ลองกอง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ลองกอง งานวิจัยและสรรพคุณ 26 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ลองกอง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ลางสาดเขา, สังสาดเขา (นครศรีธรรมราช)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lansium domesticum Corr.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Aglaia  dookkoo Griff.
วงศ์ MELIACEAE


ถิ่นกำเนิดลองกอง

อันที่จริงแล้ว ลองกอง จัดเป็นสายพันธุ์หนึ่งของลางสาด (ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์เดียวกัน) แต่จะมีลักษณะประจำพันธุ์บางอย่างที่แตกต่างกันเท่านั้น โดยถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของลองกอง มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบหมู่เกาะชวา หมู่เกาะมลายู หมู่เกาะฟิลิปปินส์ และทางตอนใต้ของประเทศไทย ต่อมาจึงได้มีการกระจายพันธุ์ไปยังประเทศในแถบอเมริกากลาง เช่น ซูรินัม เปอร์โตริโก และยับพบที่ออสเตรเรีย และฮาวาย อีกด้วย สำหรับในประเทศไทยลองกอง จัดเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศชนิดหนึ่ง โดยแหล่งเพาะปลูกลองกองที่สำคัญส่วนใหญ่จะอยู่ทางภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส เป็นต้น รองลงมา คือ ภาคตะวันออก และพบปลูกบ้างเล็กน้อยในภาคเหนือ และภาคกลาง

ลองกอง vs ลางสาด

ประโยชน์และสรรพคุณลองกอง

  1. รักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้
  2. รักษามาลาเรีย
  3. แก้บิด
  4. แก้ท้องร่วง
  5. แก้พิษแมงป่อง
  6. แก้จุกเสียด
  7. แก้อาการอักเสบ อักเสบของแผล
  8. แก้อาการกล้ามเนื้อแข็งตัว
  9. แก้ปวดท้อง
  10. แก้วัณโรค
  11. รักษาแผล
  12. ช่วยลดน้ำหนอง
  13. ใช้บำรุงร่างกาย
  14. แก้ท้องเสีย
  15. แก้ไข้
  16. ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
  17. แก้อาการปวดหู
  18. แก้ฝีในหู
  19. แก้เริม
  20. แก้ไฟลามทุ่ง
  21. แก้งูสวัด
  22. ช่วยลดความร้อนในร่างกาย
  23. ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
  24. ช่วยย่อยอาหาร
  25. ช่วยกระตุ้นให้เจริญอาหาร 
  26. ช่วยต้านการติดเชื้อ

           ลองกอง เป็นผลไม้ที่ในปัจจุบันมีความนิยมในการรับประทานกันเป็นอย่างมากชนิดหนึ่ง โดยทั่วไปมักจะนิยมรับประทานเป็นผลไม้สด ให้รสชาติหวานอร่อยฉ่ำน้ำ และยังมีการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ลองกองกวน แยมลองกอง น้ำลองกอง และไวน์ลองกอง เป็นต้น ในด้านอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมความงามได้มีการนำสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของลองกอง มาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และผลิตภัณฑ์บำรุงที่ช่วยให้ ผิวหนังที่ช่วยลดสิวอักเสบ เพิ่มความชุ่มชื้น และช่วยลดรอยด่างดำได้อีกด้วย

ลองกอง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้บำรุงร่างกาย ลดความร้อนในร่างกาย กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ช่วยเจริญอาหาร ย่อยอาหาร โดยนำผลลองกอง สุกมารับประทานสด
  • ใช้รักษาโรคลำไส้ แก้โรคมาลาเรีย แก้บิด ท้องร่วง โดยนำเปลือกต้นลองกองมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ท้องร่วง ปวดท้อง แก้บิด โดยนำเปลือกผลมาตากแห้ง นำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ไข้ แก้เริม ขับพยาธิ ต้านการติดเชื้อ และการอักเสบของแผล ใช้เป็นยาฝาดสมาน โดยนำเมล็ดลองกอง มาทุบให้แตกต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ปวดหู ฝีในหู โดยนำน้ำต้มจากเมล็ดลองกอง มาหยอดหู แก้ไฟลามทุ่ง งูสวัด โดยนำเมล็ดมาทุบให้ละเอียด พอกบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของลองกอง

