สันโศก ประโยนช์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

สันโศก งานวิจัยและสรรพคุณ 20ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร  สันโศก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น  สมัดใหญ่ , สมัดขาว , หัสคุณเทศ (ภาคอีสาน) , เพี้ยฟาน , หมี่ ขี้ฮอก , เฮือนหม่น , เหมือดหม่น (ภาคกลาง) , มะหรุย (ภาคใต้) , หัสคุณโคก (เพชรบูรณ์) , รุ้ย (กาญจนบุรี) , อ้อยช้าง (สระบุรี) , ขี้ผึ้ง ,แสนโศก (โคราช) , สามเสือ (ชลบุรี) , สามโสก (จันทบุรี) , ยม (ชุมพร) , สำรุย (ยะลา)
ชื่อวิทยาศาสตร์   Clausena excavata Burm.f.
วงศ์   RUTACEAE

 

ถิ่นกำเนิดสันโศก

สันโศกเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะในเขตร้อนชื้นของทวีป เช่นในแถบเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยจัดเป็นไม้พื้นถิ่นเพราะสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักพบได้ตามป่าดงดิบ , ป่าละเมาะ หรือตามป่าเบญจพรรณ ที่มีความชื้นปานกลาง แต่มีแสงแดดส่องถึงแบบเต็มวัน

ประโยชน์และสรรพคุณสันโศก

  • ช่วยขับเลือด
  • รักษาริดสีดวง
  • รักษาคุดทะราด
  • ช่วยขับพยาธิ
  • แก้โรคผิวหนัง
  • ช่วยกระจายเลือดลม
  • แก้โลหิตในลำคอ
  • แก้โลหิตในลำไส้
  • ช่วยขับลม
  • แก้ลมอัมพฤกษ์อัมพาต
  • แก้ขัดยอก เสียดแทง
  • แก้ไข้
  • แก้หืดไอ
  • แก้ผื่นคัน
  • ช่วยขับเสมหะให้ตก
  • ใช้เป็นยาระบาย
  • แก้ผอมแห้ง
  • ช่วยขับหนองให้ตก
  • แก้โรคงูสวัด
  • แก้ปวดฟัน

 

           นอกจากนี้ยังมีการนำมาใช้ประโยชน์ในการกำจัดริ้นไรไก่ได้อีกด้วย โดยการนำต้นและใบแก่ของสันโศกมาเผารมควันตามเล้าไก่ หรือนำใบแก่ไปใส่ไว้ในรังไข่จะช่วยไล่ไรไก่ได้เช่นกัน เพราะใบมีกลิ่นเหม็นรุนแรง  หรืออาจจะนำใบแก่มาต้มกับน้ำอาบให้ไก่ชนเพื่อกำจัดไรไก่ก็ได้ ยอดอ่อนและใบอ่อนมักจะใช้รับประทานร่วมกับขนมจีน น้ำพริก ลาบ และแกงหน่อไม้

 

ลักษณะทั่วไปสันโศก 

สันโศกจัดเป็นไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านมาก มีความสูงของต้นได้ประมาณ 1 -4 เมตร ลำต้นโตมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาวได้ถึง 20 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขาไม่เป็นระเบียบ ตามกิ่งก้านมีขนสั้น ๆ ที่บริเวณปลายกิ่ง เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล ผิวเรียบ    

           ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก เรียงแบบสลับ มีใบย่อย 3-6 คู่ รูปรีหรือรูปหอก เห็นเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ใบไม่หนา สีเขียวอ่อน กว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 5-8 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ฐานใบเบี้ยว ขอบใบเรียบ มีซี่จักเล็กน้อย ใบมีขนนุ่มสีน้ำตาล ท้องใบมีขนบางๆ ดอก ออกเป็นช่อแบบแยกแขนง โดยจะออกที่ปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 0.5-2 มิลลิเมตร วงกลีบเลี้ยงมีขนาดเล็กมาก กลีบดอกมี 4-5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน ยาวประมาณ 3.5-5 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นสีขาวแกมเหลือง หรือสีขาวปนเขียว ดอกมีเกสรเพศผู้ 8 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1.5-3.5 มิลิเมตร  ส่วนก้านชูเกสรเพศเมีย มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ปลายกว้าง ยาวได้ถึง 1.8 มิลลิเมตร ส่วนรังไข่เป็นรูปไข่ มีขนละเอียดขึ้นปกคลุม ผล มีลักษณะกลมหรือรี หรือรูปกระสวย ขนาดเล็ก ผิวใสฉ่ำน้ำ ผลอ่อนสีเขียวปนเหลือง ผลแก่สีส้มอมชมพูภายในมีเมล็ดมาก

