สะระแหน่ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
สะระแหน่ งานวิจัยและสรรพคุณ 31 ข้อ
ชื่อสมุนไพร สะระแหน่
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สะระแหน่ไทย, สะระแหน่สวน, สะระแหน่ฝรั่ง, สะระแหน่ญวน, แมงลักน้ำ, สะระแหน่ต้น, ต้นน้ำมันหม่อง (ทั่วไป), หอมด่วน, หอมเดือน (ภาคเหนือ), ขะแหยะ, ขะแยะ (ภาคอีสาน), สะแน่, มักเงาะ (ภาคใต้), แซบ่อห่อ, กอยโซว, กิมปุ๊กห่วง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ สะระแหน่เป็นพืชสกุล มินต์ (Mint) มีอยู่หลายชนิดแต่ชนิดหลักที่เป็นที่รู้จัก และจะขอกล่าวถึงในบทความนี้ คือ
สะระแหน่ไทย - Mentha × cordifolia Opiz ex Fresen.
สะระแหน่ฝรั่ง - Mentha × piperita Linn.
สะระแหน่ญวน - Mentha × pulegium Linn.
ชื่อสามัญ Mint, Kitchen Mint, Spearmint, pepper mint.
วงศ์ LABIATAE - LAMIACEAE
ถิ่นกำเนิดสะระแหน่
สะระแหน่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในยุโรป และแพร่กระจายพันธุ์อยู่ทั่วไป ทั้งในยุโรป และอเมริกาเหนือ รวมทั้งในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกโดยเฉพาะเขตร้อน และเขตอบอุ่น แล้วจึงมีการพัฒนาสายพันธุ์เองตามธรรมชาติเพื่ออยู่รอดตามสภาพอากาศของถิ่นต่างๆ ที่กระจายพันธุ์ไป หรือ เกิดการผสมข้ามสายพันธุ์จนกลายมาเป็นสะระแหน่สายพันธุ์ต่างๆ เช่น สะระแหน่ไทย, สะระแหน่ฝรั่ง, สะระแหน่ญวน เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยเชื่อกันว่า สะระแหน่ ถูกนำเข้ามาในเมืองไทยช่วงรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) โดยชาวอิตาเลียนชื่อนายสะระนีด้วยเหตุนี้จึง สันนิษฐานว่าชื่อสะระแหน่มาจากชื่อนายสะระนีนั่นเอง
หนังสืออักขราภิธานศรับท์ พ.ศ.2416 ของหมอปลัดเล ซึ่งเป็นช่วงรัชกาลที่ 4 ปรากฏว่าไม่พบชื่อสะระแหน่เลยแสดงว่าขณะนั้น (2416) สะระแหน่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป ซึ่งอาจเป็นเพราะสะระแหน่เพิ่งเข้ามาไม่นานก็เป็นได้ และในปัจจุบันสามารถพบสะระแหน่ไทยได้ทั่วทุกภาคของประเทศ
ประโยชน์และสรรพคุณสะระแหน่
- ช่วยขับเหงื่อ
- ช่วยลดอาการหืดหอบ
- แก้ปวดท้อง
- ช่วยขับลมในกระเพาะลำไส้
- แก้จุกเสียดแน่น
- แก้ลดอาการเกร็งของกระเพาะอาหารและลำไส้
- แก้ปวดบวม
- ช่วยฆ่าเชื้อโรค
- แก้ปวดศีรษะ (ขยี้ทา)
- ใช่ดมแก้ลม
- ช่วยย่อยอาหาร
- แก้พิษแมลงต่อย (ขยี้ทา)
- แก้ผดผื่นคัน (ขยี้ทา)
- แก้การอักเสบของแผล (ขยี้ทา)
- แก้ซางชักในเด็ก
- ช่วยให้ผายลมได้ดี
- ช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
- ช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน
- ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ
- แก้มุตกิด (ตกขาว หรือ ระดูขาว)
- ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ
- แก้ฟกบวม
- ช่วยเสริมระบบทางเดินอาหาร
- ใช้ลดอาการคัดจมูก
- แก้จุดเสียด
- แก้อาการวิงเวียนศีรษะ
- ลดอาการเลือดกำเดาออก
- รักษาไมเกรน
- ช่วยให้สมองปลอดโปร่ง โล่งคอ
- บรรเทาอาการปวดฟัน เจ็บปาก เจ็บลิ้น
- รักษา และบรรเทาอาการปวดหู
