เงาะ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เงาะ งานวิจัยและสรรพคุณ 10 ข้อ

ชื่อสมุนไพร เงาะ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น พรวน (ปัตตานี), มอแต, กะเมาะแต, อาเมาะแต (มลายู)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Nephelium lappaceum Linn.
ชื่อสามัญ Rambutan
วงศ์ SAPINDACEAE


ถิ่นกำเนิดเงาะ

เงาะ จัดเป็นผลไม้ที่เป็นที่นิยมชนิดหนึ่งโดยจัดเป็นผลไม้เมืองร้อน โดยมีถิ่นกำเนิดในคาบสมุทรมลายูทางเขตที่ราบตะวันตก (อยู่ในมาเลเซีย และอินโดนีเซีย) จากนั้นจึงแพร่กระจายพันธุ์ไปในเขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศเขตร้อนอื่นๆ เช่น เอเชียใต้ และในทวีปแอฟริกา ซึ่งในอดีตผลไม้ชนิดนี้ว่า Rambut ซึ่งหมายถึง “ผม หรือ ขน” ต่อมามีการเรียกเพี้ยนไปจนปัจจุบันถูกเรียกว่า Rambutan สำหรับในประเทศไทย ในอดีตนิยมปลูกในภาคใต้ และภาคตะวันออก แต่ในปัจจุบันสามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศแล้ว โดยสายพันธุ์ที่นิยมเพาะปลูกมากที่สุดก็ได้แก่ พันธุ์โรงเรียน พันธุ์สีทอง พันธุ์สีชมพู เป็นต้น


ประโยชน์และสรรพคุณเงาะ

  • ช่วยบรรเทาอาการท้องร่วง
  • บำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่ง
  • ใช้แก้ท้องร่วง
  • แก้บิด
  • ช่วยลดอาการบวม
  • ช่วยอักเสบของแผล
  • ช่วยลดอาการอักเสบของแผลในช่องปาก
  • ช่วยป้องกันไข้หวัด
  • ช่วยป้องกันเลือดออกตามไรฟัน
  • ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

           เงาะจัดเป็นผลไม้ยอดนิยมที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง อีกชนิดหนึ่งของโลก ดังนั้นประโยชน์หลักๆ ของเงาะ คือ ใช้รับประทานเป็นผลไม้สด นอกจากนี้ยังมีการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกหลายชนิด เช่น เงาะในน้ำเชื่อม เงาะลอยแก้ว เงาะกวน เงาะอบแห้ง เป็นต้น และยังมีการนำเงาะมาใช้ประกอบอาหารอีกหลายชนิดเช่น ต้มจืดเงาะสอดไส้หมูสับ แกงเงาะยัดไส้ แกงจืดลูกเงาะ เป็นต้น ส่วนเมล็ดเงาะก็มีการนำมาสกัดเอาน้ำมันมาใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางต่างๆ

เงาะ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

การใช้เงาะ ในการใช้ช่วยบรรเทาอาการท้องร่วง บำรุงผิวพรรณให้ชุ่มชื้นเปล่งปลั่ง โดยการรับประทานเงาะสด ใช้แก้ท้องร่วง ช่วยลดอาการบวม แก้แผลอักเสบ ช่วยลดอาการอักเสบของแผลในช่องปาก  ป้องกันหวัด ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย โดยนำเปลือกเงาะมาต้มกับน้ำดื่ม


