บานเย็น ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
บานเย็น งานวิจัยและสรรพคุณ 25 ข้อ
ชื่อสมุนไพร บานเย็น
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น จำยาม, จันยาม (ภาคเหนือ), ดอกสี่โมง, ดอกหุงข้าว, ดอกสายฝน (ทั่วไป), ตีต้าเช่า, จีปักหลี (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mirabilis jalapa Linn.
ชื่อสามัญ Four o’clock ,Marvel of peru
วงศ์ NYCTAGINACEAE
ถิ่นกำเนิดบานเย็น
บานเย็น เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางและอเมริกาใต้บริเวณเทือกเขาแอนดิส ในเปรูรวมถึงในพื้นที่สูงของเม็กซิโก โดยคำว่า Mirabilis ในภาษาละตินหมายถึง ยอดเยี่ยม, สวยงาม, มหัศจรรย์ ส่วนคำว่า Jalapa เป็นชื่อเมืองแห่งหนึ่งในประเทศเม็กซิโก ต่อมาจึงได้มีการกระจายพันธุ์ไปยังพื้นที่ใกล้เคียง จากนั้นจึงถูกนำออกมาจากทวีปอเมริกาใต้ เพื่อนำไปปลูกในเขตอบอุ่น และเขตร้อนอื่นๆ ทั่วโลกจนกลายเป็นพืชประจำถิ่น ในบางพื้นที่ในปัจจุบันนี้ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ตามสถานที่ต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศ
ประโยชน์และสรรพคุณบานเย็น
- ใช้เป็นยาระบาย
- ใช้เป็นยาชา
- ช่วยขับเหงื่อ
- แก้อาการบวมน้ำ
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้เบาจืด
- แก้ตกขาว
- แก้หนองใน
- แก้ไข้ตัวร้อน
- แก้อาเจียน
- แก้อาการทอนซิลอักเสบ
- แก้อักเสบ
- แก้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
- แก้อาการคัน
- รักษากลากเกลื้อน
- รักษาฝี
- ช่วยล้างบาดแผล
- แก้อาการปวดแสบปวดร้อน
- แก้อาการฟกช้ำ
- แก้อาเจียนเป็นเลือด
- รักษาแผลพุพองมีหนอ
- แก้สิว
- แก้ฝ้า
- แก้ไข้
- ช่วยลบรอยด่างดำบนใบหน้า
ในปัจจุบันประโยชน์ของบานเย็นที่นิยม และมีการใช้กันอยู่ คือ การนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ตามอาคารสถานที่ ตามบ้านเรือน และสวนสาธารณะทั่วไป เนื่องจากมีดอกสีสันสวยงามหลากหลายสีภายในต้น หรือ ดอกเดียวกัน และยังมีกลิ่นหอม ที่สำคัญยังเป็นพรรณไม้ที่ปลูกเลี้ยงง่ายโดยสามารถปลูกได้ทั้งในกระถางและในพื้นดิน อีกทั้งเมื่อต้นมีอายุมากขึ้นก็สามารถเปลี่ยนสีของดอกได้อีกด้วย ส่วนในอดีตนั้นยังมีการนำบานเย็นมาใช้ประโยชน์ต่างๆ อีกหลายประการ อาทิเช่น ดอกของบานเย็น สามารถใช้ทำสีผสมอาหารได้โดยจะให้สีแดงเข้ม ซึ่งมักใช้แต่งสีเค้ก และเจลลี่ ผงจากรากนำมาใช้เป็นเครื่องสำอางได้โดยนำมาผสมกับแป้งข้าวเจ้า และผงไม้จันทน์ แป้งจากเมล็ด ผู้หญิงไทยในอดีตจะนำมาใช้ผัดหน้า ให้ผิวสวย ใช้ทารักษาสิว ฝ้า ลบรอยด่างดำบนใบหน้าได้
รูปแบบและขนาดวิธีใช้บานเย็น
ใช้แก้ไข้ ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ แก้อักเสบ แก้บวมน้ำ แก้ต่อมทอลซินอักเสบ โดยใช้รากหรือหัวบานเย็น ฝานเป็นแผ่นบางๆ ตากแห้งต้มกับน้ำดื่ม ใช้รักษาโรคหนองใน และตกขาวในสตรีโดยใช้ราก และหัวจากต้นบานเย็น ดอกสีขาวมาหั่นเป็นแผ่น ผสมกับโป่งรากสนแล้วนำมาต้มกินก่อนอาหารวันละ 2 เวลา แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้กระอักเลือด โดยใช้ดอกสดประมาณ 120 กรัม นำมาคั้นเอาแต่น้ำกิน แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ โดยใช้รากหรือหัวสดมาคั้นเอาแต่น้ำใช้กวาดคอ ใช้เป็นยารักษากลากเกลื้อน ลดอาการอักเสบโดยใช้ใบสดนำมาตำพอก