สะระแหน่ญวน มีการนำมาใช้ประโยชน์ คือ ชาวเวียดนาม นิยมรับประทานสะระแหน่ญวน เป็นผักสดกับอาหารคาวหลากหลายชนิด โดยเฉพาะขนมจีนเวียดนามจะเพิ่มกลิ่นหอมให้รับประทานอร่อยยิ่งขึ้น ส่วนสะระแหน่ฝรั่ง ชาวยุโรปมีการใช้ประโยชน์ โดยนำใบของสะระแหน่ฝรั่งมาใช้แต่งกลิ่นอาหารคาว หวาน ต่างๆ รวมถึงยังใช้แต่งกลิ่นในอุตสาหกรรมต่างๆ สำหรับสะระแหน่ไทย มีการนำมาใช้ประโยชน์มากมาย คนไทยรู้จักสะระแหน่ในฐานะเครื่องปรุงกลิ่นอาหารมากกว่าในฐานะผักโดยตรง เพราะสะระแหน่ มีกลิ่นรสฉุนเผ็ดกว่าผักทั่วไป จึงใช้กินเป็นผักโดยตรงไม่มากเท่าการใช้ปรุงอาหารเพื่อดับกลิ่น หรือ เพิ่มรสชาติของอาหารรสจัด อาหารที่ใช้สะระแหน่กินเป็นผักโดยตรงที่นิยมกันดีก็มีเพียงใช้เป็นผักแกล้มลาบ ส่วนการใช้ปรุงกลิ่นรสอาหาร หรือ ดับกลิ่นคาวนั้นใช้กันมาก น้ำมันหอมระเหยของใบสะระแหน่ยังสามารถใช้ผสมในเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ สำหรับเป็นสารให้กลิ่น ตัวทำละลาย และใช้เพื่อป้องกันเชื้อจุลินทรีย์ หรือใช้ผสมในอาหารเพื่อยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์ทำให้อาหารเก็บไว้ได้นาน รวมทั้งเพื่อปรับปรุงกลิ่นของอาหารให้มีกลิ่นหอมน่ารับประทานมากขึ้น
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
การใช้สะระแหน่ไทย แก้ปวดท้อง ท้องอืด ขับลม แก้จุดเสียด แก้ปวดศีรษะ โดย นำใบสดมาล้างน้ำให้สะอาด และนำมาตากแห้ง 5-7 แดด สำหรับใช้ชงเป็นชาดื่ม หรือ ใช้ใบตากแห้ง นำมาบดเป็นผง ใช้บรรจุในแคปซูลรับประทานเป็นยาสมุนไพร
- แก้อาการวิงเวียนศีรษะนำใบสดมาบี้เพื่อสูดดมจะได้กลิ่นน้ำมันหอมระเหย ช่วยให้สดชื่น
- ลดอาการเลือดกำเดาออก โดการนำใบบดขยี้ แล้วใช้อุดจมูก
- รักษาอาการปวดศีรษะ ไมเกรน ช่วยให้สมองปลอดโปร่ง โล่งคอ ด้วยการดื่มน้ำใบสะระแหน่ 5 กรัมกับน้ำ 1 ถ้วย ผสมเกลือเล็กน้อย วันละ 2 ครั้ง
- บรรเทาอาการปวดฟัน เจ็บปาก เจ็บลิ้น ด้วยการดื่มน้ำต้มใบสะระแหน่
- แก้อาการจุกเสียดในท้องเด็ก ด้วยการใช้ใบสะระแหน่ตำให้ละเอียดผสมกับยาหอมแล้วนำมากวาดคอเด็ก
- รักษาและบรรเทาอาการปวดหู ด้วยการใช้น้ำคั้นจากใบสะระแหน่มาหยอดที่รูหู
- แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย แก้ปวดบวม ผดผื่นคัน ด้วยการนำใบสะระแหน่มาตำให้ละเอียดแล้วนำมาพอกบริเวณที่โดนกัด หรือบริเวณที่บวมหรือคัน
สำหรับสะระแหน่ฝรั่ง ในโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร มีรายงานว่าให้ใช้น้ำมันจากสะระแหน่ฝรั่งได้ในขนาด 0.2-0.4 มล. ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบแคปซูล สารละลายเจือจาง หรือ ยาแขวนตะกอน โดยให้รับประทานวันละ 3 ครั้ง และการใช้ยาอมในรูปแบบ lozenes ซึ่งต้องมีน้ำมันขนาด 2-10 มก. เท่านั้น และมีการใช้น้ำมันสะระแหน่ฝรั่งความเข้มข้น 10% ในเมทานอล ในรูปแบบยาทาบริเวณหน้าผาก และขมับวันละหลายๆ ครั้ง เพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะ หากต้องการใช้ในรูปแบบสูดดม ให้ใช้น้ำมันสะระแหน่ฝรั่ง 3-4 หยด หยดลงในน้ำร้อน 150 มล. แล้วสูดดม วันละ 3 ครั้ง หรือ ใช้น้ำมันหอมระเหยความเข้มข้น 1-5% ในรูปแบบยาขี้ผึ้ง ทาบริเวณจมูกเพื่อลดอาการคัดจมูก
ส่วนสะระแหน่ญวนนั้นมีการใช้ในตำรับยาจีน ดังนี้ แก้หวัดปวดหัวนํ้ามูกไหล ใช้ใบสะระแหน่ 3 เฉียน ต้มกับใบหม่อน 1 ตำลึงหรือ ใบสะระแหน่ 3 เฉียน ต้มกับใบชา หรือ ใบสะระแหน่ 3 เฉียน ใบหญ้าขัดมอน 1 ตำลึง ต้มกับนํ้าตาลแดงแล้วใช้ดื่ม ไอเนื่องจากหวัด ใช้ใบสะระแหน่ 3 เฉียน ต้มกับนํ้าตาลกรวดแล้วใช้ดื่ม ท้องอืด ใช้ใบสะระแหน และเปลือกส้มดิบอย่างละครึ่งตำลึง ตำกับเกลือนิดหน่อย แล้วชงด้วยนํ้าเดือด เด็กท้องอืดขัดหนัก ใช้ใบสะระแหน่ 1 เฉียน ตำกับดินเถ้าในเตาไฟหนัก 2 เฉียน จนแหลกแล้วปะที่สะดือ ลมบวมใต้ผิวหนัง ใช้ใบสะระแหน่ต้มนํ้าล้างบริเวณที่บวม ผิวหนังคัน ใช้ใบสะระแหน่ตำจนแหลกแล้วทาบริเวณที่คัน
