มะเขือพวง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
มะเขือพวง งานวิจัยและสรรพคุณ 19ข้อ
ชื่อสมุนไพร มะเขือพวง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะแคว้งกุลา,บ่าแค้วงกุลา(ภาคเหนือ),หมากแข้ง(ภาคอีสาน),มะแว้งช้าง,ลูกแว้ง,เขือน้อย,เขือพวง(ภาคใต้),มะเขือละคร(นครราชสีมา),ปอลอ,ปอลือ จือเปาะลือกู่(ม้ง),จะเคาะค่ะ,ตะโกงลาโน(มลายู),รับจงกลม(เขมร),จุยเกีย,เจ๊กมิ่งจำ(จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum torvum Swartz
ชื่อสามัญ Turkey berry, Common Asiatic weed , Prickly nightshade, Devil's fig , Shoo-shoo bush, Pea eggplant
วงศ์ Solanaceae
ถิ่นกำเนิดมะเขือพวง
มะเขือพวง เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศต่างๆ และในหมู่เกาะของทวีปอเมริกากลาง โดยเฉพาะหมู่เกาะ Antilles ตั้งแต่เขตฟลอริดา หมู่เกาะเวสต์ อินดีส์ เม็กซิโก จนถึงอเมริกากลาง รวมไปถึงในทวีปอเมริกาใต้แถบประเทศบราซิล โดยมักจะพบเป็นวัชพืชขึ้นกระจัดกระจายเกือบทั่วเขตร้อน ปัจจุบันพบในทวีปแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิกไกลถึงมลรัฐฮาวายในสหรัฐอเมริกา แต่มีการใช้เป็นพืชเพาะปลูก เพื่อเป็นอาหารในแถบเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า ลาว มาเลเซีย อินเดีย เป็นต้น
ประโยชน์และสรรพคุณมะเขือพวง
- ช่วยทำให้เลือดหมุนเวียนดี
- ช่วยให้เจริญอาหาร
- ช่วยในการย่อยอาหาร
- แก้ปวด ฟกช้ำ ตรากตรำทำงานหนัก กล้ามเนื้อบริเวณเอวฟกช้ำ
- แก้ไอเป็นเลือด
- แก้ปวดกระเพาะ
- รักษาฝีบวมมีหนองและอาการบวมอักเสบ
- ช่วยขับเสมหะ
- บำรุงธาตุ
- ช่วยในระบบขับถ่าย
- ใช้พอกเท้าแตกเป็นร่องเจ็บ
- ใช้กินแก้เมา ทำให้รสเหล้าจืดลง
- แก้โรคเบาหวาน
- ขับปัสสาวะ
- แก้ปวดฟกช้ำ
- แก้พิษแมลงกัดต่อย
- ช่วยบำรุงตับ
- ช่วยบรรเทาโรคแผลในกระเพาะอาหาร
- ช่วยให้ผ่อนคลายง่วงนอน
มะเขือพวงจัดเป็นพืชผักสมุนไพร โดยอดีตจะเป็นพืชป่า แต่ปัจจุบันในหลายๆ ประเทศนิยมปลูกเป็นพืชผักสวนครัว ที่นิยมนำผลมาประกอบอาหาร ในประเทศไทย รู้จักมะเขือพวงมานานแล้ว โดยนิยมนำผลมาใช้ประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น แกงป่า แกงคั่วปลาไหล แกงอ่อมปลาดุก แกงเขียวหวาน แกงเนื้อ น้ำพริกกะปิ น้ำพริกแมงดา น้ำพริกกุ้งสด น้ำพริกไข่เค็ม ปลาร้าทรงเครื่อง ผัดเผ็ด ฯลฯ และยังสามารถใช้เป็นผักจิ้ม ซึ่งนิยมทำให้สุกโดยการเผา ปิ้ง หรือย่าง พอให้ผิวกรอบหรือไหม้บางส่วน จะทำให้รสชาติดีขึ้น และผลนิ่มกว่าเมื่อยังดิบ หรืออาจนำไปลวกหรือต้มให้สุกก็ได้ ส่วนในต่างประเทศ ชาวไอเวอรี่โคสต์นำผลมะเขือพวงใส่ซุปและซอสต่างๆ ชาวทมิฬทางใต้ของอินเดียใช้ผลแช่นมเปรี้ยวแล้วตากแห้งประกอบอาหารและใช้เป็นเครื่องเคียงอาหารแป้ง และใส่ในแกงแขกแบบทางใต้หลายชนิด ชาวลาวใช้มะเขือพวงใส่ในแกงเผ็ดเช่นกันกับประเทศไทย และในประเทศอินเดียนำน้ำมะขามแช่รากมะเขือพวงต้มดื่มลดพิษในร่างกายและใช้รักษาโรคได้อีกมากมาย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ส่วนของต้น,ใบ,ผล ตากแห้งหนัก 10-15 กรัม ใช้ต้มกับน้ำรับประทาน ช่วยทำให้เลือดหมุนเวียนดี แก้ฟกช้ำ แก้ปวดกล้ามเนื้อ แก้ปวดกระเพาะ แก้ฝี และอาการบวมอักเสบรวมถึงช่วยขับเสมหะ ส่วนของรากใช้ตำพอกส้นเท้าที่แตกเป็นร่อง รากนำมาต้มหรือแช่น้ำดื่ม ช่วยขับสารพิษออกจากร่างกายช่วยขับปัสสาวะ ลำต้นนำมาบด ใช้ประคบบริเวณแมลงกัดต่อย ทำให้ลดอาการปวดบวม หรือบดให้ละเอียด ใช้ประคบหรือทารักษาแผล ใบสดนำมาบดหรือขยี้ ใช้ทาประคบแผล ฝี ทำให้แผลแห้ง และหายเร็ว น้ำต้มจากใบสด นำมาดื่ม ช่วย ขับปัสสาวะ และขับเหงื่อ
ลักษณะทั่วไปมะเขือพวง
มะเขือพวงจัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 1-4เมตร ลำต้นมีหนามห่าง ๆ ลำต้นตั้งแข็งแรงเปลือกมีสีเขียวอมขาว ไม่มีรอยแตก ไม่ผลัดใบ มักจะแตกกิ่งก้านมากตั้งแต่ระดับต่ำจากลำต้น และมีหนามเช่นเดียวกับสำต้น ใบอ่อนและยอดอ่อนมีขนปกคลุม เมื่อสัมผัสจะรู้สึกอ่อนนุ่ม ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงตัวแบบสลับ ใบรูปไข่ ขอบใบเป็นพลูกว้าง ฐานใบมนกว้าง ปลายใบแหลม ผิวใบด้านล่างมีขนรูปสามเหลี่ยมบกคลุม เมื่อสัมผัสจะนุ่ม ตัวใบขนาด 3-5 x 4-6 นิ้ว เนื้อใบอ่อนเหนียว เส้นใบแตกแบบขนนกสานกันเป็นร่างแห ดอกเป็นช่อสีขาว มีดอกย่อย 2-15 ดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ออกดอกตรงตาข้างและยอดกิ่ง ก้านดอกยาวกว่า ลักษณะดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ ขณะบานเป็นรูปดาว 5 แฉก ผลเป็นผลเดี่ยวเป็นพวงคล้ายมะแว้ง แต่ขนาดใหญ่กว่า รูปกลม ผิวเกลี้ยงสีเขียว กลีบเลี้ยงที่ติดอยู่ไม่มีหนาม ขนาดผลเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.0-1.3 ซม. ผลสุกสีเหลืองอ่อน เมล็ดมีจำนวนมาก ลักษณะแบน กลม ผิวเรียบ
การขยายพันธุ์มะเขือพวง
มะเขือพวงเป็นพืชที่ปลูกง่าย สามารถเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด มีความทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้ดี และเป็นพืชที่มีความต้านทานโรคสูง โดยสามารถขึ้นและเจริญเติบโตได้ดี ตั้งแต่ที่ราบในระดับน้ำทะเล จนถึงระดับสูงจากน้ำทะเลปานกลาง 1,600 ม.
