ทุเรียน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ทุเรียน งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ทุเรียน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เรียน (ภาคใต้), ดูรียัน, ดือแย่ (มาเลเซีย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Durio zibethinus Murray
ชื่อสามัญ Durian
วงศ์ MALVACEAE - BOMBACEAE
ถิ่นกำเนิดทุเรียน
ทุเรียน มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมบริเวณหมู่เกาะอินโดนีเซีย แถบประเทศบรูไน และมาเลเซีย โดยถือว่าเป็นพืชท้องถิ่นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และตอนใต้ของไทย ต่อมาได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังฟิลิปปินส์ตอนใต้ ออสเตรเลียตอนบน และยังมีการนำทุเรียน ไปปลูกทดลองในแถบอเมริกากลาง เช่น ในเปอร์โตริโก โดมินิก้า จาไมก้า ฮอนดูรัส และตอนใต้ของรัฐฟลอริดา แต่ไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก
สำหรับในประเทศไทยในอดีตมีการปลูกทุเรียน ในภาคตะวันออก และภาคใต้ของไทย แต่ปัจจุบันมีการปลูกทุเรียนได้เกือบทุกภูมิภาคของประเทศ แต่ทางภาคใต้ และภาคตะวันออกจะพบได้มากที่สุด ส่วนพันธุ์ทุเรียนในไทยมีหลากหลาย แต่พันธุ์ที่ได้รับความนิยม มีไม่กี่พันธุ์ เช่น หมอนทอง ชะนี กระดุม ก้านยาว และพวงมณี เป็นต้น
ประโยชน์และสรรพคุณทุเรียน
- แก้ไข้
- แก้ท้องร่วง
- แก้ดีซ่าน
- ช่วยขับพยาธิ ขับพยาธิไส้เดือน
- ช่วยทำให้หนองแห้ง
- ใช้รักษาตานซาง
- รักษากลากเกลื้อน
- แก้น้ำเหลืองเสีย
- แก้คางทูม
- ใช้สมานแผล
- รักษาแผลพุพอง
- แก้ฝี ทำให้ฝีแห้ง
- ใช้บำรุงกำลัง
- ใช้ให้ความร้อนกับร่างกาย
- แก้จุกเสียดในท้อง
- แก้โรคผิวหนัง
ทุเรียน จัดเป็นราชาแห่งผลไม้ โดยเป็นผลไม้ที่คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง และในปัจจุบันเริ่มมีการบริโภคทุเรียนสดกันมากขึ้น ในทั่วโลกในทุกๆ ปี นอกจากนี้ยังมีการนำเนื้อทุเรียน สุกมา ปรุง หรือ แต่งรสอาหารหวานหลายชนิด เช่น ข้าวเหนียวน้ำกะทิทุเรียน ลูกอม ไอศกรีม ขนมบิสกิต ทุเรียนกวน แยมทุเรียน ขนมไหว้พระจันทร์ และใช้เป็นทอปปิ้ง แต่งหน้าเค้ก เป็นต้น
ส่วนเนื้อทุเรียนห่ามๆ ก็นำมาทำทุเรียนทอดได้อีกด้วย นอกจากนี้เมล็ดในของทุเรียนยังสามารถนำรรับประทานได้ โดยมีการนำมาคั่ว การทอดในน้ำมัน หรือ นำมานึ่ง โดยเนื้อในจะมีลักษณะคล้ายกับเผือก หรือ มันเทศ แต่จะมีความเหนียวกว่า
ส่วนชาวมาเลเซีย มีการดื่มน้ำต้มใบ และรากทุเรียน เพื่อลดไข้ รวมถึงใช้ใบมาประคบตรงหน้าฝากอีกดด้วย และแพทย์แผนจีนยังเชื่อว่า เนื้อทุเรียนมีผลสำหรับอบอุ่นร่างกาย และขับเหงื่อ ถ้าต้องการลดฤทธิ์นี้ให้กินร่วมกับเนื้อมังคุดที่มีฤทธิ์ช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้แก้ไข้ และแก้ท้องร่วง โดยนำรากทุเรียนมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้บำรุงกำลัง ให้ความร้อนกับร่างกาย แก้จุกเสียดในท้อง แก้โรคผิวหนัง ทำให้ฝีแห้ง และขับพยาธิไส้เดือน โดยนำเนื้อทุเรียนสุกมารับประทานสด
- ใช้สมานแผล ทำให้ฝีแห้ง และขับพยาธิไส้เดือน โดยนำเปลือกทุเรียน มาสับแช่ในน้ำปูนใส และนำมาล้างแผล หรือ ชะล้างบริเวณที่เป็น
- ใช้แก้ตานซาง คางทูม โดยนำเปลือกทุเรียนมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้ดีซ่าน โดยนำใบมาต้มกับน้ำดื่ม
ลักษณะทั่วไปของทุเรียน
ทุเรียน จัดเป็นไม้ยืนต้นเนื้ออ่อนขนาดใหญ่ แตกทรงพุ่มเป็นรูปฉัตร ลำต้นสูงชะลูดมีความสูงได้ 8-30 เมตร มักจะแตกกิ่งก้านสาขาอยู่เฉพาะเรือนยอด โดยจะแตกกิ่งเป็นมุมแหลม ส่วนเปลือกต้นชั้นนอก ผิวขรุขระหลุดลอกออกเป็นสะเก็ด มีสีเทาแก่