ในส่วนของลองกอง จัดเป็นไม้ยืนต้นเนื้อแข็งขนาดกลาง ทรงพุ่มมีลักษณะทรงกรวยแหลม เป็นพืช ใบเลี้ยงคู่ ลำต้นสูงได้ 10-15 เมตร ลักษณะลำต้นทรงกลม แต่ไม่ค่อยกลมนัก เปลือกลำต้นค่อนข้างหยาบ สีเขียวอมน้ำตาล มักมีสันนูน และรอยเว้าอยู่บ้าง มักแตกกิ่งก้านในระดับสูง ตามกิ่งก้านจะมีแอ่งเว้าเป็นคลื่นๆ ตามรอยของง่ามให้เห็นเป็นระยะ

           ใบลองกอง เป็นใบประกอบ โดยมีก้านใบหลักยาว 25-50 เซนติเมตร แตกออกจากส่วนปลายของกิ่ง โดยแต่ละก้านของลองกอง จะมีใบย่อยประมาณ 5-9 ใบ หรือ ดอกมีมากกว่า ออกเรียงสลับข้างกัน ซึ่งลักษณะของใบย่อยจะเป็นรูปไข่ รียาว กว้าง 5-7 เซนติเมตร ยาว 12-20 เซนติเมตร โคนใบป้านแหลม ปลายใบแหลม เป็นติ่ง ขอบใบเรียบ แผ่นใบมีสีเขียวเข้ม เป็นมัน และเป็นลูกคลื่น สามารถมองเห็นเส้นแขนงใบเป็นร่องลึกชัดเจน

           ดอกลองกอง ออกเป็นช่อโดยจะออกบริเวณลำต้น และกิ่งที่มีความสมบูรณ์ โดยดอกจะแทงออกที่ผิวเปลือก ในระยะแรกจะเป็นตุ่มแข็ง สีน้ำตาลอมเขียว ต่อมาจะค่อยๆแทงออก เป็นก้านช่อดอกยาวขึ้น ซึ่งจะมีก้านช่อดอกแตกออกเป็นกระจุกจำนวนมาก บนก้านช่อดอกจะมีดอกเรียงสลับกัน ดอกลองกองเป็นดอกสมบูรณ์เพศที่ติดผลได้เอง ประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียวเข้ม ส่วนกลีบดอกมีลักษณะเป็นพุไม่แยกออกจากกัน กลีบดอกเมื่อยังอ่อนมีสีเขียวอ่อน และเมื่อนานจะมีสีขาวอมเหลือง ด้านในดอกมีเกสรตัวผู้ลักษณะเป็นท่อสั้นๆ ประมาณ 10 ท่อ และตรงกลางสุดเป็นเกสรตัวเมีย ด้านล่างเป็นรังไข่จะมีประมาณ 4-5 ห้อง

           ผลลองกอง เป็นผลเดี่ยว แต่จะออกติดกับก้านช่อเป็นพวง ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม ผลดิบมีสีเขียวเข้ม และเมื่อแก่ หรือ สุกจะมีสีเหลืองอ่อน หรือ สีครีม เปลือกผลค่อนข้างหนาเมื่อเทียบกับเปลือกลางสาด ผลมีขนสั้นๆ เมื่อสัมผัสจะให้ความรู้สึกสากมือเล็กน้อย และเปลืองลองกอง จะมียางน้อย หรือ อาจไม่มีเลย ด้านในผลจะเป็นเนื้อผลแบ่งเป็นกลีบ 4-5 กลีบ เนื้อผลมีสีขาวใส หรือ ขาวขุ่น เนื้อฉ่ำน้ำหนา ซึ่งให้รสหวานหรือหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ในเนื้อผลมีเมล็ด รูปร่างรี มีสีเหลืองอมน้ำตาลมีรสขม

