สารสกัดจากเปลือกมังคุด
สารสกัดจากเปลือกมังคุด
ชื่อสามัญ Mangosteen extract
Garcinone
gamma mangostin beta mangostin
ประเภทและข้อแตกต่าง
เปลือกผลมังคุดมีสารเคมีที่เป็นประโยชน์ พบอยู่ในเปลือกผลอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสารในกลุ่มแซนโธนที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการเมื่อทดสอบในห้องปฏิบัติการ โดยสารกลุ่มแซนโทน เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่พบในพืชวงศ์ต่างๆ เช่น Clusiaceae (Guttiferae), Gentianaceae, Moraceae และ Polygalaceae ซึ่งจะมีลักษณะเป็นผลึกของแข็งสีเหลือง มีโครงสร้างเป็นวง (phenolic) มีสูตรทางเคมี คือ C13 H8 O2 มีน้ำหนักโมเลกุล 196.201g/mol ทั้งนี้ประเภทของแซนโทน หรือ อนุพันธุ์ของแซนโทน ที่พบซึ่งพบในเปลือกมังคุด (pericarp) เปลือกหุ้มเมล็ดมังคุด (aril) และเปลือกต้นมังคุด (stem bark) นั้นสามารถแบ่งออกได้ หลายชนิด เช่น mangostin, Calabaxanthone, tovophillin B, mangos tannin, gartamin, garvinone B, manyostcnol, trapezifa, liranthane ฯลฯ ซึ่งแต่ละชนิดนั้นก็ต่างมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ และมีการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ในปัจจุบันอย่างแพร่หลาย
gartanin
แหล่งที่พบและแหล่งที่มา
สารแซนโทน (xanthone) ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในมังคุดนั้นสามารถพบได้มากในเปลือกผลของมังคุด เปลือกต้นของมังคุด รวมถึงเปลือกหุ้มเมล็ดของมังคุด แต่ที่พบปริมาณมากที่สุด คือ เปลือกผลของมังคุด ดังนั้นจึงนิยมเรียกกันว่าสารสกัดจากเปลือกมังคุด โดยได้มีการศึกษาองค์ประกอบของเปลือกในของมังคุด (pericarp) และเปลือกหุ้มเมล็ดมังคุด (aril) โดยสกัดด้วยเบนซีน (benzene) จากการศึกษาพบอนุพันธุ์ของแซนโทน 8 ชนิด ที่ได้จากการสกัดเปลือกในของมังคุด ได้แก่ mangostin, β- mangostin, γ-mangostin และ gartanin และ จากการศึกษาต่อมาพบสารอื่นๆ อีกเช่น 1-isomangostin, 1-isomangostin hydrate, 3-isomangostin และ 3-isomangostin hydrate และพบอนุพันธุ์ของแซนโทน 5 ชนิด ที่ได้จากการสกัดเปลือกหุ้มเมล็ดมังคุด คือ mangostin, calabaxanthone, demethylcalabaxanthone, 2, 8-bis-(γ,γ-dimethylallyl)-1, 3, 7-trihydroxyxanthone และ 2- (γ,γ-dimethylallyl)-1,7-dihydroxy-3-methoxyxanthone เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารต่างๆ ดังกล่าว จึงทำให้ปัจจุบันมีการสกัดสารสำคัญในเปลือกมังคุดมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในรูปของสารสกัดจากเปลือกมังคุด
ปริมาณที่ควรได้รับ
สำหรับขนาดและปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวันของสารสกัดจากเปลือกมังคุด นั้น ในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์การใช้อย่างชัดเจนดังนั้นในการใช้ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ แต่ทั้งนี้ตามบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2556 ปรากฎมีบัญชียาจากสมุนไพร ชื่อว่า ยาเปลือกมังคุด ซึ่งมีลักษณะเป็นขี้ผึ้งมีตัวยาสำคัญ คือ สารสกัดเมทัลแอลกอฮอลล์ (95%) ของเปลือกมังคุดแห้งร้อยละ 10 ต่อน้ำหนักปริมาตร (W/V) ใช้สำหรับทาแผลสด และแผลเรื้อรัง โดยมีขนาดและวิธีใช้ คือใช้ทาบริเวณที่เป็นแผล วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
ประโยชน์และโทษ
