ผักหวานป่า ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ผักหวานป่า งานวิจัยและสรรพคุณ 28 ข้อ


ชื่อสมุนไพร ผักหวานป่า
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักหวาน, ผักวาน (สุรินทร์), ผักหวานโคก, ผักหวานดง (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Melientha suarvis Pierre
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Melienthe acuminata Merr.
วงศ์ OPILIACEAE


ถิ่นกำเนิดผักหวานป่า

ผักหวานป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กที่มีถิ่นกำเนิดในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พม่า มาเลเซีย ลาว เวียดนาม จีนตอนใต้ และไทยด้วย โดยมักจะพบตามป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรังในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 200-600 เมตร สำหรับในประเทศไทย พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่ส่วนมากมักจะพบมากในพื้นที่ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง


ประโยชน์และสรรพคุณผักหวานป่า

  • ช่วยแก้อาการของธาตุไฟ
  • แก้ไข้
  • แก้พิษร้อนใน
  • แก้ปวดตามข้อ
  • แก้ปวดศีรษะ
  • แก้ปวดท้อง
  • เป็นยาบำรุงกำลัง
  • ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับปราสาท และสมอง
  • ช่วยบำรุงร่างกาย
  • แก้ร้อนใน
  • ช่วยลดไข้
  • แก้น้ำดีพิการ
  • แก้อาการเบื่อเมา
  • แก้กระหาย
  • ช่วยป้องกันโรคปากนกกระจอก
  • ช่วยบรรเทาอาการปวดมดลูกของสตรี
  • แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • ใช้ช่วยย่อยอาหาร
  • ช่วยขับลมในลำไส้
  • แก้ท้องเสีย
  • ช่วยแก้พิษร้อน
  • แก้ร้อนใน
  • ช่วยสงบพิษไข้
  • แก้กระสับกระส่าย
  • แก้ปวดท้อง
  • แก้ปวดในข้อ
  • ช่วยกระตุ้นน้ำนมหลังคลอด
  • แก้ลิ้นเป็นฝ้า

           โดยทั่วไป การใช้ประโยชน์จากต้นผักหวานป่า คือ การนำยอดอ่อนมารับประทานเป็นผักจิ้มด้วยการลวก นึ่งให้สุก หรือ นำมาประกอบเป็นอาหารต่างๆ เช่น ผัด แกงเลียง แกงอ่อม แกงจืด แกงใส่ไข่มดแดง แกงใส่ชะอม ผัดใส่ไข หรือ ทอดกับไข่เจียว นอกจากนี้ในปัจจุบันยังพบว่ามีการนำใบผักหวานป่ามาพัฒนาเป็นชาสำเร็จรูปอีกด้วย โดยจะเก็บใบที่ยังไม่แก่ และอ่อนจนเกินไป หรือ ที่เรียกว่า ใบเพสลาด มาผลิตเป็นชาจากใบผักหวานป่า ซึ่งชาผักหวานป่าจะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว รสชาติปนหวานเล็กน้อย และมีคุณค่าทางด้านโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ

ผักหวาน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้ไข้ สงบพิษไข้ แก้พิษร้อนใน แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้กระสับกระส่าย แก้น้ำดีพิการ แก้อาการปวดมดลูกของสตรี แก้อาการปวดท้อง โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้ลดไข้ แก้อาการเบื่อเมา แก้ดีพิการ แก้ปวดมดลูก แก้ร้อนใน แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้กระหาย แก้ปากนกกระจอก โดยนำใบอ่อน และยอดอ่อนมาปรุงเป็นอาหารรับประทาน หรือ นำมาตากแห้งแล้วชงเป็นชาดื่มก็ได้
  • ใช้แก้ปวดข้อ โดยนำแก่นของต้นผักหวานป่ามาต้มน้ำดื่ม
  • ใช้เพิ่มน้ำนมหลังคลอดโดยนำเนื้อไม้มาต้มกับเนื้อไม้ต้นนมสาวแล้วนำมาดื่ม

