พลองเหมือด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
พลองเหมือด งานวิจัยและสรรพคุณ 12 ข้อ
ชื่อสมุนไพร พลองเหมือด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เหมือดแอ่ (มหาสารคราม), ผักไคร้มด (ภาคเหนือ), พลองดำ (ประจวบคีรีขันธ์), เหมียด (สุรินทร์)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Memecylon edule Roxb.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Memecylon edule var. scutellatum (Lour.) Triana, Memecylon scutellatum (Lour.) Hook. & Arn.
วงศ์ Melastomataceae
ถิ่นกำเนิดพลองเหมือด
พลองเหมือด เป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย ทั้งในภูมิภารเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ ซึ่งได้แก่ประเทศ พม่า ลาว ไทย กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย บังคลาเทศ เป็นต้น โดยมักจะพบตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแห้ง และป่าผสมผลัดใบที่มีความสูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเล จนถึง 700 เมตร สำหรับในประเทศไทย พบได้มากในภาคอีสาน ส่วนภาคอื่นๆพบได้ประปราย
ประโยชน์และสรรพคุณพลองเหมือด
- รักษาโรคกระเพาะอาหาร
- แก้ประดง (อาการโรคผิวหนัง มีเม็ดขึ้นคล้ายผด คันมาก มักมีไข้ร่วมด้วย)
- รักษาโรคโกโนเรีย (โรงหนองใน)
- เป็นยาขับปัสสาวะ
- แก้ปัสสาวะขัด
- แก้หืด
- บำรุงเหงือก
- รักษาโรคกระเพาะอาหาร
- บรรเทาอาการปวดฟัน
- ช่วยทำให้ฟันแข็งแรง
- แก้ไข้ป่า
- ใช้ทาส้นเท้าเพื่อลดรอยแตกได้
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
แก้โรคกระเพาะอาหาร โดยนำราก หรือ ลำต้น นำมาต้มดื่ม ใช้ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขัดโดยนำต้น และใบ ไปต้มดื่มวันละ 2 ครั้งหลังอาหารเช้า เย็น ครั้งละ 1 แก้ว แก้หืด โดยนำต้นมาผสมกับแก่นพลับเพลา ต้นกำแพงเจ็ดชั้น ต้นสบู่ขาว แก่นจำปา แก่นโมกหลวง ต้มน้ำดื่มแก้หืด ใช้แก้ประดงโดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้บรรเทาอาการปวดฟัน ทำให้ฟันแข็งแรง บำรุงเหงือกโดยนำเปลือกต้น หรือ แก่นต้น เผาไฟ แล้วนำยางที่ได้มาทาตรงบริเวณที่ปวดฟัน หรือ บริเวณที่ต้องการ
ลักษณะทั่วไปของพลองเหมือด
พลองเหมือด จัดเป็น ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 1-3 เมตร (แต่ในบางพื้นที่สามารถสูงได้ถึง 12 เมตร) เปลือกแตกเป็นร่องลึก และเห็นชัดเจนบริเวณโคนลำต้น มีสีเทาอมน้ำตาล กิ่งอ่อนแบน หรือ เป็นสี่เหลี่ยมมีร่องตามยาว 2 ร่อง ส่วนกิ่งแก่มีลักษณะกลม ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่ หรือ รูปวงรีแกมรูปโล่ กว้าง 1.5-4 ซม. ยาว 2.5-6 ซม. เป็นสีเขียวเป็นมันปลายทู่ หรือ แหลม โคนมน หรือ สอบ ขอบเรียบ แผ่นใบเหลี่ยว และหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวเกลี้ยงทั้งสองด้าน เส้นกลางใบเป็นร่อง โดยทางด้านบนนูน ทางด้านล่างเส้นแขนงใบไม่ชัดเจน ส่วนก้านใบ ยาว 4-5 มม. และเป็นร่องทางด้านบน ดอกออกแบบเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ หรือ ตามข้อที่ใบร่วงไปแล้ว โดยในแต่ละช่อยาว 1.5-2.5 ซม. ดอกในช่อมีประมาณ 2-8 ดอก ต่อช่อ และมีเส้นผ่านศูนย์กลางของดอก 0.8-1 ซม. ก้านช่อดอก ยาว 1-5 มม. ก้านดอกย่อยยาว 1.5-2 มม. ส่วนกลีบดอกมี 4 กลีบ ลักษณะหนามีสีขาวมอมม่วง หรือ สีน้ำเงินเข้ม รูปไข่ถึงรูปขอบขนาน กว้าง และยาว ประมาณ 3 มม. ปลายแหลมเกสรเพศผู้ 8 อัน ก้านเกสรเพศเมียสีม่วงอ่อน และยอดเกสรเพศเมียมีขนาดเล็ก สำหรับใบมีประดับขนาดเล็กมาก ฐานรองดอกหนาเป็นรูปถ้วยสีชมพู ยาว 2-4 มม. เกลี้ยงปลายตัด หรือ แยก กลีบเลี้ยง 4 แฉก เล็กๆ ผลเป็นแบบผลสดมีเนื้อคล้ายลูกหว้า ทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 6-7 มม. ผลดิบมี สีเขียวอมเหลือง เมื่อสุกสีม่วงถึงดำใน 1 ผลจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด มีลักษณะกลม
