กำยาน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กำยาน งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กำยาน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กำยาน ญวน, กำยานสุมาตรา, กำยานไทย, กำยานหลวงพระบาง (ทั่วไป), กำหยาน, เขว้ (ภาคเหนือ), กำยานต้น (ภาคกลาง), ซาตสมิง, เกลือตานตุ่น, ประดงแดง, ซางควาย (ภาคอีสาน), กำมะแย (ภาคใต้), อานซีเซียง (จีน), สะดาน (เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Styrex benzoin Dryand (กำยานไทย)
                             Stryrex tokinensis craib ex Harwich (กำยานเวียดนาม, กำยานหลวงพระบาง)
                             Stryrex paralleoneurus Perkins (กำยานสุมาตรา)
ชื่อสามัญ Siam benzoin (กำยานญวณ, กำยานหลวงพระบาง), Sumatra benzoin (กำยานสุมาตรา), Frankincense
วงศ์ STYRACACEAE


ถิ่นกำเนิดกำยาน

กำยาน จัดเป็นพืชประจำถิ่นในเขตร้อนและเขตอบอุ่นของทวีปเอเชีย โดยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภูมิเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นใน เวียดนาม ลาว ไทย กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อน และเขตอบอุ่นอื่นๆ สำหรับในประเทศไทยพบกำยาน ได้ทั่วทุกภาคของประเทศแต่จะพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศแต่จะพบได้ทางภาคเหนือมากกว่าภาคอื่นๆ


ประโยชน์และสรรพคุณกำยาน

  1. ใช้เป็นยาขับลม
  2. ช่วยบำรุงหัวใจ
  3. ช่วยบำรุงเส้น
  4. แก้หายใจไม่ออก จุดเสียด แน่นหน้าอก
  5. ช่วยทำให้เลือดลมหมุนสะดวก
  6. ขับเสมหะ
  7. ขับปัสสาวะ
  8. ใช้ฆ่าเชื้อ
  9. แก้หลอดลมอักเสบ
  10. แก้นิ่ว
  11. ใช้สมานแผล
  12. ช่วยดับกลิ่นเนา เหม็น
  13. แก้ตกขาว
  14. แก้ไตพิการ
  15. ใช้บำรุงประสาท
  16. แก้ไข้
  17. ใช้ระงับปวด
  18. ใช้ถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย
  19. แก้ไข้ป่า (มาเลเรีย)
  20. รักษาโรคหัวใจ
  21. แก้หน้ามืดตาลาย
  22. แก้โรคผิวหนัง
  23. แก้น้ำกัดเท้า 

           ประโยชน์ของต้นกำยานที่นำมาใช้หลักๆ คือ ยาง หรือ ชันน้ำมัน (Oleoresin) ที่ได้จากพืชในสกุล Styrax หลายชนิด ซึ่งกำยาน ที่มีขายในท้องตลาดจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ กำยานญวน หรือ กำยานหลวงพระบาง (Siam Benzoin) และกำยานสุมาตรา (Sumatra Benzoin) โดยในอดีตมีการนำมาเผาเอาควันอบห้อง ทำให้ห้องมีกลิ่นหอมฆ่าเชื้อโรคในอากาศ ไล่ยุง ริ้นไร แมลงต่างๆ หรือ นำมาใช้เป็นส่วนผสมในการปรุงน้ำอบไทย โดยการเผากำยานแล้วใช้อบส่วนผสมต่างๆ เช่น ดอกไม้ หรือ นำน้ำที่อบกำยาน มาปรุงกับเครื่องหอมอื่นๆ ทำเป็นน้ำอบไทย และยังมีการใช้กำยานเป็นส่วนประกอบของธูปหอม กระแจะ และเครื่องหอมอื่นๆ หลายชนิด อีกทั้งยังมีการนำกำยาน มาใช้เป็นยากันบูดได้อีกด้วย ส่วนในปัจจุบันได้มีการนำกำยานมาใช้ในการบำบัดสุขภาพด้วยกลิ่นหอม หรือ ที่เรียกว่า Aromatherapy เพื่อช่วยลดความเครียด รู้สึกสงบ และผ่อนคลายความวิตกกังวล ยางจากลำต้นหรือเปลือกต้น (ที่เรียกกันว่ากำยาน) มีรสเผ็ดขม สุขุมมีกลิ่นหอม

กำยาน

กำยาน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้ลม บำรุงหัวใจ บำรุงเส้น แก้การหายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก ช่วยทำให้เลือดลมหมุนเวียนได้สะดวก ขับเสมหะ ขับลม ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว โดยนำกำยาน 0.5-1.5 กรัม มาบดเป็นผงรับประทานกับน้ำร้อน
  • ใช้ขับเสมหะ แก้หลอดลมอักเสบ โดยนำกำยาน มาแช่กับแอลกอฮอล์แล้วนำมาตั้งลนน้ำร้อน แล้วสูดไอที่ระเหยออกมา
  • ใช้แก้โรคผิวหนัง ฆ่าเชื้อรา น้ำกัดเท้า สมานแผลโดยการนำกำยานไปเผาไฟ แล้วใช้ควันรม หรือ ใช้ผสมกับขี้ผึ้ง ทาบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้ตกขาวโดยนำลำต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไตพิการโดยนำเปลือกต้น หรือ แก่นลำต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไข้ป่า โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
  •  ส่วนตำรายาจีน ใช้ยางจากต้น หรือ “กำยาน” เป็นยารักษาโรคหัวใจ ขับเสมหะ แก้จุดเสียด แน่นหน้าอก หน้ามืดตาลาย