ลองกอง

ลองกอง

การขยายพันธุ์ลองกอง

ลองกอง สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีอาทิเช่น การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง การทาบกิ่ง การต่อกิ่ง และการเสียบยอด แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การเสียบยอด เพราะจะได้สายพันธุ์ที่ต้องการที่มีการเจริญเติบโตเร็ว และทรงพุ่มจะกว้างไม่สูงชะลูด ง่ายต่อการเก็บเกี่ยว สำหรับวิธีการปลูกลองกอง นั้นเริ่มจากไสกลบ หรือ ไถวัชพืช และไถกลบดินประมาณ 1 เดือน จากนั้นขุดหลุมปลูกเตรียมไว้เป็นแถว โดยมีขนาดหลุม กว้างxยาวxลึก ในขนาด 50 เซนติเมตร และเว้นระยะปลูกระหว่างหลุม หรือ ต้นประมาณ 6-8x6-8 เมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หรือ วัสดุอินทรีย์ประมาณ 1 ถังน้ำ พร้อมเกลี่ยต้นลงคลุกผสมเล็กน้อย

           จากนั้นนำกล้าที่เสียบยอดแล้วลงปลูกโดย กรีดถุงเพาะชำออก แต่จะต้องระวังไม่ให้ก้อนดินแตก หลังจากนั้น นำต้นลองกองลงปลูก เกลี่ยดินกลบให้สูงจากพื้นเล็กน้อย แล้วเอาไม้ไผ่ค้ำยัน และรัดด้วยเชือกพอหลวมๆ รดน้ำให้ชุ่ม การให้น้ำควรรดน้ำเป็นประจำอย่างน้อย 2 วัน/ครั้ง แต่หากมีฝนตกสม่ำเสมอก็ไม่จำเป็นต้องให้น้ำ ปล่อยให้ลองกองเติบโต โดยอาศัยน้ำจากน้ำฝนเป็นหลักจนมีอายุประมาณ 3-4 ปี จึงจะเริ่มให้ดอกลองกองติดผลครั้งแรก ทั้งนี้ลองกองเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในดินที่ชื้นตลอดปี หรือ เป็นพื้นที่ที่มีฝนตกชุก แต่ควรเป็นราบ และสามารถระบายน้ำได้ดี ไม่มีปัญหาน้ำท่วมขัง


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากใบ เมล็ด เปลือกต้น เปลือกผล และน้ำมันหอมระเหยจากส่วนผลของลองกอง ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์หลายชนิดดังนี้ สารสกัดจากส่วนใบของลองกองพบสาร cycloartenol, 3-oxo-24-cycloarten-21-oic acid, lansitriol, lansisterone E, lansisterone Z, lansisterol B และ lansisterol A สารสกัดจากส่วนเมล็ดพบสาร dukonolide A, kokosanolide A , kokosanolide C, domesticulides A-E, dukunolides A-F, seco-dukunolide F สารสกัดจากส่วนเปลือกต้น และกิ่งพบสาร lansic acid, ethyl lansiolate, lamesticumins A-F, 8,14-secogammacera-7,14(27)-diene-3,21-dione สารสกัดจากส่วนเปลือกผลพบสาร lansionic acid, lansic acid, lansiosides A-C, lansic acid methyl ester, 3βhydroxyonocera-8(26),14-dien-21-one, 21αhydroxyonocera-8(26),14-dien-3-one ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากส่วนผลลองกอง พบสารระเหยเป็นสารกลุ่มเซสควิเทอร์พีน (sesquiterpenes) เช่น germacrene-D, methyl hydroxy3-methylbutanoate, (E)-hex-2-enal, methyl 2-hydroxy-3-methylpentanoate, methyl 2-hydroxy-4- methylpentanoat oleic acid, α-copaene, malic acid, maleic acid citric acid และ glycolic acid      

           นอกจากนี้เนื้อผลลองกองยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้ คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อลองกอง (100 กรัม)

  • พลังงาน                        66           กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต              15.3        กรัม
  • โปรตีน                          0.9          กรัม
  • ไขมัน                            0.1          กรัม
  • ใยอาหาร                     0.3          กรัม
  • แคลเซียม                     5             มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก                      0.7         มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส                  35           มิลลิกรัม
  • วิตามิน A                      15           หน่วยสากล
  • วิตามิน B1                    0.08        มิลลิกรัม
  • วิตามิน B2                   0.04        มิลลิกรัม
  • วิตามิน B3                    1.7          มิลลิกรัม
  • วิตามิน C                      24           มิลลิกรัม  

