กุยช่าย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กุยช่าย งานวิจัยและสรรพคุณ 24 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กุยช่าย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักไม้กวาด (ภาคกลาง), หอมแป้น (ภาคเหนือ), ผักแป้น (ภาคอีสาน), กูไฉ่ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Allium tuberosum Rottler ex Spreng.
ชื่อสามัญ Chinese chives, Garlic chives, Leek, Chinese leek, Oriental garlic.
วงศ์ ALLIOIDEAE

ถิ่นกำเนิดกุยช่าย

กุยช่ายเป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในประเทศจีน โดยเชื่อกันว่ากุยช่ายเป็นอาหารที่ชาวจีนรู้จักมากว่า 3 พันปีมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีบันทึกถึงการเพาะปลูกกุยช่าย เพื่อเป็นอาหารในสมัยเซี้ย (2205-1766 ก่อนคริสต์ศักราช) อีกด้วย แล้วต่อมามีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังพื้นที่ใกล้เคียงในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน และแถบภูเขาหิมาลัย รวมถึงในอินเดียด้วย แต่ในปัจจุบันยังสามารถพบเห็นได้ตามเขตร้อนต่างๆ ในเอเชียเช่นกัน ซึ่งกุยช่าย ที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดทุกวันนี้ ประกอบด้วย 3 ชนิด คือ กุยช่ายเขียว กุยช่ายขาว และกุยช่ายดอก

ประโยชน์และสรรพคุณกุยช่าย

  1. ช่วยขับน้ำนม
  2. ช่วยบำรุงกำหนัด
  3. ช่วยเสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศ
  4. แก้อาการแน่นหน้าอก
  5. แก้อาเจียนเป็นเลือด
  6. แก้เลือดกำเดาออก
  7. ช่วยบำรุงเลือด
  8. ช่วยบำรุงกระดูก
  9. ช่วยบำรุงไต
  10. ช่วยขับน้ำตม
  11. แก้หวัด
  12. แก้ไอ
  13. ช่วยแก้ปัสสาวะเป็นเลือด
  14. แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ
  15. ช่วยขับลมในกระเพาะ
  16. แก้ริดสีดวงทวาร
  17. แก้นิ่ว
  18. แก้หนองใน
  19. แก้ปวดบวม และเคล็ดขัดยอก
  20. แก้ช้ำใน
  21. แก้ห้อเลือดบริเวณท้อง
  22. แก้แมลงสัตว์กัดต่อย
  23. ช่วยป้องกัน และลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งต่างๆ
  24. ช่วยลดระดับคลอเรสเตอรอลในเลือด

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้บำรุงเลือด บำรุงกระดูก บำรุงไต บำรุงกำหนัด เสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศ ช่วยขับน้ำตม แก้หวัด แก้ไอ โดยนำต้น และใบของกุยช่าย มาประกอบอาหารรับประทาน หรือ ใช้ต้นแห้งต้มกับน้ำดื่มก็ได้ ใช้แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลมในกระเพาะ โดยใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำดื่ม แก้โรคนิ่ว รักษาโรคหนองใน โดยใช้ใบ และต้นสดนำมาตำให้ละเอียดผสมกับสุรา และใส่สารส้มเล็กน้อย แล้วกรองเอาแต่น้ำมารับประทาน ใช้รักษาริดสีดวงทวาร โดยใช้ใบสดล้างสะอาดต้มกับน้ำร้อน แล้วนั่งเหนือภาชนะเพื่อให้ไอรมจนน้ำอุ่น หรือ จะใช้น้ำที่ต้มล้างที่แผลวันละ 2 ครั้ง ก็ได้

           ส่วนในทางการแพทย์แผนจีน ระบุถึงการใช้กุยช่ายว่า แก้อาเจียนโดยใช้น้ำสดครึ่งแก้ว เติมน้ำคั้นจากกุยช่าย 2 ช้อนโต๊ะ และน้ำขิง สักเล็กน้อยอุ่นให้ร้อนแล้วกิน ใช้แก้ห้อเลือดบริเวณท้อง โดยกินน้ำคั้นจากกุยช่ายจำนวนพอควร แก้ปวดบวม และเคล็ดขัดยอก ใช้กุยช่ายสด 3 ส่วน แป้ง 1 ส่วน ตำให้แหลก และคลุกเคล้ากัน พอกบริเวณที่เป็น วันละ 2 ครั้ง หรือ ใช้กุยช่ายสดล้างให้สะอาด ตำให้แหลก เติมเกลือเข้าไปเล็กน้อย แล้วนำไปพอกบริเวณที่เป็น ถ้าเป็นน้อยๆ พอกครั้งเดียวก็หาย ถ้าหนักต้องพอกหลายครั้ง ใช้ไล่แมลงที่เข้ารูหู โดยคั้นเอาน้ำจากกุยช่ายหยอดหู แมลงจะวิ่งออกมา (ต้องตะแคงหูขึ้น)