สันโศก


การขยายพันธุ์สันโศก 

สันโศกสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธี เพาะเมล็ด , ปักชำ และการตอนกิ่ง โดยวิธีที่นิยมในการขยายพันธุ์มากที่สุด คือ การเพาะเมล็ด ส่วนวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปลูกสันโศกนั้น ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปลูกไม้พุ่มทั่วๆไป


องค์ประกอบทางเคมีสันโศก

จากการศึกษาองค์ประกอบทางเคมี ของสันโศกพบว่า ประกอบด้วย สารในกลุ่มอัลคาลอยด์  (alkaloids) คูมาริน  (coumarin) ลิโมนอยด์(limonoids) และคาร์บาโซล (carbazoles)

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของสันโศก

โครงสร้างสันโศก 

ที่มา : Wikipedia

           นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่าเปลือกต้นหวดหม่อนมีสาร clausine-D ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด wedelolactone และอนุพันธ์ของ coumentan ที่มีฤทธิ์ต้านสารพิษที่ทำลายตับ และต้านอาการปวดและอักเสบ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ยอดอ่อนใช้รับประทานสดเป็นยาระบายแก้อาการท้องผูก
  • รากสันโศกนำมาต้มกินเป็นยาบำรุงกำลัง ใช้ขับลม กระจายเลือดลม แก้โรคงูสวัด แก้ไข้
  • ลำต้นและใบ นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้พิษต่างๆ
  • ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำกลั้วปาก แก้อาการปวดฟัน
  • ส่วนใบนำมาต้มกับน้ำอาบจะช่วยแก้แผลเปื่อย และอาการคันจากผื่นคันต่างๆ หรือนำใบสันโศกนำมาตำพอกจะแก้อาการอักเสบบวมอันเกิดจากไฟ เช่น น้ำร้อนลวก เป็นต้น


การศึกษาทางเภสัชวิทยา

มีรายงานการศึกษาวิจัยและทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาจากส่วนต่างๆ ของสันโศกพบว่า มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ยับยั้งเชื้อเอดส์ (HIV-1) ช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน ฤทธิ์แก้ปวด(antinociceptive activity) ฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือด(antiplatelet activity) ฤทธิ์ต้านมาลาเรีย(anti-malarial activity) และ ฤทธิ์กำจัดแมลง (insecticidal activity)

สันโศก
การศึกษาทางพิษวิทยา

มีการศึกษาผลของน้ำสกัดสันโศก 38.5% w/v โดยให้ในหนูขาว 2 กลุ่ม ในปริมาณ 0.5 มล./วัน และ 1 มล./วัน ตามลำดับ ติดต่อกัน 2 เดือน จากผลการทดสอบพบว่าได้ค่าการทดสอบสมรรถภาพของตับ ไต และค่าทางโลหิตวิทยาไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และเมื่อทดลองให้น้ำสกัดสันโศกแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย 8 ราย โดยให้ผู้ป่วยนำกลับไปรับประทานที่บ้าน สามารถสรุปเบื้องต้นได้ว่า ผู้ป่วยไม่มีการเปลี่ยนแปลงของ complete blood count, platelet count และ performance status การตรวจสอบหาค่า LD50 ของน้ำสกัดจากเนื้อไม้สันโศกในหนูขาว เมื่อฉีดสารสกัดดังกล่าวเข้าทางช่องท้อง พบว่าค่า LD50 เท่ากับ 1.6 ก./กก. แต่เมื่อป้อนสารสกัดนี้ให้กับหนูขาว ค่า LD50 มากกว่า 10 ก./กก. ซึ่งในกรณีนี้จะจัดสารสกัดสันโศกให้อยู่ในระดับไม่เป็นพิษเชิงปฏิบัติ (practically nontoxicity)

           ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์  มีการศึกษาฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของน้ำสกัดและสารสกัดอัลกอฮอล์ของสันโศก พบว่าสารสกัดดังกล่าวไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ เมื่อทดสอบกับ Salmonella typhimurium TA98 และ TA100

           พิษต่อระบบสืบพันธุ์  มีการทดลองให้น้ำสกัดสันโศก ความเข้มข้น 0.4 มก./มล. ทุกวัน วันละ 2 มล. เป็นเวลา 2 เดือน พบว่าสารสกัดนี้ไม่มีความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ของหนูขาวเพศผู้ คือ จำนวน sperm และน้ำหนัก testis มีค่าปกติ ไม่พบความผิดปกติใน sperm analysis และหนูตัวผู้มี normal fertility potential ในขณะที่หนูตัวเมียทุกตัวมีการตั้งท้องและมีจำนวนและขนาดของตัวอ่อนที่ฝังตัวในมดลูกอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา เกี่ยวกับการรักษาหรือยับยั้งโรคเอดส์จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการวิเคราะห์สันโศก พบว่ายาที่ได้จากสันโศกไม่ว่าจะมาจากส่วนใดของต้นก็ตาม ยังไม่พบตัวยาที่จะรักษาหรือชะลอโรคเอดส์ได้