หรือ คั้นเอาแต่น้ำมาใช้ทาบริเวณที่เป็น ใช้พอกรักษาฝี แผลมีหนองต่างๆ และแก้ต่อน้ำเหลืองอักเสบโดยใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียด แล้วนำไปอุ่นไฟเล็กน้อยพอกบริเวณที่เป็น ใช้รักษาแผลมีน้ำเหลือง และผิวหนังพองมีน้ำเหลือง แก้สิว แก้ฝ้า โดยใช้เมล็ดมาแกะเอาเปลือกออก แล้วเอาแป้งมาบดเป็นผงให้ละเอียด ใช้ทางถูบริเวรที่เป็น ช่วยบรรเทาอาการคัน และยังลดอาการแสบร้อน โดยใช้น้ำคั้นจากใบใช้ทารักษาบริเวณที่เป็น
ลักษณะทั่วไปของบานเย็น
บานเย็นจัดเป็นไม้ล้มลุกเนื้ออ่อน มีเหง้าหรือหัวใต้ดินซึ่งความจริงแล้วเป็นส่วนรากที่มีลักษณะพองเป็นหัวมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขาเป็นทรงพุ่มกว้างเตี้ยๆ มีความสูงประมาณ 1-1.5 เมตร เปลือกลำต้นมีสีแดง และมีกิ่งอ่อนเป็นสีเขียว ใบเป็นใบเดี่ยวออกเป็นคู่ๆ สลับกันไปตามลำต้น ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือ รูปสามเหลี่ยม โคนใบตัดคล้ายรูปหัวใจ ปลายใบแหลม และมีขนประปรายตามหน้าใบ ซึ่งขนาดของ ใบจะกว้างประมาณ 2-9 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร และมีเส้นกลางใบเป็นสีเหลืองอ่อนเห็นได้ชัดเจน ดอกออกเป็นช่อรวมกันที่ปลายกิ่ง โดยในแต่ละช่อจะมีดอกย่อยประมาณ 4-5 ดอก ดอกตูมจะมีลักษณะเป็นรูปหลอด ส่วนดอกที่บานเต็มที่จะมีลักษณะคล้ายรูปแตรปลายแยกเป็น 5 กลีบ มีเส้นผ่านศูนย์กลางของดอกประมาณ 3-5 ซม. ส่วนกลีบดอกยาวประมาณ 3-6 ซม. ที่ฐานดอกจะมีกลีบประดับรูประฆังยาวประมาณ 1-1.5 ซม. ติดอยู่ ก้านดอกสั้นมาก หรือ อาจไม่มี มีทั้งที่เป็นสีขาว ชมพู ม่วง เหลือง ส้ม หรือ มีหลายสีในดอกเดียวกัน หรือ ภายในต้นเดียวกัน ดอกมีกลิ่นหอม และมักจะบานในตอนบ่ายๆ จนถึงเช้า มีเกสรตัวผู้ยาวประมาณ 1 ซม. จำนวน 5 อัน มีอับเรณูรูปทรงกลม รังไข่เป็นรูปรี ก้านเกสรเพศเมียมีสีแดงยาวเท่าๆ กับเกสรเพศผู้ ปลายเกสรมีลักษณะเป็นตุ่ม แยกเป็นพูตื้นๆ ผล หรือ เมล็ดของบานเย็นมีลักษณะเป็นทรงกลม มีสีดำ เปลือกบาง ผิวขรุขระหยาบ มีเส้น 5 เส้น ขนาดยาวประมาณ 0.5-0.9 เซนติเมตร ภายในจะมีแป้งอยู่เป็นจำนวนมาก
การขยายพันธุ์บานเย็น
บานเย็นสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดซึ่งจะนิยมทำกันมากเนื่องจากติดเมล็ดง่าย ส่วนวิธีการก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดไม้ล้มลุกอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้บานเย็นเป็นพืชที่ปลูกเลี้ยงได้ง่าย โดยจะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีการระบายน้ำได้ดี และยังต้องการแสงแดดจัดสำหรับความชื้นและน้ำต้องกานในปริมาณปานกลาง ซึ่งสามารถปลูกได้ทั้งในกระถาง และปลูกลงดิน โดยต้นที่ปลูกในกระถางจะมีความสูงเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 90 เซนติเมตร
องค์ประกอบทางเคมี
มีผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของบานเย็นพบว่า ใบประกอบด้วยสาร B-sitosterol, n-hexacosanol, Tetracosanoic acid, 12-tricosanone, Leucin, Tryptophan รวมถึงยังพบกรดอะมิโนชนิดต่างๆ เช่น Alanine, Tartaric acid, Valine, Citric acid, Glycine เป็นต้น ส่วนในดอกจะสารกลุ่ม flavonoids และ Betaxanthins ส่วนผลหรือเมล็ดจะประกอบไปด้วยไขมันประมาณ 4.3% โดยจะพบ linolenic acid มากที่สุดประมาณ 15.1% นอกจากนี้ยังพบสาร Quercetin Kaempferol glycoside อีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของบานเย็น
มีผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาจากส่วนต่างๆ ของบานเย็นระบุไว้ว่า สารสกัดจากรากของบานเย็นมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพโดยมีฤทธิ์ต้าน Candida albican เมื่อทดลองในหลอดทดลอง ส่วนสารสกัดดอก ใบ และรากมีฤทธิ์ต้านเชื้อราอีกด้วย ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งระบุว่าสารสกัดส่วนรากของบานเย็น มีฤทธิ์ต้านไวรัสและยังพบว่ามีโดยจะเข้าไปยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีน และรบกวนกระบวนการอื่นๆ ในเซลล์ของไวรัส
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดเมล็ดบานเย็นมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก 3 ชนิด คือ iBacillus subtilis, Bacillus thuringiensis, Bacillus shaericus และไม่ก่อให้เกิด การระคายเคืองต่อผิวหนัง โดยพบว่าสารสกัดที่มีความเข้มข้น 25 มิลลิกรัม ต่อมิลลิลิตร สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโพรพิโอนิแบคทีเรียมแอคเน ซึ่ง เป็นแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว และสารสกัดบานเย็นที่เก็บไว้ที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส นาน 6 เดือน ยังแสดงฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโพรพิโอนิแบคทีเรียมแอคเนได้ ดังนั้นจึงนำสารสกัดบานเย็นในรูปผงแห้งมาพัฒนาเป็นเจลที่มีความแรงเป็น 3% และ 5% จากนั้นจึงทำการศึกษาเบื้องต้น ทางคลีนิคพบว่าการใช้เจลที่มีปริมาณสารสกัดเข้มข้น 3% และ 5% จะช่วยลดสิวที่มี ความรุนแรงปานกลางได้
การศึกษาทางพิษวิทยาของบานเย็น
มีการศึกษาวิจัยโดยนำน้ำสกัดจากใบหรือทั้งต้น มาใช้ฉีดในกระต่าย พบว่ามีผลทำให้หัวใจกระต่ายเต้นเร็วขึ้น และมีการบีบตัวแรงขึ้น แต่อาการดังกล่าวจะกลับสู่สภาพปกติอย่างรวดเร็ว และเมื่อนำมาฉีดเข้าไปในหลอดเลือดแมว พบว่าทำให้แมวมีความดันเลือดสูงขึ้นประมาณ 75% และจะกลับสู่สภาพปกติอย่างรวดเร็วเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาด้านพิษวิทยา ระบุว่าเมล็ดบานเย็นมีสาร neurotoxic ซึ่งมีความเป็นพิษสูงอีกด้วย
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
หญิงตั้งครรภ์ ไม่ควรใช้บานเย็นเป็นยาเนื่องจากมีรายงานพบว่าทำให้เกิดการแท้งบุตรได้ ในส่วนของเมล็ดของบานเย็นมีสาร neurotoxic ซึ่งเป็นสารที่มีความเป็นพิษสูง ไม่ควรนำมารับประทาน โดยหากร่างกายได้รับสารดังกล่าวอาจทำให้เกิดอาการอาเจียน และมีอาการท้องเสีย แต่หากได้รับในปริมาณมากอาจทำให้เสียชีวิตได้
เอกสารอ้างอิง บานเย็น
- วชิรพงศ์ หวลบุตตา.ไม้ดอกหอมสีชมพู.พิมพ์ครั้งที่ 3.กรุงเทพฯ:บ้านและสวย 2543
- กนก พรายมี.การพัฒนาตำรับเจลรักษาสิวจากบานเย็น.วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตคณะเภสัชศาสตร์ (เภสัชการ) มหาวิทยาลัยมหิดล 2545.104 หน้า
- บานเย็นดอกขาว.กลุ่มยาถ่าย.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs/_05_5.htm
- Tem Samitinand. Thai Plant Names. Revised Edition 2001. 810 p. (361)
- Correns, C. Vererbungsversuche mit blass (gelb) grünen und buntblättrigen Sippen bei Mirabilis, Urtica und Lunaria. ZIAV 1, 291–329 (1909)