กะเจียน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
กะเจียน งานวิจัยและสรรพคุณ 14 ข้อ
ชื่อสมุนไพร กะเจียน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สะบันงาป่า, ไม้เหลือง, เหลือง, ค่าสามซีก (ภาคเหนือ), จันทร์ดง,ไซเด่น,ทรายเด่น (ภาคอีสาน), พญารากดำ, โมดดง (ภาคตะวันออก, แคหาง (ราชบุรี), เสโพส่า (ไทใหญ่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Polyalthia cerasoides (Roxb.) Bent.ex Bedd.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Hubera cerasoides (Roxb.) Chawasku
วงศ์ ANONACEAE
ถิ่นกำเนิดกะเจียน
จากการค้นคว้าข้อมูลพบว่ายังไม่พบยืนยันถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของกะเจียน พบแต่เพียงว่ามีการกระจายพันธุ์ในอินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมถึงบางที่ในทวีปแอฟริกาด้วย สำหรับในประเทศไทยพบได้ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคตะวันออก ส่วนภาคใต้มีรายงานระบุว่าสามารถพบได้ถึงจังหวัดชุมพรเท่านั้น โดยในประเทศไทยส่วนมากจะพบบริเวณป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง รวมถึงภูเขาหินปูน ในระดับความสูง 100-1600 เมตร จากระดับน้ำทะเล
ประโยชน์และสรรพคุณกะเจียน
- บำรุงกำลังสำหรับบุรุษ
- บำรุงกำหนัด
- คลายเส้นเอ็น
- ทำให้กระชุ่มกระชวย
- แก้ไข้
- แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- แก้กษัย
- แก้ปวด
- แก้อักเสบ
- ช่วยให้เจริญอาหาร
- แก้วัณโรคในลำไส้
- แก้ปัสสาวะพิการ
- แก้ปวดหลัง ปวดเอว
- ไตพิการ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้บำรุงธาตุช่วยเจริญอาหาร แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้เจ็บหลังเจ็บเอว แก้ปัสสาวะ ใช้แก้วัณโรคในลำไส้ โดยใช้เนื้อไม้กะเจียน มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้กษัย ไตพิการ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย บำรุงกำหนัดในบุรุษ คลายเส้นเอ็น ขนาดรับประทาน โดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วย วันละ 3 เวลา ใช้คุมกำเนิดสำหรับสภาพสตรี โดยใช้ส่วนปลายสุดของรากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เกลื่อนหัวฝีโดยใช้เนื้อไม้ใช้ฝนกับน้ำปูนใสทาบริเวณที่เป็น ใช้พอกฝี แก้ปวด แก้อักเสบ ของแผลและฝี โดยใช้ใบสดมาตำพอกบริเวณที่เป็น
ลักษณะทั่วไปของกะเจียน
กะเจียน จัดเป็นพันธุ์ไม้ขนาดเล็กถึงขนาดกลางลำต้นตั้งตรงเปลือกเรียบ มีความสูงได้ประมาณ 5-15 เมตร บางข้อมูลระบุว่าสูงได้ถึง 20 เมตร เรือนยอดเป็นรูปกรวยคว่ำลำต้น และกิ่งแก่ช่องอากาศสีเหลืองอ่อน เปลือกเป็นสีเทาดำ หรือ น้ำตาลอ่อน ตามกิ่งอ่อนมีขนนุ่ม ส่วนกิ่งแก่ผิวเรียบเกลี้ยง
ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวแบบเรียงสลับ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน และจะมักเบี้ยว มีความกว้าง 2-4.5 ซม. ยาว 8-18 ซม. ขอบใบเรียบแผ่นใบบางใบด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีจาง หรือ ขาวอมเทา ใบอ่อนมีขนนุ่ม ปกคลุมทั้งสองด้าน แล้วจะค่อยๆ ร่วงไปเมื่อใบแก่ยกเว้นตามเส้นใบ และเส้นแขนงใบซึ่งเส้นแขนงใบจะมีข้างละ 8-15 เส้น และมักเห็นได้ชัดทางด้านล่าง นอกจากนี้ก้านใบสั้นประมาณ 3-5 มิลลิเมตร และมีขนสั้นๆ
ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวหรือช่อกระจุก 2-3 ดอก ตามซอกใบซึ่งเมื่อดอกบานจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 ซม. โดยกลีบดอกมีสีเขียวอ่อน อวบหนา ด้านนอกมีขนประปราย ด้านในเกลี้ยง โคนกลีบโค้งเข้าหาจุดศูนย์กลางดอก ปลายกลีบแหลม ขอบกลีบจรดกันในขณะเป็นดอกตูม และจะแยกออกจากกันเล็กน้อยเมื่อบานโดยกลีบดอกชั้นนอกรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม กว้าง 3-5 มิลลิเมตร ยาว 5.5-7 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกชั้นในรูปแกมรี กว้าง 3-5 มิลลิเมตร ยาว 6-8 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้สีครีมจำนวนมาก ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ยาว 1-1.5 มิลลิเมตร ปลายตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยม อับเรณูหันออกด้านนอก เกสรเพศเมียที่มีรูปทรงกระบอกยาว 1.5-2 มิลลิเมตร และมีคาร์เพลประมาณ 20-30 อัน และมีกลีบเลี้ยงสีเขียวรูปไข่แกมสามเหลี่ยมกว้าง 3.5-5 มิลลิเมตร ยาว 4-6.5 มิลลิเมตร ปลายกลีบมักจะแอ่นหรือกระดกขึ้น ด้านนอกมีขนปกคลุมหนาแน่น ด้านในเกลี้ยงส่วนก้านดอก จะมีลักษณะเรียวยาว 1-2 ซม.