สำหรับวิธีการขยายพันธุ์มะเขือพวงมีวิธีที่นิยม และใช้มากในปัจจุบัน คือ การปลูกด้วยเมล็ด ส่วนวิธีอื่นไม่ค่อยนิยม และให้ผลไม่ค่อยดี เนื่องจาก มะเขือพวงเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุเพียงไม่กี่ปี และลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อน ส่วนวิธีการปลูกโดยทั่วไปจะใช้วิธีการหว่านเพาะกล้าก่อน ด้วยการขุดพรวนดิน และกำจัดวัชพืชในแปลงขนาดเล็ก ก่อนจะหว่านโรยด้วยปุ๋ยคอกเล็กน้อยหรือไม่จำเป็นต้องหว่าน หลังจากนั้น จะนำเมล็ดแห้งที่ได้จากการนำเมล็ดจากผลมะเขือพวงสุกมาตากแห้ง ก่อนจะหว่านลงแปลงเพาะ แล้วคลุมด้วยฟางข้าวหรือไม่ต้องคลุม แล้วรดน้ำให้ชุ่ม หลังจากการหว่าน จำเป็นต้องรดน้ำเป็นประจำทุกวัน และดูแลจนกว่ากล้ามะเขือพวงจะโตสูงประมาณ 5-10 ซม. ค่อยถอนย้ายไปปลูกตามจุดที่ต้องการ
องค์ประกอบทางเคมี
ในส่วนต่างๆของมะเขือพวงพบว่ามีสารที่สำคัญ ดังนี้ Torvoside A, H , Torvonin B, Solanine , Solasonine ,Solamagine , Solasodine, Pectin , Steroidal Saponin, Steroidal Alkaloid, β-sitosterol, Isoflavone เป็นต้น
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของมะเขือพวง
ที่มา : Wikipedia
นอกจากนี้ผลของมะเขือพวงยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของมะเขือพวงสุก (100 กรัม)
พลังงาน 24 กิโลแคลอรี
คาร์โบไฮเดรต 5.7 กรัม
น้ำตาล 2.35 กรัม
เส้นใยอาหาร 3.4 กรัม
ไขมัน 0.19 กรัม
โปรตีน 0.01 กรัม
ไทอะมีน(วิตามีนบี1) 0.039 มิลลิกรัม
ไรโบฟลาวิน(วิตามินบี2) 0.037 มิลลิกรัม
ไนอะซิน(วิตามินบี3) 0.649 มิลลิกรัม
กรดแพนโทเทนิก(วิตามินบี5) 0.281 มิลลิกรัม
วิตามินบี6 0.281 มิลลิกรัม
โฟเลต(วิตามินบี9) 22 ไมโครกรัม
วิตามินซี 2.2 มิลลิกรัม
แคลเซียม 9 มิลลิกรัม
เหล็ก 0.24 มิลลิกรัม
แมกนีเซียม 14 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 25 มิลลิกรัม
โพแทสเซียม 230 มิลลิกรัม
สังกะสี 0.16 มิลลิกรัม
แมงกานีส 0.25 มิลลิกรัม
การศึกษาทางพิษวิทยา
จากข้อมูลการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้แสดงคุณสมบัติที่เด่นชัดของมะเขือพวง ในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของลำไส้เพื่อตอบสนองต่อสารพิษที่เข้ามายังระบบทางเดินอาหาร มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระช่วยป้องกันความเสื่อมและแก่ก่อนวัย มีฤทธิ์ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในโรคเบาหวาน มีงานวิจัยที่ศึกษาปฏิกิริยาต้านอนุมูลอิสระของเครื่องดื่มจากมะเขือพวงแห้ง พบว่าน้ำสมุนไพรมะเขือพวงสามารถลดระดับอนุมูลอิสระซูเปอร์ออกไซด์ หรืออนุมูลอิสระไนทริกออกไซด์ในเลือดหนูที่เป็นเบาหวานได้ ซึ่งเป็นอนุมูลอิสระที่ก่อให้เกิดสภาวะเครียดในหนูทดลองที่มีอาการของโรคเบาหวาน ส่งผลต่อสภาวะเครียดออกซิเดชันในเม็ดเลือดแดง น้ำสมุนไพรมะเขือพวงลดไขมันที่ถูกออกซิไดซ์เป็นไขมันไม่ดีในหนูที่มีอาการเบาหวาน นอกจากนี้พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดของหนูเบาหวานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และงานวิจัยที่ประเทศแคเมอรูนพบว่า เมื่อให้สารสกัดน้ำและแอลกอฮอล์ของผลมะเขือพวงกับหนูทดลองพบว่าความดันโลหิตของหนูต่ำลง และลดอัตราการเต้นของหัวใจด้วย โยฮิมบีนและอะโทรพีนไม่มีผลต่อฤทธิ์การลดความดันโลหิตของสารสกัดมะเขือพวง แต่โยฮิมบีนยับยั้งผลการลดอัตราการเต้นหัวใจของสารสกัดน้ำมะเขือพวง และเมื่อทดสอบการเกาะตัวของเกล็ดเลือดที่กระตุ้นโดยทรอมบินหรืออะดีโนซีนไตรฟอสเฟต พบว่าสารสกัดน้ำมะเขือพวงยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือดจากผลของสารทั้งสองดังกล่าว ฤทธิ์ลดความดันโลหิตของสารสกัดผลมะเขือพวงทั้ง 2 ชนิดน่าจะเกิดจากการทำให้หัวใจเต้นช้าลง ผนวกกับผลยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือดทำให้มะเขือพวงมีประโยชน์สำหรับผู้มีความดันโลหิตสูงและมีปัญหาเรื่องการรวมตัวของเกล็ดเลือด ตามที่มีการใช้งานมาแต่ดั้งเดิมนั่นเอง
