ทานตะวัน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ทานตะวัน งานวิจัยและสรรพคุณ 27 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ทานตะวัน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ชอนตะวัน (ภาคกลาง), บัวผัด, ทานตะวัน (ภาคเหนือ), ทานหวัน (ภาคใต้), ดอกกินตะเวน (ภาคอีสาน), หมากปังเจิน (ไทใหญ่), เซี่ยงยื่อขุย (จีนกลาง), เหี่ยวหยิก, ขุย (จีนแต้ติ๋ว)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Helianthus annuus Linn.
ชื่อสามัญ Sunflower, Sunchoke
วงศ์ ASTERACEAE

ถิ่นกำเนิดทานตะวัน

ทานตะวันเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลาง โดยเชื่อกันว่ามีการปลูกในประเทศเม็กซิโก ตั้งแต่ 2600 ปี ก่อนคริสตกาลแล้ว แต่ก็มีข้อมูลในบางแหล่งระบุว่า ทานตะวันมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทางตะวันตก ของสหรัฐอเมริกา โดยชาวอินเดียนแดงได้เก็บเมล็ดมาบริโภคเป็นเวลานานมากแล้ว จนกระทั่งเมื่อ 300-400 ปีที่ผ่านมา ชาวยุโรปได้นำทานตะวันไปปลูกเป็นไม้ดอก ในยุโรป

            จากนั้นทานตะวัน จึงได้แพร่กระจายพันธุ์ไปยัง เขตอบอุ่น และเขตร้อนทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยเชื่อกันว่าทานตะวันเข้ามาในประเทศในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยชาวฝรั่งเศสนำมาปลูก และในปัจจุบันสามารถพบเห็นได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะในแถบภาคกลางบริเวณจังหวัด ลพบุรี และเพชรบูรณ์ เป็นต้น

ประโยชน์และสรรพคุณทานตะวัน  

  1. ช่วยขับปัสสาวะ
  2. ช่วยขับเสมหะ
  3. แก้ไอ
  4. แก้ขับหนองใน
  5. แก้ฝีฝักบัว
  6. แก้ไข้หวัด
  7. ใช้ลดไขมันในเส้นเลือด
  8. แก้พิษแมลงป่อง
  9. แก้อาการปวดท้องเสียดแน่นหน้าอก
  10. แก้ฟกช้ำ
  11. เป็นยาระบาย
  12. ขับพยาธิไส้เดือน
  13. ช่วยขับลม
  14. ช่วยทำให้ตาสว่าง
  15. แก้วิงเวียน
  16. แก้อาการปวดหัว
  17. แก้ปวดฟัน
  18. แก้ปวดท้องโรคกระเพาะ
  19. แก้ปวดประจำเดือน
  20. แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ
  21. แก้อาการบิดมูกเลือด
  22. ใช้แก้โรคหืด
  23. แก้เบาหวาน
  24. แก้นิ่วในไต
  25. แก้แผลมีเลือดออก
  26. แก้ไอกรน
  27. แก้อาการหูอื้อ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ 