ใบทุเรียน เป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ออกคู่อยู่ตรงกันข้ามระนาบเดียวกัน บนกิ่ง แผ่นใบเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน ยาว 10-18 เซนติเมตร โคนใบมนเป็นรูปลิ่ม ปลายใบ ใบเรียวแหลม ผิวใบเรียบลื่น มีไขนวล ใบด้านบนมีสีเขียว ท้องใบสีน้ำตาล มองเห็นเส้นใบด้านล่างนูนเด่น และมีก้านใบยาว 2-4 เซนติเมตร
ดอกทุเรียน ออกเป็นช่อ บริเวณลำต้นและกิ่ง ใน 1 ช่อจะมีออกย่อย 3-30 ดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ลักษณะของดอกรูปทรงระฆังยาว 1-2 เซนติเมตร ดอกมีกลีบดอกห้ากลีบ และมีกลิ่นหอม
ผลทุเรียน เป็นผลสดโดยออกเป็นผลเดี่ยวทรงกลม หรือ ทรงรี เบี้ยว มีขนาดผลเมื่อสุกประมาณ 10-30 เซนติเมตร เปลือกผลหนาสีเขียวมีหนามแหลม แต่ละส่วนของผลมักนูนๆ เรียกเป็นพู เมื่อผลสุกจะมีสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในจะนิ่ม มีสีเหลืองมีรสหวาน มีกลิ่นหอม เมล็ดรูปกลมรีมีเยื่อหุ้มเปลือกสีน้ำตาลผิวเรียบ เนื้อในเมล็ดสีขาวมีรสฝาด
การขยายพันธุ์ทุเรียน
ทุเรียน สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ทาบกิ่ง และเสียบยอด แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การทาบกิ่ง และกาบเสียบยอด โดยควรเลือกใช้กิ่งพันธุ์ในการปลูก ที่มีความแข็งแรง ตรงตามพันธุ์ ส่วนต้นตอต้องเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่ทนทานต่อโรครากเน่าโคนเน่า ระบบรากไม่ขดงอ มีใบหนาและเขียวเข้ม
ส่วนวิธีการปลูกทุเรียน นั้น เริ่มจากขุดหลุมกว้างยาวลึกประมาณ 30-80 เซนติเมตร (ขึ้นกับสภาพดิน) โดยขุดหลุมขนาดเล็กถ้าดินร่วนโปร่ง และขุดหลุมขนาดใหญ่ และลึกเมื่อลักษณะดินแน่นทึบ แยกดินบน และล่างออกจากกันผสมดินล่างด้วยหญ้าแห้ง ปุ๋ยหินฟอสเฟต 1 กิโลกรัม และปุ๋ยคอก 5 กิโลกรัม/หลุม จากนั้นรองกันหลุมด้วยหญ้าแห้ง หรือ ทรายหยาบสูงประมาณ 6 นิ้ว ใส่ดินบนลไปก่อน แล้วเติมดินล่างที่ผสมกับวัสดุอื่นๆ จนเต็มหลุม ตากดินไว้ระยะหนึ่งจนดินยุบตัวคงที่ เติมดินผสมลงไปอีกจนเต็ม พูนดินให้เป็นหลังเต่า
จากนั้นวางต้นกล้าทุเรียน ที่ตัดแต่งรากแล้วบนเนินกลางหลุม กลบดินที่เหลืออยู่รอบต้นกล้า กดดินให้แน่น และให้พูนดินบริเวณโคนต้นให้สูงขึ้นมาเล็กน้อย เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังแฉะ แต่อย่ากลบดินจนสูงถึงรอยเสียบยอด หรือ รอยทาบ ปักไม้หลักค้ำยันให้ลึกถึงก้นหลุม ผูกต้นกล้ากับไม้หลักป้องกันการโยกคลอนของต้นกล้า และหาวัสดุคลุมดินบริเวณโคนต้น เช่น หญ้าแห้ง ฟางแห้ง กาบกล้วย และรดน้ำตามให้ทันที หลังจากปลูก เพื่อให้เม็ดดินกระชับราก
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของเนื้อผล และสารสกัด ไดคลอโรมีเทนจากส่วนผลของทุเรียน ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น ในเนื้อทุเรียนพบสาร galactose, glucose, arabinose, xylose, catechin, rutin, quercetin, procyanidin B, centaureidin-3-glucoside และยังพบกรดไขมัน ต่างๆ อีกเช่น palmitic acid, palmitoleic acid, stearic acid, oleic acid, linoleic acid และ linolenic acid นอกจากนี้ยังพบกรดอะมิโนอีกหลายชนิดเช่น leucine, glutamic acid, alanine, lysine, aspartic acid และ phenylalanine เป็นต้น ในเปลือกทุเรียน พบสารสกัดไดคลอโรมีเทนอลจากส่วนผลของทุเรียน พบสาร triacylglycerols, β-sitosterol, stigmasterol, β-sitosteryl, diacylglycerols สำหรับสารที่ทำให้ทุเรียนมีกลิ่นเฉพาะตัว คือ hydrogen sulfide นอกจากนี้ทุเรียนยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อทุเรียนสด 100 กรัม จำแนกตามสายพันธุ์
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของทุเรียน
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของทุเรียน ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการ ดังนี้
มีรายงานการศึกษาเรื่องสารอาหาร สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ และฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระของทุเรียนพันธุ์ที่นิยมรับประทาน ได้แก่ หมอนทอง ชะนี และพันธุ์พื้นเมือง ได้แก่ กระดุม และกบตาขำ พบว่าทุเรียนทุกสายพันธุ์ประกอบด้วยใยอาหารจำนวนมาก (7.5-9.1 ก./100 ก. นน.แห้ง) มีปริมาณของคาร์โบไฮเดรท และน้ำตาลสูง (62.9-70.7 ก. และ 47.9-56.4 ก./100 ก.นน. แห้ง ตามลำดับ) โดยทุเรียนพันธุ์ชะนี กระดุม และกบตาขำ มีปริมาณของกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (monounsaturated fatty acids ) (6.1-7.8 ก./100 ก. นน.แห้ง) > กรดไขมันอิ่มตัว (saturated fatty acids) (4.2-5.7 ก./100 ก. นน.แห้ง) > กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (polyunsaturated fatty acids) (0.8-1.5 ก./100 ก. นน.แห้ง) ขณะที่พันธุ์หมอนทองมีปริมาณของกรดไขมันอิ่มตัว > กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว > กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (5.1, 4.0, 1.1 ก./100 ก. นน.แห้ง ตามลำดับ) สำหรับสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ พบว่าพันธุ์กบตาขำจะมีปริมาณของสารแคโรทีนอยด์ และเบต้า-แคโรทีน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสูงกว่าพันธุ์อื่นๆ ส่วนสารฟีนอลิก และฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระของทุกสายพันธุ์ จะไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีรายงานผลการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัด 80% เมทานอลจากเปลือกทุเรียน โดยทดสอบในเซลล์ มะเร็งตับ HepG2 ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) ด้วยไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (H2O2) พบว่าสารสกัดความเข้มข้น 10, 50, 100 มคก./มล. มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ โดยมีผลลดระดับของ reactive oxygen species, malondialdehyde, เอนไซม์ lactate dehydrogenase และเพิ่มระดับของเอนไซม์ superoxide dismutase เมื่อเปรียบเทียบกับเซลล์ที่ไม่ได้รับสารสกัด นอกจากนี้ยังมีผลยับยั้งการตายของเซลล์แบบ apoptosis โดยลดการแสดงออกของยีนของ BAX, caspase-3, caspase-9 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตายของเซลล์ และเพิ่มการแสดงออกของยีนของ BCL-2 ซึ่งต้านการตายของเซลล์ การวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีพบว่า สารสกัดทุเรียน จากเปลือก ประกอบด้วยสารกลุ่มฟีนอลิกหลายชนิด ที่พบมากได้แก่ quercetin, catechin, rutin, centaureidin-3-glucoside และ procyanidin B
ฤทธิ์ยับยั้งไนตริกออกไซด์ และต้านอนุมูลอิสระ มีการทดสอบสารกลุ่มฟีนอลิกซึ่งแยกได้จากเปลือกทุเรียน โดยเมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ พบว่าสาร fraxidin จะมีฤทธิ์ดีที่สุดในการต้านอนุมูลอิสระ เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH และ superoxide anion radical scavenging (IC50 = 7.83±1.00 และ 11.4±1.44 ไมโครโมลาร์ ตามลำดับ) ในการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งไนตริกออกไซด์ในเซลล์ murine RAW 264.7 ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยไลโปโพลีแซคคาไรด์ พบว่าสาร cleomiscosin B มีฤทธิ์ดีที่สุดในการยับยั้ง (IC50 = 3.56 ไมโครโมลาร์) และให้ผลดีกว่ายา indomethacin (IC50 = 47.4 ไมโครโมลาร์)
