนมากมักจะไม่นิยมนำมาใช้เป็นตัวยาเดี่ยว แต่มักจะใช้เป็นตัวยาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ เช่น ยาหอมเทพจิต, ยาหอมนวโกฐ, ยาธาตุบรรจบ, ยาประสะกานพลู, พิกัดเทียนต่างๆ, เพื่อช่วยแก้ลมวิงเวียน แก้อาเจียน แก้ลม แก้จุกเสียด ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ธาตุไม่ปกติ ช่วยขับลม บำรุงโลหิต เป็นต้น โดยมีขนาดการใช้ของยาตำรับต่างๆ ที่กล่าวมาต่างๆ กันไปตามตำรับนั้นๆ (แต่โดยส่วนมากจะใช้ในขนาด 0.5-2 กรัม)
ลักษณะทั่วไปของเทียนขาว
เทียนขาวจัดเป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุปีเดียว มีกลิ่นหอม ลักษณะของลำต้นตรงสีเขียว มีความสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร โดยมักจะแตกกิ่งก้านสาขาอยู่ตอนบน ใบเป็นใบเดี่ยว มีลักษณะเป็นเส้นเล็กๆ ออกสลับกัน ใบที่โคนต้นเป็นรูปไข่เมื่อดูแนวรูปใบ โดยรวมยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ขอบใบหยักลึกถึงเส้นกลาง มีลักษณะเป็นแฉก 2-3 แฉก แต่ละแฉกจะเล็กคล้ายเส้นด้าย มีความยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร โดนก้านใบแผ่เป็นกาบ ดอกออกเป็นช่อแบบซี่ร่มหลายชั้น ดอกย่อยมีขนาดเล็ก มีกลีบเลี้ยงเล็กมากถึงไม่มี มีกลีบดอก 5 กลีบ สีขาว หรือ สีชมพู โดยดอกจะมีกลิ่นหอมและมีเกสรตัวผู้ 5 อัน ติดอยู่กับฐานดอก เรียงสลับกับกลีบดอก ส่วนเกสรตัวเมียจะสั้น รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มีอยู่ 2 ห้อง แต่ละห้องจะมี 1 เมล็ด ผลเป็นผลแห้ง รูปยาวรีสีน้ำตาลมีลักษณะเหมือนเมล็ดข้าวเปลือกแต่มีขนาดเล็กกว่าโดย มีขนาดกว้างประมาณ 1.3-2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 4.5-6.7 มิลลิเมตร เปลือกมีขนสั้นแข็งปกคลุม เมื่อผลแก่จะแตกเป็น 2 ซึก โดยแต่ละซีกจะมีเมล็ด 1 เมล็ด ซีกผลจะมีลักษณะด้านนอกนูน ส่วนด้านในที่ประกบกัน หรือ ด้านแนวเชื่อมจะมีลักษณะเว้า ส่วนเมล็ดจะมีกลิ่นหอม น้ำมันจากเมล็ดจะมีรสชาติเผ็ดร้อนและมีรสขม
การขยายพันธุ์เทียนขาว
เทียนขาว สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด โดยมีวิธีการปลูกดังนี้ การเตรียมดินควรทำการไถดินและตากดินให้แห้งประมาณ 10 วัน จากนั้นทำการไถพรวนดินอีกครั้งหนึ่งแล้วใส่ปุ๋ยคอกลงไปเพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดิน ส่วนวิธีการปลูก มี 2 วิธี คือ
- หว่านเมล็ดพันธุ์ที่จะใช้ปลูกให้ทั่วแปลแล้วรดน้ำให้ชุ่ม
- ขุด หรือ ใช้ไม้จิ้มให้ลึกประมาณ 10 เซนติเมตร แล้วหยอดเมล็ดพันธุ์ลงไปโดยให้มีระยะห่าง 15x15 เซนติเมตร จากนั้นจึงรดน้ำให้ชุ่มทั่วแปลง สำหรับระยะเวลาในการปลูก หลังจากการปลูกประมาณ 60-70 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตมาใช้ได้
องค์ประกอบทางเคมี
ในน้ำมันยี่หร่า หรือ น้ำมันเทียนขาว (cumin oil) ประกอบด้วยน้ำมันระเหยง่าย ซึ่งมี cuminaldehyde 25-35% เป็นองค์ประกอบหลัก นอกจากนี้ยังพบสารเทอร์ปีนชนิดอื่นๆ ได้แก่ pinene dipentine cumene cuminic-alcohol cuminic aldehyde, cuminal, safranal, p-cymene, dipentine, cumene, cuminic alcohol, alpha-phellandrene, beta-phellandrene, alpha และ beta-pinene, delta-3-carene, 1,8-cineole, limonene, alpha และ gamma-terpinene, alpha-terpineol, terpinene-4-ol cuminyl alcohol, trans-dihydrocarvone, myrcene, linalool, beta-caryophyllene, beta-farnesene, beta-elemene
สารกลุ่ม glycosides: monoterpenoid glucosides (p-menthane glucoside, hydroxycuminyl glucoside), sesquiterpenoid glucosides (cuminosides A และ B), alkyl glycosides (1S,5S,6S,10S)-10-hydroxyguaia-3,7(11)-dien-12,6-olide beta-D-glucopyranoside, (1R,5R,6S,7S,9S,10R,11R)-1,9-dihydroxyeudesm-3-en-12,6-olide 9-O-beta-D-glucopyranoside, methyl beta-D-apiofuranosyl-(1 to 6) -beta-D- glucopyranoside, ethane-1,2-diol 1-O-beta-D-apiofuranosyl-(1 to 6)-beta-D-glucopyranoside และสาร 2-C-methyl-D-erythritol glycosides