ลักษณะทั่วไปของสะระแหน่
สะระแหน่ไทยจัดเป็นไม้ล้มลุกมีลักษณะเป็นลำต้นพร้อมเลื้อย มีเฉพาะรากฝอย ขนาดเล็ก และสั้น ลำต้นสูงประมาณ 15-30 ซม. ลำต้นมีลักษณะเป็นเหลี่ยม ผิวลำต้นมีสีแดงอมม่วงจนถึงปลายยอด ลำต้นสามารถแตกเหง้าเป็นต้นใหม่จนขยายเป็นกอใหญ่ และลำต้นแตกกิ่งแขนงจำนวนมาก ใบ ออกเป็น ใบเดี่ยว และออกเป็นคู่ๆ ตรงข้ามกันบนกิ่ง ลำต้น ใบมีสีเขียว รูปทรงรี กว้างประมาณ 1.5-3.5 ซม. และยาวประมาณ 2-7 ซม. ผิวใบย่นเป็นลูกคลื่น ขอบใบหยัก ปลายใบมนหรือแหลม ดอก ออกเป็นช่อ เหนือซอกใบบริเวณปลายยอด แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ดอกมีสีชมพูอมม่วง ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 5 กลีบ และกลีบดอกที่เชื่อมติดกันเป็นกรวยตื้น 4 กลีบ ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ 4 อัน ส่วนเกสรตัวเมียจะไม่ค่อยพบ ผล มีสีดำ ขนาดเล็ก มีรูปผลเป็นรูปกระสวย เปลือกผลเกลี้ยงมัน ทั้งนี้ ผลสะระแหน่มักไม่ติดผลให้เห็นบ่อยนัก เพราะดอกส่วนใหญ่มักจะเป็นหมันเป็นส่วนใหญ่
ส่วนสะระแหน่ญวน จัดเป็นเป็นไม้พุ่มล้มลุกอายุหลายปี แตกกิ่งก้านเยอะ ลำต้นมีขนสั้นๆปกคลุมนุ่มมือ ต้นสูงประมาณครึ่งเมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม เป็นรูปรีกว้าง ปลายใบเกือบมน โคนใบมน ก้านใบยาวไม่สั้นเหมือนกับก้านใบสะระแหน่ ไทย ผิวใบมีรอยย่นเช่นกัน ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย เนื้อใบค่อนข้างหนา สีเขียวสด ใบมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว โดยกลิ่นจะแรงเหมือนกลิ่นของตะไคร้แกง และสำหรับสะระแหน่ฝรั่งเป็นมิ้นต์พันธุ์ผสมระหว่าง สะระแหน่ไทย กับ มิ้นต์น้ำ มีลักษณะเป็นไม้พุ่มสูง 30-90 เซนติเมตร ใบสีเขียวยาว 4-9 เซนติเมตร กว้าง 1.5-4 เซนติเมตร มีดอกสีม่วงยาว 6-8 มิลลิเมตร
การขยายพันธุ์สะระแหน่
สะระแหน่ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการ ปลูกด้วยเหง้า หรือ การปักชำลำต้น ซึ่งควรเลือกลำต้นที่มีความยาวประมาณ 8-10 ซม. แล้วเด็ดยอดทิ้ง ก่อนนำลงปลูก ซึ่งควรปลูกทันทีหลังการถอนต้น หรือ ตัดต้นมา แต่ในบางพื้นที่นำลำต้นมาแช่น้ำจนมีรากเกิดก่อนนำปลูก การปลูกมีระยะการปลูกในแต่ละต้นประมาณ 10-15 ซม. โดยปักลำต้นลงดินประมาณ 3 ซม. และหลังการปลูกแล้วรดน้ำให้พอชุ่ม
ทั้งนี้สะระแหน่ เป็นผักที่ชอบดินชื้นตลอด แต่ก็ห้ามมีน้ำขัง ดังนั้น หลังการปลูกต้องรดน้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง จนถึงระยะที่กิ่งพันธุ์ตั้งตัวได้ ค่อยลดการให้น้ำเป็นวันเว้นวัน หลังการปลูกแล้วประมาณ 45-50 วัน สะระแหน่จะเริ่มเก็บยอดได้ การเก็บแต่ละครั้งควรใช้กรรไกรตัด เพราะหากใช้มืออาจทำให้ลำต้นถอนได้ และจะเก็บได้อีกครั้งประมาณ 15-20 วัน
องค์ประกอบทางเคมี
