กำลังวัวเถลิง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กำลังวัวเถลิง งานวิจัยและสรรพคุณ 12 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร กำลังวัวเถลิง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ช้าวัวเถลิง (ประจวบคีรีขันธ์), กำลังทรพี, ชะแมบ (ตราด), ปูน, ไม้ปูน (สุราษฎร์ธานี), ปุนทา (นราธิวาส), ตีนตั่ง, ตีนต้าง (เลย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Anaxagorea luzonensis A. Gray
วงศ์ Annonaceae

ถิ่นกำเนิดกำลังวัวเถลิง

กำลังวัวเถลิง เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นของทวีปเอเชีย โดยสามารถพบได้ทั่วไปในศรีลังกา อินเดีย พม่า ลาว เวียดนาม บริเวณคาบสมุทรมลายู เช่น เกาะบอร์เนียว ชวา สุมาตรา และหมู่เกาะต่างๆ ในฟิลิปปินส์ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทางภาคเหนือตอนล่างจนถึงภาคใต้ บริเวณในป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ ที่ระดับความสูง 200-500 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ประโยชน์และสรรพคุณกำลังวัวเถลิง

  • ช่วยบำรุงโลหิต
  • ช่วยบำรุงธาตุ
  • ช่วยบำรุงเส้นเอ็น
  • แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • แก้กษัย
  • ช่วยบำรุงกำลัง
  • ช่วยบำรุงกระดูกให้แข็งแรง
  • ช่วยบำรุงไต
  • แก้กล้ามเนื้อเสื่อม
  • แก้เส้นเสื่อม
  • ใช่เป็นยาอายุวัฒนะ
  • ใช่เป็นยาบำรุงน้ำนมสตรี

           มีการนำกำลังวัวเถลิง มาปลูกเป็นไม้ประดับในร่ม เพราะดอกของกำลังวัวเถลิง เมื่อบานเต็มที่แล้วจะมีกลิ่นหอมทำให้บริเวณใกล้เคียงที่ปลูกจะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้กำลังวัวเถลิง 

ใช้บำรุงโลหิต บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ปวดเมื่อย แก้กษัย บำรุงเส้นเอ็น โดยใช้เนื้อไม้ เปลือก ราก ต้มน้ำดื่ม เช้า และก่อนนอน ครั้งละแก้ว หรือ ใช้เนื้อไม้หรือเปลือกต้นดองกับเหล้าขาว ใช้ดื่มวันละ 1-2 เป๊ก ก่อนอาหารเย็นก็ได้ นอกจากนี้ยังมีสูตรยาดองเหล้าพื้นบ้านที่เชื่อกันว่าสามารถ แก้ไข้ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้ โดยใช้กำลังวัวเถลิง แซ่ม้าทะลาย กำแพงเจ็ดชั้น ม้ากระทืบโรง ฝางเสน เทพธาโร ชะเอมไทย เถาสะค้าน และเจตมูลเพลิง นำมาดองกับเหล้าดื่มวันละเป๊ก


ลักษณะทั่วไปของกำลังวัวเถลิง

กำลังวัวเถลิง จัดเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง หรือ ไม้พุ่มเลื้อยโดยที่ลำต้นมีหนามแข็งห่างๆ เห็นชัดเจน และบริเวณกิ่งจะมีรยางค์เป็นตะขอ ใบเป็นรูปรีถึงรูปขอบขนาน กว้างประมาณ 3–6 เซนติเมตร ยาว 10-16 ซม. โคนใบกลม แผ่นใบค่อนข้างหนา และแข็ง ผิวมัน มีเส้นแขนงใบข้างละ 6-9 เส้น ก้านใบยาว 0.5 -2 ซม. ดอกออกเดี่ยว หรือ เป็นกระจุกประมาณ 2-3 ดอก ตามซอกใบ หรือ ตามลำต้น ก้านดอกยาว 0.5-1 ซม. ใบประดับ 1 คู่ กลีบเลี้ยง 3 กลีบ รูปไข่กว้าง ยาวประมาณ 5 มม. ดอกสีเขียวอมขาว กลีบวงนอก 3 กลีบ รูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1.5 ซม. กลีบวงใน 3 กลีบ รูปใบหอก ยาว 0.6-1 ซม. มีก้านกลีบสั้นๆ มีเกสรเพศผู้ยาว 3 มม. มี 5-7 คาร์เพล มี 3-6 ผล เป็นแบบย่อยแห้งแล้วแตก ลักษณะรูปกระบองยาว 1.5-3 ซม. ก้านผลยาว 1.5-2 ซม. ข้างในมีเมล็ดอยู่ 2 เมล็ด เป็นรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 1 ซม. สีน้ำตาลดำเป็นมันวาว

กำลังวัวเถลิง

การขยายพันธุ์กำลังวัวเถลิง

กำลังวัวเถลิง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และการปักชำ โดยในปัจจุบันการขยายพันธุ์ส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์ โดยวิธีทางธรรมชาติในป่ามากกว่าการนำมาขยายพันธุ์โดยมนุษย์ ส่วนวิธีการเพาะเมล็ด และการปักชำก็สามารถทำได้ เช่นเดียวกันกับการขยายพันธุ์ไม้เถาต่างๆ เช่น สะค้าน และพริกไทย เป็นต้น