สารกลุ่ม flavonoids: (อนุพันธ์ 7-O-beta-D-glucopyranosides ของ apigenin และ luteolin), flavonoid glycoside (3’-5,dihydroxyflavone 7-O-beta-D-galacturonide 4’-O-beta-D-glucopyranoside)
ส่วนสารสกัดเมทานอลจากผล พบ Sesquiterpenoid glucoside คือ Cuminoside A, B
นอกจากนี้เทียนขาว (ส่วนที่เป็นเมล็ด) ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของเทียนขาว (Cumin seed) ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 375 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 44.24 กรัม
- น้ำตาล 2.25 กรัม
- เส้นใย 10.5 กรัม
- ไขมัน 22.27 กรัม
- กรดไขมันอิ่มตัว 1.535 กรัม
- โปรตีน 17.81 กรัม
- น้ำ 8.06 กรัม
- วิตามินเอ 64 ไมโครกรัม
- วิตามินบี 2 0.327 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 4.579 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 6 0.435 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 9 10 ไมโครกรัม
- วิตามินบี 12 0 ไมโครกรัม
- วิตามินซี 7.7 มิลลิกรัม
- วิตามินอี 3.33 มิลลิกรัม
- วิตามินเค 5.4 ไมโครกรัม
- ธาตุแคลเซียม 931 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 66.36 มิลลิกรัม
- ธาตุแมกนีเซียม 366 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 499 มิลลิกรัม
- ธาตุโพแทสเซียม 1,788 มิลลิกรัม
- ธาตุโซเดียม 168 มิลลิกรัม
- ธาตุสังกะสี 4.8 มิลลิกรัม
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของเทียนขาว
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของเทียนขาว
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลองของน้ำมันระเหยง่ายจากเมล็ดเทียนขาว ในการจับอนุมูลอิสระด้วยวิธีทางเคมี โดยใช้อนุมูลอิสระ DPPH เปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน BHT ซึ่งเป็นสารกันเสียสังเคราะห์ ผลการทดลองพบว่าน้ำมันระเหยง่ายจากเทียนขาว และ BHT สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 31และ 11.5 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ ความสามารถในการจับอนุมูล superoxide (อนุมูลอิสระของออกซิเจน ที่เกิดจากขบวนการต่างๆ ในร่างกาย) ของเทียนขาว และ BHT มีค่า IC50 เท่ากับ 16 และ 1.5 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ ความสามารถในการรีดิวส์ (Reducing power) ซึ่งเป็นคุณสมบัติของสารต้านอนุมูลอิสระ ของเทียนขาว และ BHT มีค่า EC50 เท่ากับ 11 และ 75 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ นอกจากนี้ยังทำการทดสอบฤทธิ์ป้องกันการเกิดออกซิเดชันของไขมัน โดยใช้เทคนิค beta-carotene bleaching พบว่าน้ำมันระเหยง่ายจากเมล็ดเทียนขาว และสารมาตรฐาน BHT สามารถยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของกรดไขมัน โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 20 และ 75 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร
ฤทธิ์ต้านเบาหวาน สาร cuminaldehyde และ cuminol ซึ่งแยกได้จากสารสกัดปิโตรเลียมอีเธอร์ของเมล็ดเทียนขาว (Cuminum cyminum) มีฤทธิ์ต้านเบาหวานเมื่อทำการทดสอบในหนูแรกที่เหนี่ยวนำให้เกิดเบาหวานด้วยสาร streptozotocin โดยพบว่าสาร cuminaldehyde และสาร cuminol ที่ขนาด 25 มก./มล. สามารถเพิ่มการหลั่งอินซูลิน ด้วยกลไกในการปิดกั้น ATP-sensitive K (K+-ATP) channel และการเพิ่ม Ca2+ ภายในเซลล์ โดยกลไกดังกล่าวจะไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจนเกินไป และไม่ทำให้เบต้าเซลล์ (β-cell) ถูกใช้จนหมด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการรักษาภาวะเบาหวานในระยะยาว
