ระงับพิษ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ระงับพิษ งานวิจัยและสรรพคุณ 11 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ระงับพิษ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ดับพิษ (ภาคเหนือ), ผักหวานด่าง, จำสีเสียด, ระงับ (ภาคกลาง), คอนหมา (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Breynia glauca Craib
วงศ์ EUPHOBIACEAE


ถิ่นกำเนิดระงับพิษ

ระงับพิษจัดเป็นพันธุ์ไม้ประจำถิ่นของไทย โดยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบระงับพิษ ได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ รวมถึงที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป


ประโยชน์และสรรพคุณระงับพิษ

  • แก้ร้อนใน
  • แก้กระหายน้ำ
  • แก้พิษไข้จับสั่น
  • แก้ไข้หัว
  • แก้ไข้กลับ
  • แก้ไข้ซ้ำ
  • แก้เซื่องซึม
  • ใช้กระทุ้งพิษ
  • ใช้เป็นยากระทุ้งพิษไข้
  • แก้ไข้พิษทุกชนิด
  • รักษาโรคกระเพาะอาหาร

           นอกจากนี้ยังมีการใช้ต้นและรากของระงับพิษ มาใช้เป็นส่วนผล ในตำรับยาเขียวอีกด้วย

ระงับพิษ

ระงับพิษ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้จับสั่น แก้พิษไข้หัว ไข้กลับ ไข้เซื่องซึม กระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้ซ้ำ โดยนำราก หรือ ใบมาต้มระงับพิษ กับน้ำดื่ม หรือ นำไปปรุงเป็นยาเขียวรับประทาน ใช้รักษาโรคกระเพาะอาหารโดยนำลำต้นมาต้มกับน้ำดื่ม


ลักษณะทั่วไปของระงับพิษ

ระงับพิษ จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กแตกกิ่งก้านเป็นทรงพุ่ม มีความสูงประมาณ 3-5 เมตร ลำต้นตั้งตรง ไม่มีขน ผิวเรียบ เปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาล ลำต้นแก่จะแตกเป็นสะเก็ดสี่เหลี่ยมแต่ไม่หลุดออกมา กิ่งอ่อนจะแบนเล็กน้อย ต่อมาจะกลม กิ่งอ่อน ยอดอ่อน มีสีแดง ส่วนกิ่งแก่มีสีเขียวและมีหนามสั้นๆ ขึ้นห่างๆ ใบเป็นเดี่ยว ออกแบบ เรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมใบหอก กว้าง 1.5-3 เซนติเมตร ยาว 2.5-7 เซนติเมตร โคนใบมน ปลายใบแหลม หรือ อาจมน ขอบใบเรียบ ปลายสุดเป็นติ่งแข็งเล็กๆ หลังใบและท้องใบเรียบ หลังใบสีเขียวแกมน้ำตาล ท้องใบมีนวลสีขาว เนื้อใบเหนียว หนาและแข็ง มีเส้นใบแตกออกจากเส้นกลางใบ ข้างละ 3-4 เส้น จับดูรู้สึกเหนียวมือ หูใบกว้าง 0.8-1.2 มิลลิเมตร ยาว 1.6-2.5 มิลลิเมตร มีก้านใบยาว 2-4 มิลลิเมตร ดอกออกเป็นช่อกระจุก แบบแยกเพศ อยู่บนต้นเดียวกัน บริเวณซอกใบจะมีดอกย่อย 2-3 ดอก ซึ่งดอกตัวผู้ออกเป็นกระจุกเล็กๆ สีเหลืองแกมสีเขียวอ่อน เป็นรูประฆังคว่ำ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอก 2.6-3 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยงบางเชื่อมติดกัน สีเขียวถึงสีส้ม วงกลีบเลี้ยงขนาดกว้าง 2.2-2.5 ยาว 2.6-3 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้มี 3 อัน และมีก้านดอกยาว 3 มิลลิเมตร ส่วนดอกตัวเมียจะออกบริเวณง่ามใบประมาณ 1-4 ดอก ลักษณะดอกกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.2-8 มิลลิเมตร ก้านดอกยาว 1.2-2.5 มิลลิเมตร ไม่มีกลีบดอก แต่มีวงกลีบเลี้ยงยาว 2-3 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 6 แฉก ขยายออกและติดคงทน โดยในแต่ละแฉกกว้าง 1-3.2 มิลลิเมตร ซ้อนทับกัน กลีบเลี้ยงมีสีเขียวถึงสีเหลือง มียอดเกสรเพศเมีย ยาว 1.1-1.3 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็น 2 แฉก ส่วนรังไข่รูปกระสวยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.6-2 ถึง 0.9-1 มิลลิเมตร ผลออกเป็นผลเดี่ยว หรือ อาจเป็นผลกลุ่ม เมื่อแก่ผลจะแตก ลักษณะของผลรูปกลมแป้น ตั้งขึ้น กว้าง 8 มิลลิเมตร ยาว 5 มิลลิเมตร ปลายผลเป็นร่อง แยกเป็น 3 แฉก ตื้นๆ ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีแดงก้านผลยาว 2.5-6 มิลลิเมตร เมล็ดมีขนาดเล็กลักษณะกลม สีแดง ซึ่งใน 1 ผลจะมี 6 เมล็ด ขนาด 1.7-2  ถึง 3.7-4.2 มิลลิเมตร

