ผักคราดหัวแหวน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ผักคราดหัวแหวน งานวิจัยและสรรพคุณ 30 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ผักคราดหัวแหวน
ชื่ออื่นๆ/ผักท้องถิ่น ผักคราด (ภาคกลาง), ผักเผ็ด (ภาคเหนือ), ผักตุ้มหู (ภาคใต้), เทียงบุ่งเช่า, โฮ่วซั้วเช่า, อึ่งฮวยเกี้ย (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Acmella oleracea (L.) R.K.Jansen
ชื่อวิทยาศาสตร์ Spilanthes acmella (L.) Murray
ชื่อพ้องสามัญ Para cress, Tooth-ache Plant, Para cress
วงศ์ Asteraceae (Compositae)
ถิ่นกำเนิดผักคราดหัวแหวน
ผักคราดหัวแหวน มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้บริเวณประเทศบราซิล และอาร์เจนตินา แล้วมีการกระจายพันธุ์ไปในเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก ทั้งในทวีปเอเชียและแอฟริกา สำหรับในทวีปเอเชียพบได้มากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า กัมพูชา ลาว มาเลเซีย เป็นต้น ในประเทศไทยพบผักคราดหัวแหวน ได้ทั่วไปทั่วทุกภาค โดยมักชื้นเป็นวัชพืชตามที่รกร้างว่างเปล่า หรือ แม้แต่ริมถนนก็สามารถพบได้เช่นกัน
ประโยชน์และสรรพคุณผักคราดหัวแหวน
- ใช้เคี้ยวแก้ปวดฟัน
- เป็นยาแก้ร้อนใน
- แก้พิษตานซาง
- แก้ริดสีดวง
- แก้ผอมเหลือง
- แก้เด็กตัวร้อน
- แก้บิด
- แก้เลือดออกตามไรฟัน
- เป็นยาขับปัสสาวะ
- แก้หอบไอ
- ช่วยระงับหอบ
- แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง
- แก้ปอดบวม
- แก้ไอกรน
- แก้ไขข้ออักเสบ
- แก้งู และสุนัขกัด
- แก้ฝีในคอ
- แก้คออักเสบ
- แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ
- แก้คันคอ
- ใช้กวาดคอเด็ก
- แก้ตัวร้อน
- แก้ตับอักเสบ
- แก้ดีซ่าน
- แก้ปวดท้องหลังคลอด
- แก้ชอกช้ำภายในทรวงอก เจ็บปวดสีข้าง
- รักษาไข้จับสั่น
- แก้อาการอักเสบในช่องปาก และเจ็บคอ
- ผิวหนังเป็นผื่นฝีตุ่มพิษ
- ฝีตะมอยหัวนิ้วมือนิ้วเท้า
ผักคราดหัวแหวน สามารถใช้เป็นอาหารได้ โดยยอดอ่อนและใบอ่อน ใช้รับประทานเป็นผักสดแกล้มกับน้ำพริกลาบ ก้อย แกง และยังสามารถนำไปปรุงเป็นอาหารได้ โดยชาวเหนือนำผักคราดหัวแหวน ไปแกงแค ชาวอีสาน นำไปใส่กับอ่อมปลาอ่อมกบ และชาวใต้ นำยอดอ่อนไปแกงร่วมกับ หอย และปลา ทำให้รสชาติ และกลิ่นของอาหารน่ารับประทานมากขึ้น
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ผักคราดหัวแหวน
ใช้เป็นยาภายใน ต้มแห้งหนัก 3.2-10 กรัม ต้มน้ำดื่ม หรือ บดเป็นผงหนัก 0.7-1 กรัม รับประทานกับน้ำ หรือ ผสมกับเหล้ารับประทาน ใช้เป็นยาภายนอก ต้นสดตำพอก หรือ เอาน้ำทาถู หรือ ใช้ต้นสด 1 ต้น ตำให้ละเอียด เติมเกลือ 10 เม็ด คั้นน้ำ ใช้สำลีพันไม้ชุบน้ำยาจิ้มลงในซอกฟัน ทำให้หายปวดฟันได้