การขยายพันธุ์พลองเหมือด
พลองเหมือด สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด ซึ่งในการขยายพันธุ์ของพลองเหมือดนั้น ส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากกว่าการถูกนำมาปลูก และขยายพันธุ์โดยมนุษย์ สำหรับการนำส่วนต่างๆ ของพลอยเหมือดมาใช้ประโยชน์นั้น ก็จะเป็นการเก็บมาจากในป่าแทบทั้งสิ้น ซึ่งพลองเหมือดถือเป็นพืชสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่ยังไม่เป็นที่นิยมนำมาปลูกตามเรือกสวนไร่นา หรือ ตามบริเวณบ้าน และที่พักอาศัย
องค์ประกอบทางเคมี
มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของใบพลองเหมือด พบสาระสำคัญหลายชนิด เช่น epigalllocatechin gallate, myricetin, ellagic acid, ellagic acid glycolic, ursolis acid และ rutin เป็นต้น
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของพลองเหมือด
มีผลการศึกษาวิจัยของพลองเหมือดหลายฉบับโดยแยกตามฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาได้ดังนี้
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จากการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสักดจากใบพลองเหมือด พบว่าสารสกัดชั้น ethyl acetate,methanol และ 50% methanol มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPH โดยมีค่าที่ทำให้อนุมูลอินะลดลงร้อยละ 50 (IC50) ดังนี้ methanol 46.9 g/mL, 50% methanol 152.1 g/mL และ ethyl acetate 1742.2 g/mL ตามลำดับเปรียบเทียบกับค่าของสารมาตรฐาน ascorbic acid 9.1 g/mL และ trolox 11.6 g/mL mL
ส่วนการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่า เมื่อได้ทำการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากสารสกัดชั้น ethyl acetate และสามารถแยกสารออกฤทธิ์ ซึ่งได้แก่ rutin โดยสาร rutin ที่ได้แสดงค่า IC50 ของการต้านอนุมูลอิสระ DPPH ที่ 17.06 μg/ml และมีค่าความสามารถในการจับไอออนเหล็ก (Fe3+ion chelation) ได้ร้อยละ 50 ที่ 17.29 μg/ml
ฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็ง สารสกัดขั้นเอธิลอะซีเตตจากใบพลองเหมือด สามารถทำให้เซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร (gastric cancer cellline) เกิดการตายแบบ apoptosis
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ และแก้ปวด มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ลดการอักเสบของสารสกัดจากใบชั้น hexane, ethyl acetate,methanol และ 50 % methanol ด้วยวิธี ethylphenylpropiolate induced ear edema พบว่าเมื่อทาสารสกัดชั้น ethyl acetate ขนาด 0.5, 1.0, 2.0 mg/หู ไว้เป็นเวลา 30 นาที สามารถลดอาการบวมของหูสัตว์ทดลองลงได้ส่วนการทดสอบฤทธิ์แก้ปวดด้วยวิธี writhing เมื่อพบสัตว์ทดลองกินสารสกัดชั้น ethyl acetate ขนาด 200 mg/kg สามารถยับยั้งอาการปวดได้ร้อยละ 56.6 เทียบเท่ากับ indomethacin ขนาด 10 mg/kg
