ผักกระโฉม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ผักกระโฉม งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ผักกระโฉม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น อ้มกบ (เชียงใหม่), ผักกะโฉม, ผักกะโสม, ผักโฉม (ภาคกลาง), ผักอ้มกม (ภาคเหนือ), ราน้ำ (ภาคใต้), ผักชะออม, กุหลั่น (จันทบุรี), สุ่ยกุยเชียง, สุ่ยหุยเซียง, จุ้ยหุ่ยเฮียง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Limnophila rugosa (Roth) Merr.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Herpestis rugosa Roth.
ชื่อสามัญ Marsh weed
วงศ์ PLANTAGINACEAE
ถิ่นกำเนิดผักกระโฉม
สำหรับถิ่นกำเนิดที่แน่นอนของผักกระโฉม นั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่สำหรับในประเทศไทยนั้นสันนิษฐานกันว่าน่าจะมีมาก่อนสมัยรัตนโกสินทร์แล้ว เพราะปรากฏชื่อของผักกระโฉมในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในประเทศไทยมีการนำผักกระโฉมมารับประทานเป็นอาหารมาก่อนหน้านี้แล้ว ในปัจจุบันการโฉมสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย แต่จะพบได้มากในภาคใต้ ซึ่งถือว่าเป็นผักประจำภาคใต้เลยก็ว่าได้ เพราะชาวใต้นิยมนำมารับประทานเป็นเครื่องเคียงน้ำพริกกะปิ ในการรับประทานอาหารประจำวัน โดยทั่วไปแล้วมักจะพบผักกระโฉมตามบริเวณที่ชื้นแฉะหรือตามริมคูคลอง ที่มีความชื้นสูง
ประโยชน์และสรรพคุณผักกระโฉม
- ใช้กระทุ้งพิษ
- ช่วยขับพิษไข้หัว
- ช่วยระงับความร้อน
- แก้หอบ
- แก้ปวดท้องโรคกระเพาะ
- แก้ไข้
- ช่วยขับเสมหะ
- แก้แน่นท้อง
- แก้แน่นหน้าอก
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- แก้ปวดท้อง
- แก้ไอ
- ช่วยให้เจริญอาหาร
- รักษาบาดแผล
- รักษาแผลพุพอง
- แก้ร้อนในกระหายน้ำ
- แก้พิษหัด
- แก้พิษอีสุกอีใส
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้ขับพิษไข้ เหือดหัด อีสุกอีใส แน่นท้อง แน่นหน้าอก ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง แก้บวมน้ำ ขับปัสสาวะ โดยใช้ต้นผักกระโฉม แห้ง 6-15 กรัม ต้มน้ำกิน หากเป็นแผลพุพอง ใช้ต้นสดจำนวนพอสมควร ตำพอก หรือ ต้มน้ำชะล้างบริเวณที่เป็น ส่วนขนาดการใช้ในตำรับยาเขียวหอม สำหรับแก้ไข้ แก้พิษหัด อีสุกอีใส แก้ร้อนในกระหายน้ำ ผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 1 กรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง ส่วนเด็กอายุ 6-12 ปี รับประทาน ครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง
ลักษณะทั่วไปของผักกระโฉม
ผักกระโฉม จัดเป็นไม้ล้มลุก อายุปีเดียว ลำต้นกลมอวบน้ำสูง 30-60 เซนติเมตร ลำต้นจะเป็นปล้องๆ แต่ละปล้องยาว 2-3 เซนติเมตร และจะแตกแขนง ออกไปด้านข้าง ลำต้นมีสีน้ำตาลแกมม่วงมีกลิ่นหอม ต้นอ่อนมีขนปกคลุม พอแก่ขนจะร่วงหมดใบเป็นใบเดี่ยว ออก ตรงข้ามเรียงสลับตามข้อของลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปหอก หรือ ใบรียาว 5-8 เซนติเมตร กว้าง 2-8 เซนติเมตร ปลายใบมน ขอบใบหยักหนา แผ่นใบด้านบนเป็นสีเขียวสด เป็นมันเล็กน้อยมีเส้นมองเห็นชัดเจน ใต้ใบมีสีขาวมีขนปกคลุม และมีต่อมเล็กๆ จำนวนมาก ออกเป็นช่อดอกเป็นกระจุกด้านบนของก้านใบ ส่วนดอกย่อยมีขนาด โดยดอกจะไม่มีก้านดอก กลีบดอกติดกันเป็นท่อกลม ตรงปลายแยกเป็น 2 แฉก คล้ายรูปปาก ปากบนแยก 2 พู ปากล่างแยก 3 พู กลีบดอกสีน้ำเงินปนม่วง และมีแต้มสีเหลืองตรงกลาง มีเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย อย่างละ 1 อัน ผลเป็นผลแห้งรูปร่างคล้ายหอกแบน แตกได้ออกบริเวณข้อด้านในของก้านใบมีขนาดกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ส่วนเมล็ดมีสีน้ำตาลลักษณะกลมขนาดเล็ก มีขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร
การขยายพันธุ์ผักกระโฉม
ผักกระโฉม สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และการใช้ลำต้นหรือแขนงปักชำ โดยในการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติทั่วไป มักจะเป็นการขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดแต่สำหรับการปลูกทั่วไปจะนิยมใช้ลำต้น หรือ แขนงปักชำ โดยวิธีการปักชำลำต้น หรือ แขนงของผักกระโฉมนั้น ทำได้ง่ายมาก เพียงนำลำต้นหรือแขนงที่สมบูรณ์ไปปักชำไว้ในดินร่วนที่มีน้ำขังจากนั้นรอประมาณ 10 วัน รากจะเริ่มงอกและจะเจริญเติบโตและแตกแขนงออกไป
องค์ประกอบทางเคมี
มีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยที่พบในลำต้นของฝากผักกระโฉม พบว่าเป็นสารประกอบของ Sesquiterpene และ phenylpropane นอกจากนี้ผักกระโฉมยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของผักกระโฉม (ใบ , ลำต้น : 100 กรัม)
พลังงาน 24 กิโลแคลลอรี่
โปรตีน 1.4 มิลลิกรัม
ไขมัน 0.3 มิลลิกรัม
คาร์โบไฮเดรต 5.2 มิลลิกรัม
