กุ่มบก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กุ่มบก งานวิจัยและสรรพคุณ 30 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กุ่มบก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักกุ่ม (ภาคเหนือ), ผักก่าม, ก่าม (ภาคอีสาน), กุ่ม (ภาคกลาง , ถะงัน, ทะงัน (เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Crateva adansonii DC.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Crateva adansonii subsp. trifoliata (Roxb.) Jacobs, Crateva guineensis Schumach. & Thonn., Crateva erythrocarpa Gagnep., Crateva laeta DC.
ชื่อสามัญ Caper tree, Temple plant, Sacred barnar.
วงศ์ CAPPARACEAE

ถิ่นกำเนิดกุ่มบก

กุ่มบกเป็นพันธุ์พืชที่เชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดในหลายๆ แห่งในทวีปเอเชีย เช่น บริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย และตามเกาะในฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้รวมถึงในออสเตรเลียเป็นต้น สำหรับในประเทศไทย ถือว่ากุ่มบก ป็นผักพื้นบ้านเก่าแก่ที่ชาวไทยคุ้นเคยมาแต่โบราณกาล เพราะมีปรากฏอักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลยที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2416 โดยกล่าวถึงศัพท์เกี่ยวกับต้นกุ่มบก และการใช้กุ่มเป็นผักของคนไทย ในปัจจุบันเราสามารถพบกุ่มบกได้เกือบทั่วทุกภาคของประเทศซึ่งจะพบตามที่ดอนต่างๆ หรือ ตามป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ รวมถึงเขาหินปูน และป่าไผ่ ที่มีความสูงในระดับน้ำทะเลจนถึง 350 เมตร

ประโยชน์และสรรพคุณกุ่มบก 

  1. แก้บำรุงหัวใจ
  2. ช่วยบำรุงไฟธาตุ
  3. แก้ไข้
  4. แก้ปวดท้อง 
  5. แก้ลงท้อง
  6. แก้แน่นท้อง
  7. ช่วยขับผายลม
  8. ช่วยขับลมในลำไส้
  9. ช่วยกระตุ้นลำไส้ให้ย่อยอาหาร
  10. แก้บวม
  11. ช่วยขับปัสสาวะ
  12. ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย
  13. ใช้เป็นยาระงับประสาท
  14. ช่วยรักษานิ่ว
  15. ใช้ทาแก้โรคผิวหนัง
  16. ใช้ประคบแก้ปวด
  17. แก้ปวดศีรษะ
  18. แก้กลากเกลื้อน
  19. แก้ตานขโมย
  20. แก้บวมคันจากพยาธิตัวจี๊ด
  21. แก้มานกษัยเส้น
  22. แก้อาการผอมเหลือง 
  23. แก้ริดสีดวงทวาร
  24. แก้นิ่ว
  25. ช่วยทำให้ขี้หูแห้งออกมา
  26. เป็นยาเจริญอาหาร
  27. แก้ท้องผูก
  28. ช่วยบรรเทาอาการปวดตามเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ มือ เท้า ตึงหรือชา
  29. ใช้เป็นยาช่วยขับปัสสาวะ
  30. ช่วยบรรเทาอาการนิ่วในไต

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้ไข้ บำรุงหัวใจ ขับลม โดยใช้ใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้กลากเกลื้อน โดยใช้ใบสดมาตำให้ละเอียดใช้ทาบริเวณที่เป็น ใช้แก้อาการคัน และบวมที่ผิวหนังจากพยาธิตัวจี๊ด โดยใช้ใบสดบดให้ละเอียดผสมกับน้ำซาวข้าวแล้วนำมาพอกบริเวณที่มีอาการโดยให้ทำ 3 วันติดต่อกัน ใช้บำรุงเลือด ริดสีดวงทวาร แก้อาการผอมเหลือง แก้นิ่ว โดยการนำแก่นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้บำรุงธาตุ จับหนอง แก้มานกษัยที่เกิดจากกองลมโดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้บำรุงหัวใจ บำรุงไฟธาตุ คุมธาตุ ขับลม แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะ แก้ไข้ แก้นิ่ว แก้น้ำเหลืองเสีย โดยใช้เปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม


ลักษณะทั่วไปของกุ่มบก

กุ่มบก จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 5-10 เมตร แต่อาจ ผลัดใบ สูงได้ถึง 20 เมตร แตกเรือนยอด และกิ่งก้านโปร่ง โดยกิ่งก้านมักคดงอ เปลือกต้นมีสีน้ำตาลอมเทา ผิวค่อนข้างเรียบ หรือ อาจมีรอยแตกตามขวางเนื้อไม้ละเอียดมีสีขาวปนเหลือง ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกเรียงสลับ มีใบย่อย 3 ใบ ใบเป็นรูปไข่ รูปร่างค่อนข้างกลม กว้าง 2-6 เซนติเมตร ยาว 2-10 เซนติเมตร โคนใบสอบ ส่วนที่อยู่ด้านข้างโคนใบจะเบี้ยว ขอบใบเรียบ ผิวใบมันเป็นสีเขียว เนื้อใบหนานุ่ม แผ่นใบเรียบทั้งสองด้าน มีเส้นแขนงใบ 4-5 คู่ ก้านใบร่วมยาว 7-9 เซนติเมตร ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจุก บริเวณซอกใบใกล้กับปลายยอด กลีบดอกมี 4 กลีบ เป็นสีขาวแล้วจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือ สีชมพูอ่อน กลีบเป็นรูปรีปลายมน โคนสอบเรียว กว้างประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.2-1.8 เซนติเมตร ที่กลีบดอกจะเห็นเส้นคล้ายเส้นใบอย่างชัดเจน และมีกลีบเลี้ยงรูปรี มีความกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ก้านดอกมีความยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร โดยมีเกสรตัวผู้สีม่วงอยู่ประมาณ 15-22 อัน ส่วนก้านชูเกสรตัวเมียมีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร ผลเป็นผลสด รูปทรงกลมแกมไข่ เปลือกแข็ง ขนาด 2-3.5 เซนติเมตร ที่ผิวมีสีน้ำตาลอมแดง ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อสุกมีสีน้ำตาลแดง เมล็ดสุกมีสีตาลแดง เมล็ดรูปไต ผิวเรียบ กว้าง 2 มิลิเมตร ยาว 6 มิลลิเมตร ใน 1 ผลจะมีหลายเมล็ด

กุ่มบก

การขยายพันธุ์กุ่มบก

กุ่มบกสามารถขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำ สำหรับวิธีการขยายพันธุ์กุ่มบก ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับ การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำ ไม้ยืนต้นประเภทอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้กุ่มบกมีการนิยมนำมาเพาะปลูกตามบ้านเรือน หรือ ตามเรือกสวนไร่นามากกว่ากุ่มน้ำ เพราะเป็นพันธุ์ไม้ที่ทนแล้ง และชอบออกในที่ดอนซึ่งต่างจากกุ่มน้ำ

กุ่มบก

องค์ประกอบทางเคมี

มีผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของกุ่มบก พบว่ามีสารสำคัญหลายชนิด อาทิเช่น Lupeol, Quercetin, Cadabicine, Diosgenin และ Hydrocyanicacid เป็นต้น      

   โครงสร้างกุ่มบก   

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกุ่มบก

มีผลการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาจากส่วนต่างๆ ของกุ่มบก พบว่าสารสกัดจากเปลือกต้น และใบมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ สารสกัดจากใบยังสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลชีพได้ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยการศึกษาสารพฤกษเคมี และฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งจากสารสกัดกุ่มบก พบว่ามีฤทธิ์ต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งตับได้ดี และสารสกัดจากเปลือก พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลชีพได้อีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของกุ่มบก

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ยอดอ่อน และช่อดอกของกุ่มบก มีกรดไฮดรอไซยานิคซึ่งเป็นสารพิษ ดังนั้นจึงต้องนำไปทำให้สุก หรือ ดองก่อนรับประทาน
  2. ในการที่จะนำกุ่มบกมาใช้เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้กุ่มบกเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้นควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง กุ่มบก
  1. เดชา ศิริภัทร. กุ่ม. ผักพื้นบ้านที่มีเป็นกลุ่ม. คอลัมน์. ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 187. พฤศจิกายน 2532
  2. สุรัชนา ดาทอง, สุธีรา มณีฉาย. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของกุ่มบก. วารสารวิชาการ และวิจัย มทร.พระนครปีที่ 14.ฉบับที่ 1. มกราคม-มิถุนายน 2563. หน้า 48-57
  3. กุ่มบก.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.pharganden.com/main.php?action=viewpage&pid=205
  4. กุ่มบก.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.pharganden.com/main.php?action=viewpage&pid=177
  5. M. K. Tchimene, C. O. Nwaehujor, M. Ezenwali, C. C. Okoli and M. M. Iwu, “Free Radical Scavenging Activity of Lupeol Isolated from the Methanol Leaf Extract of Crateva adansonii Oliv. (Capparidaceae),” International Journal of Pharmacognosy and Phytochemical Research, vol. 8, no. 3, pp. 419-426, 2016.
  6. N. A. Wagay, N. A. Khan and S. P. Rothe, “Profiling of secondary metabolites and antimicrobial activity of Crateva religiosa G. Forst. Bark - A rare medicinal plant of Maharashtra India,” International Journal of Biosciences, vol. 10, no. 5, pp. 343-354, 2017.
  7. R. Meera and S. Venkataraman, “Characterization and Evaluation of Antioxidant Activity of Crataeva magna Lour (DC),” Journal of Global Pharma Technology, vol. 9, no. 9, pp. 1-7, 2017.
  8. S. N. Hade, P. A. Joshi, H. H. Pilley, V. P. Wadegaonkar and P.A.Wadegaonkar, “Evaluation of Crataeva nurvala extracts as antioxidant, antiproteolytic and cytotoxic against hepato-carcinoma and mouse melanoma cell lines,” Journal of Applied Pharmaceutical Science, vol. 6, no. 9, pp. 189-196, 2016.
  9. C. O. Ajanaku, J. O. Echeme, R. C. Mordi, O. O. Ajani, J. A. O. Olugbuyiro, T. F. Owoeye, O. S. Taiwo and J. U. Ataboh, “Phytochemical Screening and Antimicrobial Studies of Crateva adansonii Leaf Extract,” Covenant Journal of Physicl & Life Sciences (CJPL), vol. 4, no. 2,pp. 35-41, 2016.