สันพร้าหอม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

สันพร้าหอม งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ

ชื่อสมุนไพร สันพร้าหอม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เกี๋ยงพาไย, ผักเพี้ยยพ่าน, เกียวฟ้าใหญ่ (ภาคเหนือ), หญ้าเสือหมอง (ภาคกลาง), สุพรรณบุรี, ราชบุรี, กาญจนบุรี), หญ้าลั่งพั้ง, มอกพา (ไทยใหญ่), พอกี่ (กะเหรี่ยง), แซหลีกิ๊บ, เพ่ยหลาน, หลานเฉา (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Eupatorium fortunei Turcz.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Eupatorium caespitosum Migo, Eupatorium stoechadosmum
วงศ์ ASTERACEAE -COMPOSITAE

ถิ่นกำเนิดสันพร้าหอม

เชื่อกันว่าสันพร้าหอมมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้ เช่น บราซิล อาริเจนตินา อุรุกวัย ปารากวัย เป็นต้น แล้วต่อมามีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก ในธรรมชาติมักพบ สันพร้าหอม ขึ้นกามบริเวณ ข้างลำธารในป่า หรือ ในบริเวณหุบเขาที่มีความชื้นปานกลาง สำหรับในประเทศไทยพบมากทางภาคเหนือ และภาคอีสาน ส่วนภาคกลางพบได้ประปราย
 

ประโยชน์และสรรพคุณสันพร้าหอม

  • แก้ไข้
  • แก้หวัด
  • ช่วยถอนพิษไข้
  • ช่วยรักษาโรคหัด
  • รักษาอีสุกอีใส
  • ช่วยสมานแผล
  • ช่วยทำให้เลือดหยุด
  • ใช้เป็นยาหอมชูกำลัง
  • ช่วยบำรุงหัวใจ
  • แก้ร้อนใน
  • แก้กระหาย
  • แก้ลม
  • แก้จุกเสียดแน่นท้อง
  • ช่วยบำรุงโลหิต
  • ช่วยบำรุงกำลัง
  • แก้ประจำเดือนไม่ปกติ
  • แก้ลมมะเฮ็งคุด
  • แก้อาการหอบหืด
  • ช่วยทำให้เหงื่อออก ในสตรีหลังคลอด
  • ลดอาการบวมน้ำ
  • ช่วยขับน้ำออกจากร่างกาย
  • แก้วิงเวียน
  • ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ

           สันพร้าหอม สามารถนำมาใช้รับประทานเป็นผัก คู่ กับน้ำพริก และลาบได้ โดยใช้ในส่วนของใบมาทำเป็นเครื่องเคียงดังกล่าว และในปัจจุบันยังมีการนำมาใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางหลายชนิด เนื่องจากส่วนต่างๆ ของส่วนพร้าหอมมีน้ำมันหอมระเหย และเมื่อแห้งยังมีกลิ่นที่หอมจึงมีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมดังกล่าว

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้หวัด ใช้ทั้งต้นประมาณ 1 กำมือ ใส่ในน้ำ 1 ลิตร ต้มให้เดือด ใช้ดื่มครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 เวลา หรือ จะนำมาบดเป็นผงทำเป็นชาชงดื่มก็ได้ 

           แก้ไข้ โดยใช้ใบสันพร้าหอม ใบสะระแหน่, ใบบัวหลวง, พิมเสนต้น อย่างละ 5 กรัม, ปี่แปะเอี๊ยะ และโหล่วกิง 30 กรัม เปลือกฟัก 60 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ใช้เป็นยาแก้ไอ และแก้อาการหอบหืดโดยใช้ทุกส่วนของต้นประมาณ 10-30 กรัม นำมาตากให้แห้งบดให้เป็นผงผสมกับน้ำผึ้งรับประทาน หรือ จะปั้นเป็นยาลูกกลอนรับประทานก็ได้

           ช่วยบำรุงเลือด บำรุงกำลัง ขับน้ำออกจากร่างกาย ลดอาการบวมน้ำ ช่วยทำให้เหงื่อออก ในสตรีหลังคลอด โดยใช้ทุกส่วนของสันพร้าหอม นำมาต้มกับน้ำกิน และยังใช้เป็นยาอบอีกด้วย แก้ลมมะเฮ็ดคุด แก้วิงเวียน โดยใช้ใบสดขยี้ และนำมาดม


ลักษณะทั่วไปของสันพร้าหอม

สันพร้าหอม จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นตั้งตรง ลำต้นมีลักษณะกลมเกลี้ยงเป็นมัน สูงประมาณ 50-100 เซนติเมตร กิ่งของลำต้นจะแตกจากโคนต้น และจะเลื้อยแผ่ไปตามดิน ใบมีสีเขียวรูปเรียวยาว ผิวเกลี้ยงแต่หลังใบจะมีขนปกคลุม ริมใบจักเหมือนฟันเลื่อย ใบกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมตร ใบมีกลิ่นหอม รสขม และเผ็ดร้อนเล็กน้อย ใบออกเป็นใบเดี่ยว เรียงเป็นคู่ๆ สลับกันไป ดอกจะออกเป็นช่อ โดยในช่อจะมีประมาณ 5-6 ดอก และจะออกบริเวณ ส่วนยอดของลำต้น สำหรับลักษณะของดอกมีสีแดง หรือ สีขาว ดอกมีขนาดเล็ก ทรงกระบอกดอกจะยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ส่วนปลายดอกจะแยกออกเป็นแฉก 5 แฉก มีเกสรเพศผู้ 5 อัน อยู่กลางดอก ผลเป็นสีดำ รูปทรงกระบอกยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร มีสัน 5 สัน และเมื่อสุกผลจะเป็นผลแห้ง และมีเมล็ดอยู่ข้างใน

