พริกหยวก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

พริกหยวก งานวิจัยและสรรพคุณ 12 ข้อ

ชื่อสมุนไพร พริกหยวก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น พริกหนุ่ม (ภาคเหนือ), พริกตุ้ม (ภาคกลาง), พริกซ่อม (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Capsicum annuum Linn. Capsicum annuum var. annuum
ชื่อสามัญ Garden Pepper, Banana Pepper,
วงศ์ SOLANACEAE

ถิ่นกำเนิดพริกหยวก

พริกหยวก ซึ่งเป็นพริกในสายพันธุ์ C.annuum L. มีแหล่งกำเนิดดั้งเมอยู่ในทวีปอเมริกากลาง บริเวณประเทศ เม็กซิโก และประเทศใกล้เคียง จากนั้นจึงได้กระจายไปยังทวีปเอเชีย และแอฟริกา สำหรับในประเทศไทยสามารถพบเห็นพริกหยวก (พริกหนุ่ม) ได้มากในภาคเหนือ และภาคกลาง โดยแหล่งที่มีการปลูกมากจะอยู่ตามภาคเหนือลงมาถึงอยุธยา ซึ่งภาคเหนือนิยมนำมาใช้ทำเป็นอาหารในหลายๆ เมนู

ประโยชน์และสรรพคุณพริกหยวก

  1. ใช้ขับลม
  2. แก้ท้องอืดเฟ้อ
  3. ช่วยขับปัสสาวะ
  4. เป็นยาเจริญอาหาร
  5. ช่วยบำรุงเลือดลม
  6. ช่วยบำรุงหัวใจ
  7. ช่วยย่อยอาหาร
  8. แก้ไขข้ออักเสบ
  9. แก้กามโรค
  10. แก้อาการปวดเมื่อย
  11. แก้ไขข้ออักเสบอีกด้วย
  12. ใช้ทาถูกนวดให้ร้อนแดง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

โดยส่วนมากแล้วในการใช้พริกหยวกเพื่อให้มีผลในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในตำรายาไทยนั้นมักจะเป็นการนำมารับประทานในรูปแบบของอาหารต่างๆ มากกว่าจะนำมาแปรรูปเป็นสมุนไพรเหมือนพืชชนิดอื่นๆ แต่ในปัจจุบันมีการสกัดเอาสาร Capsaicin จากพริกหยวก มาใช้เป็นยาหลายๆ ขนาน รวมถึงยังมีการนำพริกหยวกมาทำเป็นสารสกัด tincture capsaicin สำหรับผสมขี้ผึ้งเป็นยาถูนวดรักษาอาการปวดเมื่อย และไขข้ออักเสบอีกด้วย 

ลักษณะทั่วไปของพริกหยวก

พริกหยวก จัดเป็นไม้ล้มลุกฤดูเดียว หรือ ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 0.5-1.5 เมตร ลักษณะลำต้นตั้งตรง และแตกกิ่งก้านมากแบบ dichotamous โคนต้นเป็นเนื้อไม้แข็งมีสีน้ำตาล หรือ สีเทา ส่วนยอดเป็นเนื้อไม้อ่อนมีสีเขียว ใบเป็นใบเดี่ยวแบบเรียงสลับออกตามข้อกิ่ง ใบแบนเรียบ รูปไข่ เรียวยาว กว้าง 5-8เซนติเมตร ยาว 10-16 เซนติเมตร โคนใบ และปลายใบแหลม ก้านใบยาวได้ถึง 10 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวตามซอกใบ เป็นดอกสมบูรณ์เพศ และดอกมักจะเอาหัวห้อยลง โดยมีกลีบรองดอกมีลักษณะเป็น 5 พู และมีกลีบดอกเป็นสีขาวนวลเชื่อมติดกันเป็นรูปปากแตร ปลายแยกเป็น 5 แฉก มีเกสรเพศผู้ 5 อัน แตกออกมาจากตรงโคนของกลีบดอก ส่วนเกสรเพศเมียจะชูขึ้นเหนือเกสรเพศผู้ ส่วนรังไข่มีพู 3 พู ผลสดมีหลายรูปร่าง และขนาด แต่มักจะเป็นรูปกรวยกว้าง และยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร เมื่อยังอ่อนอยู่มีสีเขียว เหลือง ครีม หรือม่วง เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีแดง ส้ม เหลือง หรือ น้ำตาลเมล็ดแบนรูปโล่ใหญ่กว่าเมล็ดพริกขี้หนู เป็นสีเหลืองอ่อน หรือ สีน้ำตาล