ลักษณะทั่วไปของกำยาน

กำยาน จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ทรงพุ่มโปร่งสูง 10-20 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกลำต้นเป็นสีเขียวเทา หรือ สีหม่น ตามกิ่งก้านมีปุ่มหูดรูปเคียว และมีขนสีเหลืองขึ้นปกคลุมเล็กน้อย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับ บริเวณกิ่งก้านตั้งแต่โคนกิ่งจนถึงปลายกิ่งลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอกยาวเรียว มีขนาดกว้างประมาณ 2-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-12 เซนติเมตร โคนใบสอบมน ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างหนามีขนสีขาวขึ้นปกคลุมเล็กน้อย ส่วนก้านใบมีขนาดยาวประมาณ 6-10 มิลลิเมตร ออกดอกเป็นช่อกระจุก สั้นๆ ประมาณ 6-10 เซนติเมตร บริเวณง่ามใบ หรือ ปลายกิ่งดอกเป็นสีขาว แต้มชมพู หรือ แดงลักษณะของดอก มีกลีบดอก 5 กลีบ ยาว 1 เซนติเมตร กลีบด้านในของดอกจะเป็นสีขาวอมชมพูถึงสีแดงเข้ม ส่วนกลีบด้านนอกเป็นสีขาวมีขนขึ้นปกคลุม ใน 1 ดอก จะมีเกสรเพศผู้ 10 อัน และมีกลีบเลี้ยงเชื่อมติดเป็นรูปถ้วยบริเวณฐานดอก ผลเป็นผลแห้ง เมื่อยังอ่อนมีสีเขียวอ่อน รูปทรงค่อนข้างกลม หรือ ออกแป้น เปลือกผลแข็ง ผิวผลมีขนสีขาวปกคลุมประปราย บริเวณขั้วผลมีฝาปิดคล้ายหมวก และเมื่อขนาดผลที่โตเต็มที่จะมีความยาว 10-12 มิลลิเมตร เป็นสีน้ำตาล และจะแตกออกเป็น 3 ส่วน ด้านในผลมีเมล็ดลักษระกลม 1-2 เมล็ด

กำยาน

กำยาน

การขยายพันธุ์กำยาน

กำยานสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด โดยสามารถปลูกได้ทั้งในดิน และในกระถาง ซึ่งโดยส่วนมากมักจะทำการเพาะต้นกล้าให้รากแน่นก่อนแล้วจึงนำไปลงปลูกในดินต่อไป สำหรับวิธีการเพาะเมล็ด และการปลูก ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด และการปลูก ไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวถึงมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ กำยาน เป็นพืชที่สามารถทนแล้งได้ดี และต้องการแดดจัด ควรปลูกกลางแจ้งในที่โดนแดดทั้งวัน และจะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีความชื้น


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของกำยาน โดยเฉพาะส่วนของยาง หรือ ชันน้ำมันจากลำต้นที่เรามักเรียกว่ากำยาน ทั้งกำยานสุมาตรา กำยานเวียดนาม กำยานหลวงพระบาง และกำยานไทย ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น Egonol, Styraxin, Glycoside B-C, Styraxjaponoside A-B, Egonol glucoside, Egonol-gentiobioside, Matairesinoside, Obassioside A-B, Arctiin, Styraxlinolide A, Masutakeside I, Syringaresinol, Styraxjaponoside C, 7-demethoxyhomoegonol, Egonol-2-methylpropa noate, 5-(3"-benzoyloxypropyl)-7methoxy-2-(3',4'-methy lenedioxyphenyl) benzo furan, Cinnamic acid, Benzoic acid, Lubanyl cinnamate, Vanillin, Phenylpropyl cinnamate, Siarsinolic acid และ Coniferyl cinnamate เป็นต้น

โครงสร้างกำยาน

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของกำยาน

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของยางจากลำต้น และเปลือกต้นของกำยาน (Benzoin) ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้

          ฤทธิ์ต้านอักเสบ มีรายงานผลการศึกษาวิจัยพบว่า Boswellic acid ที่พบในกำยาน มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 5-lipoxygenase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่นำให้เกิดการอักเสบ และมีประสิทธิภาพในบรรเทาอาการอักเสบ ที่เกิดจาก โรคหอบหืด โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และภาวะ UIcerative colitis เป็นต้น

           ฤทธิ์ต้านมะเร็ง มีรายงานระบุว่า สาร Terpenes บางชนิดที่พบในกำยานที่ฤทธิ์ที่กระตุ้นให้เซลล์มะเร็งเต้านมตาย โดยพบว่า สารเทอร์ปีนที่พบใน กำยานสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งเต้านม และขัดขวางการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง แต่ทั้งนี้การศึกษานี้เป็นเพียงการศึกษาในหลอดทดลองเท่านั้น

           นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ามีการศึกษาวิจัยในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม (osteoarthritis) จำนวน 545 คน โดยให้รับประทานกำยาน หรือ สารสกัดกำยาน ขนาด 100-250 มก.ต่อวัน เป็นระยะเวลา 1 เดือน หลังการศึกษาวิจัย สามารถพบว่าช่วยบรรเทาอาการปวด อาการข้อขัดได้


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของกำยาน

มีรายงานการศึกษาความเป็นพิษต่อเลือดของยางหอม (oleo gum resin) จากต้นกำยาน ในหนูแรท ด้วยการป้อนสารสกัดเมทานอลจากยางหอมของต้นกำยานใน ขนาด 250, 500 และ 1,000 มก./กก. วันละครั้ง ติดต่อกัน 28 วัน พบว่าสารสกัดที่ขนาด 500 และ 1,000 มก. ทำให้ปริมาณค่าเฉลี่ยฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง (mean corpuscular hemoglobin: MCH) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยไม่มีความสัมพันธ์กับขนาดของสารสกัดที่ได้รับ แต่ไม่พบผลของสารสกัดจากยางหอมต้นกำยาน ต่อค่าโลหิตวิทยาอื่นๆ เช่น เกล็ดเลือด เม็ดเลือดแดง ปริมาณเม็ดเลือดแดงอัดแน่น ปริมาตรของเม็ดเลือดแดง ความเข้มข้นของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง และระดับฮีโมโกลบิน จำนวนเม็ดเลือดขาว อีกทั้งสารสกัดดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติต่อพฤติกรรม การกินอาหาร และน้ำหนักตัวของสัตว์ทดลอง โดยในการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าสารสกัดเมทานอลจากยางหอมของต้นกำยานในขนาดสูง (500 และ 1,000 มก./กก.) อาจก่อให้เกิดภาวะโลหิตจางในสัตว์ทดลองได้


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง 

น้ำมันหอมระเหยของกำยาน หรือ มีส่วนประกอบของกำยาน อาจทำให้เกิดอาการแพ้ในผู้ที่แพ้พืชวงศ์นี้ได้ โดยหากใช้แล้วมีอาการผิดปกติ เช่น มีผดผื่นลมพิษ ระคายเคืองผิวหน้า หรือ หายใจลำบาก ควรหยุดใช้แล้วรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด


เอกสารอ้างอิง กำยาน
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “กำยาน”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 63-64.
  2. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. รายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ ฉบับ พ.ศ.2564. กรุงเทพฯ: บริษัท สามเจริญพาณิชย์ (กรุงเทพ) จำกัด; 2564.
  3. มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล. (2548). สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 5 สมุนไพรพื้นบ้านอีสาน. หน้า 154.
  4. ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต, วิเชียร จีรวงส์. “กำยาน”. หนังสือคำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์ ฉบับเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชา 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2542. หน้า 217-220.
  5. สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. (2539). เภสัชเวทกับตำรายาแผนโบราณ. หน้า 104.
  6. วิทยา บุญวรพัฒน์. “กำยานต้น”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 82.
  7. การศึกษาความเป็นพิษต่อเลือดของยาหอมจากต้นกำยาน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. Hébert, Paul D.N.; Penton, Erin H.; Burns, John M.; Janzen, Daniel H. & Hallwachs, Winnie (2004): Ten species in one: DNA barcoding reveals cryptic species in the semitropical skipper butterfly Astraptes fulgerator. PNAS 101(41): 14812-14817
  9. Roe AL, Wilcox R, Price JM, Li L, Dai H, Freeman KM, et al. An evaluation of potential inhibition of CYP3A4/5 and CYP2C9 enzymatic activity by Boswellia serrata extract. Appl Vitro Toxicol. 2019;5(1):34-46.
  10. Brower, Andrew V.Z. (2006): Problems with DNA barcodes for species delimitation: 'ten species' of Astraptes fulgerator reassessed (Lepidoptera: Hesperiidae). Systematics and Biodiversity 4(2): 127–132.
  11. Pastrorova, I.; de Koster, C.G. & Boom, J.J. (1997): Analytical Study of Free and Ester Bound Benzoic and Cinnamic Acids of Gum Benzoin Resins by GC-MS and HPLC-frit FAB-MS. Phytochem. Anal. 8(2): 63-73.
  12. Wallnöfer, B. (1997). A revision of Styrax L. section Pamphilia (Mart. ex A. DC.) B. Walln. (Styracaceae). Annalen des Naturhistorischen Museums in Wien 99B: 681-720.
  13. Yu G, Xiang W, Zhang T, Zeng L, Yang K, Li J. Effectiveness of Boswellia and Boswellia extract for osteoarthritis patients: a systematic review and meta-analysis. BMC Complement Med Ther. 2020;20(1):225.
  14. Fritsch, P.W.; Morton, C.M.; Chen, T. & Meldrum, C. (2001). Phylogeny and Biogeography of the Styracaceae. Int. J Plant Sci. 162(6, Supplement): S95–S116.