ลูกซัด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ลูกซัด งานวิจัยและสรรพคุณ 15ข้อ
ชื่อสมุนไพร ลูกซัด
ชื่ออื่นๆ / ชื่อท้องถิ่น ไม่มีข้อมูล
ชื่อวิทยาศาสตร์ Trigonella foenum-graecum L.
ชื่อสามัญ Fenugreek , Methi
วงศ์ LEGUMINOSAE (FABACEAE) - PAPILIONIODEAE
ถิ่นกำเนิดลูกซัด
ลูกซัดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเมติเตอร์เรเนียน และมีการกระจายพันธุ์ไปใน อินเดีย จีน รวมถึงประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น อียิปต์ , เอธิโอเปีย ในปัจจุบันสามารถพบได้ในหลายพื้นที่ทั่วโลกทั้งในเอเชีย แอฟริกา และยุโรป โดยส่วนใหญ่นิยมใช้เมล็ดของลูกซัดซึ่งมีกลิ่นเฉพาะตัว เป็นเครื่องเทศสำหรับการประกอบอาหาร โดยเฉพาะในอาหรับและอินเดีย ส่วนแหล่งปลูกเพื่อการพาณิชย์ที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศอินเดีย อียิปต์ ตูนีเซีย โมร็อกโก เอธิโอเปีย ฝรั่งเศส ตุรกี และ จีน
ประโยชน์สรรพคุณลูกซัด
- แก้ท้องเสีย
- รักษาเกาต์
- รักษาเบาหวาน
- ช่วยขับน้ำนม
- กระตุ้นกำหนัด และขับระดู
- แก้ท้องร่วง
- กล่อมเสมหะและอาจมแก้ธาตุพิการ
- แก้ท้องขึ้น
- ขับลมในลำไส้
- ขับปัสสาวะ
- บำรุงธาตุ ทำให้เจริญอาหาร
- ใช้พอก ฝี ลดอาการบวม ทาแผลต่างๆ
- แก้อักเสบบวม
- แก้ไอเรื้อรัง
- ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ
ลูกซัดถูกนำมาใช้เป็นเครื่องเทศในการปรุงอาหาร เพราะให้กลิ่นหอม และมีรสขมเฉพาะตัว เป็นรสเสน่ห์อาหารอย่างหนึ่งซึ่งลูกซัดจะมีกลิ่นหอมคล้ายขึ้นฉ่ายแต่แรงกว่า รสออกขมนิดๆ ขื่นหน่อยๆ เมื่อจะใช้เขานำไปคั่วไฟก่อน ไฟต้องอ่อนมากๆเพราะลูกซัดบอบบาง ไหม้ง่าย เมื่อคั่วแล้วจะมีกลิ่นหอมมากขึ้น ถ้าคั่วด้วยน้ำมันเมล็ดจะพองตัว รสออกขมเข้มขึ้น เจือด้วยรสเผ็ดนิดๆ และด้วยคุณสมบัติกลิ่นและรสดังกล่าว ลูกซัดจึงกลายเป็นส่วนผสมที่สำคัญใน ?ผงกะหรี่? อันเป็นเครื่องเทศสากลที่ใช้กันทั่วโลก และที่คนอินเดียใช้ ลูกซัดในการดองมะม่วง พริก กระเทียม และผักอื่น ๆ ทำเป็น Achar (อาจาด) ที่ใช้เป็นเครื่องเคียงของสะเต๊ะ และในอีกหลายๆประเทศก็ยังมีการใช้ลูกซัดมาเป็นส่วนผสมของแป้งเพื่อเตรียมเป็นอาหารชนิดต่างๆ เช่น ขนมปัง แป้งพิซซ่า มัฟฟินและเค้ก รวมทั้งมีการคิดค้นเพื่อพัฒนาลูกซัดในรูปแบบของอาหารเพื่อสุขภาพ (functional food) และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (dietary supplement) อีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