            ดังนั้นผู้ที่ต้องการนำสันโศกไทยใช้เพื่อรักษาหรือยับยั้งโรคเอดส์ จึงยังไม่สมควรนำไปใช้ เนื่องจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยังมีไม่เพียงพอ ควรต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม ส่วนในการนำสันโศกมาใช้ในการบำบัดรักษาโรคอื่นๆ ตามตำรายาต่างๆ นั้น ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นกัน โดยไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินกว่าที่ตำรายาต่างๆได้ระบุเอาไว้ และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็กสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานต่อเนื่อง ก่อนจะใช้สันโศก ในการบำบัดรักษาต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง

  1. สันโศก.สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อเอดส์.สำนักงานข้อสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “หวดหม่อน”.  หน้า 71.
  3. จีรเดช มโนสร้อย อรัญญา มโนสร้อย กิตติพันธ์ ตันตระรุ่งโรจน์ และคณะ.  การศึกษาฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่นและการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของสมุนไพรสันโศก (Clausena excavata Burm. F) และฤทธิ์ต้านมะเร็งของสมุนไพรนมนาง (Pouteria cambodiana Baehni) และสันโศก.  สัมมนาวิชาการเทคโนโลยีชีวภาพเภสัชกรรม ครั้งที่ 2 “การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อการแพทย์แผนไทย”, เชียงใหม่, 21-23 มิ.ย. 2543:241-6.
  4.  กนกพร กวีวัฒน์.  ผลของพืชสมุนไพรบางชนิดต่อระบบสืบพันธุ์ของสัตว์ทดลอง:กวาวเครือ หญ้าหวาน นมนางและสันโศก.  สัมมนาวิชาการเทคโนโลยีชีวภาพเภสัชกรรม ครั้งที่ 2 “การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อการแพทย์แผนไทย”, เชียงใหม่, 21-23 มิ.ย. 2543: 148-53. 
  5. วิทวัส.ศาศวัตสุวรรณ , อนันตชิน อินทรรักษา , ธเนศ ตรีสุวรรณวัฒน์ , วรศักดิ์ ชัยวิภาส , อาริยา รัตนทองคำ . ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดหยาบจากสันโศก ส่องฟ้า และมาไฟจีน ต่อเชื้อสเตรปโตคอคคัส มิวแทนส์ .วารสารวิทยาสารทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีที่ 17.ฉบับที่1.มกราคม-มิถุนายน 2557. หน้า 1-7
  6.  อุษณีย์ วินิจเขตคำนวณ รวิวรรรณ พัวธนาโชคชัย อรัญญา มโนสร้อย จีรเดช มโนสร้อย.  ฤทธิ์ก่อการกลายและฤทธิ์ต้านการกลายของสารสกัดสมุนไพรนมนาง, สันโศก, และหญ้าหวานในการทดสอบเอมส์. เชียงใหม่วารสาร 2544;40(3):147-53. 
  7. จีรเดช มโนสร้อย อัมพวัน อภิสริยะกุล อรัญญา มโนสร้อย.  การศึกษาพิษเฉียบพลันโดยหาค่า LD50 ของสมุนไพรในสัตว์ทดลองหนู.  สัมมนาวิชาการเทคโนโลยีชีวภาพเภสัชกรรม ครั้งที่ 2 “การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อการแพทย์แผนไทย”, เชียงใหม่, 21-23 มิ.ย. 2543:253.   
  8. Aritajat S, Kaweewat K, Manosroi J, Monosroi A.  Dominant lethal test in rats treated with some plant extracts.  สัมมนาวิชาการเทคโนโลยีชีวภาพเภสัชกรรม ครั้งที่ 2 “การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อการแพทย์แผนไทย”, เชียงใหม่, 21-23 มิ.ย. 2543:276. 
  9. สมัดใหญ่,ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.phargen.com/main.php?action=viewpage&pid=113
  10. Arbab IA, Abdul AB, Aspollah M, Abdullah R, Abdel-wahab SI, Mohan S, et al. Clausena excavata Burm. f. (Rutaceae): A review of its traditional uses, pharmacological and phytochemical properties. J Med Plants Res 2011; 5(33): 7177-84
  11. Wuthamawech W. Thai traditional medicine. Bangkok: Odean Store; 1997.