สร้อยอินทนิล ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

สร้อยอินทนิล งานวิจัยและสรรพคุณ 20 ข้อ

ชื่อสมุนไพร สร้อยอินทนิล
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ช่ออินทนิล (ภาคกลาง), ย้ำแย้ (ภาคเหนือ), น้ำผึ้ง (ภาคตะวันออก), ปากกา, ช่องหูปากกา, คาย (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Thunbergia grandiflora (Roxb. Ex Rotter.) Roxb.
ชื่อสามัญ Blue trumpet vine, Blacd clock vine, Bengal clock vine, Skyflower, skyvine
วงศ์ ACANTHACEAE


ถิ่นกำเนิดสร้อยอินทนิล

สร้อยอินทนิล เป็นพืชเถาที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมเป็นบริเวณกว้าง บริเวณตอนเหนือของอินเดีย เนปาล พม่า และไทย ต่อมาจึงได้กระจายพันธุ์ไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้อื่นๆ ในปัจจุบันพบว่ามีการกระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยพบสร้อยอินทนิล ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ บริเวณที่รกร้างว่างเปล่า ตามชายป่า ป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไปถึง 1200 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณสร้อยอินทนิล

  1. ใช้แก้ปวดท้อง
  2. แก้ปวดกระดูก ปวดหลัง และปวดตามข้อ
  3. แก้ติดเชื้อ
  4. แก้โรคผิวหนัง
  5. แก้ผื่นคัน
  6. แก้หูด
  7. แก้แผลติดเชื้อ
  8. แก้แผลถลอก
  9. ใช้รักษาแผลสด
  10. ช่วยห้ามเลือด
  11. ใช้แก้ฟกช้ำบวม
  12. แก้แผลอักเสบ
  13. ใช้บำรุงร่างกาย
  14. ช่วยขับปัสสาวะ
  15. แก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
  16. รักษาโรคทางเดินปัสสาวะต่างๆ
  17. รักษาอาการไข้
  18. แก้อาการอักเสบ
  19. รักษาริดสีดวงทวาร
  20. ใช้เป็นยาแก้พิษงู

           มีการนิยมนำสร้อยอินทนิล มาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป โดยมักจะปลูกประดับในซุ้มโปร่ง หรือ ปลูกให้ขึ้นตามหลังคาซุ้มม้านั่งต่างๆ เพราะดอกมีสีสันสวยงาม และจะห้อยลงมาทำให้ดูสวยงาม นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการทดลองนำสร้อยอินทนิลมาปลูกเป็นป่านตามที่ใกล้ๆ ประตู และหน้าต่าง เพื่อให้ใบของสร้อยอินทนิล ดักจับฝุ่น PM10 อีกด้วย

สร้อยอินทนิล

สร้อยอินทนิล

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้บำรุงร่างกาย ขับปัสสาวะ รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ และนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ โดยนำรากเถา และใบมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ปวดท้อง แก้อักเสบติดเชื้อ แก้ปวดกระดูก โดยนำใบสร้อยอินทนิล มาชงกับน้ำ หรือ นำมาต้มกับน้ำดื่มก็ได้
  • แก้ฟกช้ำบวม แก้อักเสบ โดยนำราก และเถามาตำพอกบริเวณที่เป็น
  • ใช้รักษาแผลสด แผลถลอก ห้ามเลือด โดยนำใบมาตำพอกบริเวณที่เป็น
  • แก้ติดเชื้อ แก้อักเสบบวมช้ำ แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน หูด โดยนำใบมาคั้นเอาแต่น้ำทาบริเวณที่เป็น
  • สำหรับในเอเชียใต้ใช้สร้อยอินทนิลรักษาอาการไข้ แก้ปวดหลัง และปวดตามข้อ แก้อาการอักเสบ ริดสีดวงทวาร แก้โรคผิวหนัง และใช้เป็นยาแก้พิษงูอีกด้วย


ลักษณะทั่วไปของสร้อยอินทนิล

สร้อยอินทนิล จัดเป็นไม้เถาเนื้อแข็งขนาดเล็กถึงกลาง โดยมักจะเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่นไปได้ไกล 15-20 เมตร และเถามีลักษณะกลม แตกเป็นร่องตื้นๆ เปลือกสีน้ำตาล ลอกออกเป็นสะเก็ดบางๆ เล็กๆ ส่วนเถาที่อายุน้อยเปลือกจะเรียบ และเป็นสีเขียวเข้ม

