ขันทองพยาบาท ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ขันทองพยาบาท งานวิจัยและสรรพคุณ 20ข้อ
ชื่อสมุนไพร ขันทองพยาบาท
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะดูกเลื่อม(ภาคเหนือ),หมากดูก(ภาคอีสาน),กระดูก(ภาคใต้),ขันฑสาร,ช้องรำพัน(จันทบุรี), ดูกหิน(สระบุรี), ขันทอง(พิษณุโลก), ขนุนดง(เพชรบูรณ์), ข้าวตาก(กาญจนบุรี), ขุนทอง, คุณทอง(ประจวบคีรีขันธ์),ป่าช้าหมอง(แพร่),เหมืองโลด(เลย),มะดูกดง(ปราจีนบุรี),ขอบนางนั่ง(ตรัง),เหล่ปอ(กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Suregada multiflora (A. Juss.) Baill.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gelonium multiflorum A. Juss. , Suregada affinis (S.Moore) Croizat, Gelonium bifarium Roxb. ex Willd.
ชื่อสามัญ False lime
วงศ์ EUPHORBIACEAE
ถิ่นกำเนิดขันทองพยาบาท
ขันทองพยาบาทเป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชียบริเวณเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ในประเทศ อินเดีย บังกลาเทศ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา และในคาบสมุทรมลายู เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยพบทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าละเมาะ และชายป่าที่แห้งแล้ง ที่มีความสูงไม่เกิน 500 เมตรจากระดับน้ำทะเล
ประโยชน์และสรรพคุณขันทองพยาบาท
- แก้น้ำเหลืองเสีย
- แก้โรคผิวหนัง
- แก้ไข้
- แก้พิษในกระดูก
- แก้มะเร็งคุดทะราด
- แก้กามโรค
- แก้กลากเกลื้อน
- แก้ลมพิษ
- แก้ประดงผื่นคัน
- แก้ประดง
- ใช้ฆ่าพยาธิ
- แก้โรคเรื้อน
- แก้ลมและโลหิตเป็นพิษ
- แก้โรคตับพิการ
- แก้ปอดพิการ
- ช่วยรักษามะเร็ง
- ช่วยรักษามะเร็งคุด
- เป็นยาถ่าย
- เป็นยาระบาย
- เป็นยาบำรุงเหงือก
ลักษณะทั่วไปขันทองพยาบาท
ขันทองพยาบาทจัดเป็น ไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 7-15เมตร เป็นพันธุ์ไม้ที่มีทรงพุ่มแน่นทึบ ลำต้นตั้งตรง เปลือกต้นมีสีน้ำตาลแก่ ผิวบางเรียบ ส่วนกิ่งก้านกลมสีเทา กิ่งมักจะห้อยลง และบริเวณกิ่งมีขนรูปดาวขึ้นปกคลุม และมีเนื้อไม้สีขาว ใบเป็นใบเดี่ยว แบบเรียงสลับโดยจะออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมรูปหอก ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบแหลม เนื้อใบมีลักษณะหนาและเหนียว หลังใบเรียบลื่นเป็นมัน ท้องใบเรียบและมีสีอ่อนกว่าหลังใบ ผิวใบด้านล่างมีต่อมสีเหลืองและมีขนเป็นรูปดาว ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟัน ใบมีความกว้างประมาณ 4-10เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-20เซนติเมตร ส่วนก้านใบยาว 2-5 มิลลิเมตร และส่วนของหูใบมีขนาดเล็กประมาณ 2 มิลลิเมตร ดอกออกเป็นกระจุกมีสีเขียวอมเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม โดยจะออกเป็นช่อสั้นๆ ตรงซอกใบ โดยแต่ละช่อจะมีดอกย่อย ช่อละ 5-10 ดอก มีใบประดับยาว 1 มม. กว้างประมาณ 0.8 มม. เป็นรูปหอก ตรงปลายแหลม ดอกเป็นแบบแยกเพศ แยกต้น ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้ มีขนาด 2.5 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ 35-60 อัน ส่วนดอกเพศเมีย ลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ โดยมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนหนาแน่น รังไข่มี 3 ช่อง ก้านเกสรตัวเมีย 3 อัน ผลเป็นดอกเดี่ยวแต่ออกเป็นกระจุก มีลักษณะเกือบกลม ผิวผลเกลี้ยง มีขนาดประมาณ 2-5มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนสีเหลืองอมส้ม แตกตามพู มีพู 3 พู ภายในผลจะมีเมล็ดอยู่ 3 เมล็ด เมล็ดค่อนข้างกลม หนึ่งผลมี 3 เมล็ด ตามพูๆ ละ 1 เมล็ด มีขนาด 7-8 มิลลิเมตร สีน้ำตาลเข้ม และมีเนื้อบางๆสีขาว (aril) หุ้มเมล็ดอยู่
การขยายพันธุ์ขันทองพยาบาท
ขันทองพยาบาทสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด แต่โดยส่วนมากแล้วในอดีตมักจะไม่นิยมนำมาปลูกตามเรือกสานไร่นา หรือตามบริเวณบ้าน เพราะเป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นที่มีขนาดสูงใหญ่พอสมควร ดังนั้นการขยายพันธุ์จึงมักจะเป็นการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติมากกว่าการนำมาปลูก แต่ในปัจจุบันมันเริ่มมีการเพาะเมล็ดแล้วนำต้นกล้าของขันทองพยาบาทมาปลูกบริเวณสวนสาธารณะ หรือใช้ปลูกเพื่อให้ร่มเงาตามสถานที่ต่างๆบ้างแล้ว
องค์ประกอบทางเคมี
มีผลการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆของขันทองพยาบาทพบว่า ราก พบสารในกลุ่ม diterpene diol ที่มีโครงสร้างเป็น 15b-diol, และพบent-kaurene-3b, สารกลุ่ม flavonesได้แก่ kanugin, pinnatin และ desmethoxy kanugin เปลือกต้น พบสาร diterpenoids ได้แก่ abbeokutone, suremulol C, D, entkaurene-3β,15 β-diol, helioscopinolide A, C, I,suregadolides, suregadolides C, suremulide A,suremulol A, bannaringaolide A, suremulol B (kaurane diol) และสารกลุ่ม triterpene alcohol ได้แก่ multiflorenol เมล็ด พบสารไกลโคไซด์ 7,4’-O-dimethylscutellarein 6-O-β-D-glucopyranoside ใบ พบสาร tetracyclic diterpene lactones ในกลุ่ม abiatene diterpene lactones หลายชนิด
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
แก้น้ำเหลืองเสียโดยการนำรากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม , แก้ไข้ , แก้กามโรค , แก้พิษในกระดูก , แก้โลหิตเป็นพิษ โดยใช้เนื้อไม้หรือแก่นตากให้แห้งแล้วนำมาต้มกับน้ำดื่มหรือใช้ฝนกับหินแล้วผสมน้ำดื่ม บำรุงเหงือก ใช้รักษาเหงือกอักเสบ ทำให้ฟันทน เหงือกแข็งแรง โดยใช้เปลือกมาต้มกับน้ำแล้วใช้อมบ้วนปากหลังแปรงฟัน ใช้รักษาโรคผิวหนัง ผดผื่นคัน รักษาโรคเรื้อน กลากเกลื้อน มะเร็งคุด โดยใช้เปลือกต้นนำมาต้มแล้วพอกหรือตำคั้นเอาแต่น้ำนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็น
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์แก้แพ้ มีการนำสารสกัดจากเปลือกของขันทองพยาบาทด้วยไดคลอโรมีเทนมาแยกสารให้บริสุทธิ์จะได้สารไดเทอร์ปีน 7 ชนิด คือ ent-16 -kaurene-3 β,15 β,18-triol, ent -3-oxo-16-kaurene-15 β,18-diol, ent -16-kaurene-3 β,15 β-diol, abbeokutone, helioscopinolide A, helioscopinolide C และ helioscopinolide I แล้วนำสารแต่ละชนิดมาทดสอบฤทธิ์แก้แพ้ในหลอดทดลอง โดยดูผลการยับยั้งการปล่อยเอนไซม์ β-hexosaminidase (ในการแพ้แบบ hypersensitivity type I จะมีอาการของโรคเกิดเร็วในเวลาเป็นนาที หรือชั่วโมง ภายหลังได้รับแอนติเจน ซึ่งจะเหนี่ยวนำการสร้างแอนติบอดีชนิด IgE ไปจับกับรีเซฟเตอร์บน mast cell และมีการปล่อยเอนไซม์ β-Hexosaminidase ร่วมกับ histamine ที่เก็บไว้ใน mast cell ออกมา ส่งผลให้เกิดอาการแพ้)ผลการทดลองพบว่าสารทั้ง 7 ชนิด มีฤทธิ์ยับยั้งการปลดปล่อยเอนไซม์ β-Hexosaminidase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ถูกปล่อยออกมาเมื่อกระตุ้นให้เกิดกระบวนการแพ้ ของเซลล์ RBL-2H3 โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) ของสารดังกล่าวข้างต้น มีค่าระหว่าง 22.5 - 42.2 ไมโครโมล โดยออกฤทธิ์ได้ดีกว่ายามาตรฐาน ketotifen fumarate (IC50 = 47.5 ไมโครโมล) แต่มีฤทธิ์น้อยกว่า quercetin (IC50 = 4.5 ไมโครโมล) แต่เมื่อนำสารทั้ง 7 ชนิดมาทดสอบการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ β-Hexosaminidase โดยใช้ความเข้มข้นของสารเท่ากับ 100 ไมโครโมล พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งน้อยมาก แสดงว่าสารทั้ง 7 ชนิดออกฤทธิ์แก้แพ้โดยยับยั้งการสลายตัวแกรนูลที่ปลดปล่อยเอนไซม์ β-Hexosaminidase แต่ไม่ได้ยับยั้งฤทธิ์ของเอนไซม์โดยตรง
