มะเขือเปราะ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
มะเขือเปราะ งานวิจัยและสรรพคุณ 17ข้อ
ชื่อสมุนไพร มะเขือเปราะ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะเขือเสวย(ภาคกลาง) , มะเขือผ่อย,มะเขือคางกบ,มะเขือจาน , มะเขือเดือนแจ้ง มะเขือขันคำ (ภาคเหนือ),มะเขือหืน , มะเขือเผาะ(ภาคอีสาน) , เขือหิน (ภาคใต้) , มังคอเก่ (กะเหรี่ยง) หมากเขือขอบ (ไทยใหญ่) , หวงซุ่ยเซี่ย , หวงกั่วเซี่ย (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum virginianum Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Solanum xanthocarpum Schrad. & H. Wendl.
ชื่อสามัญ Thai Eggplant
วงศ์ SOLANACEAE
ถิ่นกำเนิดมะเขือเปราะ
มะเขือเปราะเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในประเทศอินเดียโดยในอินเดียจะเรียกว่า Kantakari แล้วในระยะแรกมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนใกล้เคียง เช่นใน บังคลาเทศ เนปาล พม่า ไทย จีน ลาว มาเลเซีย เป็นต้น แล้วจึงมีการนำไปเพาะปลูกยังทวีปต่างๆ ทั่วโลกในปัจจุบัน สำหรับในประเทศไทยสามารถพบมะเขือเปราะได้ทั่วทุกภาคของประเทศ และยังเป็นพืชที่จัดอยู่ในตระกูลผักของไทยและยังเป็นที่นิยมในการบริโภคอย่างกว้างขวางอีกด้วย
ประโยชน์และสรรพคุณมะเขือเปราะ
- ช่วยบำรุงหัวใจ
- ช่วยลดไข้
- ช่วยลดความดัน
- ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
- ช่วยขับพยาธิ
- ช่วยลดการอักเสบ
- ช่วยบรรเทาอาการไอ
- ช่วยลดอาการคันคอ
- แก้หอบหืด
- แก้อักเสบในลำคอ
- ใช้ยาขับปัสสาวะ
- ช่วยบรรเทาอาการปวดฟัน
- ช่วยอาการเหงือกอักเสบบวม
- ช่วยห้ามเลือด
- รักษาแผล
- แก้ผดผื่นคัน
- ช่วยขับลม
ลักษณะทั่วไปมะเขือเปราะ
มะเขือเปราะ จัดเป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นตั้งตรงแตกกิ่งแขนงตั้งแต่ระดับต่ำเป็นทรงพุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 20-100 เซนติเมตร ลำต้นเปลือกลำต้นบาง สีเขียวหรือเขียวอมเทา ส่วนลำต้นที่ปลายกิ่งจะมีสีเขียวอ่อน เนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อนมีสีขาว เปราะและหักง่าย ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกันบนกิ่ง มีก้านใบยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ มีขนปกคลุมทั้งด้านล่าง และด้านบน ขอบใบเว้า โค้งเป็นลูกคลื่น และงุ้มเข้าหากลางใบ ขนาดใบกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15เซนติเมตร ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อออกบริเวณซอกใบหรือปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ขนาดเล็ก สีเขียว หุ้มห่อฐานดอกไว้ ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบ และกลางกลีบเชื่อมติดกัน ปลายกลีบแยกเป็นแฉก 5 แฉก มีจงอยแหลมตรงกลางกลีบ แผ่นกลีบดอกย่น มีขนโดยดอกจะเป็นสีขาวหรือสีม่วงแล้วแต่สายพันธุ์ และมีเกสรเพศผู้5 อัน ทรงกระบอก สีเหลือง และเกสรเพศเมีย มีก้านเกสร 1 อัน สีเหลืองอมส้ม แทงยื่นยาวกว่าเกสรตัวผู้ ผลออกเป็นผลเดี่ยว แต่ละผลจะมีก้านผลที่พัฒนามาจากก้านดอก ยาว 3-5 เซนติเมตร ที่ขั้วผลหุ้มด้วยกลีบเลี้ยงขนาดใหญ่ สีเขียว
ลักษณะของผลจะเป็นทรงกลมหรือเป็นรูปไข่ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และมีเปลือกผลเป็นมันหนา เรียบ เป็นมัน มีหลายสีขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เช่น สีขาว สีเขียวอ่อน สีเขียวเข้ม หรือมีลายปะสีขาวขนาดผลกว้าง 3-5 เซนติเมตร แล้วแต่สายพันธุ์ เนื้อในผลมีลักษณะเป็นเมือก มีรสขื่นเล็กน้อยหรือบางสายพันธุ์ไม่มีรสขื่นเลย และมีเมล็ดสีเหลือง หรือ น้ำตาล ข้างในมาก
การขยายพันธุ์มะเขือเปราะ
มะเขือเปราะสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด ทั้งแบบหยอดหลุม หว่านเมล็ด หรือการเพาะกล้า ก็ได้แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันและมีอัตราการรอดสูง คือการเพาะกล้า ซึ่งมีวิธีการดังนี้ เก็บเมล็ดจากผลสุก และเก็บรักษาในห่อผ้านาน 1-2 เดือน
จากนั้นเตรียมแปลงเพาะขนาดกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวตามปริมาณที่ต้องการเพาะ และพรวนดิน กำจัดวัชพืชออก จากนั้น หว่านปุ๋ยคอกรองพื้น คลุกพรวนด้วยจอบแล้วนำเมล็ดหว่านลงแปลง พยายามให้ ใช้คราดเกลี่ยหน้าดินตื้นให้กลบเมล็ดและรดน้ำให้ชุ่ม และดูแลให้น้ำต่อเนื่อง วันละ 1 ครั้ง ในช่วง 7 วันแรก จากนั้น ลดเหลือ 2 วัน/ครั้ง เมื่ออายุกล้าได้ประมาณ 10-15 วัน จึงย้ายปลูกลงแปลง ส่วนวิธีการปลูกมะเขือเปราะนั้นทำได้ดังนี้
ไถพรวนดิน และกำจัดวัชพืช จากนั้น หว่านรองพื้นด้วยปุ๋ยคอก 1-2 ตัน/ไร่ แล้วไถพรวนแปลงอีกรอบ จากนั้นขุดหลุมปลูก ลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร เรียงเป็นแถวๆ แล้วนำต้นกล้าลงปลูกให้ระยะห่างระหว่างต้น และแถว ประมาณ 80-100 เซนติเมตร หลังจากปลูกรดน้ำให้ชุ่ม และควรให้น้ำทุกวันในช่วง 2 สัปดาห์แรกจากนั้น ลดเหลือ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์