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย การศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่พบที่กระเพาะอาหาร เป็นเชื้อที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการท้องอืดเฟ้อ แผลในกระเพาะอาหาร ทดสอบโดยใช้สารสกัดเอทานอล หรือ สารสกัดน้ำของเทียนขาว ใช้เทคนิค disc diffusion test และวัดค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อ (MIC) ผลการทดลองพบว่าสารสกัดเอทานอลของเทียนขาวมีค่า MIC90 เท่ากับ 0.075 mg/mLซึ่งแสดงว่าสารสกัดมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ H. pylori ในหลอดทดลอง
การศึกษาฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย Vibrio sp. ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมลบ ที่ก่อโรคอาหารเป็นพิษ หรือ ทางเดินอาหารอักเสบ ทดสอบน้ำมันระเหยง่ายจากเมล็ดเทียนขาว และทำการศึกษาปริมาณสารสำคัญโดยใช้เทคนิค GC-MS พบองค์ประกอบหลัก คือ cuminlaldehyde (39.48%), gamma-terpinene (15.21%), O-cymene (11.82%), beta-pinene (11.13%), 2-caren-10-al (7.93%), trans-carveol (4.49%) และ myrtenal (3.5%) และทำการทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียโดยใช้ เทคนิค micro-well พบว่าน้ำมันระเหยง่ายจากเมล็ดเทียนขาวมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มVibrio spp.โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้งเชื้อ (MIC) เท่ากับ 0.078–0.31 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร และค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถฆ่าเชื้อ (MBC) เท่ากับ 0.31–1.25 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
ฤทธิ์ลดความดันโลหิตสูง สารสกัดน้ำของเมล็ดเทียนขาว (Cuminum cyminum ) มีฤทธิ์ต้านภาวะความดันโลหิตสูง เมื่อทดสอบในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงด้วยวิธี two-kidney one-clip (2K/1C) โดยให้หนูกินสารสกัดในขนาด 200 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. เป็นเวลา 9 สัปดาห์ พบว่าสารกัดสามารถยับยั้งการลดลงของ nitric oxide และทำให้ความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว (systolic blood pressure; SBP) ลดลง นอกจากนี้ยังทำให้การแสดงออกของยีน endothelial nitric-oxide synthase (eNOS), Bcl-2, thioredoxin 1 (TRX1) และ thioredoxin reductase 1 (TRXR1) เพิ่มขึ้น ในขณะที่ลดการแสดงออกของยีน Bax, tumor necrosis factor α (TNF-α) และ interleukin 6 (IL-6) ลดลงด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมล็ดเทียนขาวสามารถส่งเสริมการทำงานของเนื้อเยื่อ endothelial และยับยั้งสารก่อการอักเสบรวมทั้งยับยั้งภาวะ oxidative stress ในหนูแรทที่มีภาวะของความดันโลหิตสูงได้
ฤทธิ์เพิ่มการทำงานของเอนไซม์ในกระเพาะอาหาร การศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดชนิดต่างๆ จากเมล็ดเทียนขาว ในการเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ที่ช่วยย่อยอาหาร โดยการสกัดสารสำคัญจากเทียนขาว ได้สารสกัดทั้งสิ้น 4 ชนิด ได้แก่ saline extract (0.5N HCl), hot aqueous extract (สารสกัดด้วยน้ำร้อน), oleoresin (สกัดด้วยอะซิโตน) และ น้ำมันหอมระเหยทำการทดสอบฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ amylase, protease, lipase และ phytase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยแป้ง, โปรตีน, ไขมัน