หรือใช้รักษาตามอาการของโรค เช่น รักษาไข้จับสั่น-ผักคราดหัวแหวน 1 ตำลึง ต้มน้ำใส่น้ำตาลแดง กรองเอาน้ำดื่ม ใช้เป็นยาถ่าย ใช้รากแห้ง 4-8 กรัม ต้มในน้ำ 1 ถ้วยกิน และใช้ต้มเอาน้ำอมบ้วนปาก แก้อาการอักเสบในช่องปากและเจ็บคอ นอกจากนี้อาจใช้ก้านขยี้ทาแผลในปากเด็ก ซึ่งเกิดเนื่องจากร้อนใน ใช้แก้ปวดฟัน ใช้ดอกตำกับเกลืออม หรือ กัดไว้บริเวณที่ปวดฟัน หรือ ใช้ก้านสดมาเคี้ยวตรงบริเวณฟันซี่ที่ปวด เพื่อให้น้ำจากก้านซึมเข้าไปตรงที่ปวด จะทำให้ชาสามารถระงับอาการปวดฟันได้ดี ถ้าฟันที่ปวดเป็นรู ใช้ขยี้ให้เละ อุดเข้าไปในรูนั้น สักครู่จะทำให้ชาและหายปวด แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ใช้ต้นแห้งบดเป็นผง ทำเป็นยาน้ำเชื่อม (ในน้ำเชื่อม 10 มล. มีเนื้อยานี้ 3.2 กรัม) กินครั้งละ 30 มล. วันละ 2 ครั้ง ผิวหนังเป็นผื่นฝีตุ่มพิษ-ผักคราดหัวแหวนตำกับเหล้า ใช้พอก หรือ ทาฝีแผลเรื้อรังหายยาก-ผักคราดหัวแหวน ตำแหลกเอาน้ำผสมน้ำมันชาทา หรือ พอก ฝีตะมอยหัวนิ้วมือนิ้วเท้า-ผักคราดหัวแหวน หญ้าดอกตูบ ตะขาบบิน อย่างละเท่าๆ กัน ตำแหลก แล้วพอก ถ้าแผลแตกก็ตำใส่น้ำผึ้งพอก
ลักษณะทั่วไปของผักคราดหัวแหวน
ผักคราดหัวแหวน จัดเป็น ไม้ล้มลุกขนาดเล็ก อายุปีเดียว ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขา สูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร หรือ ทอดไปตามดินเล็กน้อย แต่ปลายชูขึ้น ลำต้นกลมอวบน้ำ มีสีเขียวม่วงแดงปนเข้ม ลำต้นอ่อน มีขนปกคลุมเล็กน้อย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้าม รูปสามเหลี่ยม รูปไข่ หรือ รูปใบหอกแกมรูปไข่ ขอบใบเรียบ หรือ จักเป็นฟันเลื่อยแบบหยาบๆ ก้านใบยาว 1-2 เซนติเมตร ผิวใบสากมีขน ใบกว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 3-6 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบ และปลายกิ่ง เป็นกระจุกสีเหลือง ลักษณะกลม รูปไข่ ปลายแหลมคล้ายหัวแหวน ยาว 8 มิลลิเมตร ดอกย่อยมี 2 วง วงนอกเป็นดอกเพศเมีย วงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ก้านดอกเรียวยาว 2.5-15 เซนติเมตร ยกตั้งทรงกลมเหมือนหัวแหวน ริ้วประดับมี 2 ชั้น รูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาวราว 6 มิลลิเมตร เกลี้ยง ดอกวงนอกเป็นดอกตัวเมีย มี 1 วง กลีบดอกรูปรางน้ำ ดอกวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกรูปท่อ ปลายแยกเป็น 4-5 แฉก ผลเป็นผลแห้งรูปไข่ ยาวราว 3 มิลลิเมตร มีสัน 3 สัน ปลายเว้าเป็นแอ่งเล็กน้อย รยางค์มีหนาม 1-2 อัน
การขยายพันธุ์ผักคราดหัวแหวน
ผักคราดหัวแหวน สามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ การเพาะเมล็ดและการปักชำ แต่ส่วนใหญ่จะนิยมใช้วิธีการปักชำมากกว่า โดยการเลือกลำต้นที่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ มีรากออกตามข้อยาวประมาณ 3-4 ข้อ แล้วใช้ปักลงไปในดิน โดยให้ส่วนยอดโผล่เหนือผิวดิน จากนั้นหมั่นรพน้ำทุกวันในระยะแรก เมื่อปลูกติดแล้วอาจลดการให้น้ำเป็น 2-3 วัน ต่อครั้งก็ได้
องค์ประกอบทางเคมี
ดอกและทั้งต้นมีสาร spilanthol มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ นอกจากนี้ยังพบสาร Sitosterol-O-Beta-D-glucoside, Alpha- และ Beta-Amyrin ester, Stigmasterol, Spilantol, lsobutylamine ส่วนคุณค่าทางโภชนาการผักคราดหัวแหวน มีดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของผักคราดหัวแหวน (100กรัม)
- พลังงาน 32 กิโลแคลลอรี่
- น้ำ 89 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 7.1 กรัม
- โปรตีน 1.9 กรัม
- ไขมัน 0.3 กรัม
- วิตามิน A 3917 มิลลิกรัม
- วิตามิน B1 0.03 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 20 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 162 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 4 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 41 มิลลิกรัม
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของผักคราดหัวแหวน
ที่มา : กองโภชนาการ กรมอนามัย (ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม)
การศึกษาเภสัชวิทยา ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของผักคราดหัวแหวน
ฤทธิ์ยาชาเฉพาะที่ ในการทดลองทาสารสกัดด้วยเอทานอลจากผักคราดหัวแหวน ความเข้มข้น 10% บนปลายลิ้นของอาสาสมัครเปรียบเทียบกับยาชา lidocaine 10% แล้วกระตุ้นด้วยไฟฟ้า พบว่าสารสกัดออกฤทธิ์ทำให้ชาเร็วกว่าแต่มีระยะเวลาออกฤทธิ์สั้นกว่า lidocaine ส่วนการทดสอบโดยการทาสารสกัดด้วยเอทานอล 95% จากผักคราดหัวแหวน ความเข้มข้น 10% ที่ในกระพุ้งแก้ม แล้วทดสอบอาการชาต่อเข็มจิ้มเทียบกับ lidocaine 10% พบว่าสารสกัดสามารถลดความเจ็บปวดจากเข็มจิ้มได้เทียบเท่ากับยาชา แต่จากการศึกษาในผู้ป่วยหญิง 200 คน โดยวางสำลีรองเฝือกที่หลังมือ หรือ แขนทั้ง 2 ข้าง ตรงที่จะแทงเข็มให้น้ำเกลือ โดยตำแหน่งตรงกันทั้ง 2 ข้าง ในคนเดียวกัน แล้วหยดแอลกอฮอล์ 70% ปริมาณ 0.5 มิลลิลิตร บนสำลีข้างหนึ่ง และหยดสารสกัดจากผักคราดหัวแหวนปริมาณ 0.5 มิลลิลิตร ลงบนสำลีรองเฝือกอีกข้างหนึ่ง แล้วจึงใช้เข็มเบอร์ 18 แทง ตรงตำแหน่งที่ทายาไว้ข้างละเข็มเมื่อประเมินผลการระงับความเจ็บปวด พบว่า สารสกัดไม่สามารถระงับความเจ็บปวดจากการแทงเข็มให้น้ำเกลือได้ ซึ่งไม่แตกต่างจากการทาแอลกอฮอล์ 70% ทั้งนี้คาดว่าเนื่องจากสารสกัดไม่สามารถซึมผ่านผิวหนังได้ แตกต่างกับเนื้อเยื่อบุผิวที่สารสกัดซึมผ่านได้ง่าย
จากการศึกษาในสัตว์ทดลองโดยฉีดน้ำคั้น สารสกัดด้วยน้ำความเข้มข้น 25% สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ 95% ความเข้มข้น 10% จากลำต้นพร้อมใบ และดอกเข้าใต้ผิวหนังหนูตะเภา เปรียบเทียบกับ lidocaine 2% ทดสอบความรู้สึกชาด้วยการใช้ไฟฟ้ากระตุ้น พบว่าน้ำคั้น สารสกัดด้วยน้ำ และสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ ทำให้หนูมีอาการชาทันที เช่นเดียวกับ lidocaine แต่ระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้นกว่า เมื่อนำสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากส่วนเหนือดินความเข้มข้น 10% มาทดสอบกับเส้นประสาท siatic nerve ของกบ เปรียบเทียบกับ lidocaine 2% พบว่าสารสกัดด้วยอัลกอฮอล์ออกฤทธิ์ทำให้ชาได้เร็วกว่า