การใช้ลูกซัดในปัจจุบันเป็นการใช้ในการบริโภคในรูปแบบของเครื่องเทศ และอาหารมากกว่า การใช้ในการเป็นยารักษาโรคเพราะขนาดในการใช้ยารักษาโรคนั้นก็ยังไม่มีรายงานการศึกษาวิจัยที่ชี้ชัดถึงขนาดการใช้ที่เหมาะสมและมีความปลอดภัยที่แน่นอน
ลักษณะทั่วไปลูกซัด
ลูกซัดจัดเป็นไม้ล้มลุกอายุปีเดียว ลำต้นตั้งตรง สูงได้ถึง 60 ซม. รากแก้วขนาดใหญ่ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ เรียงสลับ หูใบขนาดเล็ก ก้านใบยาว 1-4 หรือ 1-6 ซม. แกนกลางสั้น ใบย่อยรูปไข่กลับหรือขอบขนาด กว้าง 0.5-2 ซม. ยาว 1.5-4 ซม. ดอกเดี่ยวออกที่ซอกใบ รูปดอกถั่ว สีเหลือง ยาว 1-1.5 ซม ฝักรูปขอบขนาน กว้าง 2-4 ซม. ยาว 5-19 ซม. ผิวเกลี้ยง ในฝักมีเมล็ด 10-20 เมล็ด เมล็ดแก่สีน้ำตาลอ่อน หรือสีเหลืองทอง เมล็ดมีขนาดเล็ก ขนาดกว้าง 3 มิลลิเมตร ยาว 4 มิลลิเมตร หนา 1 มิลลิเมตร มีร่องตรงกลางเมล็ด มีกลิ่นแรงเฉพาะตัว เมล็ดมีรสฝาด มีกลิ่นหอม
การขยายพันธุ์ลูกซัด
ลูกซัดสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และการปักชำ โดยมีวิธีการเพาะเมล็ดและใช้กิ่งปักชำ รวมถึงวิธีการปลูกเช่นเดียวกับพืชชนิดอื่นๆทั่วๆไป
องค์ประกอบทางเคมี
เมื่อศึกษาทางด้านองค์ประกอบทางเคมี พบว่าสาระสำคัญที่พบในลูกซัดประกอบด้วยgalactomannan ร้อยละ 14-15 น้ำมันระเหยยาก (fixed oil) มีรสขมและกลิ่นเหม็น น้ำมันระเหยง่ายร้อยละ 0.02 พบสารกลุ่ม Alkaloids เช่น trigonelline , สารกลุ่ม saponin เช่น diosgenin, yamogenin, tigogenin, neotigogenin, Graecunin A-G sarsapogenin smilgenin trigofoenside A trigofoenoside B,C trigofoenoside D trigofoenoside F,G yuccagenin, gitogenin สารกลุ่ม flaronoids เช่น vitexin, orientin, quercetin, luteolin kaempferol กรดอะมิโนชื่อ 4-hydroxyisoleucine
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของลูกซัด
ที่มา : Wikipedia
นอกจากนี้ ลูกซัดยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้ คุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดลูกซัดต่อ (100 กรัม) (3.5 ออนซ์)
พลังงาน 1,352 kJ (323 kcal)
คาร์โบไฮเดรต 58 กรัม
เส้นใยอาหาร 25 กรัม
ไขมัน 6.4 กรัม
โปรตีน 23 กรัม
วิตามิน
Thiamine(B 1 ) ไทอะมีน (วิตามิน B1) 0.322 mg
Riboflavin (B 2 ) ไรโบฟลาวิน (วิตามิน B2) 0.366 มก
ไนอาซิน(B 3 ) (วิตามิน B3) 1.64 มก
ไพริดอกซิน (วิตามิน บี6) 0.6 มก
โฟเลต(B 9 ) (วิตามิน B9) 57 ไมโครกรัม
แอสคอบิดเอซิด (วิตามินซี) 3 มก
แร่ธาตุ
แคลเซียม 176มก.
