บานไม่รู้โรย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
บานไม่รู้โรย งานวิจัยและสรรพคุณ 27 ข้อ
ชื่อสมุนไพร บานไม่รู้โรย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ตะล่อม (ภาคเหนือ), ดอกสามเดือน, กุนหยี (ภาคใต้), สามปีบ่เหี่ยว (ภาคอีสาน), โขยหยิกแป๊ะ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gomphrena globosa Linn.
ชื่อสามัญ Everlasting, Globe Amaranth, Bachelor button
วงศ์ AMARANTHACEAE
ถิ่นกำเนิดบานไม่รู้โรย
ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของ บานไม่รู้โรยเชื่อกันว่าอยู่ในเขตร้อนของทวีปอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ บริเวณประเทศเม็กซิโกลงไป แล้วต่อมาจึงมีการกระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยนั้นคาดว่า บานไม่รู้โรย น่าจะเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยพบชื่อในตำรายาพื้นบ้านดั้งเดิมหลายตำรับ รวมทั้งในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเล ปี พ.ศ.2416 ได้บรรยายเอาไว้ว่า "บานมิรู้โรย คือ ดอกไม้อย่างหนึ่ง บานแล้วไม่โรยไม่เหี่ยวเลย ดอกไม้อย่างอื่นบานแล้ว โรยเหี่ยวแห้งไป"
ประโยชน์และสรรพคุณบานไม่รู้โรย
- ใช้บำรุงตับ
- แก้นิ่ว
- แก้ไอ
- แก้หอบหืด
- แก้ปวดศีรษะ
- แก้ลมขึ้นศีรษะ
- แก้เวียนศีรษะ
- แก้ไอกรน
- แก้ตาเจ็บ
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้แผลผื่นคัน
- แก้ฝีประคำร้อย
- แก้หนองใน
- แก้กษัย
- แก้โรคกามโรค
- แก้กล่อนปัตตะคาด
- ขับระดูขาว
- ขับระดูในสตรี
- ใช้รักษาโรคบิด
- แก้โรคระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ
- แก้เด็กตัวร้อน
- แก้ตาเจ็บ
- แก้พิษต่างๆ
- แก้บิดมูก
- แก้รากเป็นเลือด
- แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
- แก้เลือดออกจากทวารทั้งเก้า
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้แก้หอบหืด บิดมูก โดยใช้ดอกสด 15-20 ดอก ล้างให้สะอาดต้มกับน้ำ 1 ลิตร เคี่ยวให้เหลือครึ่งหนึ่งแล้วกรองดื่มครั้งละ 1 แก้ว (200 ซีซี) ใช้ดอกบานไม่รู้โรย 10 ดอก ต้มน้ำผสมเหล้าเล็กน้อย ดื่มวันละ 3 ครั้ง ใช้แก้เด็กตัวร้อน ตาเจ็บ โดยใช้ดอกสดประมาณ 10-14 ดอก นำมาต้มกับน้ำดื่ม ขับปัสสาวะ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ ขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ โดยใช้ต้น และรากมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ดอก 3-10 กรัม มาต้มกับน้ำดื่มบ่อยๆ ก็ได้เช่นกัน ใช้ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว และโรคหนองใน โดยใช้ต้นสด 100 กรัม ล้างให้สะอาดต้มกับน้ำ 1 ลิตร นานประมาณ 10-15 นาที กรองเอาน้ำดื่ม วันละ 3 เวลาก่อนอาหาร แก้ปวดศีรษะ ลมขึ้นศีรษะ แก้เวียนศีรษะ ด้วยการใช้ดอก 10 กรัม และหญ้าแซ่ม้า 20 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้กษัย แก้กามโรค แก้หนองใน แก้ตกขาว ขับระดูในสตรี โดยใช้ทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ฝีหนอง แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อยโดยใช้ต้นสดพอประมาณมาตำพอกบริเวณที่เป็น
ลักษณะทั่วไปของบานไม่รู้โรย
บานไม่รู้โรย จัดเป็นไม้ล้มลุก เนื้อ อ่อน พุ่มเตี้ย สูงประมาณ 30-60 เซนติเมตร หรือ อาจเอนรวมไปกับดิน ลำต้นมีขนสีขาวปกคลุม แตกกิ่งก้านสาขามาก ตามลำต้นกิ่งก้าน เป็นเหลี่ยมมีร่องยาวตามกิ่ง ตามข้อกิ่งมักจะพองออกเล็กน้อย และมีขนละเอียดสั้นปกคลุมด้วย ใบออกเป็นแบบใบเดี่ยวตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ สลับเวียนกันไปตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก หรือ รี รูปขอบขนาน ขนสั้นๆ ขึ้นปกคลุม ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ หรือ อาจมีคลื่นเล็กน้อยเนื้อใบนิ่ม มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ส่วนก้านใบสั้น ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ดอกออกเป็นกระจุกทรงกลม มีดอกย่อยแบบสมบูรณ์เพศที่มีลักษณะแข็งเนื้อหนาปลายกลีบมากมายที่ตั้งอยู่บนก้านช่อดอกโดยจะดอกตรงส่วนปลายของกิ่งแขนง และจะออก พร้อมกันทีละมากๆ ทรงดอกค่อนจะข้างกลม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.15-2 เซนติเมตร มีสีขาว ม่วง และแดงรวมถึงยังมีใบประดับ สีเขียว 2 ใบ อยู่ใต้ฐานล่าง สำหรับความพิเศษของดอกบานไม่รู้โรย คือ เมื่อติดเมล็ดแล้วกลีบดอกยังคงติดอยู่กับก้านดอกไม่ร่วงหล่นเหี่ยวเฉา หรือ เปลี่ยนสี ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะเป็นกระเปาะขนาดเล็ก รูปไข่แกมรูปขอบขนานเปลือกค่อนข้างบาง มีขนาดประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ภายในมีเมล็ดลักษณะแบนๆ เป็นมันสีน้ำตาลอ่อน
