ยี่หร่า ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ยี่หร่า งานวิจัยและสรรพคุณ 24 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร ยี่หร่า
ชื่ออื่นๆชื่อท้องถิ่น กระเพราญวน, กระเพราควาย, โหระพาช้าง (ภาคกลาง), จันทร์น้อย, จันทร์หอม, จันทร์หมาวอด, จันทร์ขี้ไก่, จันทร์เนียม (ภาคเหนือ), หร่า, รา (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ocimum gratissimum Linn. 
ชื่อสามัญ Tree basil, Clove basil, Wild basil, Shrubby basil, Indian Tree Basil, African basil
วงศ์ LAMIACEAE

ถิ่นกำเนิดยี่หร่า

ยี่หร่า เป็นพืชในสกุลเดียวกับ กระเพรา (ocimum) มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศอินเดีย, บังคลาเทศ, ศรีลังกา, พม่า, ไทย, ลาว, มาเลเซีย เป็นต้น ในปัจจุบันจัดเป็นพืชสมุนไพรที่พบได้อย่างแพร่หลายในบริเวณพื้นที่เขตร้อน และเขตอบอุ่นทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศโดยเฉพาะในเขตภาคเหนือ และภาคใต้ของประเทศมักจะพบได้มากเนื่องจากนิยมนำไปเป็นส่วนประกอบในการทำอาหารต่างๆ

ประโยชน์และสรรพคุณยี่หร่า

  • รักษาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน
  • แก้ท้องเสีย
  • แก้ปวดหัว
  • รักษาโรคผิวหนัง
  • รักษาโรคปอดบวม
  • ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย
  • ช่วยขับเหงื่อ
  • ช่วยแก้โรคเบื่ออาหาร
  • ช่วยแก้อาการปวดท้องเนื่องจากอาหารไม่ย่อย
  • ช่วยลดอาการปวดประจำเดือนในสตรี
  • แก้คลื่นไส้อาเจียน
  • แก้พิษตานซาง
  • แก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • แก้บิด
  • ช่วยขับน้ำดี
  • แก้ธาตุพิการ
  • แก้ไตอักเสบ
  • บำรุงสายตา
  • ช่วยขับน้ำนม
  • ช่วยในการทำงานของระบบย่อยอาหาร
  • ช่วยในการขับลมในลำไส้
  • ช่วยระงับอาการหดเกร็งของไส้
  • ช่วยคลายเครียด
  • ช่วยฆ่าเชื้อจุลินทรีย์

           ใบยี่หร่า นิยมใช้เป็นเครื่องปรุง หรือ เป็นส่วนประกอบในอาหารหลายชนิด อาหารไทยบางชนิดนิยมใช้ยี่หร่าในการช่วยปรุงแต่งกลิ่นอาหาร ด้วยการใช้เมล็ดคั่วมาโขลกผสมกับเครื่องแกง ส่วนเมล็ดของยี่หร่า นิยมนำมาช่วยในการถนอมอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ด้วยการนำมาป่น หรือ ตำผสมในเนื้อสัตว์เวลาหมัก ซึ่งจึงช่วยป้องกันอาหารไม่ให้เกิดการบูดเน่าเสียเร็วขึ้น และยังช่วยป้องกันกลิ่นเหม็นอับของเนื้อสัตว์เวลาหมักก่อนนำไปตากแห้งอีกด้วย


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ช่วยในการทำงานของระบบย่อยอาหาร หรือ แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง ท้องเสีย ให้ใช้รากแห้ง หรือ ต้นแห้งนำมาต้มกับน้ำใช้ดื่ม วันละ 3 เวลา หรือ จะใช้ใบยี่หร่า แห้งชงเป็นชาดื่มก็ได้ ช่วยบำรุงธาตุ ช่วยขับเหงื่อ ลดอาการปวดประจำเดือน แก้อาเจียน ขับลม ขับน้ำนม ให้ใช้ใบแห้งนำมาต้ม หรือ ชงบา กับน้ำร้อนแล้วใช้รับประทาน เช้า-เย็น หรือ อาจนำใบสดมาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำอาหารรับประทานก็ได้เช่นกัน ช่วยฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ด้วยการใช้ผลแห้งประมาณ 3-5 กรัม นำมาชงกับน้ำเดือดประมาณ 1 ลิตร ทิ้งไว้สักระยะแล้วจึงนำมาดื่มวันละ 3-4 ถ้วยตวง