สันพร้าหอม

การขยายพันธุ์สันพร้าหอม

สันพร้าหอม สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และการปักชำกิ่ง สำหรับการขยายพันธุ์นั้นจะใช้เมล็ดที่แก่จัดนำไปเพาะ หรือ หยอดลงหลุมเลยก็ได้ ส่วนการปักชำกิ่ง ก็นำกิ่งแก่มาปักชำในถุงเพาะก่อนรอจนมีใบจริง 5-10 ใบ แล้วจึงนำไปปลูกต่อไป ส่วนวิธีการปลูก สันพร้าหอม โดยวิธีการเพาะเมล็ด และการปักชำก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการปลูก พืชชนิดอื่นตามที่ได้กล่าวมาในบทความก่อนหน้านี้

สันพร้าหอม

องค์ประกอบทางเคมี

จากการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของต้นสันพร้าหอม พบว่าองค์ประกอบหลับจะพบน้ำมันหอมระเหยซึ่งมีสารหลายชนิดได้แก่ Nerylacetate, P-cymene, Neryl acetate, 5-Methylthymol ether นอกจากนี้ยังพบ O-Coumaric acid, Coumarin, thymohydroquinone อีกด้วย ส่วนในใบพบสาร Euparin และ Eupatolin.

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของส้นพร้าหอม

โครงสร้างสันพร้าหอม

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของสันพร้าหอม

ฤทธิ์ลดการกระจายของเซลล์มะเร็ง มีการการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดน้ำของสันพร้าหอมต่อการยับยั้งการกระจายของเซลล์มะเร็ง (metastatic) และยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่ (angiogenic potential) ที่จะนำสารอาหารไปยังเซลล์มะเร็ง (malignant tumor cells) ที่เป็นกระบวนการสำคัญในการกระจายตัวของเซลล์มะเร็ง จากการศึกษาพบว่าสารสกัดน้ำขนาด 50 mg/kg สามารถยับยั้งการกระจายตัว (metastatic) ของเซลล์มะเร็ง และเมื่อทดสอบด้วยการฉีด B16F10 cells เข้าทางหลอดเลือดดำที่ผิวปอดในหนูถีบจักร (C57BL/6J mice) สามารถลดการการกระจายตัวของเซลล์มะเร็งที่อยู่บนพื้นผิวปอดในหนูทดลอง รวมทั้งสามารถยับยั้งการย้ายที่ (migration) และการแทรกซึม (invasion) เข้าไปในส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ นอกจากนี้สารสกัดยังสามารถยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่จากการกระตุ้นของเนื้องอก (tumor-induced angiogenesis) ได้อีกด้วย

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการศึกษาวิจัยโดยนำใบของสันพร้าหอม มาสกัดด้วยตัวทาละลายอินทรีย์ 3 ชนิด ได้แก่ เฮกเซน ไดคลอโรมีเทน และเอธิลอะซีเทต จากนั้นนำสารสกัดดังกล่าวไปศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพ จากการศึกษาพบว่าสารสกัดทั้งหมดมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไบโอฟิลม์ของเชื้อ Escherichia coli ได้ดีเยี่ยมโดยขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารสกัด และการสร้างไบโอฟิล์มของเชื้อ E. coli ถูกยับยั้งมากกว่า 80% เมื่อบ่มด้วยสารสกัดชั้นไดคลอโรมีเทน และเอธิลอะซีเทตที่ความเข้มข้น 1,024 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร โดยเปรียบเทียบกับชุดควบคุม 

การศึกษาทางพิษวิทยาของสันพร้าหอม

การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดใบสันพร้าหอม ด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 500 เท่า ในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ผู้ป่วยเบาหวานไม่ควรใช้สมุนไพรสันพร้าหอม เพราะมีรายงานว่ามีการศึกษาวิจัยพบว่า เมื่อให้สัตว์ทดลอง กินสันพร้าหอมเป็นอาหารติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้สัตว์ทดลองเป็นเบาหวาน โดยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
  2. ในการใช้สันพร้าหอม เป็นสมุนไพรเพื่อบำบัดรักษาโรคนั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยต้องใช้ในปริมาณตามที่กำหนดไว้ในตำรับตำรายาไม่ควรใช้ในปริมาณที่มาก หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพได้ ส่วนสตรีมีครรภ์ เด็ก ผู้ป่วยเรื้อรังรวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนจะใช้สันพร้าหอมเพื่อช่วยบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

เอกสารอ้างอิง สันพร้าหอม
  1. ภัสสรา เงินดี, สุนทร จิรสถาพร. การศึกษาลักษณะทางเภสัชเวชของสันพร้าหอม.วารสารของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีที่ 21. ฉบับที่ 1. 2522. หน้า 27-39
  2. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “สันพร้าหอม ”. หน้า 550. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. 
  3. สันพร้าหอม.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/maon.php?action=viewpage&pid=164
  4. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “สันพร้าหอม”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพร ไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 774-775.