หูกวาง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

หูกวาง งานวิจัยและสรรพคุณ 29 ข้อ


ชื่อสมุนไพร หูกวาง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น โขน, โคน, คัดมือ, ตาปัง, หลุมปัง, ตาแป (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Terminalia catappa Linn.
ชื่อสามัญ Tropical almond, Indian almond, Sea almond, Umbrella tree, Oliver-bark tree
วงศ์ COMBRETACEAE

ถิ่นกำเนิดหูกวาง

หูกวาง จัดเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปเอเชีย อาทิเช่น ในเอเชียใต้ ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมถึงในเอเชียโอเชียเนีย เช่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ด้วย จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่ส่วนมากจะพบได้มากตามชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้

ประโยชน์และสรรพคุณหูกวาง

  • แก้ไข้
  • แก้หวัด
  • แก้บิด
  • แก้ท้องร่วง
  • ขับน้ำนมในสตรี
  • ใช้เป็นยาระบาย
  • แก้คุดทะราด
  • ใช้เป็นยาขับลม
  • รักษาตกขาวของสตรี
  • รักษาโรคโกโนเรีย
  • ใช้สมานแผล
  • ใช้ขับเหงื่อ
  • แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ
  • รักษาโรคทางเดินอาหาร 
  • รักษาโรคตับ
  • ช่วยบรรเทาอาการเจ็บหน้าอก
  • แก้ไขข้ออักเสบ
  • แก้ติดเชื้อในแผล
  • แก้ผดผื่นคัน
  • รักษาโรคผิวหนังจากเชื้อรา
  • ใช้ยาถ่ายพยาธิ
  • บำรุงร่างกาย
  • บำรุงเลือด
  • บำรุงหัวใจ
  • แก้นิ่ว
  • แก้ขัดเบา
  • แก้ซางในเด็ก
  • แก้ปวดตามข้อ
  • ใช้แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติในสตรี

           หูกวางถูกนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่อดีตในหลายๆ รูปแบบ อาทิเช่น ในสมัยก่อนนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากใบหูกวาง มีลักษณะใบใหญ่ สีเขียวอ่อน แลดูสวยงาม สดชื่อ และให้ร่มเงาได้เป็นอย่างดี ส่วนเมล็ดหูกวางสามารถนำมารับประทานได้ โดยนำเนื้อในเมล็ดมารับประทานทั้งแบบสดๆ และใช้เผาไฟรับประทาน อีกทั้งยังสามารถนำเมล็ดไปทำเป็นน้ำมันเพื่อนำไปใช้บริโภค หรือ ทำเครื่องสำอางได้อีกด้วย ในส่วนของเนื้อไม้สามารถนำมาแปรรูปเป็นไม้แผ่นสำหรับก่อสร้างบ้าน ทำเครื่องเรือน หรือ เฟอร์นิเจอร์ได้โดย เนื้อไม้จะมีสีแดง หรือ น้ำตาลออกดำบริเวณแก่น มีเสี้ยนละเอียดสามารถขัด และชักเงาได้ดี ส่วนใบสามารถนำมาใช้ทำสีย้อมผ้า ซึ่งจะให้สีเขียวในใบอ่อน และสีเหลืองในใบแก่ ส่วนของราก และผลดิบก็ใช้ในการฟอกย้อมหนังใช้ในการผลิตหมึกสีดำอีกด้วย

หูกวาง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้ไข้ แก้หวัด ท้องเสีย แก้โรคบิด ใช้เป็นยาระบาย แก้คุดทะราด และช่วยขับน้ำนมของสตรี โดยนำทั้งต้นหูกวาง (5 ส่วน) มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้โรคตับ แก้ปวดตามข้อ แก้ท้องเสีย แก้บิด แก้โรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร แก้ซางในเด็ก แก้โกโนเรีย แก้อาการตกขาว ขับลมโดยนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้ขับเหงื่อ ลดไข้ แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ ใช้ถ่ายพยาธิ รักษาอาการปวดตามข้อ ใช้เป็นยาระบาย โดยนำใบมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ประจำเดือนของสตรีมาไม่ปกติ โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
  • แก้ติดเชื้อในแผล ทำให้แผลหายเร็ว โดยนำใบสดมาตำพอกบริเวณแผล
  • ใช้รักษาแผล รักษาโรคผิวหนังจากเชื้อรา แก้ผดผื่นคัน โดยนำใบมาต้มกับน้ำอาบ