ฤทธิ์ต้านอักเสบ มีรายงานผลการศึกษาฤทธิ์ต้านอักเสบของสาร triterpenoids และสาร glycoside แยกได้จากเปลือกทุเรียนสุก (Durio zibethinus) ในเซลล์ RAW 264.7 ซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการสร้างสารก่อการอักเสบ nitric oxide (NO) ด้วยสาร lipopolysaccharides พบว่าสารในกลุ่ม triterpenoids เช่น 2α-trans-p-coumaroyloxy-2α, 3β,23α-trihydroxy-olean-12-en-28-oic acid, oleanolic acid, 2α-hydroxyursolic acid และ ursolic acid และสารในกลุ่ม glycosides เช่น leonuriside A สามารถยับยั้งการสร้าง NO ด้วยค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ 50% (IC50) เท่ากับ 6.55±1.15, 9.48±2.23, 10.80±0.88, 3.39±0.80, และ 8.28±2.75 ไมโครโมลาร์ ตามลำดับ สารต่างๆ ดังกล่าวมีฤทธิ์ดีกว่ายาต้านอักเสบมาตรฐาน indomethacin ซึ่งมีค่า IC50 เท่ากับ 51.90±4.50 ไมโครโมลาร์ โดยสาร ursolic acid มีประสิทธิภาพในการต้านการอักเสบได้ดีที่สุด
ฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และลดความดันโลหิต เมื่อป้อนสารสกัดเอทานอลของทุเรียน (พันธุ์หมอนทอง) ให้หนูแรทก่อนการเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารโดยทำให้เกิดความเครียดโดยการแช่ในน้ำ กินในขนาด 500 มก./กก. พบว่าสารสกัดเอทานอลของ ทุเรียน (พันธุ์หมอนทอง) สามารถป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ 55% นอกจากนี้สารสกัดเอทานอลของ ทุเรียน ขนาด 100 มก./กก. ยังสามารถลดความดันเฉลี่ยของหลอดเลือดแดงได้ 53% โดยการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าสารสกัดเอทานอลของ ทุเรียน ขนาด 500 มก./กก. และ 100 มก./กก. สามารถป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และลดความดันหลอดเลือดแดงในหนูแรทได้
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของทุเรียน
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดหัวใจ ควรระมัดระวังในการรับประทานทุเรียน โดยควรรับประทาน ในปริมาณน้อย หรือ นานๆ รับประทานที่หนึ่ง ส่วนผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยง การรับประทานทุเรียน เพราะทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีโพแทสเซียม สูงมาก อาจทำให้เกิดอันตราย ต่อไตรุนแรงมากขึ้นได้ และทุเรียนให้เป็นผลไม้ที่พลังงานสูงมีฤทธิ์ร้อนไม่ควรกินร่วมกับแอลกอฮอล์ โดยสารซัลเฟอร์ในทุเรียนจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ aldehyde dehydrogenase ในร่างกายที่ทำหน้าที่กำจัดสาร aldehyde จากการเผาผลาญแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย การกินร่วมกันจึงอาจทำให้เกิดการสะสมของ aldehyde หน้าแดง ปวดตุบๆ ที่ศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน กระหายน้ำ ตัวร้อน ร่างกายอาจขาดน้ำ และทำให้เป็นอันตรายรุนแรงได้
นอกจากนี้ควรรับประทานมังคุดร่วมกับทุเรียน เพราะมังคุดมีฤทธิ์เย็น จะช่วยลดฤทธิ์ร้อนของทุเรียนได้ แต่หากไม่มีมังคุด ก็ควรรับประทานทุเรียนร่วมกับน้ำสมุนไพร ที่มีฤทธิ์เย็น เพื่อช่วยลดความร้อน และปรับสมดุลร่างกาย เช่น น้ำใบเตย น้ำมะพร้าว น้ำแตงโม หรือ อาจดื่มน้ำตามมากๆ หลังกินทุเรียน ก็จะช่วยขับสารซัลเฟอร์ ลดอาการร้อนในได้เช่นกัน
เอกสารอ้างอิง ทุเรียน
- มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน สารานุกรมไทย เล่มที่ 28 เรื่องที่ 4 ทุเรียน
- กรณกาญจน์ ภมรประวัติธนะ. มหัศรรย์ทุเรียน ราชาของผลไม้. คอลัมน์ บทความพิเศษ. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 362. มิถุนายน 2552.
