ลีลาวดี ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ลีลาวดี งานวิจัยและสรรพคุณ 27 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ลีลาวดี
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ลั่นทม, จำปาจีน, ลั่นทมแดง, ลั่นทมขาว, จำปาแดง, จำปาขาว (ทั่วไป), จาปาลาว (ภาคเหนือ), จำปาขอม (ภาคใต้), ไม้จีน (ยะลา), จำไป (เขมร), จงป่า (กะเหรี่ยง)  มอยอ, มลอ (มลายู)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Plumeriaobtuse Linn (พันธุ์ดอกสีขาว, ปลายใบกลม) Plumeriarubra Linn (พันธุ์ดอกหลากสี, ปลายใบแหลม)
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ PlumeriaAiton, (พันธุ์ปลายใบแหลม), Plumeris Poir (พันธุ์ปลายใบแหลม)
ชื่อสามัญ Frangipani, Pagoda tree, Temple tree, West indian red
วงศ์ APOCYNACEAE

ถิ่นกำเนิดลีลาวดี

ลีลาวดีเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิด ในทวีปอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ซึ่งได้สำรวจพบครั้งแรกโดย ชาลส์ ปลูมีเย นักสำรวจพรรณไม้ และนักเขียนชาวฝรั่งเศส โดยในปัจจุบันสามารถแบ่งประเภทของลีลาวดีได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ Plumeria rubra (พันธุ์ดอกหลากสี ปลายใบแหลม) และ Plumeria obtusa (พันธุ์ดอกสีขาวปลายใบมน) สำหรับประวัติของลีลาวดีในประเทศไทยนั้น มีการพบหลักฐานการจดบันทึก ประวัติพ่อขุนผาเมืองที่รวบรวมไว้โดยเจ้าอาวาสวัดตาล อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ที่มีบันทึกว่า พ่อขุนผาเมืองที่ขณะนั้นได้รวบรวมกองทัพขับไล่ขอมที่เรืองอำนาจได้สำเร็จ เมื่อความทราบถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก็ทรงเกรงว่าพ่อขุนผาเมืองจะกลายเป็นเสี้ยนหนามที่สำคัญ จึงยกพระธิดาให้เป็นพระชายา ซึ่งทั้งสองพระองค์ได้ปลูกต้นจำปาขอมสองต้นเพื่อบูชาพระธาตุขึ้น ปัจจุบันก็ คือ พระธาตุพ่อขุนผาเมือง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ และในจดหมายเหตุลาลูแบร์ กล่าวถึงลีลาวดีในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่า เป็นไม้ที่ไม่ค่อยนิยมปลูกมากนัก เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง แต่พบลีลาวดี ขาว (Plumeria obtusa) ในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ และในบริเวณวัดระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นต้นลั่นทมที่มาจากการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ เช่น ฮอลันดา และฝรั่งเศส

          ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงปลูกลีลาวดีขาวไว้บนพระนครคีรี หรือ เขาวัง จ.เพชรบุรี และสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ทรงปลูกลั่นทม (ลีลาวดี) ขาวที่นำมาจากอินโดนีเซียที่พระราชวังจุฑาธุชราชฐานบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี อีกด้วยทั้งนี้ปัจจุบันในประเทศไทยสามารถพบลีลาวดีได้ในธรรมชาติทางภาคเหนือ และยังสามารถพบลีลาวดีที่มีการนำมาปลูกได้ทั่วทุกจังหวัดของประเทศ

ประโยชน์และสรรพคุณลีลาวดี

  1. ทำครีมทาผิวเพื่อใช้ในการป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา
  2. รักษามะเร็งผิวหนัง
  3. รักษาริดสีดวง
  4. ลดความเป็นพิษของบุหรี่
  5. ใช้รักษาหอบหืด
  6. ช่วยขับปัสสาวะ
  7. รักษาโรคโกโนเรีย
  8. แก้ปวดบวม
  9. รักษาฟกช้ำ
  10. รักษาโรคหนองใน
  11. ช่วยขับระดู
  12. แก้ไอ
  13. ใช้เป็นยาถ่าย
  14. แก้โรคไขข้ออักเสบ
  15. ช่วยขับลม
  16. แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
  17. แก้ท้องเดิน
  18. เป็นยาแก้ไอ
  19. ช่วยขับพยาธิ
  20. ช่วยขับน้ำเหลือง
  21. แก้งูสวัด
  22. รักษาอาการอักเสบที่ข้อต่อ
  23. ใช้เป็นยาแก้ผดผื่นคัน
  24. แก้ปวดฟัน
  25. แก้โรคลำไส้อักเสบ
  26. แก้หูดที่ผิวหนัง
  27. ใช้ทารักษาแผล