ส่วนมากแล้ว สะระแหน่ ชนิดต่างๆ มักจะมีสารออกฤทธิ์ชนิดต่างๆ เหมือนกัน เช่น Menthol, Menthone, Menthyl acetate, Menthyl salicylate, สารในกลุ่ม Terpenoids, Triclene, Camphene, Sabinene, β-Pinene, α-Terpinene, 1,8-Cineole, Limonene, Ƴ-Terpinene, Terpinolene, ƿ-Cymene, lsomenthone, Menthofuran, Ƴ-Terpineole, lsomenthol, trans-Carveol, Carvone Piperitone, Piperitone oxide, ƿ-Menthon-3,8-diol, pipertitinone oxide, ƿ-Menth-1-en-9-ol, Geranyl acetate, (E)-β-ourbonene, α-Garjunene, β-Caryophyllene, pulegone แต่จะมีสารออกฤทธิ์บางชนิดที่เพิ่มเติมเข้ามาในเฉพาะสายพันธุ์ เช่น Ocimene ในสะระแหน่ไทย, Nepetalactone ในสะระแหน่ญวน เป็นต้น นอกจากนี้ สะระแหน่ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของสะระแหน่ ไทย (ใบ 100 กรัม)
พลังงาน 47 แคลอรี
โปรตีน 3.7 กรัม
ไขมัน 0.6 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 6.8 กรัม
แคลเซียม 40 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 7 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 4.8 มิลลิกรัม
วิตามิน บี 3 0.7 มิลลิกรัม
วิตามิน เอ 6,585 หน่วย
วิตามิน B 1 0.13 มิลลิกรัม
วิตามิน B2 0.29 มิลลิกรัม
วิตามิน ซี 88 มิลลิกรัม
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของสะระแหน่
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของสะระแหน่
ฤทธิ์การแพ้ สารสกัด 50% เอทานอลากใบสะระแหน่ฝรั่ง ขนาด 3 มคก./มล. มีฤทธิ์ต้านฮีสตามีน เมื่อทดสอบใน mast cell ของหนูขาว และสารที่ได้จากการแยกด้วย column chromafography ในขนาด 1 มคก./มล. ก็สามารถยับยั้งการหลั่งฮีสตามีนได้เช่นกัน โดยสารที่แยกได้นี้ เมื่อให้หนูขาวที่ถูกชักนำให้เกิดการจามและมีพฤติกรรมถูจมูก จากการได้รับสารระคายเคือง กินในขนาด 300 และ 1000 มก./กก. พบว่าสามารถลดอาการดังกล่าวได้ เมื่อวิเคราะห์หาสารสำคัญพบว่า สาร erioctrin, luteolin, luteolin-7-0-glycoside และ lutwoin-7-0-rutinside ซึ่งได้จากการสกัดส่วนเหนือดินของสะระแหน่ฝรั่ง เป็นสารออกฤทธิ์ด้านฮีสตามีน เมื่อทดสอบใน mast cell ของหนูขาว โดยที่สาร luteclin-7-0-rutinoside มีฤทธิ์ดีที่สุด
ฤทธิ์บรรเทาอาการปวด ทดสอบฤทธิ์ลดอาการปวดของสารสกัดเฮกเซน และเอทิลอะซิเตตจากใบสะระแหน่ (Mentha cordifolia) โดยการให้กรดอะซีติกเหนี่ยวนำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหน้าท้องหนูถีบจักร ด้วยวิธี writhing test ผลการศึกษาพบว่าสารสกัดทั้งสองชนิดสามารถลดการเกิด writhing ในหนู ได้ร้อยละ 81.4 และ 71.0 ตามลำดับ จึงได้นำสารสกัดเฮกเซนซึ่งออกฤทธิ์ได้ดีกว่ามาแยกส่วนสกัดย่อยได้ทั้งสิ้น 10 ส่วนสกัด ผลการทดสอบฤทธิ์ชีวภาพพบว่าส่วนสกัดย่อย FB6 ในขนาด 0.25 mg/g มีฤทธิ์ลดปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สามารถลดการเกิด writhing ได้ร้อยละ 60.6 ผลการแยกส่วนสกัดย่อย FB6 ได้สารบริสุทธิ์ menthalactone เมื่อนำมาทดสอบด้วยวิธี writhing test ผลการศึกษาพบว่า menthalactone ในขนาด 0.1 mg/g และกรดมีเฟนามิค ซึ่งเป็นยามาตรฐาน ในขนาด 0.007 mg/g สามารถลดการเจ็บปวดที่เกิดจากการเหนี่ยวนำด้วยกรดอะซิติกได้ร้อยละ 67.3 และ 73.0 ตามลำดับ