ลักษณะทั่วไปของเงาะ

เงาะ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง 10-15 เมตร ทรงพุ่มหนาทึบ ลำต้นเป็นไม้เนื้อแข็งเปลือกสีเทา อมน้ำตาล แตกกิ่งจำนวนมากตั้งแต่ระดับล่าง กิ่งมีขนาดเล็ก เปราะหักง่าย สีของกิ่งสีน้ำตาลอมแดงใบเป็นใบประกอบ ปลายคู่ออกบริเวณปลายกิ่ง มีก้านช่อยาว 15-20 เซนติเมตร ใน 1 ช่อใบจะ มีใบย่อยออกเรียงสลับกัน 4-6 ใบ ใบมีลักษณะรูปไข่กลับสีเขียวปลายใบแหลมมีขอบใบเรียบโครใบมน ขนาดใบ กว้าง 4-5 เซนติเมตร ยาว 10-15 เซนติเมตร แผ่นใบด้านบนเป็นมันเล็กน้อย แผ่นใบด้านล่างมีสีอ่อนกว่า ด้านบนของใบมองเห็นเส้นใบ 8-10 คู่ ชัดเจน ดอกออกเป็นช่อ บริเวณส่วนปลายของกิ่ง หรือ บริเวณตาข้างใกล้ส่วนปลายกิ่ง โดยมีความยาวของแต่ละช่อประมาณ 25 เซนติเมตร ช่อดอกในระยะแรกจะมีสีน้ำตาลดำ เมื่อโตขึ้นจะมีสีเขียวอ่อน หรือ น้ำตาลอมเขียว แต่ละช่อดอกจะมีดอกย่อยจำนวนมาก แต่จะติดเป็นผลเพียง 0.5-0.9% ของดอกทั้งหมด ซึ่งดอกของเงาะจะแบ่งเป็น 3 ชนิด คือ ดอกเพศผู้ ดอกกระเทยเพศเมีย และดอกกระเทยเพศผู้ โดยดอกย่อยจะประกอบด้วยกลีบดอกสีขาวนวล 5 กลีบ มีขนสั้นๆ ปกคลุม และมีก้านดอกขนาดสั้นสีเขียวอ่อนยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร และมีขนสั้นๆ ปกคลุมเช่นกัน ถัดมาเป็นผลออกเป็นพวง โดยใน 1 พวงจะมีผลย่อย 3-10 ลูก ผลย่อยมีลักษณะกลมรี ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีแดง มีเส้นขนสีเขียว และแดงตามความอ่อนแก่ของผลเช่นกัน (บางพันธุ์ขนมีสีเขียวอมเหลืองที่ปลายขน) ส่วนเปลือกด้านในผลมีสีขาว แยกออกจากส่วนเนื้อ ถัดมาจะเป็นส่วนเนื้อมีสีขาวใส แต่บางพันธุ์อาจมีสีขาวอมชมพู เนื้อส่วนนี้ใช้รับประทานมีรสหวานเนื้อฉ่ำน้ำด้านในเนื้อจะมีเมล็ด มีลักษณะแบนรูปไข่ มีเปลือกหุ้มเมล็ดบางๆ สีน้ำตาลเมล็ดแบ่งออกเป็น 2 ซีก ประกบกัน ตรงกลาง

เงาะ

เงาะ

การขยายพันธุ์เงาะ

เงาะ สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่นการใช้เมล็ด การตอนกิ่ง ปักชำ การติดตา และการเสียบยอด แต่ในปัจจุบัน จะนิยมปลูกจากกล้าพันธุ์ที่ได้จากการติดตา หรือ การเสียบยอด เป็นหลัก ไม่นิยมใช้เมล็ดปลูก โดยมีวิธีการดังนี้

           การเตรียมดิน เริ่มจากการไถพรวนดิน และกำจัดวัชพืชก่อน ซึ่งจะไถพรวนดินประมาณ 2 ครั้ง แต่ละครั้งตากดินนาน 7-14 วัน จากนั้นทำการขุดหลุมกว้าง ยาว ลึก ประมาณ 50x50x50 เซนติเมตร ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ควรมีขนาด 1x1x1 เมตร จากนั้นผสมดินปลูกด้วยหินฟอสเฟต 2 กระป๋องนม และปุ๋ยคอกแห้ง ประมาณ 1 ปุ้งกี๋ แล้วกลบลงในหลุมให้ระดับดินสูงกว่า ระดับเดิม 20-25 เซนติเมตร หลังจากเตรียมดินไว้ให้เป็นหลุมเล็กๆ แล้วต่อไปวางต้นกล้าตรงกลางหลุมกลบดินให้สูงกว่าระดับเดิมไม่เกิน 1 นิ้ว และอย่าให้สูงถึงรอยแผลที่ติดตา แล้วใช้ไม้เป็นหลักผูกยึดกิ่ง เพื่อป้องกันต้นล้ม รดน้ำให้ชุ่ม จากนั้นจึงหมั่นให้น้ำสม่ำเสมอจนกว่าจะตั้งตัวได้ (ควรให้ 7-10 วัน/ครั้ง) และในฤดูแล้งควรหาวัสดุคลุมโคนต้นเพื่อรักษาความชื้นในดินด้วย


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดเงาะ จากเปลือกและเมล็ด พบว่ามีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญดังนี้ 

           มีรายงานว่าสารสกัดจากเปลือกเงาะมีสารในกลุ่ม แทนนิน (tannin) ซึ่งเป็นสารประกอบเชิงซ้อนพวกฟีนอลิก โดยสารสำคัญที่พบมากได้แก่ geraniin, corilagin, anthocyanin และ ellagic acid เป็นต้น ส่วนในเมล็ดเงาะพบสารออกฤทธิ์สำคัญอาทิเช่น eicoseonic acid, palmitic acid, arachidic acid, steric acid และ oleic acid เป็นต้น ส่วนเนื้อผลของเงาะนั้นยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้ 

           คุณค่าทางโภชนาการของเงาะ (เนื้อผล 100 กรัม)