โครงสร้างลองกอง

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของลองกอง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดลองกอง จากส่วนต่างๆ ของลองกอง ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการก่อกลายพันธุ์ และการเป็นพิษต่อเซลล์ มีรายงานการศึกษาวิจัยเปลือกผลแห้ง และเมล็ดผงแห้งของลองกองด้วยเอทานอล 50% และ 90% และสารสกัดที่ได้มาจากการนำสารสกัดหยาบที่ได้มาสกัดต่อด้วยไดคลอโรมีเทน 50%เอทานอล น้ำ และเอทิลอะซิเตด มาทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการก่อกลายพันธุ์ และการเป็นพิษต่อเซลล์ของสารสกัด พบว่าส่วนสกัดด้วยน้ำที่แยกได้จากสารสกัดหยาบด้วย 50% เอทานอล จากเปลือกผลแห้งลองกอง (LDSK50-H2O) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีที่สุด รองลงมา คือ ส่วนสกัดด้วยเอทิลอะซิเตทที่แยกได้จากสารสกัดหยาบด้วย 50%เอทานอล จากเปลือกผลแห้งลองกอง (LDSK50-EA) เมื่อทดสอบด้วยวิธี superoxide anion radical scavenging และ hydroxyl radical scavenging ส่วนการเป็นพิษต่อเซลล์พบว่าส่วนสกัด LDSK50-H2O และส่วนสกัด LDSK50-EA มีความเป็นพิษต่อเซลล์ลิมโฟบลาสต์ของมนุษย์ชนิด TK6 และ เซลล์ V79 เมื่อทดสอบด้วยวิธี MTT assay ในขณะที่ส่วนสกัด LDSK50-EA เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ด้วยวิธี micronucleus assay พบว่ามีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์เมื่อทดสอบกับเซลล์ลิมโฟบลาสต์ของมนุษย์ชนิด TK6 จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าส่วนสกัดด้วยน้ำ และเอทิลอะซิเตทที่แยกได้จากสารสกัดหยาบด้วย 50% เอทานอล จากเปลือกผลแห้งลองกองมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการก่อกลายพันธุ์ และเป็นพิษต่อเซลล์ ชนิด TK6 และ เซลล์ V79 

           ฤทธิ์ต้านการสร้างเมลานินส่วนสกัดหยาบเมทานอลจากเปลือกต้นของลองกองพบว่าแสดงฤทธิ์ต้านการสร้างเมลานินที่ดีที่ความเข้มข้น 25 μg/mL โดยที่ระดับความเข้มข้นนี้ไม่มีผลต่อความเป็นพิษต่อเซลล์

           ฤทธิ์ต้านจุลชีพมีรายงานการศึกษาฤทธิ์ต้านจุลชีพของสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากกิ่งของลองกอง มาทดสอบพบว่า สาร lamesticumins A-C และ ethyl lansiolate สามารถยับยั้งเชื้อ Bacillus subtilis, Micrococcus pyogenes และ Bacillus cereus ที่ MIC = 3.12 μg/mL ขณะที่สาร lamesticumins D-F และ lansic acid 3-ethyl ester แสดงฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ B. cereus ที่ MIC = 3.12 μg/mL ต้านเชื้อ Escherichia coli, Shigella flexneri, Pseudomonas aeruginosa, Serratia marcescens และ Alcaligenes faecalis ได้

           ฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากส่วนสกัดหยาบไดคลอโรมีเทนของเมล็ดลองกอง พบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย Plasmodium falciparum พบว่าสารประกอบ domesticulides B-D ยับยั้งเชื้อดังกล่าวได้ในช่วง IC50 = 2.4-6.9 μg/mL นอกจากนี้ยังพบว่า เมื่อมีหมู่อะซิโตซิลเกาะอยู่ตำแหน่งที่ C-6 ของโครงสร้างจะแสดงการเพิ่มฤทธิ์การยับยั้งเชื้อมาลาเรียได้สูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับหมู่ไฮดรอกซิลที่เกาะในตำแหน่งเดียวกัน


