สมอดีงู ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
สมอดีงู งานวิจัยและสรรพคุณ 15 ข้อ
ชื่อสมุนไพร สมอดีงู
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สมอเหลี่ยม, สมอหมึก (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Terminalia citrina Roxb.ex Fleming
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Terminalia manii king, Myrobalanus citrina Gaertn.
ชื่อสามัญ Yellow myrobalan
วงศ์ COMBRETACEAE
ถิ่นกำเนิดสมอดีงู
สมอดีงู จัดเป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดในบริเวณภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดกระจายเป็นบริเวณกว้างตั้งแต่ อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล พม่า เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ไปจนถึงอินโดนีเซีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้บริเวณชายป่าตามฝั่งทะเล ทางภาคใต้ เป็นจำนวนมาก
ประโยชน์และสรรพคุณสมอดีงู
- แก้พิษโลหิต
- แก้พิษดี
- ช่วยขับโลหิตระดูสตรี
- ถ่ายพิษไข้
- แก้พิษเสมหะและโลหิต
- แก้ไอ
- แก้ลม
- แก้เจ็บคอ
- ช่วยถ่ายอุจจาระธาตุ
- รักษาโรคท้องร่วงอย่างแรง
- ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับช่องท้อง
- ใช้รักษาโรคตะคริว
- บำรุงโลหิต
- บำรุงร่างกาย
- ช่วยแก้อาการท้องผูกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ
สมอดีงู ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการฟอกหนังเนื่องจากพบสารแทนนินในผลมาก นอกจากนี้ยังมีการนำผลมาใช้ทำการย้อมสีอีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้แก้โลหิตเป็นพิษ แก้พิษดี พิษเสมหะและโลหิต แก้ไข้ แก้อาการไอ แก้เจ็บคอ แก้ลม ขับระดูในสตรี ถ่ายอุจจาระธาตุ
- ใช้เป็นยาฝาดสมาน ใช้เป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับช่องท้อง รักษาโรคท้องร่วงอย่างแรง โดยใช้ผลสมอดีงู ดิบ 5-10 ผล นำมาทุบให้พอแตก ต้มกับน้ำ 500 มิลลิลิตร แล้วกรองเอาแต่น้ำดื่มครั้งละ 1 แก้ว
อีกทั้งยังมีการนำเนื้อผลสมอดีงูมาเข้าตำรับยา ตำรับยาบำรุงโลหิต ตามคู่มือการใช้ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลัก พ.ศ.2555 ที่มีสรรพคุณบำรุงโลหิต บำรุงร่างกาย ซึ่งในผงยา 75 กรัม จะประกอบด้วยแก่นฝาง และดอกคำไทย หนักสิ่งละ 10 กรัม ครั่ง หนัก 4 กรัม เหง้าขิง แห้ง ดอกดีปลี รากเจตมูลเพลิงแดง รากช้าพลู เถาสะค้าน เถาขมิ้นเครือ เถามวกแดง แก่นกำลังวัวเถลิง ดอกสารภี ดอกพิกุล ดอกบุนนาค เกสรบัวหลวง หนักสิ่งละ 2 กรัม ดอกจันทน์ ลูกจันทน์ ลูกกระวาน ดอกกานพลู เทียนดำ เทียนขาว เทียนแดง เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน โกฐสอ โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐหัวบัว โกศจุฬาลัมพา หนักสิ่งละ 1 กรัม เนื้อลูกสมอไทย เนื้อลูกสมอดีงู เนื้อลูกสมอพิเภก เปลือกอบเชยเทศ เปลือกชะลูด แก่นแสมสาร แก่นจันทน์แดง แก่นแสมทะเล กฤษณา หนักสิ่งละ 1 กรัม
ลักษณะทั่วไปของสมอดีงู
สมอดีงู จัดเป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลาง สูง 20-30 เมตร มักจะแตกกิ่งก้านสาขาแผ่กว้างบริเวณเรือนยอดของต้นที่เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลแกมเทา ส่วนบริเวณ โคนต้นเป็นพูพอนขนาดเล็ก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ใบมีลักษณะรูปมนรีแกมขอบขนาน โคนใบสอบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนา ผิวใบเกลี้ยงเป็นสีเขียว ก้านใบยาวได้ประมาณ 0.5-2.5 เซนติเมตร ขนาดกว้างของใบประมาณ 2-6 เซนติเมตร และยาว 3-14 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อบริเวณง่ามใบและส่วนยอดของลำต้น โดยช่อดอกมีความยาว 2-6 เซนติเมตร ส่วนดอกย่อยมีลักษณะเชื่อมติดกันเป็นหลอดบริเวณโคนดอก ซึ่งจะเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ส่วนปลายแยกเป็นกลีบรูปสามเหลี่ยม 5 กลีบ ด้านในมีขนแน่น และมีเกสร 10 อัน ผลเป็นผลสดรูปกลมรี หรือ เป็นรูปกระสวย กว้าง 1-2 เซนติเมตร และยาว 2-3 เซนติเมตร ผิวผลเกลี้ยง มีสันตื้นๆ 5 สัน หัวท้ายแหลม ผลสดเป็นสีเขียวเข้ม มีรสขมฝาดเมื่อสุกมีสีม่วง ส่วนผลแห้งจะเป็นสีดำเข้ม ด้านในผลมีเมล็ด 1 เมล็ดเป็นรูปรี ผิวเมล็ดขรุขระมีสัน 5 สัน