ใช้ขับปัสสาวะ โดยใช้แกนต้น 15 กรัม ต้มน้ำกิน หรือ รากสด 15- 30 กรัม คั้นน้ำแล้วผสมกับน้ำผึ้งกินแก้อาการช่วยขับปัสสาวะขุ่นขาว ขับปัสสาวะ ให้ใช้แกนกลางลำต้น ยาวประมาณ 60 ซม. (หรือ ประมาณ 15 กรัม) และรากต้นจุ้ยขึ้งฉ่ายราว 60 กรัม ใช้ต้มคั้นเอาน้ำ หรือ ใช้ผสมกับน้ำผึ้งรับประทาน แก้อาการบิดมูกเลือด ให้ใช้เม็ดประมาณ 30 กรัม ใส่น้ำตาลเล็กน้อย ต้มน้ำนานราว 60 นาที แล้วใช้ดื่ม แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ นิ่วในไต ใช้แกนต้นยาว 2 ฟุต ต้มน้ำ กินวันละครั้ง เป็นเวลา 1 สัปดาห์ติดต่อกัน หรือ ใช้รากสด 30 กรัม ต้มน้ำกิน แก้อาการปวดหัว ตาลาย ใช้ฐานรองดอกทานตะวัน ที่แห้งแล้ว ประมาณ 25- 30 กรัม นำมาตุ๋น กับไข่ 1 ฟอง รับประทานหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง ใช้ปวดท้องน้อยก่อน หรือ ระหว่างมีประจำเดือน ใช้ฐานรองดอก 30- 60 กรัม ต้มน้ำแล้วเติมน้ำตาลแดง 30 กรัมกิน ลดความดันโลหิต ให้ใช้ใบสด 60 กรัม (แห้ง 30 กรัม) และโถวงู่ฉิกสด 60 กรัม (แห้ง 30 กรัม) นำมาต้มเอาน้ำรับประทาน แก้ไอกรน ให้ใช้แกนกลางลำต้นโขลกให้ละเอียด แล้วนำมาผสมกับน้ำตาล ทรายขาว ชงด้วยน้ำร้อนรับประทาน ขับพยาธิไส้เดือน ให้ใช้รากสดประมาณ 30 กรัม เติมน้ำตาลทรายแดงเล็กน้อย ต้มน้ำรับประทาน แก้อาการปวดฟัน ให้ใช้ดอกที่แห้งแล้ว ประมาณ 25 กรัม นำมาสูบเหมือนยาสูบ หรือ ใช้ฐานรองดอก 1 อัน พร้อมรากเก๋ากี้ นำมาตุ๋นกับไข่รับประทานก็ได้ ฝีฝักบัว ฝีเป็นหนองมาก ใช้ฐานรองดอกคั่ว บดเป็นผงผสม น้ำมันงาทา แผลมีเลือดออก ใช้แกนต้นตำพอก แก้ไอ คั่วเมล็ดให้เหลืองทำเป็นยาชงดื่ม หูอื้อ ใช้เปลือกเมล็ด 10-15 กรัม ต้มน้ำกิน


ลักษณะทั่วไปของทานตะวัน
 

ทานตะวัน จัดเป็นไม้ล้มลุก สูง 2-4 เมตร ลำต้นตั้งตรงเป็นแกนแข็ง มีขนสากแข็งสีขาวปกคลุม โดยส่วนใหญ่ลำต้นจะไม่มีแขนง แต่บางพันธุ์ก็อาจมีการแตกแขนง ส่วนขนาดของลำต้นจะขึ้นอยู่กับพันธุ์ และสภาพแวดล้อม รากเป็นระบบรากแก้วหยั่งลึกลงไปประมาณ 1-2.5 เมตร และมีรากแขนงแผ่ขยายไปด้านข้างยาวได้ถึง 1.5 เมตร เพื่อช่วยค้ำจุนลำต้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกสลับกันตรงข้ามใบเป็นรูปกลมรึ หรือ รูปไข่ โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย มีขนแข็งสากทั้งสองด้าน ก้านใบยาว โดยขนานของใบจะกว้างประมาณ 8-25 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ส่วนสีของใบอาจเป็นสีเขียวอ่อน เขียว หรือ เขียวเข้ม แล้วแต่ละพันธุ์ ซึ่งทานตะวัน 1 ต้น อาจมีใบได้ 8-70 ใบ เลยทีเดียว ดอกออกเป็นดอกเดียวบริเวณปลายยอดลำต้น โดยเป็นรูปจานขนาดใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กลางของดอกประมาณ 6-37 เซนติเมตร (ซึ่งขึ้นกับพันธุ์ และสภาพแวดล้อม) ดอกมีลักษณะเป็นแบบช่อดอกประกอบด้วยดอกย่อยเป็นจำนวนมาก ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