สารในกลุ่มแซนโทน ที่อยู่ในเปลือกมังคุดนั้น มีการนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ มากมายมาตั้งแต่อดีตแล้ว โดยเริ่มแรกในปี ค.ศ.1939 นำมาใช้ในภาคการเกษตรเป็นลำดับแรก โดยนำมาใช้เป็นยาฆ่าแมลง และในปัจจุบันในภาคการเกษตรก็ยังใช้เป็นยาฆ่าไข่และตัวอ่อนของแมลงอยู่ส่วนในด้านการแพทย์ หรือการนำมาใช้เป็นสมุนไพรนั้น ในประเทศไทยได้มีการนําเปลือกผลมังคุดมาใช้รักษาโรคตามภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น การรักษาอาการท้องเสีย (diarrhea) การติดเชื้อบริเวณผิวหนัง และ ใช้รักษาบาดแผล เป็นต้น ได้มีการศึกษาในเชิงลึกพบว่า เปลือกผลมังคุดประกอบด้วยสารองค์ประกอบทุติยภูมิหลายประเภท
ส่วนในปัจจุบันพบว่า สารประกอบแซนโทนหลายสารมีสมบัติในการต่อต้านหรือยับยั้งในระดับที่ดี เช่น ต้านเซลล์มะเร็ง (anticancer) ต้านเชื้อแบคทีเรีย (antibacterial) ต่อต้านอาการภูมิแพ้ (antiallergy) มีสมบัติในการต้านการอักเสบ (antiinflammatory) ต้านการเจริญของจุลินทรีย์ (antimicrobial) มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย (antimalarial) และต้านออกซิเดชัน (antioxidant) เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันยังมีการพัฒนาน้ำคั้นเนื้อมังคุดผสมเปลือกมังคุด โดยเน้นประโยชน์เรื่องการต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ ยังมีการนำสารสกัดจากเปลือกมังคุด มาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระต้านการอักเสบและต้านเชื้อแบคทีเรีย Propionibacterium acnes และ Staphylococcus epidermidis ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิว โดยนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและผลิตภัณฑ์รักษาสิว หรือ นำมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ลดกลิ่นปาก เจลและเพสต์สำหรับป้ายปาก เพื่อใช้รักษาโรคปริทันต์และแผลในปาก เนื่องจากมีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคในช่องปาก และยังมีการทดลองนำครีมผสมสารสกัดเปลือกมังคุดไปรักษาแผลที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งพบว่าได้ผลดีอีกด้วย
การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง
มีผลการศึกษาวิจัยของสารสกัดจากเปลือกมังคุดเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ หลายฉบับดังนี้
ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง มีการศึกษาฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งของสารสำคัญต่างๆ ที่แยกได้จากสารสกัดคลอโรฟอร์มจากเปลือกมังคุด (Garcinia mangostana L.) โดยทำการทดสอบกับเซลล์มะเร็งเต้านมชนิด MCF-7 เซลล์มะเร็งลำไส้ชนิด HCT-116 และเซลล์มะเร็งตับชนิด HepG2 พบว่ามีเพียงสาร garcinone E ที่แสดงฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวและทำให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งทุกชนิดอย่างชัดเจน (ค่า IC50 อยู่ในช่วง 15.8 - 16.7 ไมโครโมลาร์) ในขณะที่สาร mangostanaxanthone IV, β-mangostin, และ α-mangostin ทำให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งทุกชนิดในระดับอ่อนถึงปานกลาง (ค่า IC50 อยู่ในช่วง 45.7-116.4 ไมโครโมลาร์) เมื่อทำการศึกษากลไกการออกฤทธิ์ในเซลล์ HepG2 และ HCT116 พบว่าสาร garcinone E ทำให้วัฏจักรของเซลล์หยุดที่ระยะ G0/G1 และทำให้เซลล์ทั้ง 2 ชนิด เกิดการตายแบบ apoptosis และ necrosis ในขณะที่สาร mangostanaxanthone IV ทำให้เกิดการตายแบบ apoptosis และ necrosis เฉพาะกับเซลล์ HCT116 เท่านั้น ส่วนสาร α-mangostin ทำให้เกิดการตายแบบ apoptosis และ necrosis กับเซลล์ HepG2 และทำให้เกิดการตายแบบ necrosis ในระดับปานกลางกับเซลล์ HCT116 จากผลการทดลองดังกล่าวทำให้สามารถสรุปได้ว่าสารสำคัญต่างๆ ที่แยกได้จากสารสกัดคลอโรฟอร์มจากเปลือกมังคุด มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งได้หลายชนิด