ลักษณะทั่วไปของผักหวานป่า

ผักหวานป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ถึงขนาดกลางอายุหลายปี มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร ทรงพุ่มใหญ่ เปลือกต้นเรียบสีน้ำตาลอมเทา ส่วนกิ่งอ่อนเป็นสีเขียวเข้ม แต่เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเทาอมสีน้ำตาลอ่อนแตกกิ่งก้านมาก เนื้อไม้แข็ง ทั้งนี้ผักหวานป่า สามารถจำแนกออกได้เป็น 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ยอดเหลือง และพันธุ์ยอดเขียว ลักษณะโดยรวมของทั้งสองสายพันธุ์ไม่มีความแตกต่างกันเลยนอกจากสีของยอดอ่อนเท่านั้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับกันบริเวณปลายกิ่ง ใบมีลักษณะรูปไข่ค่อนข้างรี ถึงรูปไข่ กว้างประมาณ 2.5-5  และยาว 6-12 เซนติเมตร โคนใบสอบ ปลายใบแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบบาง ใบอ่อน หรือ ยอดอ่อนมีสีเขียวอ่อน หรือ สีเหลือง (แล้วแต่สายพันธุ์) ส่วนใบแก่มีสีเขียวเข้ม และเป็นมัน เนื้อใบค่อนข้างกรอบ และมีก้านใบสั้น ดอกออกเป็นช่อคล้ายช่อดอกมะม่วง หรือ ลำไย โดยจะออกบริเวณกิ่ง และลำต้น มีก้านช่อดอกยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร โดยในช่อดอกประกอบด้วยดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกย่อยมีลักษณะทรงกลม สีเขียวอ่อน โดยใน 1 ช่อดอกจะประกอบด้วยดอกย่อยตัวผู้ที่ไม่มีก้านดอก 3-5 ดอก และดอกย่อยตัวเมีย 3-4 ดอก โดยดอกตัวเมีย จะมีก้านดอกยาวประมาณ 3-8 มิลลิเมตร ผลเป็นผลเดี่ยวที่มีรูปไข่ ถึงค่อนข้างกลมอยู่ติดกันเป็นพวง ผลมีขนาดกว้าง 2.3-4 เซนติเมตร ยาว 1.5-2 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว และมีนวลเคลือบโดยรอบ ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองครีม หรือ เหลืองอมส้มเมื่อแก่ มีก้านผลยาว 3-5 มิลลิเมตร ส่วนเนื้อมีความฉ่ำน้ำ ด้านในมีเมล็ดเกี่ยว

ผักหวานป่า

ผักหวานป่า

การขยายพันธุ์ผักหวานป่า

การขยายพันธ์ผักหวานป่า สามารถทำได้โดยการปลูกจากต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ด การปักชำราก และการตอนกิ่ง แต่การขยายพันธุ์ผักหวานป่าที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบัน คือ วิธีการเพาะเมล็ด เนื่องจากวิธีการอื่นๆ เช่น การตอน การปักชำ มีเปอร์เซ็นต์การออกรากต่ำ และใช้เวลานาน รวมถึงจำนวนกิ่งที่ได้จะน้อย สำหรับการเพาะเมล็ดผักหวานป่า สามารถทำได้ดังนี้

           เริ่มจากเตรียมการเพาะเมล็ด ซึ่งควรเตรียมเป็นแปลงเพาะขนาดเล็ก กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร โดยใช้ทรายผสมกับปุ๋ยคอก อัตราส่วน 2:1 แล้ววางอิฐล้อมเป็นสี่เหลี่ยม แล้วนำทรายที่ผสมกับปุ๋ยคอกมาเกลี่ยใส่แปลงเพาะ สูงประมาณ 2-3 นิ้ว จากนั้นเตรียมวัสดุที่ใช้เพาะกล้า โดยควรเตรียมด้วยการนำดินมาผสมกับปุ๋ยคอก หรือ วัสดุอินทรีย์ อาทิ แกลบดำ และขุยมะพร้าว โดยใช้อัตราส่วนดินกับปุ๋ยคอก และวัสดุอื่นๆที่ 1:2:1 และหมักทิ้งไว้ 7 วัน จากนั้น บรรจุใส่ถุงเพาะขนาด 4×4 นิ้ว เพื่อเตรียมไว้สำหรับย้ายกล้าเพาะ แล้วจึงนำผลผักหวานป่าที่สุกจัด และสดใหม่มาแยกเนื้อหุ้มเมล็ดทิ้ง และขัดล้างเมล็ดให้สะอาด จากนั้นนำเมล็ดที่ขัดสะอาดแล้วแช่น้ำ แยกเมล็ดที่ลอยน้ำออกแล้ว นำเมล็ดที่จมน้ำขึ้นผึ่งพอสะเด็ดน้ำ คลุกด้วยยากันราให้ทั่ว นำขึ้นเกลี่ยในกระด้ง หรือ ตะแกรงให้เป็นชั้นหนาไม่เกิน 1 นิ้ว คลุมตะแกรงด้วยกระสอบป่าน ที่ชุบน้ำหมาดๆ เก็บไว้ในที่ร่ม 2-3 วัน และหมั่นตรวจดูเมล็ด ซึ่งถ้าเปลือกเมล็ดเริ่มแตกร้าว ให้นำไปเพาะในกระบะเพาะที่เตรียมไว้ โดยให้กดเมล็ดด้วยนิ้วมือจมเสมอผิวดิน หรือ โผล่พ้นผิวดินเพาะเล็กน้อย จากนั้นนำไปไว้ใต้ร่มเงาที่มีความเข้มข้นแสงประมาณ 40-50% หมั่นดูแลรดน้ำให้พอวัสดุเพาะชื้น ระวังอย่าให้แฉะในช่วงเดือนแรกผักหวานป่าจะมีการพัฒนาของระบบรากอย่างรวดเร็ว เมื่อเข้าเดือนที่สองจึงเริ่มทยอยแทงยอดขึ้นพ้นดินให้เห็นบ้างหลังจะเพาะได้ 2 เดือนครึ่ง ต้นผักหวานป่าจะสูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร แล้วจึงนำไปเพาะในถุงเพาะที่เตรียมไว้ จนอายุต้นกล้าได้ 3-4 เดือนจึงเตรียมเอาลงปลูกได้