การขยายพันธุ์บานไม่รู้โรย
บานไม่รู้โรยสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด โดยมีวิธีการดังนี้ นำเมล็ดบานไม่รู้โรย มาแช่น้ำประมาณ 3-4 ชั่วโมง เพื่อให้เปลือกหุ้มเมล็ดดูดน้ำจนชุ่ม แล้วจึงนำไปเพาะในกระบะเพาะ ที่มีเถ้าแกลบผสมทราย อัตราส่วน 4:1 รดน้ำให้ชุ่มทุกวันเมื่อผ่านไป 7-10 วัน เมล็ดจะงอกเป็นต้นกล้า และเมื่อต้นกล้าเริ่มมีใบจริง 1-2 คู่ ก็สามารถย้ายไปปลูกในแปลงได้ 30x30 เซนติเมตร หรือ 40x40 เซนติเมตร โดยปลูกหลุมละ 1 ต้น
องค์ประกอบทางเคมี
มีผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ ของบานไม่รู้โรย พบสารสำคัญดังนี้ Gomphrenin I, Gomphrenin V, Allantoin, Campesterol, Amaranthin, Quercetin, β-sitosterol, Isoamaranthin, Kaempferol, stigmastero และในเมล็ดยังพบน้ำมันอีกด้วย
ที่มา : Wikipedie
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของดอกบานไม่รู้โรย
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของดอกบานไม่รู้โรย ในการทดลองทั้งหมดสามสี ได้แก่ สีม่วงสีชมพู และสีขาว ซึ่งถูกสกัดด้วยตัวทำละลายผสมระหว่างโพรพิลินไกลคอลและน้ำ 50% นำสารสกัดมาทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH และ ABTS ทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase และหาปริมาณ total phenolic content และ total flavonoid content จากผลการทดสอบพบว่าสารสกัดดอกบานไม่รู้โรยสีม่วงมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระดีที่สุดเมื่อทดสอบด้วยวิธี ABTS โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.013mg/mL และอย่างไรก็ตามผลการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ด้วยวิธี DPPH พบว่าสารสกัดดอกบานไม่รู้โรยสีม่วงมีค่าต่ำสุดการวิเคราะห์ปริมาณ total phenolic content และ total flavonoid content พบว่าสารสกัดดอกบานไม่รู้โรยสีม่วงมีปริมาณมากที่สุดเท่ากับ 8.88µg gallic acid equivalent/g extract และ 4.50µg catechin equivalent/g extract ตามลำดับเมื่อทำการศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ tyrosinase พบว่าสารสกัดบานไม่รู้โรย สีม่วงมีฤทธิ์ในการยับยั้งดีที่สุด มีค่า IC50 เท่ากับ 4.26µg/mL
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาในต่างประเทศยังระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชของบานไม่รู้โรย ว่ามีฤทธิ์ ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ ฤทธิ์ต้านเชื้อมะเร็ง และฤทธิ์ต่อต้านภูมิแพ้ เป็นต้น
การศึกษาทางพิษวิทยาของดอกบานไม่รู้โรย
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ในการนำดอกบานไม่รู้โรยมาใช้เป็นยาให้เลือกดอกชนิดสีขาวที่แก่นำไปตากให้แห้ง และเด็ดก้านดอกออก จากนั้นจึงเก็บดอกไว้ใช้เป็นยาต่อไป
- สำหรับการใช้บานไม่รู้โรย มาเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรเตรียมตัวยาให้ถูกต้องตามตำรับตำรายาต่างๆ หรือ ควรเลือกซื้อตัวยาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรใช้มากจะเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้บานไม่รู้โรยเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง ดอกบานไม่รู้โรย
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “บานไม่รู้โรยดอกขาว”. หน้า 425-426.
- เดชา ศิริภัทร.บานไม่รู้โรย ความงามที่ยั่งยืนฝืนกาลเวลา. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 288. เมษายน 2546.
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. หนังสือสมุนไพร ไทย เล่ม 1. “บานไม่รู้โรย (Ban Mai Ru Roy)”. หน้า 164.
- ลักษิตา อยู่เย็น, วันชาติ สันธากร. การศึกษา และพัฒนาดอกบานไม่รู้โรยสำหรับใช้ทางเครื่องสำอาง. โครงการพิเศษปรีญญาตรีเภสัชศาสตร์บัณฑิตคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยามหิดล. 2559
- วิทยา บุญวรพัฒน์. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “บานไม่รู้โรยดอกขาว”. หน้า 306.
- บนไม่รู้โรยดอกขาว, แพงพวย กลุ่มยาแก้บิด ท้องเดิน ท้องร่วง โรคกระเพาะ. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs_07.4.htm