  1. ดอกย่อยที่อยู่รอบนอกจากดอก เป็นดอกที่ไม่มีเพศ (เป็นหมัน) มีกลีบดอกสีเหลืองส้ม
  2. ดอกย่อยที่อยู่ในจานดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีเกสรตัวผู้ที่พร้อมจะผสมได้ก่อนเกสรตัวเมีย ซึ่งกลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายแหลมมีสีเหลืองสด ส่วนด้านใน คือ ช่อดอก มีลักษณะเป็นจาน ประกอบไปด้วยดอกขนาดเล็กจำนวนมาก กลางดอกมีเกสรสีน้ำตาลอมสีม่วงและภายในมีผลจำนวนมาก โดยในแต่ละจากดอกจะมีดอกย่อยอยู่ประมาณ 700–3000 ดอก

           ผลเป็นรูปกลมรี และแบนนูน ด้านหนึ่งมน อีกด้านหนึ่งแหลม ผลมีขนาดประมาณ 6-17 มิลลิเมตร มีเปลือกหุ้มผลแข็ง เปลือกผลเป็นสีเทาเข้ม หรือ สีดำและเป็นลายในแนวตั้ง ภายในผลมีเมล็ดสีเหลืองอ่อน 1 เมล็ด ลักษณะรียาว

ทานตะวัน

การขยายพันธุ์ทานตะวัน   

ทานตะวัน สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด โดยมีการดังนี้ ก่อนอื่นควรเลือกเมล็ดพันธุ์ที่จะนำไปปลูกโดยควรเลือกเมล็ดพันธุ์ที่แก่จัดและเลือกจากต้นพันธุ์ที่แข็งแรงไม่มีโรค จากนั้นควรเตรียมดินในแปลงปลูกโดยไถดอนให้ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร หรือ ลึกกว่านั้น เพราะว่าการไถดินลึกจะช่วยทำลายการอัดแน่นของดินในชั้นไถพรวน ทำให้น้ำซึมลงในดินชั้นล่างได้มากขึ้น และควรกำลัดวัชพืชในแปลงให้สะอาด และไถย่อยดินครั้งสุดท้ายให้ร่วนซุย และหลังจากเตรียมดินเสร็จแล้ว ควรทำร่องสำหรับหยอดเมล็ด โดยให้มีความห่างละร่อง 70-75 เซนติเมตร และให้หลุมปลูกในร่องห่างกัน 25-30 เซนติเมตร แล้วจึงทำการปลูกโดยหยอดเมล็ดลงไปหลุมละ 2 เมล็ด แล้วกลบดินโดยให้เมล็ดอยู่ลึก 5-8 เซนติเมตร จากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม และหมั่นคอยรดน้ำตลอด เมื่อพืชงอกได้ 10 วัน หรือ มีใบจริง 2-4 คู่ให้ถอนแยกเหลือไว้เฉพาะต้นที่แข็งแรงเพียงหลุมละ 1 ต้น

           สำหรับการเก็บเกี่ยวทานตะวัน จะมีอายุการเก็บเกี่ยวแตกต่างกันไป ซึ่งขึ้นอยู่กับพันธุ์ที่ปลูก ซึ่งวิธีการเก็บเกี่ยวนั้นให้สังเกตจากด้านหลังของจานดอกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองซึ่งเป็นช่วงการสร้างน้ำมันในเมล็ดจะเริ่มลดลง และจะหยุดสร้างน้ำมันเมื่อจานดอกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล จึงเริ่มเก็บเกี่ยวได้ หลังจากเก็บเกี่ยวให้นำไปผึ่งแดดจัดๆ 1-2 แดด โดยแขวนให้หัวห้อยลงและหมั่นกลับช่อดอก เพื่อให้ดอกแห้งอย่างสม่ำเสมอ