ลักษณะทั่วไปของยี่หร่า

ยี่หร่าจัดเป็นพืชล้มลุกมีลักษณะ เป็นไม้พุ่มเตี้ย มีความสูงประมาณ 0.5-1 เมตร ลำต้นกลมมีสีน้ำตาลแก่ มักจะแตกกิ่งก้านสาขามากแต่ กิ่งก้านจะไม่ใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ลักษณะของเป็นรูปกลมรี โคนใบสอบ ปลายใบแหลม ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย ใบสีเขียวสด ผิวด้านบนมีสีสดกว่าด้านล่าง ผิวใบสากมือ มีขนสีขาวๆ เล็กปกคลุม ใบยี่หร่า มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ดอก ออกดอกเป็นช่อคล้ายๆ ฉัตรที่บริเวณปลายยอด ช่อดอกนั้นจัดเป็นแบบ Spike-like raceme ดอกจะบานจากล่างไปหาปลายช่อ โดยแต่ละช่อจะประกอบไปด้วยดอกย่อยขนาดเล็กสีขาว หรือ สีม่วง ประมาณ 50-100 ดอก ผล มีลักษณะเป็นรูปกลมรี แต่ละผลมีขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร เมื่อยังอ่อนจะเป็นสีเขียว แต่พอแก่แล้วจะกลายเป็นสีดำ หรือ สีน้ำตาลอ่อน ภายในผลมีเมล็ดสีดำ หรือ น้ำตาลขนาดเล็กจำนวนมาก

ยี่หร่า

ยี่หร่า

การขยายพันธุ์ยี่หร่า

ยี่หร่าเป็นพืชในสกุลเดียวกันกับกะเพรา ดังนั้นในการขยายพันธุ์จึงสามารถทำได้ เช่นเดียวกับการขยายพันธุ์กระเพรา คือ สามารถขยายพันธุ์ โดยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำกิ่ง โดยมีวิธีการดังนี้ 

         การปลูกด้วยเมล็ด

  • โรยเมล็ดพันธุ์บนดินเพื่อเพาะเมล็ดให้เป็นต้นอ่อนจากนั้น
  • ผสมดินกับปุ๋ยคอก และกาบมะพร้าวหั่นชิ้นเล็กๆ ใส่ลงในกระถางหรือคลุกกับดินในแปลงที่ต้องการปลูกแล้ว
  • แยกต้นอ่อนมาปลูก บนดิน หรือ ในกระถางที่เตรียมไว้ จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มและเมื่อต้นยี่หร่า โตแล้วต้อง
  • คอยตัดกิ่ง และเด็ดดอกทิ้ง จะแตกใบอ่อนมาเรื่อยๆ ถ้าปล่อยดอกไว้ต้นจะโทรม

