นมน้อย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
นมน้อย งานวิจัยและสรรพคุณ 11 ข้อ
ชื่อสมุนไพร นมน้อย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น น้ำเต้าแล้ง,น้ำน้อย,ต้องแล่ง (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Polyyalthai evecta (Pierre) Finet & Gagnep
วงศ์ ANNONACEAE
ถิ่นกำเนิดนมน้อย
นมน้อย จัดเป็นพืชในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณเขตร้อนต่างๆ ของโลก ซึ่งยังไม่ได้มีการชี้วัดว่าเป็นที่ใด มีแต่เพียงรายงานว่า สามารถพบนมน้อยได้บริเวณเขตอบอุ่นและเขตร้อน เช่น ทางภาคตะวันออกของอเมริกาเหนือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเขตร้อนของอเมริกาใต้ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณ ชายป่า ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าชายหาด และป่าละเมาะทั่วไป ที่มีความสูตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึง 350 เมตร
ประโยชน์และสรรพคุณนมน้อย
- ใช้บำรุงน้ำนม
- แก้กล้ามเนื้อท้องเกร็ง
- แก้ปวดเมื่อย
- แก้ร้อนใน
- แก้ท้องอืด
- แก้ท้องเฟ้อ
- ช่วยขับลม
- แก้ปวดท้อง
- แก้คลื่นใส้อาเจียน
- ช่วยลดไข้
- ช่วยลดอาการเกร็ง
นอกจากนี้ตามชนบท ในอดีตเด็กๆ ยังนิยมเก็บผลสุกของนมน้อย มารับประทาน เล่นกันอีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ของนมน้อย
ใช้แก้โรคกระเพาะอาหารโดยใช้ราก เข้ายากับเครือไส้ไก่ และตะไคร้ป่าต้มน้ำดื่ม ใช้บำรุงน้ำนมหญิงหลังคลอดโดยใช้รากนมน้อยเข้ากับรากลกคก และรากหุ่นไห้ ต้มน้ำดื่ม ใช้แก้ร้อนใน ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ฝีภายใน แก้กล้ามเนื้อท้องเกร็ง แก้ปวดเมื่อย โดยใช้รากนมน้อยต้มกับน้ำดื่ม นอกจากนี้ยังมีการใช้แก่น หรือ รากนมน้อยมาใช้เป็นยาบำรุงหลังคลอดโดยนำมาเข้ากับสมุนไพรหลายชนิดเช่น แก่นนมสาว Scleropyrum pentandrum Dennst. Mabb. นมวัว Anomianthus dulcis James Sinclair และนมน้อย Polyalthia evecta Pierre Finet&Gagnep. ต้มกินต่างน้ำ
ลักษณะทั่วไปนมน้อย
นมน้อย จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 0.5-1 เมตร แตกกิ่งก้านไม่เป็นระเบียบกิ่งก้านเล็ก เปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาลดำเปลือกต้นมีช่องแลกเปลี่ยนอากาศจำนวนมาก
ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวแบบเรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปรี กว้าง 2.4 ซม. ยาว 6-12 ซม. โคนใบรูปลิ่ม ปลายใบแหลม ขอบ และผิวใบเรียบด้านบนสีเขียวเข้ม เกลี้ยง ด้านหลังมีขนสั้น ประปราย เส้นกลางใบเป็นร่อง
ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยว ออกบริเวณซอกใบ ของกิ่งอ่อน หรือ ตามรอยร่วงของใบ ดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยงที่มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมบางๆ ผิวด้านในของกลีบเลี้ยงส่วนด้านนอก มีขนสั้นบางสีเหลืองปกคลุม กลีบดอกหนาสีเหลืองมีทั้งหมด 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ แบ่งเป็นกลีบดอกชั้นนอก ซึ่งลักษณะคล้ายกลีบเลี้ยง มีสีเขียวอมเหลือง ส่วนกลีบดอกชั้นในหนาอวบมีสีเหลืองนวล และขนาดใหญ่กว่า กลีบดอกชั้นนอก ภายในดอกประกอบด้วยเกสรเพศผู้ รูปลิ่มจำนวนมากล้อมรอบเกสรเพศเมียซึ่งมีรังไข่อยู่กลางฐานของดอก
ผล ออกเป็นกลุ่ม มีหลายผลย่อยรวมเป็นช่อ มีก้านช่อยาว 3-4 ซม. ส่วนผลย่อยเป็นรูปทรงกลม ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียวผลแก่สีน้ำตาล ปนแดงและเมื่อสุกจะมีสีแดง สามารถรับประทานได้
การขยายพันธุ์นมน้อย