lidocaine และเส้นประสาทที่ถูกทำให้ชาไปแล้วสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ แสดงว่าสารสกัดไม่เป็นพิษต่อเซลล์ประสาท เมื่อศึกษาดูผลของสารสกัดต่อการระคายเคืองเนื้อเยื่อบริเวณที่ถูกฉีดโดยใช้สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 10% ขนาด 0.1 มิลลิลิตร พบว่าภายใน 24 ชั่วโมง ไม่พบความผิดปกติของผิวหนังชั้นนอก แต่มีบวมเล็กน้อยใต้ผิวหนัง และมีการคั่งของหลอดเลือดฝอย มีการบวมและอักเสบ ในชั้นหนังแท้ (dermis) แต่ไม่พบเนื้อเยื่อตาย ความผิดปกติเหล่านี้หายไปเมื่อเวลาผ่านไป 7 วัน ในขณะที่ผิวหนังบริเวณที่ฉีด lidocaine 2% มีการบวมระหว่างเซลล์ และการคั่งของหลอดเลือดฝอยเช่นเดียวกับสารสกัด และไม่พบความผิดปกติของเนื้อเยื่อหลังจากเวลาผ่านไป 7 วัน เช่นกัน
ฤทธิ์ระงับปวด การศึกษาฤทธิ์ระงับปวดของสารสกัดจากผักคราดหัวแหวน ในรูปแบบต่างๆพบว่าไม่มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นยาแก้ปวด
โดยมีการศึกษาด้วยวิธี Haffner’s tail clip วิธีกระตุ้นให้เกิดการบิดของลำตัวด้วย acetylcholine และทำให้เกิดความเจ็บปวดด้วย bradykinin ในหนูถีบจักรและหนูขาว พบว่าส่วนสกัดด้วยอีเทอร์ระงับความเจ็บปวดต่ำ ส่วนสกัดด้วยอัลกอฮอล์ 70% ระงับความเจ็บปวดด้วยความแรงที่ต่ำกว่าส่วนสกัดด้วยอีเทอร์ ส่วนที่ไม่ถูกสกัดด้วยอีเทอร์ไม่แสดงฤทธิ์ลดความเจ็บปวดในทุกการทดลอง และสารสกัดเอทานอลจากผักคราดหัวแหวนออกฤทธิ์ระงับปวดเล็กน้อย เมื่อศึกษาในรูปแบบของยาระงับปวดที่ออกฤทธิ์ระบบประสาทส่วนปลาย และไม่มีฤทธิ์ระงับปวด เมื่อศึกษาในรูปแบบของยาออกฤทธิ์ระงับปวดต่อระบบประสาทส่วนกลาง
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ การศึกษาในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดด้วยเอทิลอะซีเตตจากผักคราดหัวแหวนมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ส่วนสารสกัดด้วยคลอโรฟอร์มก็มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในเซลล์แมคโครฟาจสายพันธุ์ RAW 264.7 ที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide โดยพบว่าสารสำคัญ spilanthol ออกฤทธิ์ยับยั้งเอ็นไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบคือ nitric oxide synthase และ cyclooxygenase -2 (COX-2)
การศึกษาทางพิษวิทยาของผักคราดหัวแหวน
เมื่อฉีดสารสกัดด้วยอีเทอร์ สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ 70% และส่วนสกัดที่ไม่ถูกสกัดด้วยอีเทอร์ จากผักคราดหัวแหวน เข้าช่องท้องหนูเม้าส์ พบว่าส่วนสกัดด้วยอีเทอร์มีความเป็นพิษมาก ส่วนสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ 70% และส่วนสกัดที่ไม่ถูกสกัดด้วยอีเทอร์มีพิษปานกลาง โดยความเข้มข้นของส่วนสกัดที่ทำให้หนูตาย 50% (LD50) เท่ากับ 153 มก./กก. , 2.13 ก./กก. และ 3.5 ก./กก. ตามลำดับ
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานผักคราดหัวแหวน เพราะอาจทำให้แท้งบุตรได้