เหล็ก 34 มก
แมกนีเซียม 191มก
แมงกานีส 1.23 mg
ฟอสฟอรัส 296 มก
โพแทสเซียม 770 มก
โซเดียม 67 มก
สังกะสี 2.5 มก
องค์ประกอบอื่น ๆ
น้ำ 8.8 กรัม
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
มีการศึกษาฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในสัตว์ทดลอง ทั้งปกติและถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน โดยพบว่าในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย alloxan เมื่อฉีดสารสกัดน้ำจากใบ ขนาด 0.06 0.2 0.5 และ 1 ก./กก. และสารสกัด 70% เอทานอลจากใบ ขนาด 0.8 ก./กก. เข้าทางช่องท้อง และป้อนสารสกัดน้ำจากใบ ขนาด 1 2 และ 8 ก./กก. มีผลลดน้ำตาลในเลือดของหนู ยาต้มและสารสกัด 95% เอทานอลจากเมล็ด ขนาด 0.5 มล./ตัว สารสกัด 95% เอทานอลจากเมล็ด ขนาด 250 มก./กก. และสารสกัดอัลกอฮอล์จากเมล็ด ขนาด 1 2 และ 4 ก./กก. มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้บาหวานด้วย alloxan ได้เช่นกัน
ลูกซัดมีผลเสริมฤทธิ์ของยารักษาเบาหวานโดยเมื่อให้ผงเมล็ดลูกซัดร่วมกับยา glicazide พบว่าลูกซัดจะเสริมและเพิ่มระยะเวลาการออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของยาในหนูแรทปกติ หนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย alloxan monohydrate และในกระต่ายปกติ โดยไม่ทำให้เกิดการชักเนื่องจากน้ำตาลในเลือดต่ำ สารสกัดเอทานอล ขนาด 500 มก./กก. เมื่อให้ร่วมกับยา glibenclamide แก่หนูแรทปกติและหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย streptozotocin จะมีผลเสริมฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดเช่นกัน
ผงเมล็ด ขนาด 15 กก. มีผลลดน้ำตาลในเลือดและอินซูลินของผู้ป่วย เมื่อทดสอบด้วยวิธีการวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหาร (Meal tolerance test) เมื่อให้ผู้ป่วย จำนวน 15 คน รับประทานอาหารที่ผสมผงเมล็ดลูกซัดที่ขจัดไขมัน ปริมาณ 100 ก.นาน 10 วัน พบว่าระดับน้ำตาลและอินซูลินในเลือดลดลง ผู้ป่วย อายุระหว่าง 38-54 ปี จำนวน 10 คน ที่รับประทานอาหารซึ่งผสมผงเมล็ดลูกซัด ขนาด 25 ก. โดยแบ่งเป็นขนาดเท่าๆกัน รับประทานวันละ 2 มื้อ คือ กลางวันและเย็น นาน 15 วัน พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลง โดยลูกซัดมีผลลดระดับน้ำตาลในพลาสมา เพิ่มการใช้กลูโคส และเพิ่ม insulin receptor บนเม็ดเลือดแดง ทำให้เพิ่มความต้านทานต่อกลูโคส และเมื่อให้ผู้ป่วย จำนวน 60 คน รับประทานอาหารที่ผสมผงเมล็ดลูกซัดในขนาดเดียวกันนี้ นาน 24 สัปดาห์ พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดและอินซูลินในผู้ป่วยลดลงเช่นกัน
การศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดีที่รับประทานแคปซูลผงใบลูกซัด ขนาด 2.5 ก. วันละ 2 ครั้ง นาน 3 เดือน พบว่าไม่มีผลลดน้ำตาลในเลือด เมื่อให้คนปกติ จำนวน 6 คน รับประทานตำรับอาหารที่ผสมผงเมล็ดลูกซัดดิบ เมล็ดต้น และเมล็ดกำลังงอก ปริมาณ 12.5 ก. วันละครั้งเป็นอาหารเช้า หรือให้รับประทานตำรับยาซึ่งประกอบด้วยลูกซัด และ guar gum พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลง เมล็ด ขนาด 25 ก. ยางที่สกัดจากเมล็ด (gum) ขนาด 5 ก. และใบ ขนาด 150 ก. มีผลลดน้ำตาลในเลือดของคนปกติได้ เมื่อให้อาสาสมัครชายสุขภาพดี อายุ 20-30 ปี จำนวน 20 คน รับประทานสารสกัดน้ำจากใบ ขนาด 40 มก./กก.พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลง 13.4 หลังจากได้รับสารสกัด 4 ซม. โดยมีผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น รู้สึกหิวปัสสาวะบ่อย และเวียนศีรษะ