ลักษณะทั่วไปของหูกวาง

หูกวาง จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง ทึบมีความสูงของต้นประมาณ 10-15 เมตร มีเรือนยอดหนาแน่น แตกกิ่งก้านแผ่ออกในแนวราบเป็นชั้นๆ คล้ายฉัตร หรือ พีรามิด ลำต้นเปลาตรง เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลปนเทาเกือบเรียบ แตกเป็นร่องตื้นๆ ตามแนวนอนและแนวตั้ง และลอกออกเป็นสะเก็ดเล็กๆ ต้นที่มีอายุมาก และมีขนาดใหญ่จะมีพูพอนที่โคนต้น กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล ส่วนเนื้อไม้เป็นสีแดงเปราะหักง่าย มีเสี้ยนไม้ละเอียดสามารถขัดชักเงาได้ดี  ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงเวียนสลับหนาแน่นบริเวณปลายกิ่ง ลักษณะแผ่นใบเป็นรูปไข่กลับ ยาว 12-25 เซนติเมตร โคนใบสอบแคบมีต่อม 1 คู่ ปลายใบแหลมเป็นติ่งสั้นๆ ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบ เมื่อยังอ่อนมีสีเขียวเข้มหนา ด้านล่างจะมีสีอ่อนกว่า และมีขนนุ่มปกคลุม ใบแก่ใกล้หลุดร่วงเป็นสีส้มแดง และมีก้านใบยาว 0.5-1.5 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อเชิงลดบริเวณซอกใบ หรือ ปลายกิ่ง โดยเป็นรูปเป็นแท่งสีขาวนวล ยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร และมีดอกย่อยสีขาวที่ขนาดเล็ก ประกอบด้วยโคนกลีบเลี้ยงที่เชื่อมติดกัน ส่วนปลายแยกเป็น 5 แฉก รูปสามเหลี่ยม ไม่มีกลีบดอก ซึ่งดอกเพศผู้จะอยู่ปลายช่อ และมีดอกสมบูรณ์เพศบริเวณโคนช่อ ผลเป็นผลเดี่ยวแข็ง มีขนาดกว้าง 2-5 เซนติเมตร และยาว 3-7 เซนติเมตร ลักษณะผลเป็นรูปทรงรีค่อนข้างแบนเล็กน้อย ผิวผลเรียบ ผลด้านข้างเป็นสันบางๆ นูนออกรอบผล ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอม และเมื่อผลแห้งจะเป็นสีดำคล้ำ เปลือกผลมีเส้นใยมาก ในแต่ละผลจะมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีขนาดใหญ่รูปไข่ หรือ รูปรี แบนป้อมเล็กน้อย คล้ายอัลมอนด์ เมื่อเมล็ดแห้งจะเป็นสีน้ำตาล เปลือกแข็งภายในมีเนื้อสีขาวจำนวนมาก

หูกวาง

หูกวาง

การขยายพันธุ์หูกวาง

หูกวางสามารถขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ด และการปักชำกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ด โดยมีวิธีการดังนี้

           เริ่มจากเก็บเมล็ดมาปลูกขยายพันธุ์ ซึ่งควรเก็บเมล็ดที่แก่ ซึ่งเมล็ดหูกวาง จะมีเปลือกหนาแข็ง ควรนำมาตากแห้ง และนำมาแช่น้ำประมาณ 3-5 วันก่อนปลูก จากนั้นทำการปลูกในถุงเพาะชำ ที่ได้ผสมดินกับวัสดุการเกษตร เช่น ปุ๋ยคอก แกลบ ขี้เถ้า ขี้เลื่อย และขุ่ยมะพร้าวอย่างใดอย่างหนึ่ง ในอัตรา 1:1 หรือ 2:1 จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มคอยดูแลให้น้ำประมาณ 15-20 วัน ก็จะเกิดเป็นต้นกล้า เลี้ยงต้นกล้าต่ออีกประมาณ 15 วัน ก็สามารถนำไปปลูกได้