ระงับพิษ

ระงับพิษ

การขยายพันธุ์ระงับพิษ

ระงับพิษสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด ซึ่งระงับพิษจะเป็นไม้ทนแล้ง แต่จะชอบความชุ่มชื้นพอประมาณ ชอบดินร่วนซุย ทนต่อแสงแดดได้ดี ทั้งนี้ในการขยายพันธุ์ของระงับพิษ นั้นส่วนใหญ่จะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติ ไม่ค่อยมีการนิยมนำมาปลูกตามอาคารบ้านเรือน หรือ ตามไร่นา การขยายพันธุ์จึงเป็นการที่เมล็ดร่วง หรือ มีสัตว์มากินผลแล้วถ่ายออกมาจนเกิดเป็นต้นใหม่ สำหรับการเพาะเมล็ดและการปลูกระงับพิษ สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปลูกไม้ยืนต้นอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์รประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมี ของสารสกัดจากส่วนใบของระงับพิษ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น friedelin, friedelan-3β- ol, arbutin, kaempferol, kaempferol-3-O-rutinoside, β-sitosterol, quercetin-3-O-glucoside, 3-oxo-sitosterone

โครงสร้างระงับพิษ

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของระงับพิษ

สำหรับการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของระงับพิษนั้น จากการศึกษาค้นคว้าพบว่ามีการศึกษาวิจัยน้อยมาก โดยมีเพียงการศึกษาวิจัยในต่างประเทศที่ระบุว่าสารสกัดระงับพิษ จากส่วนของใบ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดไข้ ต้านอนุมูลอิสระ และต้านเชื้อจุลชีพ เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของระงับพิษ

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ระงับพิษ เป็นสมุนไพรนั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสม ที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง ระงับพิษ
  1. วงศ์สถิตย์ ฉั่งสกุล. กกยาอีสาน. สารานุกรมไทย เล่ม 4. มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล. 2543. 271 หน้า
  2. มัณฑนา นวลเจริญ. พรรณไม้ป่าชายหาด. ปทุมธานี. สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2552 หน้า 137
  3. ระงับพิษ, ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid275 
  4. Kongkatip, B. 1974. Study of the chemical constituents of Breynia glauca and Arfeuillea aborescens. Master's thesis, Mahidol University, Bangkok, Thailand.
  5. Royal Forest Department 2001. Thai Plant NamesTem Smitinand, Prachachon Ltd., Bangkok.