           ใบสร้อยอินทนิล เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามบริเวณข้อลำต้นทั้ง 2 ข้าง ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ หรือ เป็นรูปไข่ แกมรูปหัวใจมีขนาดกว้าง 10-13 เซนติเมตร และยาว 12-15 เซนติเมตร โคนใบมนเว้าลึก ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเว้าเป็นแฉกตื้นๆ 5-7 แฉก แผ่นใบอ่อนสีเขียวอ่อน ใบแก่เป็นสีเขียวเข้ม เนื้อใบค่อนข้างหนา หลังใบด้านบนมีขนสั้นๆ สากคายมือ ส่วนท้องใบด้านล่างเกลี้ยง มีเส้นใบออกจากโคนใบประมาณ 3-5 เส้น และแตกแขนงสานกันเป็นร่างแห มองเห็นได้ชัดเจน และมีก้านใบยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร

           ดอกสร้อยอินทนิล ออกเป็นช่อบริเวณปลายยอด หรือ ปลายกิ่ง โดยช่อดอกจะห้อยลงส่วนดอกย่อยมีลักษณะคล้ายกับดอกรางจืด เป็นสีม่วงแกมสีน้ำเงิน หรือ สีฟ้าอ่อน มีกลีบดอก 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ามีขนาดกว้าง 2.7-3.2 เซนติเมตร และยาว 2.5-3 เซนติเมตร เป็นรูปขอบขนาน หรือ รูปโล่ ขอบกลีบดอกบิดย้วย และหยักเล็กน้อย ปลายกลีบดอกมนส่วนโคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดใหญ่ๆ ด้านล่างมีแต้มสีม่วงเข้ม ส่วนปลายบานออก ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7-8 เซนติเมตร ภายในหลอดเป็นสีเหลืองนวล ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน แบ่งเป็นขนาดสั้น 2 อัน และยาว 2 อัน และมีเกสรเพศเมียที่อยู่ในหลอดดอก ด้านล่างดอกมีใบประดับ หรือ กลีบเลี้ยงสีเขียวขนาดใหญ่ 2 ใบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน หรือ รูปโล่ ปลายมนแหลม มีขนาดกว้าง 1.5-2 เซนติเมตร และยาว 2.5-3 เซนติเมตร ซึ่งกลีบเลี้ยงจะหลุดเมื่อดอกบาน

           ผลสร้อยอินทนิล เป็นผลแห้งขนาดของผลประมาณ 1 เซนติเมตร ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ปลายสอบแหลมเป็นจะงอยคล้ายปากนก ผลอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนผลแก่จะเป็นสีน้ำตาลเข้ม เมื่อผลแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก ด้านใน มีเมล็ด ลักษณะแบน ยาว 1 เซนติเมตร หุ้มด้วยเปลือกสีน้ำตาล โดยเมื่อผลแก่เต็มที่เปลือกดังกล่าวจะดีดเมล็ดออกมาได้ไกลหลายเมตร ทั้งนี้สร้อยอินทนิล และรางจืด มีความเหมือนกันมากทั้งเถาใบ และดอกแต่จุดสังเกตุที่ต่างกันมากที่สุด คือ ใบของสร้อยอินทนิลเป็นใบเดี่ยว ที่ปลายใบหยักเว้าเป็นแฉก ในขณะที่ใบของรางจืดเป็นใบเดี่ยวรูปขอบขนาด หรือ รูปไข่

สร้อยอินทนิลกับรางจืด

สร้อยอินทนิล

การขยายพันธุ์สร้อยอินทนิล

สร้อยอินทนิล สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การใช้เมล็ด การปักชำ การใช้หน่อ สำหรับวิธีที่เป็นที่นิยม คือ การปักชำ เนื่องจากเป็นวิธีที่สะดวก และได้ต้นพันธุ์ในเวลารวดเร็ว สำหรับวิธีการปักชำสร้อยอินทนิล นั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกับการปักชำ เถารางจืด ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความ “รางจืด” ทั้งนี้สร้อยอินทนิลเป็นพืชเถาที่เจริญเติบโตได้รวดเร็ว ชอบแสงแดดแบบเต็มวัน และชอบความชื้นปานกลาง