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมี ของสารสกัดจากใบ และเปลือกต้นของหูกวาง ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น tectochrysin, luteolin, kaempferol 3,7,4′-trimethyl ether, kaempferol, gallic acid, stigmasterol, daucosterol, β-sitosterol, geraniin, granatin B, corilagin, terflavins A และ B, punicalagin, punicalin, tergallagin, chebulagic acid, tercatain, Terminalin, Isovitexin, Isoorientin, Orientin, Corilagin, Vitexin

โครงสร้างหูกวาง

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของหูกวาง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดหูกวาง จากใบและเปลือกต้นระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สำคัญหลายประการ อาทิเช่น มีการศึกษาฤทธิ์การต้านเบาหวานของใบหูกวางในหนูทดลองที่ได้รับการกระตุ้นด้วยสเตรปโตโซโตซิน (STZ) จากสารสกัดเอทานอลจากใบหูกวาง ที่มีความเข้มข้น (300 และ 500 มก./กก.) จากนั้นค่าวิเคราะห์พารามิเตอร์ทางชีวเคมีในตัวอย่างเลือด เปรียบเทียบผลลัพธ์ของการรักษาด้วยสมุนไพรกับยามาตรฐาน glibenclamide พบว่าสารสกัดเอธานอล (500 มก./กก.) มีฤทธิ์ต้านเบาหวานอย่างมีนัยสำคัญโดยการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือด ไกลโคซิเลตฮีโมโกลบิน ไกลโคเจนในตับ ระดับ กรดยูริก และครีเอตินีนในขณะเดียวกันก็สามารถเพิ่มระดับอินซูลินในเลือดอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสารสกัดจากใบของหูกวาง ยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว และลดอาการปวดได้อีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของหูกวาง

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการนำหูกวาง มาใช้ประโยชน์ในรูปแบบสมุนไพรนั้นควรระมัดระวัง เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมตามที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ อีกทั้งผู้ที่เป็นภูมิแพ้ละอองเกสรควรระวัง ในการใช้เพราะอาจจะแพ้ละอองเกสรของต้นหูกวางได้


เอกสารอ้างอิง หูกวาง
  1. เต็ม สมิตินันท์. (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยาแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
  2. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “หูกวาง (Hu Kwang)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 335.
  3. สุธรรม อารีกุล. (2552). องค์ความรู้เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของประเทศไทย เล่ม 1. เชียงใหม่ : มูลนิธิโครงการหลวง.
  4. ราชันย์ ภู่มา. (2559). สารานุกรมพืชในประเทศ (ฉบับย่อ) เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา. กรุงเทพฯ : สำนักงานหอพรรณไม้สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยาแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.
  5. ต้นหูกวาง ประโยชน์และสรรพคุณต้นหูกวาง. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  6. Oelrichs, P.B., Pearce, C.M., Zhu, J., Filippich, L.J., 1994. Isolation and structure determination of terminalin a toxic condensed tannin from Terminalia oblongata. Nat. Toxins 2, 144–150.
  7.  Arumugam Vijaya Anand, Natarajan Divya1, Pannerselvam Punniya Kotti. - An updated review of Terminalia catappa, Pharmacogn Rev. 9 (18) (2015) 93-98. DOI: https://doi.org/10.4103/0973-7847.162103 
  8. Lin, Y.L., Kuo, Y.H., Shiao, M.S., Chen, C.C., Ou, J.C., 2000. Flavonoid glycosides from terminalia catappa L. J. Chin. Chem. Soc. 47, 253–256
  9. Mohale D. S., Dewani A. P., Chandewar A. V., Khadse C. D., Tripathi A. S., Agrawal S. S. - Brief review on medicinal potential of Terminalia catappa, Journal of Herbal Medicine and Toxicology 3 (1) (2009) 7-11.