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจำนวนหนึ่งทำการทดลองโดยให้สตรี ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรดื่มชาที่มีส่วนผสมของลูกซัด ผลลัพธ์ที่ได้ คือ มีสัญญาณบ่งชี้ถึงปริมาณน้ำนมที่เพิ่มขึ้นของคุณแม่ในกลุ่มทดลองอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้บริโภคชาที่มีส่วนผสมของลูกซัด จึงอาจกล่าวได้ว่า อาหารเพิ่มน้ำนมที่มีส่วนผสมของลูกซัดอาจช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนม และมีส่วนช่วยเพิ่มน้ำหนักตัวเด็กในระยะหลังคลอดได้ด้วย อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่ชัดเจนทางการแพทย์เกี่ยวกับลูกซัดที่สัมพันธ์กับการเพิ่มปริมาณน้ำนมในสตรีที่ให้นมบุตรยังคงมีจำกัด และนักวิจัยยังระบุว่าควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
การศึกษาทางพิษวิทยา
การทดสอบความเป็นพิษ ยาต้มจากใบ สารสกัดน้ำจากใบ หรือสารสกัดเอทานอล:น้ำ จากเมล็ดเมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องหนูแรท และหนูเม้าส์ มีค่า LD50 เท่ากับ 4 ก./กก. 1.9 ก./กก. และ 1ก/กก. ตามลำดับ เมื่อป้อนหนูแรทด้วยสารกสัดน้ำจากใบ พบว่ามีค่า LD50 เท่ากับ 10 ก./กก. สารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์จากเมล็ด เมื่อทดสอบในกระต่ายและหนูแรทมีค่า LD50 มากกว่า 2 และ 5ก./กก. ตามลำดับ
การรับประทานเมล็ดลูกซัด ขนาด 25 ก./วัน ไม่ทำให้เกิดพิษ การศึกษาความเป็นพิษ ในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 60 คน โดยให้รับประทานอาหารที่เสริมผงเมล็ดลูกซัด 25 ก. นาน 24 สัปดาห์ พบว่าไม่เป็นพิษต่อตับและไต และไม่พบความผิดปกติของค่าทางโลหิตวิทยา แต่มีระดับยูเรียในเลือดลดลงหลังจากรับประทาน 12 สัปดาห์
พิษต่อเซลล์ สารสกัดน้ำจากเมล็ด ความเข้มข้น 0.3 มก./มล. เป็นพิษต่อเซลล์ตับของหนูแรท โดยทำให้เกิดความผิดปกติของไครโมโซม
พิษต่อตัวอ่อน ไม่พบความเป็นพิษต่อตัวอ่อน เมื่อป้องผงเมล็ดแห้ง ขนาด 175 มก./กก. ให้แก่หนูแรทที่ตั้งท้อง เมล็ด ขนาด 2 ก./ตัว ไม่มีผลทำให้หนูแรทแท้ง
มีรายงานผู้ป่วยที่การเกิดอาการแพ้จากการสูดดมผงเมล็ดลูกซัด โดยทำให้น้ำมูกไหลมาก หอบและหมดสติ และผู้ป่วยที่เกิดอาการแพ้จากการรับประทานเครื่องแกง ที่มีลูกซัดเป็นส่วนผสม โดยมีอาการหลอดลมบีบเกร็ง หอบ และท้องเสีย แะลจะเสริมให้แพ้มากในผู้ป่วยที่แพ้ถั่วลิสงด้วย ในผู้ป่วยที่เป็นหอบหืดเรื้อรังซึ่งใช้ผลเมล็ดลูกซัดสำหรับแก้รังแค พบว่าทำให้หนังศีรษะหมดความรู้สึก หน้าบวม และหอบ
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ไม่แนะนำให้คนที่แพ้อาหารประเภทถั่วทานลูกซัด เพราะถั่วลูกซัดเป็นพืชตระกูลถั่ว ถึงแม้จะจัดเป็นเครื่องเทศก็ตาม
- หญิงมีครรภ์ไม่ควรทานถั่วลูกซัด เพราะถั่วลูกซัดอาจเข้าไปกระตุ้นการหดตัวของมดลูกได้
- ควรระวังการใช้ลูกซัดร่วมกับยารักษาเบาหวาน เช่น ยาในกลุ่ม sulfonylureas ได้แก่ chlorpropamide, glibencamide, glipizide, gliclazide, gliquidone และ glimepiride เพราะลูกซัดอาจไปเสริมฤทธิ์ของยา
- อาจมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงมากเกินไป ดังนั้นหากผู้ป่วยเบาหวานจะรับประทานลูกซัด ควรปรึกษาแพทย์และอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างใกล้ชิด