และไฟเตต ตามลำดับ (ไฟเตตพบในพืชผัก ร่างกายต้องใช้ไฟเตสย่อยให้กลายเป็นฟอสเฟตก่อนดูดซึม) ผลการทดลองพบว่าสารสกัดในส่วน saline extracts และ hot aqueous extracts แสดงฤทธิ์สูงสุดในการเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ทั้ง 4 ชนิด โดย hot aqueous extracts สามารถเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ amylase, protease, lipase และ phytase ได้เท่ากับ 300± 63, 7250±331, 37.15±5,196± 20 U/mg protein/g cumin/min ตามลำดับ saline extracts สามารถเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ amylase, protease, lipase และ phytase ได้เท่ากับ 269±32, 8450± 380, 36.98 ±5, 150±15U/mg protein/g cumin/min ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ ได้เท่ากับ 4.0±0.1, 183.6±1.2, 2.94±0.5, 1.66± 0.5U/mg protein/g cumin/min ตามลำดับ ดังนั้นสารสกัดเทียนขาว อาจนำมาใช้ในสูตรอาหารต่างๆ เพื่อเพิ่มการย่อยอาหารได้
การศึกษาทางพิษวิทยาของเทียนขาว
การทดสอบพิษของผลเทียนขาว จากรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าการให้หนูถีบจักรกิน หรือ ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ในขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม ซึ่งคิดเป็น 5,000 เท่า เมื่อเทียบกับขนาดการรักษาในคน ไม่พบอาการเป็นพิษ
การให้เทียนขาว 2% ในอาหารก็ไม่ก่อให้เกิดพิษในหนู แต่ในปริมาณ 10% จะทำให้การเจริญเติบโตผิดปกติและมีผลต่อตับและไต ส่วนการทดลองในหลอดทดลองพบว่าเทียนขาว ไม่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ในการเลือกใช้เมล็ดของเทียนขาวควรศึกษา หรือ ทำความเข้าใจให้ดีก่อนเพราะเมล็ดของเทียนขาวมีชื่อเรียกอีกอย่างว่าเมล็ดยี่หร่า ซึ่งอาจทำให้เช้าใจผิด และนำเมล็ดของต้นยี่หร่า (Ocimum gratissimum Linn) มาใช้แทนได้
- ในการใช้น้ำมันหอมระเหยของเมล็ดเทียนขาวอาจทำให้ผิวหนังเกิดการไวต่อแสง
- ในการใช้เทียนขาว ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากเกินที่ระบุไว้ และไม่ควรใช้เป็นเวลาติดต่อกันนานจนเกินไปเพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง เทียนขาว
- ชยันต์ พิเชียรสุนทร และ วิเชียร จีรวงศ์. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทยเล่ม 5 คณะเภสัช. พิมพ์ครั้งที่ 2. กทม. อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2548.หน้า 159-160
- ฤทธิ์ต้านเบาหวานจากสาระสำคัญของเมล็ดเทียนขาว .ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
- ฤทธิ์ลดความดันโลหิตสูงของสารสกัดน้ำจากเมล็ดเทียนขาว.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรไทยคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
- เทียนขาว.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thai.crudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=66
- Nostro A, Cellini L, Bartolomeo SD, Campli ED, Grande R, Cannatelli MA, et al. Antibacterial effect of plant extracts against Helicobacter pylori. Phytother Res. 2005;19(3):198-202.
- Hajlaoui H, Mighri H, Noumi E, Snoussi M, Trabelsi N, Ksouri R, et al. Chemical composition and biological activities of Tunisian Cuminum cyminum L. essential oil: A high effectiveness against Vibrio spp. strains. Food and Chemical Toxicology. 2010;48:2186-2192.
- Milan KSM, Dholakia H, Tiku PK, Vishveshwaraiah P. Enhancement of digestive enzymatic activity by cumin (Cuminum cyminum L.) and role of spent cumin as a bionutrient. Food Chemistry. 2008;110:678-683.