มะพอก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะพอก งานวิจัยและสรรพคุณ 9 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มะพอก
ชื่ออื่นๆชื่อท้องถิ่น มะมื่อ, จั๊ด (ภาคเหนือ), พอก, ท่าลอก, ตะลอก (ภาคอีสาน), หมากรอก (ภาคใต้), ประดงเลือด, ประดงไฟ, หมักมอก, มะคลอก (ภาคกลาง), กระท้อนลอก (ภาคตะวันออก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Parinari anamensis Hance


ถิ่นกำเนิดมะพอก

มะพอก จัดเป็นไม้ยีนต้นที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยมีถิ่นกำเนิดเป็นบริเวณกว้างในประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ยังเป็นพืชเฉพาะถิ่นในบริเวณดังกล่าวอีกด้วย สำหรับในประเทศไทย สามารถพบได้บริเวณป่าดิบ ป่าดิบแล้ง ป่าดงดิบ ป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง เกือบทุกภาคของประเทศยกเว้นภาคใต้ แต่จะพบมากในจังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเล 50-1500 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณมะพอก

  • ใช้แก้ประดง (อาการโรคผิวหนัง เป็นเม็ดขึ้นคล้ายผด คันมากมักมีไข้ร่วมด้วย)
  • แก้ผื่นคันแดงทั่วตัว
  • แก้ปวดแสบปวดร้อน
  • รักษาน้ำเหลืองไหลซึม
  • แก้น้ำเหลืองเสีย
  • แก้หืด
  • แก้ช้ำใน
  • แก้ปวดบวม
  • ใช้แก้ฟกช้ำ

           คนไทยทั้งในอดีต และปัจจุบันมีการนำส่วนต่างๆ ของมะพอกมาใช้ประโยชน์หลายด้าน ดังนี้ เนื้อผลสุกรอบๆ เมล็ด มีรสหวานหอม ใช้รับประทานเป็นผลไม้ และมีการใช้เนื้อของผลสุกนำมาบดผสมกับแป้งและน้ำตาล ทำเป็นขนมหวานซึ่งจะมีกลิ่นหอมของมะพอก ด้วย ส่วนเนื้อในเมล็ดก็สามารถรับประทานได้โดยจะมีรสมันคล้ายถั่ว ในส่วนของเนื้อไม้ ค่อนข้างละเอียดเหนียวพอประมาณ เลื่อยไสได้ง่าย มีเสี้ยนตรง สม่ำเสมอ กระพี้มีสีเหลืองอ่อน แก่นสีชมพูเรื่อ นิยมนำมาทำไม้แผ่น วงกบ และไม่ฝาในงานช่าง

           นอกจากนนี้ในส่วนของเมล็ดยังมีการนำมาสกัดเอาน้ำมันใช้ในทางอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ทำเป็นน้ำมันหมึกพิมพ์งานเคลือบกระดาษ น้ำมันหล่อลื่น ใช้ทาเครื่องเขินให้เป็นเงา ทากระดาษร่มกันน้ำซึม ใช้เป็นเชื้อเพลิง และนำมาใช้ทำเป็นน้ำมันชักเงา และเครื่องสำอางได้อีกด้วย และในปัจจุบันยังมีการนิยมนำมะพอกมาเป็นไม้ขุดล้อมไปปลูกเป็นไม้ประดับในสวนสาธารณะ หรือ ตามอาคารสถานที่ต่างๆ เนื่องจากทรงลำต้นและทรงพุ่มสวยแปลกตา ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ผลมีสีน้ำตาลตัดกับสีเขียวของใบดูสวยงาม สำหรับ

มะพอก

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้ประดง แก้วปวดแสบ ปวดร้อน แก้ผื่นคันแดง แก้น้ำเหลืองเสีย โดยใช้แก่นไม้มาต้มกับน้ำดื่มและอาบ
  • ใช้แก้ช้ำใน แก้อาการบวมช้ำ ปวดบวมโดยใช้เปลือกต้นอังไฟ หรือ อุ่นไอน้ำร้อนประคบบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของมะพอก

มะพอก จัดเป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ นาดกลาง สูง 1-30 เมตร ลำต้นเปลาตรงเปลือกต้นหนา เป็นสีน้ำตาลเทา แตกเป็นร่องลึก ลอกหลุดได้ ทรงต้นโปร่งปลายกิ่งลู่ลง บริเวณกิ่งอ่อนมีขนสีเทา หรือ สีน้ำตาลขึ้นปกคลุม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับ ลักษณะเป็นรูปไข่ หรือ รูปวงรี กว้าง 4-6 เซนติเมตร ยาว 6-15 เซนติเมตร โคนใบมน ปลายใบมนหยักคอด และมีติ่งแหลม ผิวใบด้านบนมีสีเขียว ท้องใบเหลือบขาว และมีขนละเอียด สีขาวแกมน้ำตาลขึ้นปกคลุม ขอบใบเรียบ ผิวใบเหนียวมีเส้นใบตรง และขนานกัน 12-15 คู่ และมีก้านใบยาว 0.7-1 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง โดยใน 1 ช่อ จะมีดอกย่อยขนาดเล็กหลายดอก โดยดอกย่อยมีสีขาวขนาดเล็ก มีกลิ่นหอมอ่อนๆ  มีกลีบดอกมีจำนวน 5 กลีบ ภายในตรงกลางดอกมีเกสรเพศผู้ 6–15 อัน มีเกสรสมบูรณ์ 6–7 อัน ส่วนกลีบรองดอกมี 5 แฉก มีขนาดไม่เท่ากัน แต่ละแฉกยาวประมาณ 0.1-0.5 เซนติเมตร ผลออกเป็นช่อประมาณ 3-15 ผล โดยจะเป็นผลสด สีน้ำตาลมีจุดประสีขาวรูปทรงกลม คล้ายไข่ มีขนาดกว้าง 3-4 เซนติเมตร และยาว 3-5 เซนติเมตร ผิวผลหยาบไม่เรียบ ชั้นในมีขนหนาแน่น เนื้อในแข็ง เนื้อผลสุกมีรสหวาน ด้านในมีเมล็ดขนาดใหญ่ 1 เมล็ด ลักษณะแข็งเนื้อในเมล็ดมีรสมันคล้ายถั่ว