           สำหรับการปลูกผักหวานป่าปลูกแซมกับไม้อื่น โดยควรไถพื้นที่ว่างในแปลงทิ้งไว้ก่อน 5-7 วัน พร้อมกำจัดวัชพืชออกให้หมด แล้วทำการขุดหลุมปลูกขนาดกว้าง และลึก ประมาณ 50 เซนติเมตร โดยเว้นระยะห่างระหว่างหลุม และแถวที่ 2×2 เมตร แล้วตากหลุมไว้ 5-7 วัน จากนั้น นำปุ๋ยคอกโรยก้นหลุม 3-5 กำมือ ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ปริมาณ 1 กำมือ พร้อมคลุกผสมให้เข้ากัน วิธีการปลูกให้ฉีกถุงเพาะออก แล้วนำต้นกล้าลงหลุม พร้อมกลบดินให้สูงเหนือพื้นประมาณ 5 เซนติเมตร แล้วรดน้ำให้ชุ่ม


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารออกฤทธิ์ในส่วนใบ และยอดของผักหวานป่า พบว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น α-carotene, β-carotene, β-cryptoxanthin, caffeine, coenzyme Q10, niacin และ riboflavin เป็นต้น นอกจากนี้ยอดอ่อนและใบของผักหวานป่ายังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการ ยอดอ่อนและใบอ่อนผักหวานป่า (100 กรัม)

           พลังงาน : 39 กิโลแคลอรี่, โปรตีน : 0.1 กรัม, ไขมัน : 0.6 กรัม, คาร์โบไฮเดรต : 8.3 กรัม, ใยอาหาร : 2.1 กรัม, แคลเซียม : 24 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส : 68 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 1.3 มิลลิกรัม, วิตามิน A : 792 หน่วยสากล, วิตามิน B1 : 0.12 มิลลิกรัม, วิตามิน B2 : 1.65 มิลลิกรัม, วิตามิน B3 : 3.6 มิลลิกรัม,  วิตามินซี : 168 มิลลิกรัม

โครงสร้างผักหวานป่า

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของผักหวานป่า

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ของสารออกฤทธิ์ในส่วนใบ และยอดอ่อนของผักหวานป่าระบุว่า

           มีการศึกษาวิจัยในใบอ่อน และยอดอ่อนของผักหวานป่า มีสารประกอบในกลุ่มฟีนอลิกสูง ซึ่งสารในกลุ่มดังกล่าว มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดี ซึ่งจะช่วยในการยับยั้ง และควบคุมสารอนุมูลอิสระไม่ให้ไปกระตุ้นการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน ซึ่งได้มีการศึกษาฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของผักหวานป่าจาก 3 จังหวัด คือ กาญจนบุรี สระบุรี และอุทัยธานี พบว่า ปริมาณสารประกอบฟีนอลิกของผักหวานป่าสระบุรีมีค่า 1506.95 มิลลิกรัม GAE/100 กรัม(แห้ง) อีกทั้งผักหวานป่าของสระบุรี และจังหวัดอุทัยธานี สามารถออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้สูงกว่าผักหวานป่าจากจังหวัดกาญจนบุรี และมีค่าการต้านอนุมูลอิสระเทียบเท่ากับ gallic acid ขนาด 2.80 μg/ml อีกด้วย

           นอกจากนี้ยังมีการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องดื่มสุขภาพจากผักหวานป่าในการต้านอนุมูลอิสระ เปรียบเทียบกับชาใบหม่อน ชาใบแปะก๊วย และชาดอกคำฝอย พบว่าความสามารถในด้านอนุมูลอิสระของชาผักหวานป่าสูงกว่าชาใบหม่อน และชาดอกคำฝอย ดังนี้

           ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ ปริมาณวิตามิน C และปริมาณฟินอลิกทั้งหมดของชาชนิดต่างๆ (ต่อน้ำหนักแห้งของชา 100 กรัม)

ชนิดของชา

ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ (IC50) %

ปริมาณวิตามินซี

(มก./100 ก.)