- นาวา สุเทพากุล (2562) รอบรู้เรื่อง "ทุเรียน" วารสารเพื่อการวิจัย และพัฒนา องค์การเภสัชกรรมปีที่ 26 ฉบับที่ 3:8-14.
- จริงแท้ ศิริพานิช และคณะ 2532. การศึกษาทางกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาของผลทุเรียนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- สุวรรณา ภัทรเบญจพล. ทุเรียน. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. 5 หน้า
- ญาธิปวีร์ ปักแก้ว (2559) ทุเรียน ราชาแห่งผลไม้ รับประทานอย่างไร..ได้ประโยชน์ อาหารและสุขภาพปีที่ 46 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน 2559
- พเยาว์ อินทสุวรรณ. อนุกรมวิธานพืช.พิมพ์ครั้งที่ 2. มหาวิทยาลัยทักษิณ.2552
- หิรัญ หิรัญประดิษฐ์ และคณะ 2541. เทคโนโลยีการผลิตทุเรียน สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 198 น.
- กฤติยา ไชยนอก.ทุเรียน...ราชาแห่งผลไม้. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ทุเรียน. คู่มือนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร. สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 2551. 14 หน้า
- ฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะ. อาหารและลดความดันโลหิตในผลไม้ไทย. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ฤทธิ์ต้านอักเสบของสาร triterpenoids และ glycosides จากเปลือกทุเรียน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ฤทธิ์ยับยั้งไนตริกออกไซด์และต้านอนุมูลอิสระของสารฟีนอลิกในทุเรียน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากเปลือกทุเรียน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- สารอาหารและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในทุเรียนพันธุ์ที่นิยมรับประทานและพันธุ์พื้นเมือง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- Wong KC, Tie DY. Volatile constituents of durian (Durio zibethinus Murr.), Flav Fragr J 2006; 10(2):79–83,
- Crop pprotection & quarantine services division.2004. Technical document for market access on durian Department of Agriculture. Malaysia
- Amid BT, Mirhosseini H, Kostadinović S. Chemical composition and molecular structure of polysaccharide-protein biopolymer from Durio zibethinus seed: extraction and purification process. Chem Cent J 2012; 6:117.
- Aziz N.A.A and Jalil A.M.M. (2019.)Bioactive Cmpounds, Nutritional Value, and Potential Health Venefits of Indigenous Durian (Durio Zibethinus Murr.) A Review Foodsm 8,96: 1-18.
- Li J-X, Schieberle, Steinhaus M. Characterization of the Major Odor-Active Compounds in Thai Durian (Durio zibethinus L.‘Monthong’) by Aroma Extract Dilution Analysis and Headspace Gas Chromatography-Olfactometry. J Agric Food Chem 2012; 60 (45): 11253-11262
- Heaton, Donald D,(2006).A Consumers Guide on Worid Fruit, BookSurge Publishing pp54-6.
- Maninang J.S. (2009.) Inhibition of aldehyde dehydrogenase enzyme by Durian (Durio zibethinus Murray) fruit extract. Food Chemtstry. 117(2):352-355.