ส่วนงานวิจัยฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและปริมาณสารฟีนอลิกรวมสารสกัดแอลกอฮอล์ของผลมะเขือตากแห้งแช่แข็ง 11 ชนิดในประเทศไทยในปี พ.ศ.2551 พบว่าสารสกัดแอลกอฮอล์จากผลมะเขือพวงมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุดและมีปริมาณรวมสารฟีนอลิกรวมสูงสุด มีการศึกษาฤทธิ์ของมะเขือพวงโดยคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี พ.ศ.2552 พบว่า สารสกัดมะเขือพวงมีสารโพลีฟีนอลสูง สารสกัดยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไซโตโครมพี 450 2E1 ในไมโครโซมของตับ มีฤทธิ์ขจัดอนุมูลอิสระที่เกี่ยวข้องกับไลพิดเพอร์ออกซิเดชันและซูเปอร์ออกไซด์แอนไอออน ผู้วิจัยเชื่อว่าสารสกัดมะเขือพวงมีศักยภาพในการลดความเครียดออกซิเดชันในผู้ป่วยเบาหวาน และงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.2552 พบว่าสารสกัดแอลกอฮอล์จากมะเขือพวงมีฤทธิ์ต้านการผลิตไนตริกออกไซด์ และ TNF-? ในเซลล์มิวรีนมาโครฟาจที่ถูกกระตุ้นด้วยไลโพโพลีแซ็กคาไรด์ของแบคทีเรียในภาชนะเพาะเลี้ยง จึงมีฤทธิ์ต้านอักเสบอีกด้วย
นอกจากนี้งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลในปี พ.ศ.2545 พบว่าสารทอร์โวไซด์ เอช (towoside H) มีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 (Herpes simplex virus type 1) โดยมีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสมากกว่ายาอะไซโคลเวียร์ถึง 3 เท่า
การศึกษาทางพิษวิทยา
จากการทดสอบความเป็นพิษของมะเขือพวงในหนูทดลอง พบว่า การให้สารสกัดจากมะเขือพวง ปรากฏว่าค่า LD₅₀เท่ากับ 19 กรัม/น้ำหนักตัว(กิโลกรัม) ทั้งนี้ มะเขือพวงดิบจะมีสารพิษ hydro-ethanolic ซึ่งหากรับประทานมากกว่า 16 กรัม/น้ำหนักตัวกิโลกรัม จะออกฤทธิ์มีผลต่อการทำงานของตับ
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- มะเขือพวงมีสารโซลานิน (Solanine) ซึ่งเป็นอัลคาลอยด์ ซึ่งสารนี้อาจจะทำให้เกิดความไม่สมดุลของแคลเซียมในร่างกายได้ ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคไขข้อและโรคกระดูดควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน
- การได้รับสารโซลานีนจำนวนมากในผู้ที่ไวต่อสารโซลานีน อาจเกิดอาการไม่ให้สุกด้วยความร้อน หรืออาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ เช่น ท้องเสีย ปวดหัว อาเจียน
- สำหรับลดผลกระทบจากสารโซลานีน ทำได้โดยนำผลมะเขือพวงที่จะรับประทานไม่ทำให้สุกด้วยความร้อน หรืออาจรับประทานอาหารกลุ่ม นม-เนย ควบคู่ไปกับการรับประทานมะเขือพวงด้วยก็ได้
- การรับประทานมะเขือพวงดิบมากเกิน 16 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการทำงานของตับได้
เอกสารอ้างอิง
- กัญจนา ดีวิเศษและคณะ, ผู้รวบรวม.(2548).ผักพื้นบ้านภาคเหนือ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ บรรณาธิการ.พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ: ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย.
- รศ.ดร.กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติธนะ .มะเขือพวง จิ๋วแต่แจ๋ว.คอลัมน์บทความพิเศษ.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่371 . มีนาคม2553.
- บุญชื่นชัยรัตน์.(2542).แคว้งคลูวา, บ่า.ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ(เล่ม 3, หน้า 1346).กรุงเทพฯ:มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
- เตือนใจ ไชยศิลป์ และคณะ.(2545).สมุดภาพสมุนไพร : โครงการ "ม่อนยาป่าแดด".กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
- มะเขือพวง.สรรพคุณและการปลูกมะเขือพวง.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
- ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ.มะเขือพวง.คอลัมน์อื่นๆ.นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่42.ตุลาคม2525
- ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์.(2547). สารานุกรมผัก: เรื่องวัฒนธรรม โภชนาการและสูตรอาหารของผักนานาชนิด.พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ: แสงแดด.