แคลเซียม 76 มิลลิกรัม
ฟอลฟอรัส 24 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 3.5 มิลลิกรัม
วิตามิน A 3333 หน่วยสากล
วิตามิน B1 0.03 มิลลิกรัม
วิตามิน B2 0.14 มิลลิกรัม
วิตามิน B3 0.6 มิลลิกรัม
วิตามิน C 1 มิลลิกรัม
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของผักกระโฉม
ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา มีการศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดเมทานอล จากใบของผักกระโฉม ในขนาด 5, 25, 50, 100 และ 250 μg/ml โดยใช้เทคนิค agar cup method โดยใช้สารสกัดขนาด 5, 25, 50, 100, 250 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ทำการทดสอบฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในมนุษย์ ได้แก่ เชื้อแกรมบวกสองชนิด คือ Staphylococcus aureus (MTCC 96), Streptococcus pyogenes (MTCC 442) เชื้อแกรมลบสองชนิด คือ Escherichia coli (MTCC 443), Pseudomonas aeruginosa (MTCC 424) และเชื้อรา ได้แก่ Aspergillus niger (MTCC 282), Aspergillus clavatus (MTCC 1323) และ Candida albicans (MTCC 227) โดยวัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของการยับยั้งเชื้อ (zone of inhibition) ผลการทดลองพบว่าฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา จะเพิ่มขึ้นตามขนาดยาแบบแปรผันเป็นเส้นตรง เมื่อเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน โดยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียโดยรวม เท่ากับ 11-20 มิลลิเมตร และในเชื้อราโดยรวม เท่ากับ13-19 มิลลิเมตร สารสกัดขนาด 25, 50, 100, 250 μg/ml พบขนาดของเส้นผ่านศูนย์กลางของการยับยั้งเชื้อ (12, 15, 16, 17 มิลลิเมตร) ต่อเชื้อ E. coli, (13, 14, 15, 17 มิลลิเมตร) ต่อเชื้อ P. aeruginosa, (13, 16, 17, 19 มิลลิเมตร) ต่อเชื้อ S. aureus, (12, 13, 16, 18 มิลลิเมตร) ต่อเชื้อ S. pyrogenes, (13, 14, 17, 19 มิลลิเมตร) ต่อเชื้อ A. niger และ(12,14, 17, 18 มิลลิเมตร) ต่อเชื้อ C. albicans, (14, 15, 19, 21 มิลลิเมตร) ต่อเชื้อ A. clavatus
ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน การทดสอบฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในหลอดทดลอง ของสารสกัดใบผักกระโฉม ต่อการเพิ่มจำนวนของลิมโฟไซต์ที่ได้จากม้ามหนูขาวเพศผู้ สายพันธุ์วิสต้าร์ และขบวนการฟาโกไซโทซิสโดยเซลล์เพาะเลี้ยงมาโครฟาจ ชนิด J774A.1 (ขบวนการจับกินเชื้อโรค หรือ สิ่งแปลกปลอม) และดูผลของสารสกัดต่อการผลิตไซโตไคน์ จากผลการทดลองพบว่าสารสกัดผักกระโฉม ที่ความเข้มข้น 12.5 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร มีผลต่อการเพิ่มจำนวนของลิมโฟไซต์ (เซลล์เม็ดเลือดขาว) การทดสอบสารสกัดหยาบของผักกระโฉม พบว่า สามารถกระตุ้นการเพิ่มจำนวนของลิมโฟไซต์ได้ดี โดยที่ไม่มีผลต่อการกระตุ้นฟาโกไซโทซิส นอกจากนี้ยังสามารถเหนี่ยวนำให้เซลล์มาโครฟาจ หลั่ง IL-12 ได้มากด้วย
การศึกษาทางพิษวิทยาของผักกระโฉม
มีการทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดผักกระโฉม ทั้งต้นด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 16 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (LD50>32) และให้โดยการฉีด (LD50=12.7) เข้าใต้ผิวหนังหนู ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการใช้ผักกระโฉม เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคนั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้แต่พอดีไม่ควรใช้ในปริมาณมากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยเรื้อรัง หรือผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนจะใช้ผักกระโฉมเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
เอกสารอ้างอิง ผักกระโฉม
- ผศ.สุนทรี วิทยานารถไพศาล. ผักกระโฉม . คอลัมน์ สมุนไพรน่ารู้. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 50. มิถุนายน 2526
- บัญชียาจากสมุนไพรในประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่4) พ.ศ.2554
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ผักกะโฉม”. หน้า 461-462.
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
- Acharya R, Padiya RH, Patel ED, Harisha CR, Shukla VJ. Microbial evaluation of Limnophila rugosa Roth. (Merr) leaf. Ayu. 2014;35(2):207-210.
- Boonarkart C. Immunostimulation of some Thai medicinal plant extracts. Master of Science in Biomedicinal Chemistry. Bangkok. Chulalongkorn University; 2003
- .ผักกระโฉม.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) .เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=169