ฤทธิ์ต้านการหดเกร็งกล้ามเนื้อเรียบของน้ำมันสะระแหน่ฝรั่ง การศึกษาฤทธิ์ต้านการหดเกร็งของน้ำมันสะระแหน่ฝรั่งที่ความเข้มข้น 1 - 300 ไมโครกรัม/มล. ในกล้ามเนื้อเรียบหลอดลมของหนูแรทเพศผู้ โดยเหนี่ยวนำให้กล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมหดตัวด้วยสารคาบาคอล (cabachol) ขนาด 10 ไมโครโมลาร์ นาน 10 นาที ในแต่ละช่วง พร้อมกับให้หรือไม่ให้ indomethacin (สารยับยั้งการสร้างพรอสต้าแกลนดิน 10 ไมโครโมลาร์), L-N-metyl-nitro-arginine (สารยับยั้ง K+ channel 100 ไมโครโมลาร์), hexamethonium (สารยับยั้งการสร้างไนตริกอ๊อกไซด์ 500 ไมโครโมลาร์) หรือ tetraethylammonium (สารยับยั้งการทำงานของปมประสาท 5 มิลลิโมลาร์) พบว่าน้ำมันสะระแหน่ฝรั่งความเข้มข้น 100 และ 300 ไมโครกรัม/มล. สามารถต้านการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบหลอดลมของหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยสารคาบาคอลได้ โดยที่ความเข้มข้น 100, 300 ไมโครกรัม/มล. มีผลให้กล้ามเนื้อเรียบที่หลอดลมคลายตัว 23.0 ± 8.6% และ 111.0 ± 5.8% ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ให้สารที่ทำให้มีการคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบ และความเข้มข้นที่ทำให้กล้ามเนื้อเรียบที่หลอดลมคลายตัวได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) มีค่าเท่ากับ 106.33 ± 15.46 ไมโครกรัม/มล. สาร indomethacin, L-N-metyl-nitro-arginine) และ hexamethonium ลดผลน้ำมันสะระแหน่ฝรั่งที่ความเข้มข้น 300 ไมโครกรัม/มล. โดยกล้ามเนื้อเรียบหลอดลมคลายตัวลดลง 63%, 59%, 49% ตามลำดับ ส่วน tetraethylammonium ไม่มีผลต่อน้ำมันสะระแหน่ฝรั่ง จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าน้ำมันสะระแหน่ฝรั่งสามารถต้านการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบที่หลอดลมของหนูแรทได้ โดยไปยับยั้งการสร้างสารพวกพรอสต้าแกลนดิน (prostaglandin E2) และไนตริกอ๊อกไซด์ (nitric oxide) ซึ่งการศึกษานี้น่าจะมีประโยชน์ในการใช้การรักษาโรคระบบทางเดินหายใจ
ฤทธิ์ลดความดันโลหิต ทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดน้ำจากใบจากสะระแหน่ ในการการลดความดันโลหิตจากการเหนี่ยวนำด้วย NG-nitro-L-arginine methyl ester (L-NAME) โดยการป้อนหนูขาวเพศผู้สายพันธุ์ Sprague-Dawleyด้วย L-NAME ในน้ำดื่ม ในขนาด 50 mg/kg ต่อวัน เพื่อเหนี่ยวนำให้หนูมีความดันโลหิตสูง ร่วมกับการป้อนสารสกัดน้ำจากใบสะระแหน่ในขนาด 200 mg/kg ต่อวัน เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ พบว่าสารสกัดจากสะระแหน่ สามารถลดค่าความดันโลหิตได้ร้อยละ 16.7 โดยมีค่าความดันโลหิต Diastolic*, systolic** และอัตราการเต้นของหัวใจ** ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (*p<0.001, **p<0.05 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับเฉพาะ L-NAME) นอกจากนี้ยังทำให้ระดับสารมาลอนไดอัลดีไฮ ที่บ่งชี้การเกิดออกซิเดชันของไขมัน (lipid peroxidation) และอนุมูลอิสระ superoxide ที่เนื้อเยื่อหลอดเลือดลดลงในหนูที่มีความดันโลหิตสูง
ฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ ทดสอบฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ต่อยาเตตราซัยคลิน ด้วยวิธีไมโครนิวเคลียส ของสารสกัดคลอโรฟอร์มจากสะระแหน่ โดยใช้หนูถีบจักรสายพันธุ์ Swiss Webster albino ใช้ยา tetracycline ฉีดเข้าช่องท้องหนูเพื่อกระตุ้นการก่อกลายพันธุ์ บันทึกผลจากจำนวนไมโครนิวเคลียสที่เกิดขึ้นภายใต้กล้องจุลทรรศน์ ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดคลอโรฟอร์มจากสะระแหน่ สามารถยับยั้งการก่อกลายพันธุ์จากยาเตตราซัยคลินได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เท่ากับ 68.7% โดยมีค่าเฉลี่ยของการเกิดไมโครนิวเคลียส (MN) คือ เซลล์ที่เป็นตัวบ่งชี้การเกิดความเสียหายต่อโครโมโซม ในเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ยังไม่โตเต็มที่ (PCE) แปลผลจากค่าเฉลี่ย MN-PCE per 1000 PCE พบว่าสารสกัดคลอโรฟอร์ม และยาเตตราซัยคลิน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.33±0.71 และ 7.44±0.54 ตามลำดับ เมื่อให้สารทดสอบในขนาด 0.01* และ 1.1 mg/20 g ตามลำดับ (*p<0.001 เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับเฉพาะยาเตตราซัยคลิน) นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดคลอโรฟอร์มจากสะระแหน่ที่ใช้ทดสอบ ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ เมื่อให้เดี่ยว ในขนาด 0.01 mg/20g (p<0.001) เนื่องจากมีค่าเฉลี่ย MN-PCE per 1000 PCE เท่ากับ 2.42±0.90 ซึ่งมีค่าน้อยกว่าเมื่อให้เฉพาะยา tetracycline ค่อนข้างมาก เมื่อแยกสารบริสุทธิ์จากสารสกัดคลอโรฟอร์มพบสารที่เป็นองค์ประกอบหลักคือ สาร 6,7-bis-(2,2-dimethoxyethene)-2,11-dimethoxy-2Z,4E,8E,10Z-dodecatetraendioic acid ซึ่งคาดว่าจะเป็นสารที่ออกฤทธิ์ในการต้านการก่อกลายพันธุ์ในการทดสอบครั้งนี้
ฤทธิ์ของสะระแหน่ญวนต่อระดับฮอร์โมนในผู้หญิงขนดก การศึกษาในผู้ป่วยหญิงที่มีภาวะขนดก จำนวน 21 คน อายุระหว่าง 18-40 ปี (เฉลี่ย 22.2 ± 6.2 ปี มีระดับคะแนนขนดกอยู่ในช่วง 8-23 ผู้ป่วย 12 คน เป็นโรค polycystic ovary syndrome และอีก 9 คน มีภาวะขนดกโดยไม่รู้สาเหตุ ทุกคนได้รับการทดลองโดยต้องดื่มชาสะระแหน่ญวน ขนาด 250 มิลลิลิตร (แช่สะระแหน่ญวนขนาด 5 กรัม ในน้ำร้อน 250 มิลลิลิตร นาน 5 - 10 นาที) วันละ 2 ครั้ง นาน 5 วัน ในระยะที่มีการตกไข่ของรอบเดือน พบว่า หลังจาก 5 วันของการทดลอง ระดับฮอร์โมน free testoterone ลดลง (จาก 5.49 ± 2.94 เป็น 3.92 ± 2.80 pg/ml) และเพิ่มระดับฮอร์โมน luteinizing hormone (จาก 6.34 ± 4.53 เป็น 8.04 ± 5.14 mIU/ml) ฮอร์โมน follicle-stimulating hormone (จาก 4.56 ± 1.49 เป็น 5.36 ± 1.84 mIU/ml) และฮอร์โมน estradiol (จาก 46.50 ± 29.01 เป็น 63.43 ± 47.57 pg/ml) ค่าชีวเคมีในเลือดไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยกเว้นระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดเท่านั้นที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ฤทธิ์บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยของสะระแหน่ญวน การศึกษาแบบแบบสุ่ม ปกปิดสองทาง (randomized double-blind placebo-controlled trial) ในผู้ป่วยที่มีอาการของโรคอาหารไม่ย่อยตามเกณฑ์วินิจฉัย Rome III จำนวน 100 คน สุ่มให้รับประทานแคปซูลสารสกัด 70% เอทานอลจากใบสะระแหน่ญวน (Mentha pulegium L.) ขนาด 330 มก. วันละ 3 ครั้ง หรือยาหลอก ร่วมกับการรับประทานยาฟาโมทิดีน (famotidine) ยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร วันละ 40 มก. เป็นเวลา 2 เดือน พบว่าสารสกัดจากใบสะระแหน่ ญวนสามารถบรรเทาอาการโดยรวมของโรคอาหารไม่ย่อยได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับยาหลอก อาการปวดกระเพาะอาหาร