ลักษณะทั่วไปของกุยช่าย

กุยช่าย จัดเป็นไม้ล้มลุก สูง 30-45 เซนติเมตร มีลำต้นที่เป็นหัว หรือ เหง้าเล็กอยู่ใต้ดิน และแตกเป็นกอ ใบเป็นใบเดี่ยวแบน แบบเรียงสลับ รูปขอบขนาน ยาว 30-40 ซม. โดยใบจะเป็นสีเขียวส่วนโคนเป็นกาบบางซ้อนสลับกัน ดอกออกเป็นช่อแบบซี่ร่ม โดยจะอยู่บนก้านดอกส่วนก้านช่อดอกกลมตันสีเขียว ยาว 40-45 ซม. สำหรับดอกมีสีขาว กลิ่นหอม กลีบดอกมี 6 กลีบ ยาวประมาณ 5 มม. โคนติดกัน ปลายแยก กลางกลีบดอกด้านนอกมีสัน หรือ เส้นสีเขียวอ่อนจากโคนกลีบไปหาปลาย มีใบประดับหุ้มช่อดอก เมื่อดอกบานจะกว้างประมาณ 1 ซม. มีเกสรเพศผู้ 6 อัน เกสรเพศเมีย 1 อัน และมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ผล เป็นทรงกลม ภายในมีช่อง 3 ช่อง และมีผนังตื้นๆ เมื่อผลแก่แตกออกตามตะเข็บ ลักษณะแบน ขรุขระ สีน้ำตาลบรรจุอยู่ในช่องของผลทั้ง 3 ช่อง มีช่อละ 1-2 เมล็ด

กุยช่าย

การขยายพันธุ์กุยช่าย

กุยช่าย สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด และการแยกเหง้าปลูก แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันคือการใช้เมล็ดเพาะ โดยมีวิธีการดังนี้

           พื้นที่ที่มีระบบน้ำขังตลอด ทำการยกร่องสูงประมาณ 1 เมตร กว้าง 3-5 เมตร ความกว้างของร่องประมาณ 1.5-2 เมตร ไถพรวนแล้วตากแดดประมาณ 5-10 วัน ทำการหว่านปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมักพร้อมปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ในอัตราส่วนปุ๋ยหมักต่อปุ๋ยเคมี 15:1 ใส่ในอัตรา 1000 กก./ไร่ พร้อมไถแปรอีกครั้ง ทิ้งไว้ประมาณ 3-5 วัน ส่วนพื้นที่ดอน หรือ ไม่มีน้ำท่วมขัง ให้ทำการยกร่องสูงประมาณ 30 เซนติเมตร กว้าง 1.5-2 เมตร ความกว้างของร่องประมาณ 50-70 เซนติเมตร แล้วไถพรวนแปลง และหว่านปุ๋ยตามวิธีที่กล่าวมาแล้ว จากนั้น หลังจากเตรียมแปลงเสร็จประมาณ 1 อาทิตย์ ให้หว่านด้วยเมล็ดพันธุ์ในอัตรา 1 กก./ไร่ คราดด้วยคราด 1 รอบ พร้อมคลุมแปลงด้วยฟางข้าว หรือ แกลบ รดน้ำให้ชุ่ม จากนั้นดูแล ให้น้ำ ให้ปุ๋ย จนอายุประมาณ 7-8 เดือน ก็สามารถเก็บขายได้ จากนั้นเก็บครั้งต่อไปอีกประมาณ 45 วัน

กุยช่ายองค์ประกอบทางเคมี

มีผลการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของกุยช่าย พบว่ามีสารสำคัญ เช่น Allicin, flavonoid, Tuberoside B, Allyl methyl trisulfide, Methyt 1-Propenyl disulfide, Glycoside และ β-carotene เป็นต้น นอกจากนี้ต้นและดอกของกุยช่ายยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของดอกกุยช่าย (100 กรัม)

  • พลังงาน 38 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 6.3 กรัม
  • เส้นใย 3.4 กรัม
  • ไขมัน 0.2 กรัม
  • เบต้าแคโรทีน 152.92 ไมโครกรัม
  • วิตามินซี 13 มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 31 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 1.6 มิลลิกรัม                                                          
  • ธาตุฟอสฟอรัส 62 มิลลิกรัม

           คุณค่าทางโภชนาการของต้นกุยช่าย (100 กรัม)