ทานตะวัน

องค์ประกอบทางเคมี 

มีผลการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของทานตะวัน พบว่า ทั้งต้นพบมีสาร Earotenoids, Glycocoll, Seopoline Heliangine, Quercimeritin, Phospholipid Methionine, Cryptoxanthin, Tocopherol, Globulin ดอกพบสาร quercimeritrin, triterpenoid saponins, helianthoside A, B, C เป็นต้น กรดอินทรีย์ ได้แก่ oleanolic acid และ echinocystic acid อับเรณูของดอกส่วนใหญ่มี ß-sitosterol ในเมล็ดพบโปรตีน, ออกไซด์คาร์บอเนต และน้ำมัน โดยในน้ำมันพบสาร Phospholipid, Linolenic acid, Glycerol oil, Phosphatide, และ B-Sitosterol ใบพบสาร neochlorogenic acid, isochlorogenic acid, chlorogenic acid, 3-o-feruloylquinic acid, 4-o-caffeoylquinic acid, caffeic acid, scopoline heliangine dicarboxylic acid tricarboxylic acid citric acid malic acid fumaric acid เปลือกเมล็ด พบสาร cellulose, lignin, pentosan รากพบสาร cytokinin, kinetin ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือน zeatin แกนของต้น พบสาร chlorogenicacid, scopo nine, 4-o-caffeoylquinic acid, neochlorogenic acid

            นอกจากนี้ในเมล็ดทานตะวันยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดทานตะวันแห้ง ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน  490 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต  38.6 กรัม
  • โปรตีน  16.7 กรัม
  • ไขมัน  32.8 กรัม
  • ใยอาหาร  3.7 กรัม
  • วิตามินเอ  50 หน่วยสากล
  • วิตามินบี1  1.480 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี2  0.07 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี3  2.4 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี5  1.130 มิลลิกรัม                   
  • วิตามินบี6  1.345 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี9  227 ไมโครกรัม
  • วิตามินซี   1.4 มิลลิกรัม
  • วิตามินอี   35.17 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม  92 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก  5.8 มิลลิกรัม
  • ธาตุแมกนีเซียม  325 มิลลิกรัม
  • ธาตุแมงกานีส  1.950 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส  632 มิลลิกรัม
  • ธาตุโพแทสเซียม  645 มิลลิกรัม

โครงสร้างทานตะวัน 

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของทานตะวัน

มีผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาจากส่วนต่างๆ ของทานตะวัน หลายฉบับทั่วในประเทศไทยและต่างประเทศ พบว่ามีฤทธิ์ต่างๆ ดังนี้

            ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด มีการศึกษาถึงการทดลองในการลดไขมันในเลือดของเมล็ดทานตะวันในหนูขาวทดลอง โดยได้ทำการทดลองนานถึง 9 สัปดาห์ ด้วยการกระตุ้นให้หนูขาวเป็นเบาหวาน โดยให้ Alloxan แล้วจึงทำการป้อน น้ำมันดอกทานตะวัน ผลการทดลองพบว่าหนูทดลองมีปริมาณไขมันในเลือดมีระดับลดลง

            นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทางคลินิกในการลดไขมันในเลือดของน้ำมันเมล็ดทานตะวันในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนจำนวน 14 คน โดยทำการทดลอง 28 วัน ซึ่งแบ่งกลุ่มการทดลองออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ กลุ่มควบคุม ส่วนกลุ่มที่สองให้น้ำมันมะกอกผสมกับน้ำมันเมล็ดทานตะวัน และกลุ่มสาม คือ กลุ่มที่ให้อาหารไขมันสูง ภายหลังการทดลองพบว่ากลุ่มที่สองมีระดับคอเลสเตอรอลลดลงแตกต่างจากกลุ่มอื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 

            ฤทธิ์ลดความดันโลหิต มีการศึกษาทดลองฤทธิ์ลดความดันโลหิตโดยใช้สารสกัดน้ำจากดอกทานตะวัน ทดลองกับกระต่ายด้วยวิธีการฉีดเข้าทางเส้นเลือดดำ พบว่าจะทำให้ความดันโลหิตต่ำ และกระตุ้นการหายใจ นอกจากนี้เมื่อนำมาหยอดลงบริเวณใบหูของกระต่ายก็ว่าทำให้เส้นเลือดขยายตัวขึ้น และยังทำให้การบีบตัวของลำไส้เล็กเพิ่มขึ้นอีกด้วย 