อาการท้องอืด อาการปวดตื้อๆ บริเวณช่องท้อง อาการเรอในผู้ป่วยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อผู้ป่วยประเมินตนเองด้วยการตอบแบบสอบถาม SF-36 พบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากใบสะระแหน่ญวนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มยาหลอกและก่อนการทดลอง นอกจากนี้สารสกัดจากใบสะระแหน่ญวนยังมีผลลดปริมาณเชื้อ Helicobacter pylori ในกระเพาะอาหารของผู้ป่วย โดยไม่ส่งผลกระทบต่อค่าชีวเคมีของเลือด การทำงานของตับและไต รวมถึงไม่พบรายงานอาการไม่พึงประสงค์ การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากใบสะระแหน่ญวนสามารถใช้ร่วมกับยาฟาโมทิดีนเพื่อบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย และยังออฤทธิ์กำจัดเชื้อ H. pylori ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคในระบบทางเดินอาหารด้วย
การศึกษาทางพิษวิทยาของสะระแหน่
การศึกษาความเป็นพิษ (ในมนุษย์) น้ำยาบ้วนปากที่มีน้ำมันสะระแหน่ฝรั่ง เป็นส่วนผสมทำให้ผู้ใช้จำนวน 12 คน เกิดการแพ้น้ำมันสะระแหน่ฝรั่งทำให้เกิดกาแพ้ทางผิวหนัง และทำให้เกิดผิวหนังอักเสบได้ พบว่าผู้ป่วยหญิงซึ่งมีประวัติปากไหม้จากการใช้น้ำมันสะระแหน่ฝรั่งมาก่อน เมื่อทาน้ำมันสะระแหน่ในขนาด 0.1% ผิวหนังเกิดการแพ้ และในการทดลองทางคลินิกของ Colpermin (มีน้ำมันสะระแหน่ฝรั่ง 187 มก./แคปซูล) มีผู้ป่วย IBS เผลอเคี้ยวแคปซูลซึ่งเป็นรูปแบบ Enteric-coated ทำให้เกิดอาการแสบบริเวณหน้าอก (heartbum) และเกิดผื่นแดงที่ผิวหนัง แต่ไม่มีผลความเป็นพิษต่อตับ มีรายงานผู้ป่วยเพศหญิงวัย 49 ปี ถูกส่งตัวเข้าห้องฉุกเฉินด้วยอาการหายใจลำบาก น้ำลายยืด และมีไข้ หลังจากรับประทานน้ำมันสะระแหน่ฝรั่งบริสุทธิ์ 100% จำนวน 40 หยด ซึ่งผู้ป่วยเคยใช้น้ำมันดังกล่าว เพื่อรักษาอาการไข้หวัด โดยใช้ครั้งละ 1-2 หยด และไม่เคยมีอาการแพ้มาก่อน โดยผู้ป่วยมีอาการหายใจเร็วมีน้ำลายมาก หัวใจเต้นเร็ว มีไข้สูง มีรอยไหม้บริเวณปาก และคอหอย มีอาการบวมบริเวณริมฝีปากบนและล่าง ลิ้น ลิ้นไก่ และเพดานอ่อน มีรายงานการเสียชีวิตของเด็กทารกอายุ 23 วัน ที่ได้รับสารสกัดน้ำของสะระแหน่ฝรั่งขนาด 2.5 มล. เพื่อรักษาอาการปวดท้องเฉียบพลัน (colic) ซึ่งเด็กเสียชีวิตด้วยภาวะสมองถูกทำลายอย่างรุนแรง ภายหลังจากได้รับสารดังกล่าว 17 วัน
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- การใช้สะระแหน่ฝรั่ง ทั้งแบบรับประทาน และทาบริเวณผิวหนังอาจทำให้เกิดการแพ้ได้ เช่น หลอดลมตีบ หายใจลำบาก ผื่นแดง ผิวหนังอักเสบ หากทรายว่ามีอาการแพ้ควรหลีกเลี่ยง
- การใช้น้ำมันของสะระแน่ฝรั่งต้องใช้อย่างระมัดระวัง ซึ่งการใช้น้ำมันของสะระแหน่ฝรั่งที่มีความเข้มข้นของสารเมนทอลมากกว่า 1 ก. ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. อาจทำให้เสียชีวิตได้
- ผู้ที่มีอาการท้องเสีย น้ำมันสะระแหน่ชนิดแตกตัวในลำไส้อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการแสบร้อนที่บริเวณทวารหนัก
- ผู้ที่มีภาวะไม่มีกรดในกระเพาะอาหาร (Achlorhydria) ไม่ควรรับประทานน้ำมันสะระแหน่ชนิดแตกตัวในลำให้เพราะอาจเกิดการแตกตัวก่อนในระหว่าการย่อยอาหาร