- ควรระมัดระวังในการใช้ร่วมกับยาละลายลิ่มเลือด เช่น warfarin หรือสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านการรวมตัวของเกร็ดเลือด เช่น กระเทียม หรือแปะก๊วย เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการตกเลือดได้
- ลูกซัดอาจส่งผลทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้ เช่น ท้องเสีย ท้องไส้ปั่นป่วน เรอ มีแก๊สในช่องท้อง หรือปัสสาวะมีกลิ่นคล้ายเมเปิลไซรัป
- ถึงแม้ว่ายังไม่มีรายงานการใช้ในสตรีมีครรภ์และให้นมบุตร แต่สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร แต่สตรีมีครรภ์ควรระมัดระวังในการใช้ เนื่องจากลูกซัดมีผลลดน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ยังมีรายงานวิจัยว่า สารสกัดน้ำ 95% เอทานอล และเมทานอลจากเมล็ด มีฤทธิ์กระตุ้นมดลูกของหนูที่กำลังตั้งท้อง ดังนั้น อาจมีผลทำให้เกิดแท้งลูกได้ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้รวมถึงไม่ควรใช้ในปริมาณมาก และต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ
เอกสารอ้างอิง
- ธิดารัตน์ จันทร์ดอน.ลูกซัด...เครื่องเทศมีประโยชน์.จุลสารข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.ปีที่35.ฉบับที่1 ตุลาคม.2560
- Chan HT, So LT, Li SW, Siu CW, Lau CP, Tse HF. Effect of herbal consumption on time in therapeutic range of warfarin therapy in patients with atrial fibrillation. J Cardiovasc Pharmacol. 2011;58(1):87-90.
- นันทวัน บุณยะประภัศร อรนุช โชคชัยเจริญพร.บรรณาธิการ.สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 4 กรุงเทพฯ:บริษัท ประชาชน จำกัด,2543:740 หน้า
- นิจศิริ เรืองรังสี เครื่องเทศ.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2542:206 หน้า.
- อรัญญา ศรีบุศราคัม.ลูกซัด...แก้เบาหวาน.จุลสารข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.ปีที่ 27.ฉบับที่1 ตุลาคม.2552.หน้า4-11
- El Bairi K, Ouzir M, Agnieszka N, Khalki L. Anticancer potential of Trigonella foenum graecum: cellular and molecular targets. Biomed Pharmacother 2017;90:479-91.
- ลูกซัด..ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrag.com/main.php?action=viewpage&pid=122
- Ethan M. Natural standard herb and supplement reference: evidence-based clinical reviews. New York: Elsevier Mosby; 2005.
- Lu FR, Shen L, Qin Y, Gao L, Li H, Dai Y. Clinical observation on Trigonella foenum-graecum L. total saponins in combination with sulfonylureas in the treatment of type 2 diabetes mellitus. Chin J Integr Med. 2008;14(1):56-60.
- Nagulapalli VKC, Swaroop A, Bagchi D, Bishayee A. A small plant with big benefits: fenugreek (Trigonella foenum-graecum Linn.) for disease prevention and health promotion. Mol Nutr Food Res. 2017;61(6):1-26.
- Izzo AA, Di Carlo G, Borrelli F, Ernst E. Cardiovascular pharmacotherapy and herbal medicines: the risk of drug interaction. Int J Cardiol. 2005;98(1):1-14.
- Lambert JP, Cormier J. Potential interaction between warfarin and boldo-fenugreek. Pharmacotherapy. 2001;21(4):509-12.