ฤทธิ์การต้านสารอนุมูลอิสระมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่นจากสารประกอบกลุ่ม phenolic compound ในเปลือกมังคุด โดยสกัดด้วยสารละลาย 70% MeOH และทำการ partition แยกชั้นในส่วน n-BuOH โดยสารประกอบหลักในกลุ่ม phenolic 3 ชนิด มีส่วนสำคัญในการต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่นและถูกทำให้บริสุทธิ์โดย silica gel column chromatography และ sephadex LH-20 และระบุแต่ละส่วนเป็น P1 (1,3,6,7- tetrahydroxy-2,8-(3-methyl-2-butenyl)), P2 [1,3,6-trihydroxy-7-methoxy-2,8-(3-methyl2-butenyl) xanthone] และ P3 (epicatechin) โดยใช้เครื่อง UV–visible spectrophotometry, IR spectrophotometry และ NMR spectroscopy ตามลำดับ ซึ่งฤทธิ์ในการต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของสารประกอบทั้ง 3 ชนิด ใช้การประเมินผลโดยวิธีแตกต่างกัน ประกอบด้วยวิธี freeradical scavenging capability และ total antioxidant activity in a linoleic acid peroxidation ซึ่งสารประกอบทั้ง 3 มีฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาที่แตกต่างกันในแต่ละการทดสอบ ซึ่งจากการทดสอบโดยวิธี 1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl (DPPH) radical scavenging capabilities ซึ่งวัดประสิทธิภาพในการต้านปฏิกิริยา linoleic acid peroxidation ของ P1 มากกว่า P2 และ P3 แต่ประสิทธิภาพ superoxide anion radical scavenging activity ของ P3 มากกว่า P1 แต่ใกล้เคียงกับ P2 หรือ αtocopherol ซึ่งกระบวนการแยกและทำให้บริสุทธิ์โดยใช้ activity ยืนยันถึงองค์ประกอบที่แสดงถึงความสามารถในการกำจัดอนุมูลอิสระโดยวิธี DPPH (DPPH radical scavenging activity) ของเปลือกมังคุดได้เป็นอย่างดี
ฤทธิ์ต้านอักเสบ จากการศึกษาสารสกัดเอทานอล 100% 70% 40% และสกัดด้วยน้ำจากเปลือกผลมังคุดใน C6rat glioma cells พบว่าสารสกัด 40% เอทานอลมีฤทธิ์แรงที่สุดในการยับยั้งการสังเคราะห์ พรอสตาแกลนดิน อี2 และสารกสัดนี้ยังยับยั้งปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่ผิวหนังในหนูขาวด้วย ซึ่งสารแกรมมา-แมงโกสติน ยับยั้งการสังเคราะห์พรอสตาแกลนดิน อี2 โดยยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase ทั้ง COX-1 และ COX-2 ใน C6 rat glioma cells เช่นเดียวกัน
ฤทธิ์ปกป้องระบบประสาท การศึกษาฤทธิ์ของสารอนุพันธ์แซนโทน (xanthone derivative) ในสารสกัดน้ำจากเปลือกมังคุด พบว่าสารสกัดมีสารประกอบกลุ่มฟีนอลปริมาณสูง และเมื่อทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธีต่างๆ ได้แก่ hydroxyl radical scavenging, superoxide radical scavenging, hydrogen peroxide radical scavenging และ nitric oxide radical scavenging ให้ค่า IC50 เท่ากับ 0.48 ± 0.08, 1.88 ± 0.09, 2.20 ± 0.03, และ 0.98 ± 0.40 มก./มล. ตามลำดับ นอกจากนี้ เมื่อทำการศึกษาผลของสารสกัดจากเปลือกมังคุดในการปกป้องประสาทที่มีการเหนี่ยวนำให้เอนไซม์ Acetylcholinesterase (AChE) ทำงานผิดปกติ และเกิดความบกพร่องด้านความจำในหนูไมส์ โดยแบ่งหนูออกเป็น 7 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1 เป็นกลุ่มควบคุม กลุ่ม 2 ให้ 1 % ตะกั่วในน้ำ กลุ่ม 3 ให้สารสกัดแซนโทน 200 มก./กก.