  • พลังงาน 64.00  แคลอรี่
  • โปรตีน 65 มิลลิกรัม
  • ไขมัน 6.50 มิลลิกรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 1,072.50 มิลลิกรัม
  • เส้นใย 71.50 มิลลิกรัม
  • โซเดียม 1.00 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 20.00 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 15.00 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 1.90 มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม 64.00 มิลลิกรัม
  • วิตามิน B1 0.01 มิลลิกรัม
  • วิตามิน B2 0.06 มิลลิกรัม
  • วิตามิน B3 0.40 มิลลิกรัม
  • วิตามิน C 53.00 มิลลิกรัม

โครงสร้างเงาะ

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของเงาะ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากเปลือกเงาะ และเนื้อผล ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการอาทิเช่น

           ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด มีการศึกษาวิจัยระบุว่า สารสกัดเอทานอลจากเปลือกเงาะ มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase และ α-amylase (เอนไซม์ที่ย่อยแป้ง และคาร์โบไฮเดรตให้เป็นน้ำตาล) และเอนไซม์ aldol reductase (เอนไซม์ที่เปลี่ยนกลูโคสเป็นซอร์บิทอล) โดยมีค่าความเข้มข้นของสารสกัดที่ทำให้เอนไซม์ลดลงร้อยละ 50 (EC50) = 2.7 70.8 และ 0.04 มคก./มล. ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ป้องกันการเกิดของสาร advanced glycation end-products (AGE) ได้ร้อยละ 43 เมื่อนำสารสกัดเอทานอลมาทำการแยกสกัดสาร พบว่าส่วนใหญ่ประกอบด้วยสาร geraniin ซึ่งแสดงว่าสาร geraniin ในเปลือกเงาะ มีศักยภาพที่ลดน้ำตาลในเลือดได้ ยังมีการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่ามีการทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสาร geraniin ที่แยกได้จากเปลือกเงาะซึ่งเป็นสารกลุ่ม ellagitannin พบว่าสาร geraniin มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ Galvinoxyl และ 2,2′-azino-bis (3-ethylbenzthiazoline-6-sulphonic acid) (ABTS) โดยค่าความเข้มข้นของสารที่ยับยั้งอนุมูลอิสระได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) = 1.9 และ 6.9 µM ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ในการลดน้ำตาล โดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ alpha-glucosidase, alpha-amylase และ aldol reductase (IC50 = 0.92, 0.93 และ 0.14 µg/ml ตามลำดับ) ได้ดีกว่ายารักษาเบาหวาน acarbose และ quercetin สาร geraniin ความเข้มข้น 20 µg/ml มีผลยับยั้งการสร้าง Advanced Glycation End-product (AGE) ในโปรตีน Bovine serum albumin (BSA) ได้ 96% ซึ่งให้ผลดีกว่าสารสกัดจากชาเขียวอีกด้วย

           ฤทธิ์ป้องกันสภาวะเครียดออกซิเดชันมีรายงานผลการศึกษาวิจัยระบุว่า สาร geraniin ซึ่งเป็นสารกลุ่มไฮโดรไลเซเบิล โพลีฟีนอล (hydrolysable polyphenol) ที่แยกได้จากเปลือกผลเงาะ (Nephelium lappaceum L.) แสดงฤทธิ์ต้านสภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) ในหนูแรทที่ถูกกระตุ้นให้เกิดโรคอ้วน (obesity) จากการได้รับอาหารไขมันสูง (high fat diet, HFD) เป็นเวลา 10 สัปดาห์ เสริมด้วยการได้รับสาร geraniin ในขนาด 10 และ 50 มก./กก. น้ำหนักตัว เป็นเวลา 4 สัปดาห์ (สัปดาห์ที่ 7–10) ผลการทดลองพบว่า หนูแรทกลุ่มที่ไม่ได้รับสาร geraniin จะมีดัชนีสภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress index) สูง หนูแรทที่ได้รับสาร geraniin โดยเฉพาะในขนาด 50 มก./กก. น้ำหนักตัว สามารถควบคุมสภาวะเครียดออกซิเดชันจากการได้รับอาหารไขมันสูงได้ โดยรักษาระดับ oxidative stress biomarkers ต่างๆ เช่น ลดปริมาณ malondialdehyde ลดระดับ protein carbonyl content เพิ่มระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ peroxide dismutase, glutathione peroxidase, และ glutathione reductase เพิ่มระดับ total glutathione และรักษาอัตราส่วนระหว่าง reduced/oxidized glutathione ได้ใกล้เคียงกับหนูแรทกลุ่มควบคุมที่ได้รับอาหารปกติ ผลการทดลองยังพบว่าการได้รับอาหารไขมันสูงต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการตาย (necrosis) ของเซลล์ตับอ่อนหนูแรท โดยโรคอ้วนจากการได้รับอาหารไขมันสูงในหนูแรทจะก่อให้เกิดความเป็นพิษจากไขมัน (lipotoxicity) และความผิดปกติในการเมแทบอลิซึม กลูโคสในตับอ่อน การได้รับสาร geraniin ช่วยฟื้นฟูเซลล์ตับอ่อน และปกป้องตับอ่อนจากการเกิดเบาหวานประเภทที่ 2 (type-2 diabetes mellitus) โดยไม่แสดงความเป็นพิษ 

           ฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร มีการศึกษาวิจัยโดยการป้อนสารสกัดเอทานอล เงาะ (พันธุ์โรงเรียน) ให้หนูแรทก่อนการเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารโดยทำให้เกิดความเครียดโดยการแช่ในน้ำ โดยป้อนสารสกัดในขนาด 500 มก./กก. พบว่าสารสกัดเอทานอล เงาะ (พันธุ์โรงเรียน) สามารถป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ 39% นอกจากนี้สารสกัดเอทานอลของ เงาะ ขนาด 100 มก./กก. ยังสามารถลดความดันเฉลี่ยของหลอดเลือดแดงได้ 50%  อีกด้วย

           นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอีกหลายฉบับระบุว่าสารสกัดจากเปลือกเงาะยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย และเชื้อราได้หลายชนิด ลดการอักเสบของผิวหนัง ลดอาการท้องร่วงและสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งได้อีกด้วย

 

การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของเงาะ

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ถึงแม้ว่าเงาะจะเป็นผลไม้ที่บริโภคได้อย่างปลอดภัย แต่ทั้งนี้ ในการรับประทานเงาะก็ควรคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพด้วย เนื่องจากเงาะ มีรสหวาน ดังนั้นควรบริโภคแต่พอดี เพราะหากรับประทานมากจนเกินไป อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้ และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าเม็ดในของเงาะมีควารเป็นพิษ ถึงแม้ว่าจะเอาไปคั่วจนสุกแล้ว ซึ่งหากรับประทานมากเกินไปอาจเกิดอาการเวียนศีรษะ มีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ได้


เอกสารอ้างอิง เงาะ
  1. ราชันย์ ภู่มา และสมราน สุดดี. (บรรณาธิการ). (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2557.กรุงเทพฯ:สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืชกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.
  2. สาร geraniin จากเปลือกผลเงาะป้องกันสภาวะเครียดออกซิเดชันในหนูที่ได้รับอาหารไขมันสูง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. อุดมลักษณ์ สุขอัตตะ ประภัสสร รักถาวร เมทิกา ลีบุญญานนท์ และพจมาน พิศเพียงจันทน์. 2553. สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ การต้านอนุมูลอิสระ และการต้านเชื้อแบคทีเรียก่อสิวของสารสกัดจากเปลือกผลไม้. เรื่องเต็มการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 48 3-5 ก.พ. 2553 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หน้า 364-373
  4. ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสารสกัดจากเปลือกเงาะ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. สวัลรัตน์ พ่วงบริสุทธิ์. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเปลือกเงาะ 3 สายพันธุ์ในจังหวัดนนทบุรี.วารสารวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิจัยปีที่ 13. ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2564. หน้า 146-156
  6. ฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลดความดันโลหิตในผลไม้ไทย.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. ฤทธิ์ลดน้ำตาลของสาร geraniin จากเปลือกเงาะ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. เงาะ (Rambutan) เงาะโรงเรียนและการปลูกเงาะ. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaet.com
  9. Samuagam, L., Sia, C.M., Akowuah, G.A., Okechukwu, P.N. and Yim, H.S. 2015. In vivo antioxidant potentials of rambutan, mangosteen and langsat peel extracts and effects on liver enzymes in experimental rats. Food Science and Biotechnology 24(1). 191-198
  10. Teerananont, N. 2008. Study of using the rambutan seeds from rambutan in syrup can industrial to produce biodiesel. Master of Engineering, King Mongkut’s University of Technology Thonburi. (in Thai)
  11. Cheng, H.S., Ton, S.H. and Kadir, K.D. 2016. Ellagitannin geraniin: A review of the natural sources, biosynthesis, pharmacokinetics and biological effects. Phytochemistry Reviews 16: 159-193.
  12. Palanisamy, U.D., Ling, L.T., Manaharan, T. and Appleton, D. 2011. Rapid isolation of geraniin from Nephelium lappaceum rind waste and its anti-hyperglycemic activity. Food Chemistry 127(1): 21-27.