           ส่วนวิธีการปักชำยี่หร่า นั้น จะใช้กิ่งอ่อนมาปักชำ (ไม่ใช้กิ่งแก่) โดยตัดกิ่งยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตรแล้ว ริดใบออกบ้างเพื่อลดการคายน้ำของใบ วัสดุที่ใช้ปักชำควรมีคุณสมบัติในการระบายน้ำดี ซึ่งจะช่วยไม่ให้กิ่งเน่า แต่ก็รักษาความชื้นได้ดี โดยอาจใช้ดินสำหรับเพาะชำ หรือ ใช้ทรายละเอียดผสมแกลบเผาและขุยมะพร้าว ในอัตราส่วนเท่าๆ กัน โดยคลุกเคล้าให้เข้ากัน และวัสดุปักชำในภาชนะโดยต้องอัดให้แน่นๆ เต็มภาชนะ จากนั้นหาไม้ หรือ อะไรก็ได้มาแทงลงในวัสดุปักชำให้เป็นรู แล้วจึงเอากิ่งที่เราจะเอามาจะขยายพันธุ์ปักชำลงไปแล้วกลบวัสดุให้แน่นๆ เมื่อปักชำในภาชนะเสร็จแล้วก็เอามาไว้ในที่แดดรำไร หากเป็นหน้าฝน มีฝนตกชุกก็อาจไม่ต้องรดน้ำบ่อย แต่หากเป็นหน้าร้อน ต้องรดน้ำเช้าเย็น ประมาณ 15-20 วัน พืชจะเริ่มออกราก เมื่อพืชออกรากเยอะแล้วก็สามารถย้ายไปปลูกในภาชนะ หรือ ลงดินที่เตรียมไว้

           ทั้งนี้กะเพราควายเป็นพืชที่ชอบ ระบายน้ำดีน้ำไม่ขัง ชอบแสงแดด ต้องดูแลรดน้ำเสมอ แต่ก็สามารถโดนแดดได้ตลอดวัน โดยต้องหมั่นรดน้ำให้ชุ่ม เช้าเย็น กะเพราควายจะเก็บเกี่ยว ผลผลิตได้ประมาณ 2 เดือน หลังจากการปลูก แต่สามารถเก็บเกี่ยวไปได้เรื่อยๆ ทุกๆ 20-30 วัน


องค์ประกอบทางเคมี 

ใบยี่หร่า ประกอบด้วยสารฟลาโวนอยด์ เช่น cosmosiin, cynaroside, luteolin สารฟีโนลิก และน้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบด้วยสารพวกเทอร์ปีนส์ เช่น bornyl acetate, α-terpinene และ γ-terpinen,eugenol pherd thymol, eugenol เป็นต้น

 รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของยี่หร่า
โครงสร้างยี่หร่า

ที่มา : Wikipeia

           นอกจากนี้ใบยี่หร่า ที่นิยมใช้บริโภคกันยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของใบยี่หร่า ต่อ 100 กรัม


การศึกษาทางเภสัชวิทยาของยี่หร่า

ฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้ มีการศึกษาวิจัยจากนักวิจัยฃบราซิลได้ทดลองนำเอาน้ำมันหอมระเหยจากยี่หร่า ไปทดสอบกับลำไส้หนูตะเภาที่ตัดแยกจากลำตัว พบว่าในขนาด 0.1-1000 มคก./มล. มีผลคลายกล้ามเนื้อลำไส้ และต้านการหดเกร็งที่เกิดจาก KCl และ acetylcholine ค่าที่ทำให้คล้ายกล้ามเนื้อได้ 50% (IC50) คือ 23.8 มคก./มล. และที่ต้าน KCl และ acetylcholine 50% คือ 18.6 และ 70 มคก./มล. 

           ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด มีการศึกษายี่หร่าเพื่อใช้ลดไขมันในหนูขาวที่เป็นเบาหวานจากการเหนี่ยวนำด้วย alloxan โดยการทดลองป้อนน้ำสกัดยี่หร่าขนาด 0.25 ก./กก. เป็นเวลานาน 6 สัปดาห์ ผลปรากฏว่า สารสกัดยี่หร่า มีฤทธิ์ลดน้ำตาล และเพิ่ม tatal haemoglobin, glycosylated haemoglobin และยังช่วยป้องกันภาวะน้ำหนักตัวลดลงด้วย นอกจากนี้ยี่หร่ายังมีฤทธิ์ลด cholesterol, phospholipid, free fatty acid, triglyceride ในเลือดและเนื้อเยื่อ และยังช่วยลดการเปลี่ยนแปลงของ fatty acid และการแทรกซึมของ inflammatory cell ในตับอ่อน 

           ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด สารสกัดด้วยเอทานอลจากเมล็ดยี่หร่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งการเกิด 2, 2-Diphynyl-1-picryhydrazyl (DPPH) และ Superoxide ได้ 50% (IC50) เท่ากับ 230 และ 1,120 µg/ml ตามลำดับ และเมื่อทดสอบในหลอดทดลองที่ใส่ซีรัมโปรตีนจากวัว (bovine serum albumin) กับน้ำตาล พบว่าสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดยี่หร่าสามารถยับยั้งการเกิดสารที่จับกับน้ำตาลเมื่อน้ำตาลในเส้นเลือดมีปริมาณสูงขึ้น (Advanced Glycated End products; AGEs) และเมื่อป้อนสารสกัดเอทานอลจากยี่หร่าความเข้มข้น 200, 400 และ 600 mg/kg หรือ glibenclamide (ยามาตรฐานลดน้ำตาลในเลือด) 10 mg/kg แก่หนูแรทที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย Streptozocin เป็นเวลา 28 วัน พบว่ามีการลดลงของระดับน้ำตาลในเลือด ปริมาณน้ำตาลที่จับอยู่กับฮีโมโกลบินในเลือด (GHb) Creatinine และ ยูเรียไนโตรเจนในเลือด (blood urea nitrogen; BUN) รวมทั้งช่วยเพิ่มระดับอินซูลินในซีรั่ม และ glycogen ในตับและกล้ามเนื้อโครงร่างเมื่อเทียบกับหนูกลุ่มควบคุมที่เป็นเบาหวาน หนูที่ได้รับสารสกัดเอทานอลจากยี่หร่า สามารถลดอนุมูลอิสระและลดการสร้าง AGEs ที่ไตอย่างมีนัยสำคัญ ช่วยเพิ่มระดับ collagen และลดการเกิด collagen glycation ที่เอ็นหางหนู เมื่อเทียบกับหนูกลุ่มควบคุมที่เป็นเบาหวาน และหนูที่ได้รับยา glibenclamide นอกจากนี้พบว่าการป้อนสารสกัดเอทานอลจากยี่หร่า และยา glibenclamide ช่วยส่งเสริมการต้านอนุมูลอิสระที่ไต และตับอ่อนของหนูที่เป็นเบาหวาน แม้ว่าสารสกัดเอทานอลจากยี่หร่า และยา glibenclamide มีฤทธิ์ต้านเบาหวานใกล้เคียงกัน แต่สารสกัดเอทานอลจากยี่หร่าให้ผลในการต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งการสร้าง AGEs ได้ดีกว่ายา glibenclamide ซึ่งปริมาณอนุมูลอิสระและสาร AGEs สัมพันธ์กับพยาธิกำเนิดของภาวะโรคแทรกซ้อนจากหลอดเลือดเล็กในคนที่เป็นเบาหวาน

           การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ของสารสกัดยี่หร่า ที่สกัดด้วยเอทานอล 95% โดยทำการทดสอบกับเชื้อแบคทีเรีย 6 ชนิด คือ Staphylococcus aureus Streptococcus pyogenes Streptococcus agalactiae Salmonella typhi Escherichia coli และเชื้อ Klebsiella pneumoniae ด้วยวิธี Agar disc diffution method พบว่า ยี่หร่า (Ocimum gratissimum L.) มีฤทธิ์ยับยั้ง เชื้อ Streptococcus agalactiae ได้ดีที่สุด รองลงมา คือ Streptococcus pyogenes Staphylococcus aureus Salmonella typhi Klebsiella pneumoniae และ Escherichia coli จากการทดสอบหาค่าความเข้มข้นตํ่าสุดที่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ (Minimal inhibitory concentration, MIC) ของสารสกัดจากใบและเมล็ดของยี่หร่า ด้วยวิธี Broth dilution technique โดยมีค่าเริ่มต้นศึกษาที่ค่าความเข้มข้นสูงสุด 100 mg/ml พบว่า ค่า MIC ของสารสกัดจากใบและเมล็ดของยี่หร่า ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียทั้ง 6 ชนิด เรียงลำดับตามสารสกัดที่ความเข้มข้นต่าสุด คือ 6.25 mg/ml ในเชื้อ Streptococcus agalactiae 12.5 mg/ml ในเชื้อ Streptococcus pyogenes และ Staphylococcus aureus 25 mg/ml ในเชื้อ Salmonella typhi และ Klebsiella pneumoniae 50 mg/ml ในเชื้อ E. coli