ส่วนการศึกษาสารสกัดชั้น 50% เมธานอล พบว่าแสดงฤทธิ์ยับยั้ง pro-inflammatory cytokine ชนิด TNF-α จากนั้นทำการแยกจนได้สารออกฤทธิ์ พบว่าเป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ epigallocatechin gallate, myricetin และสารกลุ่มฟีนอกลิก ได้แก่ ellagic acid glycoside เมื่อทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ TNF-α ของ epigallocatechin gallate และ myricetin ในขนาด 100 uM พบว่ายับยั้งได้ร้อยละ 19.46 และ 39.14 ตามลำดับ ส่วน ellagic acid glycoside ขนาด 40 uM สามารถยับยั้งการทำงานของ TNF-α ได้ร้อยละ 47.78 นอกจากนี้ยังพบว่าสาร 3'-di-O-methylellagic acid 4-O-d-glucopyranoside และ myricetin-3-O-α-l-rhamnopyranoside ที่แยกได้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียUrsolic acid ที่แยกออกจากส่วนสกัด hexane:ethyl acetate (40:60) ของใบพลองเหมือดมีฤทธิ์ต้านเชื้อ Streptococcus epidermidis และ S. pneumoniae โดยมีความเข้มขันต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อ (MIC) ที่ 1.56 และ 3.15 μg/ml ตามลําดับ
การศึกษาทางพิษวิทยาของพลองเหมือด
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ถึงแม้ว่าพลองเหมือดจะมีการใช้ประโยชน์ทางสมุนไพรมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว แต่สำหรับการใช้ก็ควรระมัดระวังเช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยตรงใช้ในขนาด และปริมาณที่พอดีที่กำหนดไว้ในตำรับ ตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้พลองเหมือด เป็นสมุนไพรบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง พลองเหมือด
- เต็ม สมิตินันทน์. 2523. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (ชื่อพฤกษศาสตร์-ชื่อพื้นเมือง). กรมป่าไม้ 379 หน้า.
- รศ.ดร.ระวิวรรณ แก้วอมตวงศ์. สมุนไพร ในป่าอีสาน พลองเหมือด. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
- สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2542. ผักพื้นบ้านภาคอีสาน 302 หน้า.
- พลองเหมือด . ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=242
- Nualkaew S, Thongpraditchote S, Wongkrajang Y, et al. Epigallocatechin gallate, myricetin and ellagic acid glycosides with anti-inflammatory activity from Memecylon edule leaves. Planta Med 2012;78:1189 .
- Srinivasan R, Natarajan D, Shivakumar MS. Spectral characterization and antibacterial activity of an isolated compound from Memecylon edule leaves. J Photochem Photobio B-bio 2017;168:20-4.
- Nualkaew S, Rattanamanee K, Thongpraditchote S. Anti-inflammatory, analgesic and wound healing activities of the leaves of Memecylon edule Roxb. J Ethnopharmacol 2009;121:78-81
- Naidu VGM, Mahesh BU, Giddam AK. Apoptogenic activity of ethyl acetate extract of leaves of Memecylon edule on human gastric carcinoma cells via mitochondrial dependent pathway. Asian Pac J Trop Med 2013;6:337-45.
- Nualkaew S, Thongpraditchote S, Wongkrajang Y, et al. Isolation of a new compound, 2-butanone 4- glucopyranoside 6-O-gallate and other 8 compounds from the anti-inflammatory leave extracts of Memecylon edule Roxb. Nat Prod Res 2017;31:1370-8.