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลอดทดลองของสารสกัด และสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากเปลือกลำต้นขันทองพยาบาท โดยใช้เซลล์แมคโครฟาจ RAW264.7ของหนู ซึ่งถูกกระตุ้นการอักเสบด้วยสาร lipopolysaccharide (LPS) ซึ่งจากผลการทดลองพบว่าสารสกัดเฮกเซน และไดคลอโรมีเทนจากเปลือกลำต้นขันทองพยาบาท ออกฤทธิ์แรงในการยับยั้ง nitric oxide (NO) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 8.6 µg/ml โดยสารบริสุทธิ์ที่แยกได้ คือ helioscopinolide A แสดงฤทธิ์ยับยั้ง NO ได้สูงที่สุดที่ค่า IC50 เท่ากับ 9.1 μM ตามด้วย helioscopinolide C และ suremulol D มีค่า IC50 เท่ากับ 24.5 และ 29.3 μM ตามลำดับ นอกจากนี้สาร helioscopinolide A ยังมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง prostraglandin E2 (PGE2) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 46.3 μM โดยฤทธิ์ต้านการอักเสบของ helioscopinolide Aเกิดจากกลไกในการยับยั้งการแสดงออกของยีน iNOS และ COX-2 mRNAทำให้การผลิต NO และพรอสตาแกลนดิน ที่เกี่ยวข้องในขบวนการอักเสบลดลง โดยการออกฤทธิ์จะขึ้นกับขนาดของยา
การศึกษาทางพิษวิทยา
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- เนื้อไม้ขันทองพยาบาท มีพิษทำให้เมา ดังนั้นในการใช้เป็นสมุนไพรจึงควรระมัดระวังในการใช้
- ในการใช้ส่วนต่างๆของขันทองพยาบาทเป็นสมุนไพรควรระมัดระวังการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ส่วนเด็กสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังรวมถึงผู้ทีต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนจะใช้ขันทองพยาบาทเป็นสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ขันทองพยาบาท (Khan Thong Phayabat)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 61.
- นันทวัน บุณยะประภัศร, อรนุช โชคชัยเจริญพร, สมุนไพรไม้พื้นบ้าน, หน้า 415.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ขันทองพยาบาท”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 101-102.
- วุฒิ วุฒิธรรมเวช, ร่วมอนุรักษ์มรดกไทย สารานุกรมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย, พิมพ์ครั้งที่ 1 (21 สิงหาคม พ.ศ. 2540), หน้า 129.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “ขันทองพยาบาท”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 77.
- Cheenpracha S, Yodsaoue O, Karalai C, Ponglimanont C, Subhadhirasakul S, Tewtrakul S, et al. Potential anti-allergic ent-kaurene diterpenes from the bark of Suregada multiflora. Phytochemistry. 2006;67:2630-2634.
- Tewtrakul S, Subhadhirasakul S, Cheenpracha S, Yodsaoue O, Ponglimanont C, Karalai C. Anti-inflammatory principles of Suregada multiflora against nitric oxide and prostaglandin E2 releases. J Ethnopharmacology. 2011;133:63-66.
- ขันทองพยาบาท.ฐานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.Phargaden.com/main.php?action=viewpage&pid=206