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้หอบหืด รักษาโรคโกโนเรีย ใช้ขับปัสสาวะ โดยใช้ใบแห้งชงกับน้ำร้อนดื่ม ใช้แก้โรคหนองใน แก้ไขข้ออักเสบ ขับปัสสาวะ ขับระดู แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ใช้ถ่ายพยาธิ โดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไอ ขับพยาธิ รักษาแผลในลำไส้ แก้โรคลำไส้อักเสบ โดยใช้เนื้อไม้มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ปวดบวมฟกช้ำ โดยใช้ใบสดมาลนไฟแล้วนำมาประคบร้อนบริเวณที่เป็น ใช้ลดไข้ ขับระดู โดยใช้เปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม แก้ผดผื่นโดยใช้ยางจากต้นลีลาวดี ผสมกับการบูร และไม้จันทน์โดยทำเป็นยาทาบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของลีลาวดี

            ลีลาวดี จัดเป็นไม้พุ่มหรือยืนต้นผลัดใบขนาดเล็ก สูง 3-6เมตร แตกกิ่งแผ่กว้าง มีเรือนยอดเป็นรูปร่ม ลำต้นกลม เปลือกสีเทาหรือสีเขียวอมเทา เมื่อลำต้นมีอายุมาก จะเกิดตุ่มนูนทั่วลำต้น อันเนื่องมาจากแผลจากก้านใบที่หลุดร่วง และในทุกส่วนของลำต้นมีน้ำยางสีขาว ส่วนใบและดอกรวมถึงผลจะมีลักษณะแตกต่างกันเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

            Plumeria obtuse Lim ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับเวียนรอบกิ่ง และจะเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ กว้าง 3.5–7.7 ซม. ปลายใบกลม โคนใบมนหรือแหลม เนื้อใบหนา และเหนียวคล้ายเป็นแผ่นหนัง มีเส้นใบแบบขนนกเมื่อพลิกดูใต้ใบจะเห็นเป็นเส้นนูนเด่นชัด ดอกออกเป็นแบบช่อกระจุกออกที่ปลายยอด กลีบดอกมีสีขาว ตรงกลางสีเหลือง เชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ปลายดอกแยกเป็น 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ปลายมนมีกลิ่นหอม ส่วนผลออกเป็นฝักคู่ รูปทรงกระบอก แบนเล็กน้อยกว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 17-18 ซม. เมล็ดเป็นเมล็ดแบนมีปีกสีขาว ยาวประมาณ 2 ซม.

            Plumeria rubra Lim ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับเวียนรอบกิ่ง และเป็นกระจุกตรงปลายกิ่ง ใบมีลักษณะเป็นรูปวงรี กว้าง 6-8 ซม. ยาว 14-34 ซม. ปลายใบแหลม หรือ เรียวแหลม โคนใบเป็นรูปปลิม หรือ แหลม มีเส้นใบใต้ใบเป็นเส้นนูนแบบขนนกเห็นได้เด่นชัด ก้านใบยาวได้ถึง 7 ซม. ดอกออกเป็นช่อกระจุกออกที่ปลายกิ่ง กลีบมีหลากสี เช่น ดอกสีขาว ชมพู แดง หรือ เหลือง เชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายผายออกเป็นรูปกรวย มี 5 กลีบ เป็นรูปไข่กลับ มีกลิ่นหอม และผลออกเป็นฝักคู่ กว้าง 2-3 ซม. ยาว 10-16 ซม. เมล็ดลักษณะแบน ยาว 1-1.5 ซม. มีปีกสีขาว ยาว 1.6-2.8 ซม.

ลีลาวดี

การขยายพันธุ์ลีลาวดี

ลีลาวดีสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การใช้เมล็ด, การตอนกิ่ง และการปักชำ แต่ในปัจจุบันวิธีที่เป็นที่นิยมในการขยายพันธุ์ลีลาวดี คือ การปักชำ เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่าย และได้จำนวนต้นพันธุ์ที่รอดมากกว่าวิธีอื่น ยังทำให้ลำต้นไม่สูง และทรงก้านไม่แผ่กว้างมาก