- การใช้ผักคราดหัวแหวน เป็นสมุนไพร ถึงแม้ว่ายังไม่มีรายงานระบุถึงความเป็นพิษ และผลข้างเคียงที่ตามมาแต่ก็ควรใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ และใช้ในระยะเวลาติดต่อกันไม่นานเกินไป เพราะอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้
เอกสารอ้างอิง ผักคราดหัวแหวน
- ผักคราดหัวแหวน. สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ปัทมา เทพสิทธา. การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากผักคราดหัวแหวน. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต ภาควิชาเภสัชวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525.
- Ansari AH, Mukharya DK, Saxena VK. Analgesic study of N-isobutyl-4,5-decadienamide isolated from the flowers of Spilanthes acmella Murr. Thai J Pharm Sci 1988;13(4):465.
- ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ มะขาม และผักคราวหัวแหวน.คอลัมน์อื่นๆ. นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 15. กรกฎาคม 2523
- ปิ่น นิลประภัสสร, กิติศักดิ์ พงศ์ธนา. การศึกษาฤทธิ์ระงับความรู้สึกที่ผิวของส่วนสกัดจากผักคราดหัวแหวน สำหรับการแทงน้ำเกลือ. รวบรวมผลงานวิจัย โครงการพัฒนาการใช้สมุนไพร และยาไทยทางคลินิก (2525-2536), 2536:101-4.
- ผักคราวหัวแหวน. ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants.go.th/herbs/herbs_18_4.htm
- เชวงเกียรติ แสงศิรินาวิน, บุญสม วรรณวีรกุล, พนัก เฉลิมแสนยากร. ฤทธิ์ชาเฉพาะที่ ของผักคราดหัวแหวน. รวบรวมผลงานวิจัย โครงการพัฒนาการใช้สมุนไพร และยาไทยทางคลินิก (2525-2536), 2536:91-9.
- ผักคราวหัวแหวน. กลุ่มยาแก้ปวดฟัน. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=76
- ปัทมา เทพสิทธา. การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากผักคราดหัวแหวน. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต ภาควิชาเภสัชวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525.
- Li-Chen W, Nien-Chu F, Ming-Hui L, Inn-Ray C, Shu-Jung H, Ching-Yuan H, Shang-Yu H. Anti-inflammatory effect of Spilanthol from Spilanthes acmella on murine macrophage by down-regulating LPS-induced inflammatory mediators. J Agric Food Chem 2008; 56(7):2341-9.
- Ansari AH, Mukharya DK, Saxena VK. Analgesic study of N-isobutyl-4,5-decadienamide isolated from the flowers of Spilanthes acmella Murr. Thai J Pharm Sci 1988;13(4):465.
- Saengsirinavin C, Saengsirinavin S. Topical anesthetic activity of Spilanthes acmella extract in reducing injection pain. Ann Res Abstr, Bangkok: Mahidol University, 1988;15:26.
- Saengsirinavin C, Nimmanon V. Evaluation of topical anesthetic action of Spilanthes acmellaon human tounge. Ann Res Abstr, Bangkok: Mahidol University, 1988;15:25.