ผล เกิดจากช่อโปร่งโดยจะออกผลเป็นกลุ่ม อยู่บนแกนตุ้มกลมซึ่งในแต่ละกระจุกจะมีผลย่อย 10-20 ผล ผลมีลักษณะป้อม หรือ รูปไข่ ปลายผลเป็นติ่งผลอ่อนมีสีเขียวเมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีแดงมีขนาดประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร และมีก้านผลย่อยเรียวเล็กยาว 2.5 เซนติเมตร ส่วนโคนก้านติดรวมอยู่บนปลายก้านช่อที่โตเป็นตุ้ม ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด
การขยายพันธุ์กะเจียน
กะเจียน สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเมล็ดซึ่งการขยายพันธุ์ในปัจจุบันนั้นส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดตามธรรมชาติ เนื่องจากยังไม่เป็นที่นิยมในการนำมาปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ เพราะหากจะใช้ประโยชน์จากกระเจียนก็จะเป็นการเก็บเอามาใช้ประโยชน์จากในป่าหรือส่วนใหญ่สำหรับวิธีการเพาะเมล็ด และการปลูกกะเจียน นั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและปลูกไม้ยืนต้นที่ต้องการใช้เมล็ดปลูกทั่วไปที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของกะเจียน ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น ในส่วนรากพบสาร bidebiline E,Humulene, Caryophyllene oxide, R-cadinol, Codamine, laudanoside, laudaniline, reticulene, Clerodane diterpenoid, octadeca-9,11,13-trinoic acid, Spinasterol, alpha-Spinasterol เป็นต้น ในส่วนของลำต้นพบสาร Humulene, laudanosine, Reticulene, Maculoside, Delcoide, Myricetin, Ergosind, Thalicapine, Methylcytosine, Azetidine 2-carboxylic acid, Isovaleric acid, methylinolenate, Rrtrorsine, Caffeoylmalic acid, Ellagic acid, Indicaxanthin, Hydroxycyathin, Phenethylamine, Benzoylmethylecgonine, Eupaformonin, Pelarginidin chloride, Galangin Trimethylether, Dihydroxy Stearic acid, Rutacridone Eposide, Caffeoylshikimic acid เป็นต้น
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกะเจียน
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของกะเจียน ในต่างประเทศระบุเอาไว้ว่ามีฤทธิ์ ต้านมาลาเรียต่อพลาสโมเดียม ฟัลซิปารัม ต้านมัยโคแบคทีเรียต่อเชื้อมัยโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (TB) ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง ต้านเบาหวาน ต้านจุลชีพ ปกป้องตับ และมีฤทธิ์ต้านอาการปวด เป็นต้น
การศึกษาทางพิษวิทยาของกะเจียน
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้กะเจียน เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาอาการต่างๆ นั้น ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาดที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาอื่นๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ รวมถึงผู้ป่วยเรื้อรังหากจะใช้กระเจียน เป็นสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง
เอกสารอ้างอิง กระเจียน
- เอื้อมพร วีสมหมาย,ปณิธานแก้วดวงเทียน.2547. ไม้ป่ายืนต้นของไทย 1. โรงพิมพ์ เช เอ็น กรุ๊ป จำกัด กรุงเทพฯ.
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.พญารากดำ. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 526-527.
- ปิยะ เฉลิมกลิ่น. พรรณไม้ในวงศ์กระดังงา สำนักพิมพ์บ้านและสวน 2544.
- พงศ์ศักดิ์ พลเสนา. 2550. พืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพร เขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์. ห้างหุ้มส่วนจำกัด เจตนารมณ์ภัณฑ์ ปราจีนบุรี.
- พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ,ดร.นิจศิริ เรืองรังษี,กัญจนา ดีวิเศษ. กะเจียน. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. หน้า 68.
- ราชบัณฑิตยสถาน.2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร เพื่อนพิมพ์.
- ยุคคล จิตสำรวย.กระเจียน 99 สมุนไพรไทย. นานา สำนักพิมพ์ 2555. หน้า 11-12
- เชิดศักดิ์ ทัพใหญ่. การศึกษาทางอนุกรมวิธานของพืชวศ์กระดังงานบริเวณสถานีพัฒนาเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าพิษณุโลก อ.วังทยา จ.พิษณุโลก. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเราศวร ปีที่ 7. ฉบับที่ 1 เมษายน-กันยายน 2553. หน้า 71-101.
- สุรพงษ์ เก็งทอง. สมุนไพรพื้นบ้านในหมู่เกาะแสมสาร. รายงานการวิจัยโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี. 2554. ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย. 56 หน้า
- Bhargavi G, Naidu CV. Liquid chromatography-mass spectrometry based profile of bioactive compounds in ethanol extract of Polyalthia cerasoi-des stem bark. Int J Adv Res 2015; 3(6):119–23.
- Hooker, J.D. 1872. Annonaceae. Fl. Brit. India 1, 45-94.
- Gonza lez MC, Zafra-Polo MC, Bla´zquez MA, Serrano A, Cortes D. Cerasodine and cerasonine: new oxoprotoberberine alkaloids from Polyalthia cerasoides. J Nat Prod 1997; 60:108–10.
- Craib, W.G. 1925. Flora Siamensis Enumeratio 1, 28-63.
- Shono T, Ishikawa N, Toume K, Arai MA, Masu H, Koyano T, et al. Cerasoidine, a Bis-aporphine Alkaloid Isolated from Polyalthia cerasoides during screening for Wnt signal inhibitors. J Nat Prod 2016; 79(8):2083–8.