นน.ตัว กลุ่ม 4 ให้ตะกั่วและสารสกัดแซนโทน 100 มก./กก.นน.ตัว กลุ่ม 5 ให้ตะกั่วและสารสกัดแซนโทน 200 มก./กก.นน.ตัว กลุ่ม 6 ให้ตะกั่วและวิตามินอี 100 มก./กก.นน.ตัว และกลุ่ม 7 ให้วิตามินอี โดยให้สารต่างๆ เป็นเวลา 38 วัน พบว่าสารสกัดแซนโทนมีฤทธิ์ทำให้การทำงานของ AChE ดีขึ้น และช่วยป้องกันความเป็นพิษของตะกั่วที่ชักนำให้หนูมีพฤติกรรมด้านความจำและการเรียนรู้ลดลง โดยพบว่าค่า immobility time จากการทดสอบด้วย Forced swimming test และ ค่า latency time จากการทดสอบด้วย Morris water maze swimming test ลดลงในหนูที่ให้สารแซนโทน ผลการทดสอบสรุปว่า อนุพันธ์แซนโทนจากสารสกัดน้ำเปลือกมังคุดมีฤทธิ์ปกป้องระบบประสาท จากฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ปรับการทำงานของ AChE และลดพฤติกรรมการเรียนรู้และความจำที่เสียหายที่เกิดจากความเป็นพิษจากสารตะกั่ว
ฤทธิ์บรรเทาอาการแพ้ จากการศึกษาฤทธิ์ antiallergic ของสารสกัดจากเปลือกผลมังคุด พบว่าอัลฟา-แมงโกสดิน และแกมมา-แมงโกสดิน ยับยั้งการหดตัวของหลอดเลือดแดงของกระต่ายซึ่งถูกกระตุ้นด้วยฮีสตามีน และเซโรโดนิน โดยอัลฟา-แมงโกสดิน แสดงฤทธิ์ต้านฮีสตามีน และแกมมา-แมงโกสดิน แสดงฤทธิ์ต้านเซโรโดนิน โดยปกติร่างกายจะหลั่งฮีสตามีน และเซโรโดนินเมื่อได้รับสิ่งแปลกปลอม จะกระตุ้นแมสเซลล์ และเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดเบโซฟิล หลั่งสารทำให้กล้ามเนื้อเรียบที่หลอดลมหดตัวมีอาการบวมในโพรงจมูก มีน้ำมูกหลั่งมากขึ้น ซึ่งพบในขณะเกิดอาการแพ้
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีการศึกษาฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียของสาร α-mangostin ซึ่งเป็นสาร สำคัญที่อยู่ในเปลือกผลมังคุด Garcinia mangostana โดยสามารถออกฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย vancomycin resistant Enterococci (VRE) และ methicillin resistant Staphylococcus aureus (MRSA) โดยมีค่า MIC เป็น 6.25 ถึง 12.5 µg/ml ตามลำดับโดยการศึกษานี้ยังแสดงถึงผลการเสริมฤทธิ์กันระหว่างสาร α-mangostin กับ Gentamycin ในการต้านเชื้อ VRE และสาร α-mangostin กับ Vancomycin hydrochloride ในการต้านเชื้อ MRSA และในการศึกษาเพิ่มเติมพบว่าการเสริมฤทธิ์ระหว่าง α-mangostin กับยาปฏิชีวนะที่มีขายทั่วไปเช่น ampicillin และ minocycline เป็นแบบ partial synergism โดยสรุปแล้วการศึกษานี้พบว่าการใช้ α-mangostin เดี่ยวๆ หรือการใช้ร่วมกับ Gentamycin ในการต้านเชื้อ VRE และใช้ร่วมกับ Vancomycin ในการต้านเชื้อ MRSA มีประสิทธิภาพในการควบคุมการติดเชื้อ VRE และ MRSA ได้เป็นอย่างดี
ต้านเชื้อไวรัส สารสกัดเอทานอลจากเปลือกมังคุด มีฤทธิ์ต่อวงจรชีวิตของเชื้อเอชไอวี โดยยับยั้งเอนไซม์เอชไอวี-1 โปรดีเอส (HIV-1 protease) พบว่าแมงโกสดิน และแกมมา-แมงโกสดินแสดงฤทธิ์ยับยั้งเชื้อได้ 50% (IC50) 5.12±0.41 ไมโครโมล และ 4.80±0.32 ไมโครโมล ตามลำดับ ส่วนสารสกัดเมทานอล และสารสกัดน้ำจากเปลือกผลมังคุดมี IC50 50 และ 100 มคก./มล.ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยพิษเรื้อรังของสารสกัดจากเปลือกมังคุด พบว่า เมื่อป้อนสารสกัดทางปากแก่หนูแรทพันธุ์วิสตาร์จำนวน 180 ตัว โดยแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มๆ ละ 30 ตัว (เพศละ 15 ตัว) ดังนี้กลุ่มที่ 1 กลุ่มควบคุมได้รับน้ำกลั่น กลุ่มที่ 2 ถึง 6 เป็นกลุ่มทดลอง ที่ได้รับสารสกัดเปลือกมังคุดขนาด 10, 100, 500,1000 และ 1000 มก./กก./วัน เป็นเวลา 6 เดือน ตามลำดับ โดยกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มศึกษาผลย้อนกลับ (satellite group) ซึ่งภายหลังหยุดให้สารสกัดเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่า สารสกัดเปลือกมังคุดขนาด 1000 มก./กก./วัน ทำให้หนูเพศผู้ และเพศเมีย มีน้ำหนักตัวต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสําคัญ (p<0.05) และสารสกัดทุกขนาดไม่มีผลต่อพฤติกรรม สุขภาพ รวมทั้งไม่ทำให้หนูมีอาการแสดงออกและค่าทางโลหิตวิทยาผิดปกติแต่อย่างใด และในการตรวจค่าทางเคมีคลินิก พบว่า หนูเพศผู้ที่ได้รับสารสกัดตั้งแต่ 500 มก./กก./วันขึ้นไป มีค่าเอนไซม์ ALT สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสําคัญ (p<0.05) หนูเพศผู้และเพศเมียที่ได้รับสารสกัดขนาด 1000 มก./กก./วัน มีเอนไซม์ AST สูงขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ (p<0.05) แต่มีระดับกลูโคสลดลงอย่างมีนัยสําคัญ (p<0.05) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม หนูเพศผู้ที่ได้รับสารสกัดขนาด 1000 มก./กก./วัน และกลุ่ม satellite มีค่า BUN สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสําคัญ (p<0.05) ส่วนหนูเพศเมียกลุ่มที่ได้รับสารสกัดตั้งแต่ 500 มก./กก./วัน ขึ้นไปมีค่า BUN และ creatinine สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสําคัญ (p<0.05) ผลทางจุลพยาธิวิทยาของอวัยวะภายใน ไม่พบรอยโรคใดๆ ที่เกิดจากสารสกัดเปลือกมังคุด ยกเว้นหนูกลุ่ม satellite พบรอยโรคการเสื่อมแบบมีน้ำในเซลล์ตับสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสําคัญ (p<0.05) ซึ่งอาจเกิดจากสารสกัดเปลือกมังคุดขนาดสูงสุด การศึกษาครั้งนี้สรุปได้ว่า สารสกัดเปลือกมังคุดขนาดสูงมีผลต่อตับและไต
ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ
สำหรับการนำสารสกัดจากเปลือกมังคุด มารับประทานควรระมัดระวังความเป็นพิษ เพราะมีการศึกษาความเป็นพิษเรื้อรังพบว่า การใช้ต่อเนื่องกันในขนาดที่สูง ทำให้มีผลต่อตับ และไตในสัตว์ทดลอง อีกทั้งปริมาณในการรับประทานก็ยังไม่ทราบขนาดใช้ที่เหมาะสม ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนการรับประทานสารสกัดจากเปลือกมังคุด
เอกสารอ้างอิง สารสกัดเปลือกมังคุด
- อโนชา อุทัยพัฒน์.คุณประโยชน์ราชินีผลไม้.มังคุด.จุลสารข้อมูลสมุนไพร ปีที่ 24.ฉบับที่ 4 กรกฎาคม 2550.หน้า 4-11
- ธิดารัตน์ จันทร์ดอน.มังคุด...ราชินีแห่งผลไม้.บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ทรงพล ธีวะพัฒน,ปราณี ชวลิตธำรง,ประไพ วงศ์สิงคงมั่น.ชฎา พิศาลพงศ์,อนุเทพ รังสีพิพัฒน์.การศึกษาพิษเรื้อรังของสารสกัดเปลือกมังคุด,เวชสารสัตวแพทย์ปีที่ 41.ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2544.หน้า 45-53
- พินิติ รตะนานุกูล และคณะ. การศึกษาสารสกัดจากมังคุดในการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์. การสัมมนา เรื่อง การเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านสมุนไพรสู่ระดับอุตสาหกรรม ครั้งที่ 2. วันที่ 19-20 มีนาคม 2552; โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น. กรุงเทพฯ.
- ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งชนิดต่างๆ ของสาระสำคัญจากเปลือกมังคุด.ข่าวความเคลื่อนไหว.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยลัยมหิดล.
- อัษฎาวุธ หิรัญรัตน์,ปรีดานันท์ วงศ์สวัสดิ์,วรรณฤดี หิรัญรัตน์,พนิตา สุมานะตะกูล.การศึกษาฤทธิ์ต้านออกซิเดชันของน้ำส้มควันไม้ รากผลมังคุด.วารสารมหาวิทยาลัยทักษิณ ปีที่ 16.ฉบับที่ 3 (ฉบับพิเศษ) 2556.หน้า 120-130
- สมนึก อู่อรุณ.การแยกสารสกัดจากเปลือกมังคุด เพื่อใช้ในการยับยั้งเชื้อ Propionibacteriura acnes .ปัญหาพิเศษปริญญาตรี สายวิชาวิทยาศาสตร์ คณะศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.2550. 40 หน้า
- ฤทธิ์ปกป้องระบบประสาทของมังคุด.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์.มหาวิทยาลัยมหิดล.
- กุสุมา กำจร. การเปรียบเทียบการหายของแผลที่เท้า ระหว่างการทำแผลด้วยครีมเปลือกมังคุดกับการทำแผลเปียกด้วยน้ำเกลือนอร์มัลในผู้ป่วยเบาหวาน. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2546.
- Huang, Y.L., Chen, C.C., Chen, Y.J., Huang, R.L. and Shith, B.J. (2001). Three Xanthones and a Benzophenone from Garcinia mangostana. Journal of Natural Products. 64 (7), 903–906.
- Kusumoto IT,Kakiuchi N, Hattori M,Namba T, Sutardjo S, Shimotohno K. Screening of some lndonesian medicinal plants for inhibitory effects on HIV-1 protease. Shoyakugaku Zasshi 1992;46(2):190-3.
- Mahabusarakam, W., Wiriyachitra,P. and Phongpaichit, S. (1986). J. Sci. Soc. Thailand, 12, 239–242
- Chomnawang MT, Surassmo S, Nukoolkarn V, Gritsanapan W. Antimicrobial effects of Thai medicinal plants against acne-inducing bacteria. J Ethnopharmacol. 2005; 101(1-3): 330-333.
- Chin, Y.W., Jung, H.A., Chai, H., Keller, W.J. and Kinghorn, A.D. (2008). Xanthones with quinone reductaseinducing activity from the fruits of Garcinia mangostana (Mangosteen). Phytochemistry. 69 (3), 754–758.
- Nakatani K. Atsumi M,Arakawa T, Oosawa K, Shimura S,Nakahata N,Chizumi Y.Inhibltions of histamine release and prostaglandin E2 Synthesis by mangosteen a Thai medicinal plant Biol Pharm Bull 2002 (a):25:1137-41
- Pierce, S.C. (2003). A Thai Herbal, Findhorn Press, Scotland, UK
- Mahabusarakam, W., P. Wiriyachitra and W.C. Taylor, 1987. Chemical constituents of Garcinia mangostana. Journal of Natural Products. 50(3): 474–478.
- Suksamrarn, S., Komutiban, O., Ratananukul, P., Chimnoi, N., Lartpornmatulee, N. and Suksamrarn, A. (2006). Cytotoxic Prenylated Xanthones from the Young Fruit of Garcinia mangostana. Chemical and Pharmaceutical Bulletin. 54 (3),301–305
- Cheng S-C,Wan M Loh B-N Active conatituents against HiV-1 protease from Garcinia mangostana Planta Med 1996;62:381-2.
- Chomnawang MT, Surassmo S, Nukoolkarn V, Gritsanapan W. Effect of Garcinia mangostana on inflammation caused by Propionibacterium acnes. Fitoterapia 2007;78(6):401-408
- Nakatani K Nakahata N Arakawa T Yasuda H Ohizymi Y, Inhibition of cyclooxygenase and prostaglandin E2 synthesis by y-mangostin. A wanthone derivative in mangosteen in c6 rat glioma cells. Biochern Pharmacol 2002 (b):63:73-9.