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของลองกอง

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ลองกอง เป็นพืชในวงศ์กระท้อน (MELIACEAE) ซึ่งในผลอ่อนจะมียางสีขาว สำหรับผู้ที่แพ้ยางจากพืชวงศ์กระท้อน ต้องระมัดระวังในการสัมผัส เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังได้ และในการรับประทานลองกองเป็นผลไม้ เนื่องจากผลสุกของลองกอง มีรสชาติหวานหอม ดังนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือ ผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงควรรับประทานแต่พอดี เพราะหากรับประทานมากจนเกินไป อาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูง และอาการของโรคเบาหวานอาจกำเริบได้


เอกสารอ้างอิง ลองกอง
  1. เต็ม สมิตินันท์. 2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. กรุงเทพฯ: ประชาชน
  2. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2543. สมุนไพร…ไม้พื้นบ้าน (4). กรุงเทพฯ:ประชาชน .
  3. สาโรจน์ จีนประชา. องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพืชตระกูลลางสาด. รายงานการวิจัย.มหาวิทยาลัยพะเยา. 21 หน้า
  4. จันทร์เพ็ญ แสงประกาย,อภิญญา จุฑายกูร, ช่อลัดดาเที่งพุก. การตรวจสอบความเป็นพิษต่อยีนและฤทธิ์ยับยั้งการกลายพันธุ์ของสารสกัดจากลองกอง. วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร. ปีที่ 42 ฉบับที่ 2. พฤษภาคม-สิงหาคม 2554. หน้า 253-56
  5. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระต้านการก่อกลายพันธุ์และการเป็นพิษต่อเซลล์ของลองกอง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. ลองกอง .สรรพคุณและการปลูกลองกอง. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  7. Mayanti, T., Tjokronegoro, R., Supratman, U., Mukhtar, M.R., Awang, K., Hadi, A. and Hamid A. 2011. “Antifeedant triterpenoids from the seeds and bark of Lansium domesticum cv kokossan (Meliaceae).” Molecules. 16:2785-2795
  8. Lim T.K. 2012. Edible medicinal and nonmedicinal plants. Springer; Vol. 3; 265- 269
  9. Chairgulprasert, V., Krisornpornsan, B. and Hamad, A., 2006, Chemical Constituents of the Essential Oil and Organic Acids from Longkong (Aglaia dookkoo Griff.) Fruits, Songklanakarin J. Sci. Technol., 28(2): 321-326
  10. Krishnappa, S. and Dev, S., 1973. “Sesquiterpenes from Lansium anamalayanum.” Phytochemistry. 12:823- 825.
  11. Fun, H.K., Chantrapromma, S., Boonnak, N., Chaiyadej, K., Chantrapromma, K. and Yu, X.L. 2006. “seco-Dukunolide F: a new tetranortriterpenoid from Lansium domesticum Corr.” Acta Crystallographica, Section E: Structure Reports Online. E62:o3725-o3727
  12. Arung, E.T., Kusuma, I.W., Christy, E.O., Shimizu, K. and Kondo, R. 2009. “Evaluation of medicinal plants from Central Kalimantan for antimelanogenesis.” Journal of Natural Medicines. 63:473-480
  13. Verheij, E.W.M. and Coronel, R.E., 1992, Edible Fruits and Nuts, Plants Resources of South-East Asia No.2 PROSEA, Bogor, Indonesia
  14. Nishizawa, M., Emura, M., Yamada, H., Shiro, M., Hayashi, Y. and Tokuda, H. 1989. “Isolation of a new cycloartanoid triterpene from leaves of Lansium domesticum: novel skin-tumor promotion inhibitors.” Tetrahedron Letters. 30:5615-5618
  15. Dong, S.-H., Zhang, C.-R., Dong, L., Wu, Y. and Yue, J.-M. 2011. “Onoceranoid-Type Triterpenoids from Lansium domesticum.” Journal of Natural Products. 74:1042- 1048
  16. Nishizawa, M., Nishide, H., Hayashi, Y. and Kosela, S. 1982. “The structure of lansioside A, a novel triterpene glycoside with amino sugar from Lansium domesticum.” Tetrahedron Letters. 23:1349-1350