  • พลังงาน 28 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 4.1 กรัม
  • เส้นใย 3.9 กรัม
  • ไขมัน 0.3 กรัม
  • วิตามิน A  275.5 หน่วยสากล
  • วิตามิน B1  0.06  มิลลิกรัม
  • วิตามิน B2  0.12  มิลลิกรัม
  • วิตามิน B3  0.57  มิลลิกรัม
  • วิตามิน B6  0.15 มิลลิกรัม
  • วิตามิน C   18.05  มิลลิกรัม
  • วิตามิน E  2.38  มิลลิกรัม
  • วิตามิน K 171  หน่อยสากล
  • เบตาแคโรทีน 136.79 ไมโครกรีม
  • แคลเซียม 98 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 1.5 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 46 มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม 484.5  มิลลิกรัม
  • สังกะสี  0.20  มิลลิกรัม

โครงสร้างกุยช่าย

 ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกุยช่าย

มีการศึกษาวิจัยในต่างประเทศหลายฉบับถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของส่วนต่างๆ ของกุยช่าย เช่น ฤทธิ์เพิ่มความต้องการทางเพศ มีการศึกษาวิจัยทดลองให้หนูตัวผู้กินสารสกัดจากเมล็ดกุยช่าย ซึ่งผลการศึกษาพบว่าสารสกัดดังกล่าวช่วยเพิ่มความต้องการทางเพศได้ทั้งหนูที่เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และหนูที่มีสมรรถภาพทางเพศเป็นปกติ เช่นเดียวกับการทดลองอีกฉบับหนึ่ง ที่พบว่าหนูตัวผู้และตัวเมียที่กินสารสกัดจากกุยช่ายมีความตื่นตัวทางเพศมากขึ้น ฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบของหลอดเลือด มีการศึกษาวิจัยในหลอดทดลองโดยใช้สารสกัดกุยช่ายหยดลงบนเซลล์หลอดเลือดที่ทำงานผิดปกติ พบว่าสารสกัดกุยช่าย มีฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบที่เกิดจากโรคหลอดเลือด และช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดแดงแข็งในระยะเริ่มต้นได้

      นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยที่ระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของกุยช่ายอื่นๆ อีกเช่น ต้นแลใบมีฤทธิ์ ฆ่าเชื้อ (Antiseptic) มีฤทธิ์ลดระดับคลอเรสเตอรอลในเลือด มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ และมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของกุยช่าย 

มีการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาที่น่าสนใจของกุยช่าย โดยการนำน้ำที่ได้จากการคั้นต้นกุยช่ายซึ่งเจริญเติบโตเต็มที่ ฉีดเข้าไปในเส้นเลือดดำของหนูถีบจักร ในปริมาณ 0.1-0.5 มก./10 กรัม มีฤทธิ์ทำให้หนูสลบ จากนั้นมีอาการเกร็ง คลุ้มคลั่ง และจะทำให้หลับในเวลาต่อมาร่วมกับการเกิดภาวะ Cyanosis ทำให้ผิวหนังเป็นสีเขียว (น้ำเงิน) เนื่องจากขาดเลือด ขาดออกซิเจน หลังจากนั้นครึ่งชั่วโมงก็ตาย และเมื่อฉีดเข้าไปในกระต่ายจะทำให้ความดันโลหิตลดลงเล็กน้อย

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง 

  1. กุยช่ายมีสรรพคุณให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ตามตำรายาจีนหากรับประทานมากเกินไป หรือ บ่อยเกินไปจะทำให้ตัวร้อน และร้อนในได้
  2. ไม่ควรดื่มสุราร่วมกับกุยช่าย รวมถึงไม่ควรรับประทานกุยช่ายหลังจากดื่มเหล้า เพราะกุยช่าย และเหล้ามีฤทธิ์ร้อนเหมือนกัน อาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้
  3. ผู้ที่มีปัญหาเรื่องระบบการย่อยอาหารไม่ดี ไม่ควรรับประทานกุยช่ายมาก โดยเฉพาะกุยช่ายแก่เพราะมีเส้นใยมาก และเหนียว ซึ่งจะทำให้ย่อยยาก และระบบลำไส้ทำงานหนักมากขึ้น

เอกสารอ้างอิง กุยช่าย
  1. ราชันย์ ภู่มา และ สมราน สุดดี. (บรรณาธิการ). (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2557. กรุงเทพฯ: สำนักงานหอพรรณไม้ ส้านักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ และพันธุ์พืชกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. https://medthai.com/กุยช่าย/
  2. วิทิต วัฒนาวิบูล. กุยช่าย-แก้ช้ำใน. คอลัมน์ อาหารสมุนไพร. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 85. พฤษภาคม 2529
  3. กุยช่าย. กลุ่มยาขับน้ำนม. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_13.htm
  4. การปลูกกุยช่าย . พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  5. กุยช่าย คุณค่าอาหารและสรรพคุณบำรุงร่างกาย. พบแพทย์ดอทคอม. ออนไลน์เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com