องค์ประกอบทางเคมี
มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของมะเขือเปราะพบว่าในผลพบสาร Solasonine , Solasodine , Solamargine , Solanine , Solacarpine , Diosgenin, Capresterol
นอกจากนี้ผลมะเขือเปราะยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
- พลังงาน 39 กิโลแครอรี่
- ไขมัน 0.8 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 8.8 กรัม
- โปรตีน 1.8 กรัม
- เส้นใย 2.5 กรัม
- แคลเซียม 38 มิลลิกรัม
- เหล็ก 1.2 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 70 มิลลิกรัม
- วิตามิน เอ 29 ไมโครกรัม
- วิตามินบี 1 ไทอะมีน 0.07 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 ไรโบฟลาวิน 0.16 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 ไนอะซีน 2.4 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 3 มิลลิกรัม
ที่มา : Wikipedia
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้ลดไข้ ขับลม บำรุงหัวใจ ลดความดันโลหิต ขับพยาธิ โดยการใช้ผลแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม หรือใช้ผลสดประกอบอาหารรับประทานหรือใช้เป็นเครื่องเคียงน้ำพริกหรือส้มตำรับประทาน เป็นอาหารในแต่ละมื้อก็ได้ ใช้ขับปัสสาวะ บรรเทาอาการไอ แก้อาการคันคอ ลดอาการอักเสบในลำคอ แก้หอบหืด โดยใช้รากแห้งมาต้มกับน้ำดื่มใช้แก้อาการเหงือกบวมเหงือกอักเสบ ปวดฟัน โดยใช้รากสด 15 กรัม ต้มกับน้ำใช้บ้วนปากหรือเคี้ยวสดๆก็ได้ ใช้แก้อาการร้อนใน ขับปัสสาวะ โดยใช้ใบสดนำมาต้มน้ำดื่ม หรือใช้ใบสดต้มกับน้ำอาบแก้ผดผื่นคันก็ได้ นอกจากนี้ใบสดยังสามารถนำมาตำหรือขยำแล้วใช้พอกประคบบริเวณแผลก็จะช่วยห้ามเลือดและรักษาแผลได้
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
มีการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของมะเขือเปราะในต่างประเทศหลายฉบับ เช่น มีการทดสอบฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งของสาร พบว่า ทุกตัวมีฤทธิ์ต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งตับและลำไส้ใหญ่ Solamargine , Solanine, Solasodine พบว่า ทุกตัวมีฤทธิ์ต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งตับและลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้มีผลงานวิจัยอีกหลายฉบับระบุว่ามะเขือเปราะมีฤทธิ์ ลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ลดคลอเรสเตอรอลในเลือด ลดความดันโลหิต และช่วยบำรุงหัวใจ เป็นต้น
การศึกษาทางพิษวิทยา
มีการศึกษาวิจัยพบว่า สาร Solanine ที่พบในมะเขือเปราะ เมื่อสะสมไว้ในร่างกายจำนวนมากและสะสมไว้หลายๆวัน จะไปรวมตัวกับไขมัน LDL (ไขมันชนิดไม่ดี) และจะไปเกาะตามบริเวณข้อต่อต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการปวดตามข้อต่างๆ หรือเป็นตะคริวได้
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ผู้ที่เป็นโรครูมาตอยด์ไม่ควรบริโภคมะเขือเปราะมาก อาจส่งผลให้อาการทรุดลงได้
- ในการใช้มะเขือเปราะเป็นยาสมุนไพรเพื่อบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ นั้นควรระมัดระวังในการใช้แต่พอดีตามที่ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ ไม่ควรใช้มากจนเกินไปหรือใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนจะใช้มะเขือเปราะเป็นสมุนไพรรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง
- ทวีทอง หงส์วิวัฒน์.(2547).สารานุกรมผัก.พิมพ์ครั้งที่2.กรุงเทพฯ:แสงแดด
- รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ.มะเขือเปราะลดน้ำตาลในเลือด.คอลัมน์บทความพิเศษ.นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 351.กรกฎาคม.2551.
- วิทยา บุญวรพัฒน์.มะเขือขื่น.หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย.จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.หน้า430.
- ราชันย์ ภู่มา และ สมราน สุดดี. (บรรณาธิการ). (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557. กรุงเทพฯ: ส่านักงานหอพรรณไม้ ส่านักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืชกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.http://puechkaset.com/มะเขือเปราะ/
- รัตนา พรหมพิชัย.(2542).เขือ ข่า ใบ สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (เล่ม 2,หน้า 866.)กรุงเทพฯ:มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
- มะเขือเปราะ(Thai Eggplant) สรรพคุณและการปลูกมะเขือเปราะ.พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com