การขยายพันธุ์สมอดีงู
สมอดีงู สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด โดยมีวิธีการดังนี้ เริ่มจากเก็บผลแก่มาแช่น้ำ 2-3 วัน แล้วนำมาล้างเอาเมือกเนื้อเยื่อออกให้เหลือแต่เมล็ด แล้วนำเมล็ดไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นจึงนำไปเพาะในกระบะเพาะชำประมาณ 30-45 วัน เมล็ดจะเริ่มงอกแล้ว จึงแยกใส่ถุงเพาะชำถุงละ 1 ต้น หลังจากนั้นประมาณ 6-12 เดือน จึงสามารถนำลงปลูกได้ สำหรับการปลูกเริ่มจากการขุดหลุมกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร และลึก 50 เซนติเมตร จากนั้นรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมักคลุกเคล้ากับดินก้นหลุม แล้วจึงนำต้นกล้าลงปลูกกลบดินปักไม้ผูกเชือกรดน้ำให้ชุ่มชื้น ทั้งนี้ควรปลูกห่างกัน 4-5 เมตรขึ้นไป
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดสมอดีงู จากใบผลและเมล็ด ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น casuarinin, chebulanin, chebulinic acid, 1,6-bis-O-galloyl-beta-D-glucose, neochebulagic acid, ellagic acid และ urolithin M5 เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสมอดีงู
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของสมอดีงู ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการ อาทิเช่น
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการทดสอบสารสกัดจากสมอดีงู โดยสกัดด้วยเมทานอลและนำมาแยกส่วนได้สารสกัดคลอโรฟอร์ม เอทิลอะซิเตท บิวทานอล และส่วน aqueous ที่เหลือ สมอดีงูอีกส่วนนำมาสกัดด้วยน้ำ รวมเป็นสารสกัด 6 ชนิด และทดสอบสาร casuarinin, chebulanin, chebulinic acid, 1,6-di-O-galloyl-beta-D-glucose พบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยตรวจสอบฤทธิ์จับอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ anti-superoxide formation และ antilipid peroxidation ซึ่งสารแต่ละชนิดจะออกฤทธิ์ต่างๆ ไม่เท่ากัน เช่น chebulinic acid มีฤทธิ์จับอนุมูลอิสระมากกว่าฤทธิ์อื่น เป็นต้น
ส่วนสารสกัดจากใบของสมอดีงูมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ชปด S.aureus, β-strepto coccus group A และ Ps.areuginosa โดยมีค่า ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยของบริเวณที่เชื้อไม่เจริญ (มิลลิเมตร)=20.4 , 20.5 และ 20.7 ตามลำดับ เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสมอดีงู
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้สมอดีงู เป็นสมุนไพรโดยเฉพาะในรูปแบบการรับประทานเนื่องจากมีสรรพคุณ ขับโลหิตระดูในสตรี ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ ส่วนบุคคลทั่วไปก็ควรระมัดระวังในการใช้สมอดีงูเป็นสมุนไพร เช่นกัน โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาที่นานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง สมอดีงู
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “สมอดีงู”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 752-753.
- สายสนม กิตติขจร (2526) ตำราสรรพคุณ สมุนไพรยาไทยแผนโบราณ โรงพิมพ์อักษรไทย กรุงเทพมหานคร
- สมอดีงู. คู่มือกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสมุนไพร เพื่อใช้ในทางเภสัชกรรมไทย เล่ม 1. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. กันยายน 2558. หน้า 199-201
- เสงี่ยม พงษ์บุญ รอด (2493) ไม้เทค, เมืองไทย สรรพคุณ ของยาเทศและยาไทย 647-653, กรุงเทพมหานคร
- ตรีรัตน์ ลออปักษา ,สุรัตนา อำนวยผล, วิเชียร จงบุญประเสริฐ, การศึกษาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ด้านแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ (ตอนที่1). ปฐมนิพนธ์.ไทยเภสัชสาร ปีที่ 13. ฉบับที่ 1 2531. 36 หน้า
- สมพร หิรัญรามเดช (2527) การสำรวจการใข้สมุนไพรของแพทย์แผนโบราณ พิฆเณค, กรุงเทพมหานคร.
- ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสมอดีงู ,ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
- สมอดีงู,ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์), เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=131