            โดยมีวิธีการดังนี้ เลือกกิ่งจากต้นที่มีอายุ 1-2 ปี ที่มีความสมบูรณ์ ลักษณะเนื้อไม้แข็งแรง โดยให้ตัดตรงตำแหน่งที่ต่ำกว่าส่วนยอดอ่อน และควรมีความยาวของกิ่งที่จะนำไปปักชำประมาณ 2 ฟุต ซึ่งควรตัดกิ่งให้อยู่ในมุมที่สูงกว่ารอยแผลของก้านใบเก่าที่ร่วงไป (Growth Tips) เพื่อที่จะให้กิ่งเดิมที่ถูกตัดสามารถแตกกิ่งอ่อนได้จาก Growth Tips ที่เปลี่ยนตาแล้วใช้ปูนขาวป้ายที่แผลรอยตัด จากนั้นนำมาเก็บไว้ที่ร่มประมาณ 4 วัน ให้แผลแห้งก่อนนำมาเพาะชำและเมื่อจะนำไปชำในโรงเพาะชำควรนำ โคนกิ่งที่ตัดไว้จุ่มในน้ำยาเรียกราก หลังจากนั้นจึงนำกิ่งไปชำในกระถางที่มีดินที่มีฮิวมัสสูงให้โคนกิ่งลึก 2-3 นิ้ว และรอยที่จุ่มน้ำยาควรจะสูงกว่าระดับเหนือดิน 1 นิ้ว จากนั้นคอยรดน้ำให้ชุ่ม และเมื่อถึงพันธุ์ที่รากงอก หรือ มีใบจริงผลิออกมา 2-3 คู่ ก็สามารถนำไปปลูกในบริเวณที่ต้องการได้

องค์ประกอบทางเคมี

จากการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของลีลาวดี พบสารในกลุ่ม pentacyclic trterpenoids จากใบของ P.obtuse คือ zamanic acid obtusol 3β, 27-dihydroxyurs-12-ene และ 3 β-hydroxyurs-30p-E-hydroxycinnamoyl-12-en-28-oic acid ส่วนสารที่แยกได้จากเปลือกต้นของ P.lancifolia คือ (+)-uleine and (+)-demethoxyaspidospermine และยังพบสารในกลุ่ม trierpenoids คือ α-amyrin β-amyrin lupeol acetate ursolic acid รวมถึง β-sitosterol และอนุพันธ์ 3-O-glucoside ของ β-sitosterol นอกจากนี้ยังพบสาร จากผลของ P.rubra var. alba ได้แก่สารกลุ่ม iridoid glucoside เช่น plumieride ส่วนสารที่แยกได้จากใบสด และเปลือกต้นของ P.obtusa Linn. เป็นสารในกลุ่ม triterpenoids และ Steroids น้ำมันจากดอกของ P.obtusa L. และ P.rubra L. มีสาร benzyl salicylate, benzyl benzoate, palmitic acid, lauric acid, linoleic acid, alkanoic acids, myristic acid, geraniol, (E)-nerolidol และน้ำมันจากดอกของ P.rubra Linn. มี neryl phenylacetate , eugenol และ linalool นอกจากนี้ยังมี hexadecanoic acid, phenylethyl benzoate และ dodecanoic acid ส่วนดอกของ P.obtusa และเปลือกต้นของ P.rubra L. พบสารในกลุ่ม iridoid ได้แก่ 15-demethylisoplumieride

โครงสร้างลีลาวดี

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของลีลาวดี

            ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด สารสกัดเอทานอล:น้ำ (1:1) จากลำต้น และเปลือกต้น P.rubra มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดเมื่อให้หนูขาวกินขนาด 250 มก./กก. โดยพบว่าน้ำตาลในเลือดลดลงมากกว่า 30%

            ฤทธิ์แก้ปวด สารสกัดน้ำร้อนจากลำต้น P.rubra เมื่อทดสอบโดยการฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรในขนาด 10.0 มล./กก. พบว่าสารสกัดน้ำร้อนจากลำต้นขนาด 0.01 มล./มล. มีฤทธิ์ต้านการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ เมื่อทดสอบกับลำไส้ส่วน ileum ของ หนูตะเภา ที่ถูกชักนำให้หดเกร็งด้วย acetyl choline (Ach) histamine และ serotonin (5-HT)

            ฤทธิ์ต้านเชื้อราและแบคทีเรีย สารสกัดเมทานอล จากเปลือกต้นลีลาวดี P.rubra ความเข้มข้น 0.03% มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา Trichophyton mentagrohytes และยีนต์ Candida albicans และสารสกัด 95% เอทานอล จากเปลือกต้นที่ความเข้มขัน 2-3 มคก./มก. มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis และ Staphylococcusalbus และสารในกลุ่ม alkaloids คือ proaporphines Grandine A (a) Grandine B (b) Grandine C (c) phoebegrandine B (d) และ laurelliptine (e) โดย ที่สาร (a) – (d) มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก คือ Bacillus subtilis subtilis และ Staphylococcus aureus และเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ คือ Pseudomonas aeruginosa และ Escherichia coli แต่ไม่มีผลต่อเชื้อรา Aspergillus niger และ Candida albicans ในขณะทีสาร (e) ไม่มี ฤทธิ์ต่อเชื้อที่ทดสอบ ส่วนสกัดเมทานอล จากส่วนราก และลำต้นของ P.acutifolia มีฤทธิ์ต้านยีสต์ Saccharomyces cerevisiae และ Candida lipolytica ที่ดี และมีฤทธิ์ต้านเชื้อรา Aspergillus ochraceous และ Saccharomyces lipolytica ปานกลาง

            ฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ สารสกัด 95% เอทานอล จากใบ P.rubra ขนาด 50 มก./มล. มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบเมื่อทดสอบกับท่อนำอสุจิ (vas deferens) ของหนูขาวเพศผู้

            ฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ สารสกัดเฮกเซน จากส่วนใบ P.rubra มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ โดยเมื่อทดลองให้ลิง Macacaradiata ทั้ง 2 เพศ กินในขนาด 200 มก./กก. แล้วตรวจสอบไขกระดูกด้วย Micronucleustest และน้ำคั้นจากใบ P.rubra มีฤทธิ์ต้านการเสื่อมสลายของโครโมโซมในเซลล์ไขกระดูกของหนูถีบจักรเมื่อป้อนให้หนูถึบจักรกินในขนาด 25.0 มล./กก. โดยสัตว์ทดลอง จะถูกชักนำให้เกิด micronuclei ด้วย mitomycin C dimethylnitrosamine และ tetracycline

การศึกษาทางพิษวิทยาของลีลาวดี

            มีผลการศึกษาวิจัยความเป็นพิษของลีลาวดี ระบุไว้ดังนี้ ในการทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ของสารสกัดเอทิลอะซิเตด จากแกนกลางของเนื้อไม้ของ P.rubra ในเซลล์ CA9KB พบความเข้มข้นที่ออกฤทธิ์ 50% (ED50) คือ 5.0 มคก./มล. (M28119) และการทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ของสารสกัดคลอโรฟอร์ม จากเปลือกต้น P.rubra ในเซลล์ LEUK-P388 พบความเข้มข้นที่ออกฤทธิ์ 50% (ED50) คือ 5.0 มคก./มล. ส่วนสกัดเมทานอล จากส่วนรากของ P.rubra แสดงความเป็นพิษต่อเซลล์ CEM-SS และ HT-29 ความเข้มข้นที่ออกฤทธิ์ 50% (CD50) คือ 3.0 มคก./มล.

            นอกจากนี้การทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดเอทานอล:น้ำ (1:1) จากลำต้น โดยการฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร พบขนาดที่สัตว์ทดลองทนได้สูงสุด คือ 1.0 ก./กก. และการทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดเมทานอล : น้ำ (1:1) จากเปลือกต้นของ P.rubra โดยการฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรเพศผู้ พบค่าที่ทำให้สัตว์ทดลองตาย 50% (LD50) คือ มากกว่า 1.0 ก./กก.