พริกหยวก

การขยายพันธุ์พริกหยวก

พริกหยวกสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด โดยมีวิธีการดังนี้ นำเมล็ดพันธุ์แช่น้ำไว้ 1 คืน และวางไว้ในร่ม 1-2 วัน จากนั้นเตรียมดินเพาะ หรือ แปลงเพาะด้วยการผสมดินกับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น มูลสัตว์ แกลบ ขี้เถ้าแกลบ ขุยมะพร้าว ในอัตราส่วนระหว่าดินกับวัสดุ 2:1

            สำหรับการเพาะในกระบะเพาะให้หยอดเมล็ดพันธุ์ 3-4 เมล็ด/หลุม ขึ้นอยู่กับขนาดหลุมกระบะ พร้อมโรยดินกลบเล็กน้อยรดน้ำให้ชุ่ม และต้องคอยรดน้ำทุกวัน เช้า-เย็น กล้าโต 5-10 เซนติเมตร ให้ถอนเหลือหลุมละต้น แต่หากเพาะในแปลงให้หว่านเมล็ดพันธุ์ในอัตรา 30 กรัม/ตารางเมตร

            จากนั้นจึงทำการเตรียมดินในการปลูกพริกหยวก ในแปลง ซึ่งหากเป็นแปลงใหม่ ควรไถตากดินพร้อมกำจัดวัชพืช นาน 1 สัปดาห์ ทำการหว่านปุ๋ยคอกในอัตรา 2-3 ตัน/ไร่ แล้วทำการยกร่องแปลงสูง 20-30 เซนติเมตร กว้าง 40-60 เซนติเมตร สำหรับขนาดแปลงควรให้มีความกว้างขนาด 30-50 สำหรับปลูกแถวเดี่ยว แปลงกว้าง 80-100 สำหรับปลูกแถวคู่

            จากนั้นจึงทำการปลูกเมื่อต้นกล้ามีอายุ 30-40 วัน หรือ สูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร และมีใบจริง 5-7 ทั้งนี้ควรให้งดน้ำต้นกล้า 2-3 วัน ก่อนย้ายลงปลูกในแปลง สำหรับวิธีการปลูกนั้นทำได้โดยขุดหลุมให้ระยะห่างระหว่างหลุม 50 เซนติเมตร นำต้นกล้าที่เตรียมไว้ลงหลุมปลูก พร้อมกลบดินให้แน่นพอประมาณ รดน้ำให้ชุ่ม และรดทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง

องค์ประกอบทางเคมี

มีผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของพริกหยวก พบว่ามีสารสำคัญ ดังนี้ capsaicin, capsicoside A, B, C, capsanthin, acetamide, boron, E, P-caumaric, galactosamine, alanine,vanilloyl, glutaminase trigonelline, zeaxanthin, aspartic acid, caffeic acid, cinnamic acid

           นอกจากนี้ในพริกหยวก ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของพริกหยวก (100 กรัม)

  • พลังงาน               27    กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต     4.8   กรัม
  • ใยอาหาร           3.2   กรัม
  • ไขมัน                  0.2   กรัม                                                                                         
  • โปรตีน                1.5   กรัม
  • วิตามินเอ           340  หน่วยสากล            
  • วิตามินบี             1 41  มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2          0.08  มิลลิกรัม                                                                  
  • วิตามินบี 3         1.3    มิลลิกรัม
  • วิตามินซี             14     มิลลิกรัม                           
  • แคลเซียม           11     มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก          0.1    มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม        17     มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส          47     มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม   256   มิลลิกรัม
  • เบตาแครอทีน   8.88  ไมโครกรัม

โครงสร้างพริกหยวก

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของพริกหยวก

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาในหนูถีบจักร โดยแบ่งหนูออกเป็น 4 กลุ่มๆ ละ 6 ตัว กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมได้รับน้ำมันมะกอกตลอดการทดลอง กลุ่มที่ 2 ได้รับ Benzo (a) pyrene ขนาด 50 มก./กก. ละลายในน้ำมันมะกอก ป้อนทางสายยางให้อาหารทางปากวันละ 2 ครั้ง นาน 4 สัปดาห์ ซึ่งขนาดของ Benzo (a) pyrene ที่ 50 มก./กก. จะเหนี่ยวนำให้เกิดมะเร็งปอด กลุ่มที่ 3 ได้รับสาร capsaicin ขนาด 10 มก./กก. ละลายในน้ำมันมะกอกแล้วฉีดเข้าช่องท้องของหนูวันละ 1 ครั้ง นาน 14 สัปดาห์ กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มที่ได้รับ Benzo (a) pyrene ขนาด 50 มก./กก. ร่วมกับ capsaicin ขนาด 10 มก./กก. ที่ละลายในน้ำมันมะกอก ฉีดเข้าทางช่องท้อง โดยให้ฉีด capsaicin ก่อน 1 สัปดาห์ แล้วจึงป้อน Benzo (a) pyrene และให้ต่อไปจนครบ 14 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มที่ 2 (ได้รับ Benzo (a) pyrene) จะลดการทำงานของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระในปอด พวก superoxide dimutase (SOD), catalase (CAT), glutathione peroxidase (GPx), glutathione reductase (GR), glutathione-S-transferase (GST), glucose-6-phosphate dehydrogenase (G6PD), ลดสารต้านอนุมูลอิสระพวก reduced glutathione, วิตามิน C, E และ A ในขณะที่กลุ่มที่ 4 การทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระ SOD, CAT GPx, GR, GST, G6PD, reduced glutathione, วิตามิน C, วิตามิน E และ วิตามินA จะไม่ลดลง และมีค่าใกล้เคียงกับกลุ่มควบคุม ซึ่งจากการทดลองสรุปได้ว่าสาร capsaicin จากพริกหยวกสามารถป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นมะเร็งปอดได้

           ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด มีการศึกษาวิจัยในเกาหลี โดยใช้สารสกัดจากพริกหยวก ในหนูทดลองที่ถูกทำให้อ้วน (ด้วยการให้ 20% ของ corn oil) โดยให้สารสกัดจากพริกหยวก 10% กับหนูทดลองนาน 4 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่าหนูทดลองมีระดับคอเลสเตอรอล และระดับไตรกลีเซอไรด์ลดลง

           ฤทธิ์ปกป้องตับ มีการทดลองคาโรตินอยด์กับเซลล์ตับหนู ที่เหนี่ยวนำให้อักเสบด้วย carbon tetrachloride พบว่า คาโรตินอยด์ และสารสกัดจากพริกหยวก สามารถลดระดับของ glutamic pyruvic transaminase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ปล่อยออกมาเมื่อตับเป็นพิษได้ นอกจากนี้พบว่าหลังจากหนูได้รับ carbon tetrachloride ปริมาณของ aminotransterase และ lipid peroside ในตับจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม จากนั้นเมื่อให้ capsanthin และ beta-cryptoxanthin ขนาด 10 mg/Kg น้ำหนักตัว พบว่าสามารถลดฤทธิ์ของ glutamic pyruvic transminase ได้ นอกจากนี้ยังลดการสร้าง lipid peroxide และ malondialdehyde อีกด้วย จึงสรุปได้ว่า capsanthin, beta-cryptoxanthin, carotenoid มีบทบาทในการป้องกันการเกิดพิษต่อตับ จากการได้รับ carbon tetrachloride ด้วยกลไกของการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ

            ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด มีการศึกษาทดลองในอิตาลี โดยใช้สารสกัดจากพริกหยวก กับหนูทดลอง โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังและให้ทางปาก ผลการทดลองพบว่า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองได้

พริกหยวก

การศึกษาทางพิษวิทยาของพริกหยวก

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ในการรับประทานพริกหยวกนั้น ถึงแม้ว่าพริกหยวกจะมีความเผ็ดไม่มาก แต่ก็ไม่ควรรับประทานเพื่อหวังผลในการรักษาโรคมากเกินไป โดยควรบริโภคแต่พอดี ไม่ควรบริโภคมากจนเกินไป หรือ บริโภคติดต่อกันนานไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้
  2. สำหรับผู้ที่แพ้พริก (Capsaicin) ไม่ควรบริโภคพริกหยวก เพราะเป็นพืชตระกูลเดียวกัน และมีสาร Capsaicin เช่นกัน

เอกสารอ้างอิง พริกหยวก
  1. รศ.ดร.มณีฉัตร นิกรพันธุ์. 2541.พริก. กรุงเทพฯ.โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์.PROSEA. 1994. Vegetables. Bogor Indonesia
  2. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “พริกหยวก ”. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. หน้า 114-115.
  3. สาร capsaicin จากพริกหยวกมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. พริก.คู่มือนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร. กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  5. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “พริกหยวก” หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. หน้า 130-131.
  6. ดร.พัชราณี ภวัตกุล.พริกขี้หนูกับปัจจัยเสี่ยง ของโรคหัวใจและหลอดเลือด. คอลัมน์เรื่องเด่นจากปก. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 305. กันยายน 2547.
  7. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “พริกหยวก”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพร ไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 544-545.
  8. Caroteroids จากพริกหยวก (Capdicum annuum) ป้องกันตับจากการถูกทำลายด้วย carbon tetrachloride. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  9. การปลูกพริก. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  10. P.W. Bosland and E.J. Votava. 2000. PEPPER : VEGETABLE AND SPICE CAPSICUMS. CABI Publishing USA