เกล็ดปลาช่อน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เกล็ดปลาช่อน งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ

ชื่อสมุนไพร  เกล็ดปลาช่อน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น  ลิ่นใหญ่ ลิ่นต้น(ภาคกลาง) หญ้าเกล็ดลิ่น(ภาคเหนือ ภาคใต้) เกล็ดปลาหมอ (ภาคอีสาน) เกล็ดลิ่นใหญ่ (โคราช) หางลิ่น(สุราษฎร์ธานี) ลูกหนีบต้น(ปราจีนบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์  Phyllodium pulchellum (L.) Desv
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์  Desmodium puchellum (L.) Benth., Hedysarum pulchellum L., Meibonia puchella
วงศ์  LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE

ถิ่นกำเนิดเกล็ดปลาช่อน

มีข้อมูลระบุว่าเกล็ดปลาช่อนจัดเป็นพันธ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในเขตร้อนทวีปเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในปัจจุบันมีการกระจายพันธุ์ในประเทศต่างๆ เช่น ไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา พม่า อินเดีย ศรีลังกา รวมไปถึงในออสเตรเลียด้วย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบเกล็ดปลาช่อนได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณป่าโปร่งทั่วไป ป่าเต็งรัง ป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ รวมถึงบริเวณที่รกร้างว่างเปล่าในที่โล่งแจ้ง ที่มีความสูงระดับน้ำทะเลไปจนถึง 1300 เมตร

ประโยชน์และสรรพคุณเกล็ดปลาช่อน

  1. แก้อาการตับทำงานผิดปกติ
  2. รักษาอาการผู้ป่วยทางจิต
  3. แก้อาการเพ้อ
  4. แก้กล้ามเนื้อสั่นกระตุก
  5. แก้ปวดท้อง
  6. แก้ปวดข้อ
  7. แก้ปวดหลัง
  8. แก้ปวดฟัน
  9. แก้ปวด
  10. แก้ปวดเส้น
  11. แก้เคล็ดบวม
  12. แก้เลือดจับตัวเป็นลิ่ม
  13. แก้อาการชักในเด็กทารก
  14. แก้อาการตกเลือด
  15. แก้ท้องร่วง
  16. รักษาโรคตา
  17. แก้ปัสสาวะพิการ
  18. แก้แผลพุพอง
  19. แก้พยาธิใบไม้ในตับ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้ไข้ แก้ปัสสาวะพิการ แก้ไข้จับสั่น โดยนำใบมาต้มกับนำดื่ม ใช้รักษาแผลพุพองโดยนำใบมาตำให้แหลกพอกบริเวณที่เป็น ใช้รักษาอาการตับทำงานผิดปกติ ตับพิการ รักษาอาการผู้ป่วยทางจิต อาการเพ้อ กล้ามเนื้อสั่นกระตุก อาการชักในเด็กทารก แก้ปวดเส้น ปวดท้อง ปวดหลัง ปวดข้อ แก้ปวดฟัน เลือดจับตัวเป็นลิ่ม โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ปวด แก้เคล็ดบวม โดยใช้รากหรือเปลือกรากมาตำพอกบริเวณที่เป็น ใช้เป็นยาแก้อาเจียนโดยนำดอกแห้งมาต้มน้ำดื่ม

ลักษณะทั่วไปของเกล็ดปลาช่อน

เกล็ดปลาช่อนจัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กถึงกลาง สูง 0.5-2 เมตร ลำต้นเล็กมีขนาด 3-4 ซม. เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลค่อนข้างเรียบ แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้นกิ่งและก้านใบมีขนนุ่มสีเทาถึงสีน้ำตาลอ่อนขึ้นปกคลุม หนาแน่น ปลายกิ่งโค้งลง ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกแบบเรียงสลับในแต่ละกิ่งมีใบย่อยรูปฝ่ามือ 3 ใบ โดยใบย่อยตรงกลางจะมีขนาดใหญ่กว่าใบย่อยด้านข้างซึ่งใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือรูปขอบขนาน โคนใบแหลมมน ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ หรืออาจเป็นคลื่นใบ มีขนาดกว้างประมาณ 4-5 ซม. ยาวประมาณ 6-10 ซม. แผ่นใบบางคล้ายกระดาษหรืออาจหนาคล้ายผิวหนัง ผิวใบด้านบนเมื่อยังอ่อนจะมีขนนุ่มขึ้นบางๆ แต่พอแก่จะเกลี้ยง ส่วนผิวใบด้านล่างมีขนสั้นนุ่มขึ้นหนาแน่น ส่วนท้องใบหยักเป็นลอน ส่วนใบย่อยด้านข้าง 2 ใบ มีขนาดเล็กกว่าใบย่อยตรงกลาง โดยมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 ซม. ยาว 3-5 ซม. โคนใบเบี้ยวมีเส้นแขนงข้างใบละ 6-10 เส้น มีก้านใบสั้นขนาด 2-3 มล. และมีแก่นช่อใบยาวประมาณ 2-3 ซม. ส่วนก้านช่อใบยาวประมาณ 5-10 มม.