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ยางสีขาวขุ่นจากต้นลีลาวดี มีความเป็นพิษ โดยสารที่เป็นพิษ คือ กรด Plumeric acid ซึ่งถ้าหากสัมผัสถูกยางดังกล่าว จะทำให้เกิดผื่นคัน และการอักเสบบวมแดงบริเวณตามผิวหนัง
  2. ในการใช้ส่วนต่างๆ ของลีลาวดีมาเป็นยาสมุนไพร สำหรับบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ ตามสรรพคุณที่ระบุไว้นั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดีไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้ลีลาวดี เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาอาการของโรคต่างๆ นั้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง ลีลาวดี
  1. กฤติยา ไชยนอก. ลีลาวดีต้นไม้คู่สปา. จุลสารข้อมูลสมุนไพร ปีที่ 25. ฉบับที่ 4. กรกฎาคม 2557. หน้า 13-19
  2. นันทวัน บุณยะประภัศร และคณะ.สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม. 4.กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชน จำกัด, 2543:222-7
  3. Anon. ไม้ดอกไม้ประดับกินได้, วารสารเทคโนโลยีที่เหมาะสม 1993;11(1):61-4.
  4. ลีลาวดี หรือ ลั่นทม. พืชเกษตรดอกคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  5. Dhar ML, Dhar MM, Dhawan BN, Mehrotra BN, Ray C. Screening of indian plants for biological activity:part l. lndian J Exp Biol 1968;6:232-47.
  6. Duke JA, Ayensu ES. Medicnal plants of china. Reference publications , lnc. Algonac, Michigan. Book1(4):52-361.1985.
  7. Sundarrao K. Burrows I, Kuduk M, Yi YD, Chung MH, Suh NJ, Chang IM.Preliiminary screening of antibacterial and antitumor activities of Papua New Guinean native medicinal plants. Int J Pharmacog 1993;31(1):3-6.
  8. Tohar N, Mohd MA, Jantan I, Awang K. A comparative study of the essential oils of the genus Plumeria Linn. From Malaysia. Flavour and Fragrance Journal
  9. Panthong A, Kanjanapothl D, Tayior WC, Ethnobotanical review of medicinal plants from thai traditional books, part1 : plants with antilnflammatory,. Antl-asthmatix and antihypertensive properties. J Ethnopharmacol 1986;(3):213-28.
  10. Jasril, Mohamed SM, Mackeen MM, Lajis NH, Rahman AA, All AM, Antimicrobial and cytotoxic activities of some Malaysian flowering plants.  Natural Product Sciences 1999;5(4):172-6.
  11. Boonclarm D, Sornwatana T, Arthan D, Kongsaeree P, Svasti J. β-glucosidase catalyzing specific hydrolysis of an iridoid β-glucoside from Plumeria obtuse. Acta Biochimica et Biophysica  2006;38(8):563-70
  12. Guevara AP, Amor E. Russell G.Antimutagens  from Plumeria acuminate ait. Mutat Res 1996;361(2/3):67-72.
  13. Siddiqui BS, Firdous, Begum S, Two triterpenoids from the leaves of Plumeria obtuse, Phytochemistry 1999;52(6):1111-5.
  14. Flores JS, Ricaide RV. The secretions and excretions and exudates of plants used in Mayan traditional medicine. J Herbs Spices Med Plants 1996;4(1):53-9.
  15. Shehata IA, Islam WT. Pharmacognostical study of Plumeria rubra L. var. alba fruits cultivated in Egypt. Bulletin of the Facuity  (Cairo University)2002;40(2):75-84.
  16. Datta S,Satta PC. Bark drugs of  Plumeria. Q J Crude Drude Res 1976;14:129-42.
  17. Kardono LBS, Tsauri S, Padmawinata K, Pezzuto JM, Kinghorn AD. Cytotoxic constituents of the bark of Plumeria rubra collected in lndonesia. J Nat Prod 1990;53(6):1447-55.
  18. Kennedy RR, Thangaraj T.Explitation of perfume potentiais of certain non-conventional flower species of South lndia. Journal of Medicnal and Aromatic Plant Sciences 2000;22(1B):525-7.
  19. Nakanishi K, Sasaki Sl, Kiang AK, Phytochemical survey of maiaysian plants. Prellminary chemical screening. Chem Pharm Bull 1965;13(7):882-90.
  20. Franca OO, Brown RT, Santos CAM, Uleine and demethoxyaspidospermine from the bark of Plumeria lancifolia, Fitoterapia 2000;71(2):208-10.
  21. Llham M, Yaday M, Norhanom AW. Tumour promoting activity of plants used in Malaysian traditional medicine. Nat Prod  Sci 1995;1(1):31-42.
  22. Lim-Sylianco CY, Concha JA, Jocano AP, Lim CM. Antimutagenic effects of eighteen Philippine plants, Philippine J Sci 1986;115(4):293-6.
  23. De Sa Barreto A, Amaral ACF, Rocha de A Silva J, Schripsema J, Rezende CM, Pinto AC. 15-Demethlisoplumieride acid,a new iridoid isoiated from the bark of Plumeria rubra and latex of Himatahus sucuuba, Qulmica Nova 2007;30(5):1133-5.
  24. Chak IM, Patnalk GK, Local anaestheity of Plumeria rubra. Indian J Pharmacy 1972;34:10-1.
  25. Tohar N, Awang K, Mohd MA, Jantan I. Chemical composition of the essential oils of four Plumeria species grown on peninsular Malaysia. Joumal of Essentioi Oil Research 2006;18(6):613-7.(b)
  26. Muir CK, Hoe KF.Pharmacological action of leation of leaves of Plumeria acuminate. Planta Med 1982;44:61-3.
  27. Petelot A.Les Piantes agronomiques et pastorals au Vietnam,Vietnam, Vois 1-4. Archives des rechercherches agronomlques et pastorals au Vietnam no.23.1954.
  28. Hamburger MO, Cordell GA, Ruangrungsi N. Traditional medicinai medicinal plants of Thailand XVII.. Biologically active constituents  of Plumeria rubra. J Ethnopharmacol 1991;33:289-92.