นมน้อย จัดเป็นไม้พุ่มที่มีการขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง แต่ที่ผ่านมานั้นการขยายพันธุ์มักจะเป็นการขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดในธรรมชาติ มากกว่าการขยายพันธุ์โดยมนุษย์ สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่งไม้พุ่มชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากสารสกัดจากส่วนรากนมน้อย ระบุว่า พบสารที่ออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด ดังนี้ จากการศึกษาสารสกัดชั้นเฮกเซนจากส่วนรากของนมน้อยพบว่าสามารถแยกสารกลุ่ม diynoic acid ใหม่ 4 ชนิด คือ สาร 19-2-furyl nonadeca-5,7-diynoic acid, 19-20furyl nonadeca-5-diynoic acid, 1-2-furyl pentacosa-7,9-diyne และสาร ester 21-2-furyl heneicosa-14,16-diyne-19-2-furyl nonadeca-5,7-diynoate ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งระบุว่ามีสารออกฤทธิ์เพิ่มเติมอีก 1 ชนิด คือ evectic acid อีกด้วย
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของนมน้อย
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยของสารสกัดนมน้อย จากส่วนราก ระบุว่า สาร 19-2-furyl nonadeca-5,7-diynoic acid และสาร 19-2-furyl nonadeca-5-diynoic acid ที่แยกได้จากสารสกัดเฮกเซนจากส่วนรากของนมน้อย มีฤทธิ์ยับยั้งต่อเชื้อโรคเริม เพียงเล็กน้อย ด้วยค่า IC50 เท่ากับ 19.4 ug/ml ตามลำดับ ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งระบุว่า มีการศึกษาและแยกสารประกอบจากรากของ Polyalthia evecta โดยการสกัดด้วย hexane แล้วนำสารสกัด hexane ไปทำการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพพบว่าสามารถออกฤทธิ์ต้านเชื้อรา Phytophthora palmivora ในพืชได้ นอกจากนี้สารสกัดจากใบด้วยเอทานอล และนำ 50% ของนมน้อย แสดงฤทธิ์ต้านมะเร็ง ในระดับสูงโดยมีความเป็นพิษต่อเซลล์สูง IC50=62.8+- 7.3 ug/ml อีกด้วย
การศึกษาทางพิษวิทยาของนมน้อย
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้นมน้อยเป็นสมุนไพร สำหรับบำรุงน้ำนมนั้นส่วนมากจะเป็นการใช้สมุนไพรร่วมกับสมุนไพรชนิดต่างๆ อีกหลายชนิด สำหรับการใช้ในด้านสรรพคุณอื่นๆ ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดต่างๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายา ไม่ควรใช้มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำควรจะใช้นมน้อย เป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง
เอกสารอ้างอิง นมน้อย
-
ประไพรรัตน์ ศรีพลไกร, รัตนาภรณ์ ตรัยสกิตย์. สรรพคุณทางยา สารเมแทบอลิซึมทุติยถูมิและฤทธิ์ทางชีวภาพของพืชสมุนไพรบำรุงน้ำนมบางชนิด. วารสารวิทยาศาสตร์บูรพา ปีที่ 25. ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2563. หน้า 1281-1282.
-
นมน้อย. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=75
-
Kumae M., Zhao X., Wang XW. Molecular carcinogenesis of heoatocellular carcinoma and intrahepanic chilangiocaecinoma: One step closer to persernalized medicine? Cell Biosci. 2011;1:5.
-
Kanokmedhakul, S., Kanokmedhakul K., Kaniykeaw I& Phonkerd N. 2006. 2-Subtituted furans from the roots of polyalthia evacta. Journal of natural Products 69, 68-72.
-
Tanaka H., Fujita N., Sukimoto R., Urawa N., Horiike S., Konayashi Y, et al. Heoatic oxidative DNA damage is associated with increased risk for hepatocellular carcinoma. BMC Cancer 2006;5:1-6.
-
Sasipawan machana et al. Asian pacific journal of tropical iomedicine volume 2, Issue 5,May 2012, Pages 368-374.
-
Sithitawan P, Haswell-elkinsM. Epigdemiology of opisthorchis viverrini. Acta tropica 2003;88:187-194.
-
Singh G. 2010. Plant systematics an integrated approach. India: Science Publishers.
-
Park SH., Lee Y, Kwon SY, Kwon OS, Kim SS, et al. systemic chemotherapy eith doxorubicin ciplatin and carpecitabine for metastatic hepatocellular carcinoma. BMC. Cancer. 2006;5:1-6.
-
Kanokmwhakul S., Hotani I.I. et al. 1998. A diynoic acid from Polyalthia evecta, Phytochemistry. 47:131-133