กำลังวัวเถลิง

องค์ประกอบทางเคมีกำลังวัวเถลิง

จากการศึกษาสารสกัดจากเถาลำต้นของกำลังวัวเถลิง ด้วย แอลกอฮอล์ พบว่ามีสารองค์ประกอบอยู่ในกลุ่ม อัลคาลอยด์ (Alkaloids) และกลุ่ม แทนนินส์ (Tannins) ทั้งที่เป็น hydrolysable tannins และ condensed tannins และยังพบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) เช่น anthocyanidin, leucoanthocyanidin, catechin, aurone, flavone, dihydroflavonol และ flavonol

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของกำลังวัวเถลิง

   โครงสร้างวัวเถลิง 

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกำลังวัวเถลิง

            ฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดคลายตัว จากการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดหยาบจากแก่นไม้ต้นกำลังวัวเถลิงต่อความตึงตัวของหลอดเลือดแดง พบว่ากำลังวัวเถลิงมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดเอออร์ตาของหนูแรทคลายตัว ซึ่งการตอบสนองของหลอดเลือดเออร์ตาต่อกำลังวัวเถลิง จะเกิดจากการออกฤทธิ์ผ่านไนตริกออกไซด์ (nitric oxide) ที่สร้างจากเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด นอกจากนี้การตอบสนองของหลอดเลือดจากกำลังวัวเถลิง ยังเกิดจากการเพิ่มการผ่านของโพแทสเซียมไอออนออกนอกเซลล์ รวมทั้งการยับยั้งการผ่านของแคลเซียมไอออนจากภายนอกเข้าสู่เซลล์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากำลังวัวเถลิง มีฤทธิ์เป็นสารที่ทำให้หลอดเลือดคลายตัว ซึ่งมีผลดีต่อการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด

            นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ของกำลังวัวเถลิงว่า มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ (EC50 = 23.55ไมโครกรัม/มล.) มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย S. mutans ที่ทำให้เกิดโรคในช่องปาก (ที่ความเข้มข้น 0.39 มก./มล.) มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย S. aureus ที่ทำให้เกิดโรคแผลฝีหนอง (ที่ความเข้มข้น 3.125 มก./มล.) และเชื้อ V. cholerae ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอหิวาตกโรค (ที่ความเข้มข้น 3.125 มก./มล.) มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อราสาเหตุของโรคกลาก (ที่ความเข้มข้น 8 มก./มล.) และยังมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อไวรัสโรคเริม Herpes simplex virus type 1 (IC50 = 58.16 ไมโครกรัม/มล.) มีความเป็นพิษต่อเซลล์ม้ามโดยให้ค่า IC50 = 129.5 มก./มล. 

การศึกษาทางพิษวิทยาของกำลังวัวเถลิง

มีรายงานผลการศึกษาความเป็นพิษ โดยระบุว่าเมื่อให้หนูแรทกินสารสกัดเอทานอลของกำลังวัวเถลิง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) พบค่า LD50>7,500 มก./กก. ซึ่งแสดงให้เห็นว่าค่อนข้างปลอดภัยในการใช้กำลังวัวเถลิง


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในกรใช้กำลังวัวเถลิง มาเป็นยาสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้ เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินกว่าที่ระบุไว้ในตำรับ ตำรายาต่างๆ รวมถึงไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานเป็นประจำก่อนจะใช้กำลังวัวเถลิงในการช่วยบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง กำลังวัวเถลิง
  1. ภญ.กฤติยา ไชยนอก.กำลังวัวเถลิง .สมุนไพรไทย กับภาวะเสื่อมสมรรถภาพ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. Mokkhasmit, M., 1971. Pharmacological evalution of Thai medical plants continued. J. Med. Ass. Thailand, 54: 490-504.
  3. Gonda, R., T. Takeda and T. Akiyama, 2000. Studies on the constituents of Anaxagorea luzonensis A. GRAY. Chem. Pharm. Bull. (Tokyo), 48: 1219-1222.
  4. L.i,B,and M,G, Gllbert.(2011).Annonaceae (Anaxagoera).In Flora of China Vol,19:673.
  5. Tep-areenan, P. and P. Sawasdee, 2011. The vasorelaxant effects of Anaxagorea luzonensis A. Grey in the rat aorta. Int. J. Pharmacol, 7: 119-124.
  6. Kitaoka, M., H. Kadokawa, M. Sugano, K. Ichikawa, M. Taki, S. Takaishi, Y. Iijima, S. Tsutsumi, M. Boriboon and T. Akiyama, 1998. Prenylflavonoids: a new class of non-steroidal phytoestrogen (Part 1). Isolation of 8-isopentenylnaringenin and an initial study on its structure-activity relationship. Planta Med., 64: 511-515.