มะพอก

มะพอก

การขยายพันธุ์มะพอก

มะพอก สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด ในอดีตมะพอกเป็นพันธุ์ไม้ป่าที่ไม่ค่อยนิยมนำมาปลูกแต่ในปัจจุบันได้เริ่มมีการนำเมล็ดมาเพาะ เพื่อปลูกใช้ประโยชน์ หรือ นำต้นกล้ามาขาย ซึ่งวิธีการเพาะเมล็ดของมะพอกนั้นสามารถทำได้ เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ซึ่งเคยได้กล่าวถึงมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดมะพอก จากส่วนต่างๆ รวมถึงน้ำมันจากเมล็ดมะพอกพบว่ามีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น apigenin, luteolin, kaempferol, quercetin, myricetin, taxifolin, quercetin-3-O-arabinosid, quercetin -3-O-rhamnos, taxifolin-3-O-arabinosi และ myricetin-3-O-galactoside เป็นต้น ส่วนน้ำมันจากเมล็ดของมะพอก พบว่าประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่นตัวชนิด conjugated 2 ชนิด คือ กรด α-Eleostearic (Octadeca-9,11,13-trienoic acid) และกรด α-Parinaric (Octadeca-9,11,13,15-tetracnoic acid)

โครงสร้างมะพอก 

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของมะพอก

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของมะพอกในต่างประเทศระบุว่าสารสกัดจากส่วนเหนือดินของมะพอกมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังต่อไปนี้

           มีการศึกษาวิจัยโดยนำเปลือกต้นมะพอก มาทำการสกัดด้วยเทคนิคแบบ Sequential Extraction ด้วยตัวทำละลายต่างๆ เช่น เฮกเซน เอทิลอะซิเตต และเมทานอล จากนั้นนำสารสกัดหยาบที่ได้มาทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย (Plasmodium falciparum) สายพันธุ์ K1 ด้วยวิธี Microculture Radioisotope Technique พบว่าสารสกัดจากเปลือกต้นมะพอกที่สกัดด้วยตัวทำละลายที่เป็นเฮกเซนมีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียได้ โดยมีค่า IC50 เท่ากัน 3.25 µg/ml นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการศึกษาวิจัยฉบับอื่นๆ ระบุว่าสารสกัดจากส่วนเหนือดินของมะพอกมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านการอักเส และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของมะพอก

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้มะพอก เป็นสมุนไพร โดยเฉพาะในรูปแบบการรับประทานควรระมัดระวังในการใช้ เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้

 

เอกสารอ้างอิง มะพอก
  1. จันทรวงศ์. ไพจิตร.2530 มะพอกทรัพย์บนแผ่นดินอีสาน. กสิกร 60 (6). หน้า 543-547.
  2. สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. พรรณไม้พื้นบ้านอีสานเล่ม 1. มหาสารคาม:มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. 2544 หน้า 89
  3. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ. “มะพอก ”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. หน้า 122.
  4. พิสมัย เจนวนิชปัญจกุล และคณะ. คุณสมบัติและองค์ประกอบกรดไขมันของน้ำมันมะพอกจากมะพอก (Parinarium anamense Hance) ที่ปลูกในประเทศไทย. รายงานการประชุมทางวิชาการครั้งที่ 30 สาขาเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ สังคมศาสตร์ศึกษาศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ สิ่งแวดล้อม คหกรรมศาสตร์ อุตสาหกรรมเกษตร วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ .29 มกราคม -1 กุมภาพันธ์ 2535. กรุงเทพหน้า 665-681
  5. มะพอก. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.Phargarden.com/mair.php?action=viewpage&pid=93
  6. มะพอกไม้ป่าเด่นสรรพคุณปลูกเป็นไม้ล้อมลำต้นแปลกสวย.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  7. Vidal,J.E.(1970).Rosaceae.In Flora of Thalland Vol.2(1):73-74.
  8. William& J. B. Harborne. 1977. Flavonoid chemistry and plant geography in the Cyperaceae. Bioch. Syst. Ecol. 5: 45-51.
  9. Badami.R.C. and Patil, K.B. 1981. Structure and occurrence of unusual fatty acids in minor seed oils, Prog. Lipid Lipid Res. 19. P. 119-153.
  10. Giannas. T. Prance & L. Coradin. 1983. Flavonoids in Parinari (Chrysobalanaceae). [Abstract] Amer. J. Bot. 70(5) Pt. 2: 115.