           ดอก ออกช่อแบบช่อกระจะค่อนข้างยาวบริเวณซอกใบ โดยจะออกเป็นกระจุก 3-5 ดอก เรียงอยู่บนแก่นช่อดอก ดอกแต่ละกระจุกมีใบประดับคล้ายเกล็ดปลาหรือเกล็ดลิ่นหุ้มไว้ 2 ใบ โดยมีลักษณะเป็นรูปเกือบกลมมีขนทั้ง 2 ด้าน กว้าง 0.6-1.2 ซม. ยาว 0.8-1.5 ซม. ปลายเว้าตื้นโคนกลมและยังมีใบประดับแกหนึ่งใบอยู่ปลายสุด ลดรูปเป็นเส้นใบประดับย่อย ยาว 0.5-1 มม. และมีก้านดอกยาว 2-3 มม. รวมถึงมีกลีบเลี้ยงยาว 2-3 มม. โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 4 แฉก แฉกบนและแฉกข้างรูปไข่ ปลายแหลมแฉกข้างรูปไข่ แคบยาวกว่าแฉกอื่นๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ สีขาวหรือเหลืองอ่อน รูปดอกถั่วกลีบกลางรูปไข่กลับกว้าง 2.5-4 มม. ยาว 5-6 มม. ปลายแหลมมีก้านหลีบสั้นๆ กลีบคู่ข้างรูปรีแคบ กว้าง 1 มม. ยาว 5-6 มม. ปลายมนโคนมีติ่ง กลีบคู่ล่างยาวเท่ากับกลีบคู่ข้าง แต่กว้างกว่า รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี 1 ช่อง มี ออวุล 2-4 เม็ด

           ผล ออกเป็นฝักแบน รูปขอบขนาน หยักคอดเป็นข้อประมาณ 2-4 ข้อ กว้าง 4-5 มม. และยาง 7-10 มม. ผิวฝักมีขนและมีลวดลายเป็นร่างแห ด้านในฝักมีเมล็ดรูปรี กว้าง 2 มม. ยาว 2-3 มม.

เกล็ดปลาช่อน

เกล็ดปลาช่อน

การขยายพันธุ์เกล็ดปลาช่อน

เกล็ดปลาช่อนสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด ซึ่งในปัจจุบันการขยายพันธุ์ของเกล็ดปลาช่อนก็เป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากการนำเกล็ดปลาช่อนมาใช้ประโยชน์เป็นการเก็บจากธรรมชาติมากกว่าการปลูก ซึ่งอีกทั้งยังมองว่าเกล็ดปลาช่อนเป็นวัชพืชที่ขึ้นตามแหล่งรกร้างว่างเปล่า จึงไม่นิยมนำมาปลูกตามบ้านเรือน ทั้งนี้เกล็ดปลาช่อนเป็นพืชที่ปลูกได้ง่ายมีอัตราการรอดสูง และมีความทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ เป็นพืชไม่ต้องการน้ำมากและชอบแสงแดดจัด

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยของเกล็ดปลาช่อนระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น Catechin, Gallocatechin, Epigallocatechin, Coreopsin, Rutin, Dihydroquercetin, Orobol, Demethylpraecanson B, Isoquersitrin, I cariin, Wogonin, Nigrolineaxanthone, Luteolin เป็นต้น

 โครงสร้างเกล็ดปลาช่อน

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของเกล็ดปลาช่อน

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของเกล็ดปลาช่อนในต่างประเทศ ระบุว่า มีฤทธิ์ปกป้องตับ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง ต้านอาการท้องร่วง ลดความดันโลหิต ต้านภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และต้านซึมเศร้า เป็นต้น


การศึกษาทางพิษวิทยาของเกล็ดปลาช่อน 

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้เกล็ดปลาช่อนเป็นสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในปริมาณที่เหมาะสมตามที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็กและสตรีมีครรภ์ก่อนจะใช้เกล็ดปลาช่อนเป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผูเชี่ยวชาญก่อนใช้ทุกครั้ง

เอกสารอ้างอิง เกล็ดปลาช่อน
  1. พญ. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ. เกล็ดปลาช่อน. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง หน้า 74.
  2. เกล็ดปลาหมอ. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=155.
  3. Rahman M.K., Barua S., Islam M.R., Sayeed M.A., Phavin M.S., Islam M.E. Studies on the anti-diarrheal properties of leaf extract of Desmodium puchellum. Asian pec.J. Trop. Biomed. 2013;3:639-643.doi.
  4. Cai L., Wang C., Hua X.K., Dong P.P., Zhang .J. Effect of alkaloids isolated from phyllodium pulchellum on monoamine levels and monoamine oxidase activity in rat brain. Evid-Based Complement.Altern.Med.2016:1-5.
  5. Miyake T., Shibamoto T. Antoxydative activity of natural compounds found in plant. J. Agric. Food Chem.1997;45:1819-1822.
  6. Shen C.C., Wang S.T., Tsai S.Y., Yang H.C., Shieh B.J., Chen C.C. Cinnamylphenols from phyllodium pulchallum. J. Nat. Prod. 2005;68:791-793.
  7. Husain S.R., Cillard J., Cillard P. Hydroxyl radical scavenging activity of flavonoids. Phytochemistry. 1987;26:2489-2491.
  8. Wang C., Zhong M., Zhang B.J., Huo X.Y., Huang S.S., Yu S.M., Ma X.C. Chemical constituents agiants hepatic fibrosis from phyllodium pulchellum roots. Zhongyaocai. 2014;37:424-426.
  9. Rogova L.S., Gilev A.P. Antiarrhytmic properties of some imdolalkylamines. Bull. Exp. Biol. Med. 1968;66:1113-1114.