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมี ของสารสกัดเมทานอลจากใบ และน้ำมันหอมระเหยจะส่วนราก และใบของสร้อยอินทนิล ในต่างประเทศระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่นสารสกัดเมทานอลจากใบพบสาร Caffeic acid, Kaempferol, Kaempferol-6-C-sophoroside, Kaempferide 3-O- ɑ-L-arabinofuranoside, Quercetrin, isoquercetrin, Quercetin-3-O-rutinoside-7-O-α-L, rhamnopyrano side ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากส่วนใบของสร้อยอินทนิลพบสาร 3-octanol, phytol, hexadecanal, pentadecanal, tetradecenal, n-pentadecanol, n-hexadecanoic acid, Ethyl hexadecanoate, Cis - 9 - hexadecenal, α phenylethylbutanoate, 2 ethyl hexyl isohexylsulphurate เป็นต้น และน้ำมันหอมระเหยจากรากสร้อยอินทนิลพบสาร Methyl salicylate, Nonylcyclopropane, hexadecane, phytol, pentadecanal, 2,7 dimethyl octane และ Benzo [b] thiophene-3-carboxylic acid เป็นต้น

โครงสร้างสร้อยอินทนิล     

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสร้อยอินทนิล

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดสร้อยอินทนิล จากส่วนใบ ในต่างประเทศระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้

           ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ มีการประเมินฤทธิ์ต้านจุลชีพของสาร caffeic acid, Kaempjerol-3-O-α-L-arabinofuranoside, Kaempferol-3-O-α-L1C4-rhamnopyranoside และ quercetin ตามลำดับ ต่อเชื้อรา แบคทีเรีย แกรมบวก และแบคทีเรียแกรมลบ พบว่าสามารถสารต้านจุลชีพได้หลายชนิดอาทิเช่น Aspergillus fumigatus, Candidia albicans, streptococcus pneumoniae, staphylococcus aureus และ Escherichia coli แต่ไม่มีผลต่อเชื้อ Pseudomonas aeruginosa. สาร Kaempferid-3-O-α-L-arabinofura noside และ สาร quercetin เป็นสารประกอบที่มีฤทธิ์มากที่สุด

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลิอิสระ มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง ของสารสกัดเมธานอลจากส่วนใบของสร้อยอินทนิล คำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์ของการเปลี่ยนแปลงการดูดกลืนแสง (DPPH) โดยใช้วิตามินซี เป็นสารมาตรฐานพบว่าเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเทียบกับความเข้มข้นของสารสกัดที่ถูกตึงออกมา มีค่าเท่ากับ 640µg/mL (70.4%)


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสร้อยอินทนิล

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้สร้อยอินทนิล เป็นสมุนไพรนั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสม ที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง สร้อยอินทนิล
  1. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “สร้อยอินทนิล”. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. หน้า 212.
  2. เต็ม สมิตินันทน์. 2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (แก้ไข พ.ศ.2544) สำนักวิชาการป่าไม้ ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กรมป่าไม้. 810 น.
  3. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “สร้อยอินทนิล (Soi Intanin)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 288.
  4. ธงชัย เปาอินทร์ และนิวัตร เปาอินทร์. 2554. ต้นไม้ยาน่ารู้,ออฟเซ็ทเพรส. กรุงเทพฯ 376 น.
  5. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. “สร้อยอินทนิล”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 176.
  6. กมลชนก ศรีนวล และพินิต ชินสร้อย. 2544. ฤทธิ์ต้านการอักเสบของตำรับสมุนไพร วิทยานิพนธ์ กรุงเทพฯมหาวิทยาลัยมหิดล
  7. Ismail LD, El-Azizi MM, Khalifa TI, Stermitz FR. Iridoid glycosides from Thunbergia grandiflora. Phytochemistry, 1996; 42:1223-1225.
  8. "Thunbergia  grandiflora". Australian Plant Name Index (APNI), IBIS database. Centre for Plant Biodiversity Research, Australian Government, Canberra; 2013.
  9. Bauer AW, Kirby WMM, Sherris JC, Turck M. Antibiotic susceptibility testing by a standardized single disc method. American Journal of Clinical Pathology. 1996; 45:493-496.
  10. Kar A, Goswami NK, Saharia D. Distribution and traditional uses of Thunbergia retzius (Acanthaceae) in Assam, India. Pleione. 2008;7:325-32.
  11. Thewfweld W. Enzymatic method for determination of serum AST and ALT. Dtsch. Med. 1974; 99:343.
  12. Oratai N. Diversity of  medicinal plants for fever healing from Khao Phanom Benja National Park, Krabi Province. KKU Sci J. 2014;42(2):313-26
  13. Klassen CD, Plaa GL. Comparison of the biochemical alteration elicited in liver of rats treated with CCl4 and CHCl3.Toxic. Appl. Pharmacol. 1969; 18:20