- ในการใช้สะระแหน่ เพื่อรักษาหรือป้องกันโรคต่างๆนั้น ควรใช้แต่พอดีไม่ใช้มากเกินกว่าปริมาณที่กำหนดในตำรับยาต่างๆ และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ส่วนผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือต้องรับประทานยาเป็นประจำควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง สะระแหน่
- กฤติยา ไชยนอก.สะระแหน่ฝรั่ง.บทความวิชาการ.จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่27.ฉบับที่1.ตุลาคม.2552.หน้า12-20
- สะระแหน่ ผักต่างแดนที่โอนสัญชาติและเปลี่ยนชื่อเป็นไทย.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า.นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่218.มิถุนายน.2540
- นันทวัน บุณยะประภัศรม อรนุช โชคชัยเจริญพร,บรรณาธิการ.สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 4 . กรุงเทพฯ:บริษัทประชาชน.2543:740 หน้า
- ฤทธิ์ต้านการหดเกร็งของน้ำมันสะระแหน่ฝรั่งต่อกล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมในหนูแรท.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- Basch EM and Ulbricht CE, Chief Editor. Natural standard herb&supplement handbook the clinical bottom line. St. Louis: Elsevier Mosby. 2005:963 pp.
- ผลของสะระแหน่ญวนต่อระดับฮอร์โมนผู้หญิงขนดก.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- สมาคมสมุนไพรแห่งประเทศไทย.งานนิทรรศการสุมนไพร ครั้งที่ 1.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2518:129 หน้า
- ฤทธิ์บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยของสะระแหน่ญวน.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- สะระแหน่.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/
- .สะระแหน่. สรรพคุณและการปลูกสะระแหน่.พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
- Pakdeechote P, Kukongviriyapan U, Berkban W, Prachaney P, Kukongviriyapan V, Nakmareong S. Mentha cordifolia extract inhibits the development of hypertension in L-NAME-induced hypertensive rats. Journal of Medicinal Plants Research. 2011; 5(7):1175-1183.
- Takahashi A, Nakata K. Anti-inflammatory effects of peppermint. Aromatopia 1995;13:42-5.
- Villaseñor IM, Echegoyen DE, Angelada JS. A new antimutagen from Mentha cordifolia Opiz. Mutation Research. 2002; 515: 141-146.
- Inoue T, Sugimoto Y, Masuda H, Kamei C. Antiallergic effect of flavonoid glycosides obtained from Mentha piperita piperita L. Biol Pharm Bull 2002;25(2):256-9.
- Villaseñor IM, Sanchez AC. Menthalactone, a new analgesic from Mentha cordifolia Opiz. Leaves. Z Naturforsch. 2009; 64: 809-812.
- Inoue T, Sugimoto Y, Masuda H, Kamei C. Effects of peppermint (Mentha piperita L.) Extracts on Sugimental allergic in rats. Biol Pharm Bull 2001;24(1):92-5
- Fleming CJ, Forsyth A. D5 patch test reactions to menthol and peppermint. Contact Derntitis 1998; 38(6)337.
- Mahmoud l, Alkifahi A, Abdelaziz A. Mutagenic and toxic activities of several spices and some Jordanian medicinal plants. Int J Pharmacog 1992;30(2) 81-5
- Anon. Baby dies after peppermint water prescription for collc. Pharm J 1998; 260(6996):768.