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยี่หร่าในต่างประเทศอีกมากเช่น การศึกษาวิจัยที่ประเทศรวันดาพบว่าน้ามันหอมระเหยจากยี่หร่าแสดง ฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ได้ดี และเมื่อปี ค.ศ.2004 มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ในการต้านเชื้อราของยี่หร่า และได้พบว่าน้ำมันหอมระเหยของยี่หร่า จะทำ ปฏิกิริยากับผนังเซลล์ของเชื้อราทำ ให้เกิดการรบกวนการแลกเปลี่ยนสารของเซลล์กับสิ่งแวดล้อมภายนอกเป็นผลให้เชื้อราไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ซึ่งให้ผลเทียบเท่ากับยาต้านเชื้อราที่ใช้อยู่โดยทั่วไป


การศึกษาทางพิษวิทยาของยี่หร่า

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ยี่หร่า เป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยนิยมใช้กันมานานตั้งแต่อดีตแล้ว ไม่ว่าจะใช้เป็นเครื่องปรุงรสอาหาร หรือ ส่วนประกอบของอาหารต่างๆ รวมถึงใช้เป็นยาสมุนไพรพื้นบ้าน ซึ่งเราจะสังเกตได้ว่าหากใช้ในปริมาณที่พอดี หรือ ใช้ตามที่ภูมิปัญญาของไทยได้กำหนดเอาไว้ก็จะไม่ส่งผลเสียแต่อย่างใด แต่ตามใช้ในปริมาณมากเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจนเกินไทยก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวได้เช่นกัน

เอกสารอ้างอิง ยี่หร่า
  1. ฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียงของลำไส้หนูตะเภาของยี่หร่า. ข่าวความเคลื่อนหนสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. ราชันย์ ภู่มา และ สมราน สุดดี. (บรรณาธิการ). (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2557. กรุงเทพฯ: สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืชกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. https://medthai.com/ยี่หร่า/
  3. วีระศักดิ์ พักตรานวลหง. พืชผักตระกูลกะเพรา. กรุงเทพมหานคร. คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต. ตุลาคม 2549
  4. ยี่หร่ากับฤทธิ์ลดไขมันในหนูขาวที่เป็นเบาหวานจาก alloxan. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชมหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. รองเดช.ตั้งตระกางพงศ์,จุลจิตร์ตั้งตระการพงษ์.ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดยี่หร่า. วารสารวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี. ปีที่ 10. ฉบับที่ 1 มกราคม-ธันวาคม 2556. หน้า 40-46
  6. ยี่หร่ากับการต้านภาวะน้ำตาลในเลือดสูง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. ใบยี่หร่า.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5815
  8. วีรชัย พุทธวงศ์. ต้นกำ เนิดอีเฟดรีน (Ephedrine) ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) ยาไอซ์ ความสัมพันธ์กับแอมเฟตามีน(Amphetamine) ยาบ้า. [Online] Available: http://www.gotoknow.org/posts/484346.2555.
  9. กลุ่มวิจัยและพัฒนา: กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข.วัตถุเสพติด [Online] Available: http://www.fda.moph.go.th/fda-net/html/product/addict/narcotics2/Ephedrine.html2546