ปริมาณฟินอลิกทั้งหมด

(มก./100 มล.)

ชาผักหวานป่า

5.48

37.49

9.77

ชาใบหม่อน

12.88

22.87

5.55

ชาใบแปะก๊วย

0.98

46.88

44.00

ชาดอกคำฝอย

7.29

-

34.92

           หมายเหตุ ค่า IC50 ต่ำ แสดงว่ามีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระได้ดี

           อีกทั้งยังได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของน้ำชาผักหวานป่ากับน้ำชาเจียวกู่หลาน พบว่าชาผักหวานป่ามีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระใกล้เคียงกับชาเจียวกู่หลาน กว่า คือ ชาผักหวานป่า และชาเจียวกู่หลานมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันได้ 50 เปอร์เซ็นต์ (IC50) เท่ากับ 9.29 และ 9.18 เปอร์เซ็นต์ โดยปริมาณตามลำดับดังนี้

           ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ ปริมาณวิตามินซี และปริมาณฟินอลิกทั้งหมดของน้ำชาผักหวานป่า และน้ำชาเจียวกู่หลาน (ต่อน้ำหนักแห้งของชา 100 กรัม)

ชนิดของชา

ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ (IC50) %

ปริมาณวิตามินซี

(มก./100 ก.)

ปริมาณฟินอลิกทั้งหมด

(มก./100 มล.)

ชาผักหวานป่า

9.29

0.25

7.54

ชาเจียวกู่หลาน

9.16

0.10

7.95

การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของผักหวานป่า

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ข้อควรระวังในการเลือกซื้อและบริโภคผักหวานป่า มีดังนี้

           การรับประทานผักหวานป่าควรนำมาปรุงให้สุกก่อน เพราะการรับประทานแบบสดๆ ในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ โดยอาการที่พบ คือ เบื่อเมา อาเจียน และเป็นไข้ ส่วนการเลือกซื้อ หรือ การเลือกเก็บผักหวานป่านั้น ก็ควรระมัดระวังเช่นกันโดย มีพืชอีกชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Urobotrya siamensis Hiepko คนลําปางเรียก แกก้อง หรือ นางแย้ม ชาวเชียงใหม่เรียก นางจุม จันทบุรีเรียก ผักหวานเขา กาญจนบุ และชลบุรีเรียก ผักหวานดง สระบุรีเรียก ผักหวานเมา หรือ ช้า ผักหวาน ภาคอีสานเรียก เสน หรือ เสม ส่วนทางประจวบคีรีขันธ์เรียกว่า ดีหมี ซึ่งมียอดอ่อนลักษณะเหมือนยอดอ่อนของผักหวานป่ามาก จนมีการเก็บผิดอยู่เสมอ และเมื่อบริโภคกินเข้าไปจะเกิดอาการ คลื่นเหียนอาเจียน คอแห้ง อ่อนเพลีย มึนงง และหมดสติ หากร่างกายอ่อนแอก็อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

เอกสารอ้างอิง ผักหวานป่า
  1. เดชา ศิริภัทร. ผักหวานป่า. สุดยอดผักของไทย และเอเชียอาคเนย์. คอลัมน์ พืช-ผัก-ผลไม้. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 243. กรกฎาคม 2542
  2. ขวัญฤทัย คำฝาเชื้อ 2551 พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง ที่ตำบลบ้านจันทร์ และแจ่มหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 271 หน้า
  3. มนตรี แก้วดวง. ชาผักหวานป่า.วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยปีที่ 22. ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2550. หน้า 51-54
  4. ดวงพร เปรมจิต. การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์สารเมตายอไลท์ทุติยภูมิจากผักหวานป่า. การเพิ่มจำนวนต้นผักหวานป่าโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ. รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์. สถานีวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตรคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร.สิงหาคม 2560. 29 หน้า
  5. เกษม พิลึก.ผักหวานป่า. เอกสารเผยแพร่โครงการวิจัย การอนุรักษ์และปลูกเลี้ยงผักพื้นบ้าน. สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 10 หน้า
  6. ผักหวานป่า สรรพคุณ และการปลูกผักหวานป่า.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จากhttp://www.puechkaset.com
  7. Pierre, Jean Baptiste Louis. 1888. Bulletin Mensuel de la Société Linnéenne de Paris 1: 762-763