           และยังมีการทดลองทางคลินิก โดยใช้ฐานรองดอกแห้ง 45 กรัม บดเป็นผง และทำเป็นยาน้ำเชื่อม 100 มล. ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง จำนวน 10 ราย โดยให้กินครั้งละ 20 มล. วันละ 3 ครั้ง ผลปรากฏว่าหลังจากรักษาแล้ว 2 เดือนแล้ว สังเกตอาการพบว่าอาการดีขึ้น 4 ราย ดีขึ้นเล็กน้อย 4 ราย ไม่ได้ผล 2 ราย (รายหนึ่งแพ้ยาทำให้โรคกำเริบ แต่ภายหลังมีอาการดีขึ้น) สำหรับรายที่ได้ผล ความดันโลหิตจะเริ่มลดลงภายใน 1 สัปดาห์ และไม่มีอาการข้างเคียง

           นอกจากนี้ทานตะวันยังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ อีกเช่น ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ยังยั้งมะเร็ง ขับปัสสาวะและกลีบของดอกทานตะวันยังมีสาร triterpene glycosides ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูทดลองได้อีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของทานตะวัน

มีรายงานการทดสอบความเป็นพิษพบว่าสารสกัดของทานตะวัน จากส่วนที่อยู่เหนือดินด้วย 50% เอทานอล มีค่า LD50 มากกว่า 1.0 กรัมต่อกิโลกรัม เมื่อทำการฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักร ซึ่งถือว่ามีความปลอดภัยสูง

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ทานตะวัน เป็นสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดีที่ได้ระบุไว้ในตำรับ ตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้ทานตะวันเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง ทานตะวัน
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ทานตะวัน”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 375-379.
  2. นันทวัน บุณยะประภัศร. สมุนไพร ไม้พื้นบ้าน (2). กรุงเทพฯ. บริษัท ประชาชน จำกัด. 2541. 640 หน้า
  3. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “ทานตะวัน”. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. หน้า 107-108.
  4. ราชันย์ ภู่มา และ สมราน สุดดี. (บรรณาธิการ). (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2557. กรุงเทพฯสำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ และพันธุ์พืชกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. http://prayod.com/ทานตะวัน/
  5. วิทยา บุญวรพัฒน์. “ทานตะวัน”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 262.
  6. กองโภชนาการ กรมอนามัย.ตารางแสดงคุค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม. โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก, 2530. 48 หน้า
  7. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “ทานตะวัน (Tan Ta Wan)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 144.
  8. ศรีสุดา เตชุสาน,พัฒนา พรมาศ. การปลูกทานตะวัน. สำนักส่งเสริม และฝึกอบรม. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  9. นพพร สายัมพล,เรวัต เลิศฤทัยโยธิน, รังกฤษติ์ กาวีต๊ะ และคณะ (บรรณาธิการ). พืชเศรษฐกิจ. กรุงเทพฯ ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2542. 471 หน้า
  10. ธิดารัตน์ จันทร์ดอน, ทานตะวัน, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  11. ทานตะวัน. กลุ่มยาขับปัสสาวะ. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรมพืชอันเนื่องมาจำพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_12_3htm
  12. Ukiya M, Akihisa T, Yasukawa K, Koike K, Takahashi A, Suzuki T, Kimura Y. Triterpene glycosides from the flower petals of sunflower (Helianthus annuus) and their antiinflammatory activity. J Nat Prod 2007; 70: 813-6.
  13. Chandrashekar P, Lokesh BR, Krishna AGG. Hypolipidemic effect of blends of coconut oil with soybean oil or sunflower oil in experimental rats. Food Chem 2010; 123(3): 728–33.
  14. Pajak P, Socha R, Gałkowska D, Roznowski J, Fortuna T. Phenolic profile and antioxidant activity in selected seeds and sprouts. Food Chem 2014; 143: 300–6.