ม่อนไข่ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ม่อนไข่ งานวิจัยและสรรพคุณ 8 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ม่อนไข่
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เซียนท้อ, ละมุดอินเดีย, ละมุดเขมร, ละมุดสวรรค์, โตมา, เขมา (ทั่วไป), ท้อเขมร (ภาคตะวันออก), ท้อพื้นบ้าน (ราชบุรี), ทิสซา (เพชรบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pouteria campechiana (Kunth) Baehni
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Lucuma campechiana Kunth
ชื่อสามัญ Egg fruit, Yellow sapota, Tiesa, Canistel
วงศ์ SAPOTACEAE


ถิ่นกำเนิดม่อนไข่

ม่อนไข่ เป็นผลไม้พื้นเมืองทวีปอเมริกากลาง โดยมีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโก, กัวเตมาลา, คอสตาริกา, บานามา, ฮอนดูรัส, นิการากัว, เอลซัลวาดอร์ ต่อมาจึงได้กระจายพันธุ์ไปยังอเมริกาใต้ในประเทศบราซิล, อาเจนตินา, โคลัมเบีย, เปรู ฯลฯ หลังจากนั้นจึงมีการนำไปปลูกยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยสามารถพบม่อนไข่ ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่จะมีการปลูกกันมากในภาคเหนือ บริเวณ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา เป็นต้น


ประโยชน์และสรรพคุณม่อนไข่

  1. ใช้บำรุงผิวพรรณ
  2. บำรุงสมอง
  3. บำรุงสายตา
  4. รักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน
  5. ใช้รักษาแผลเน่าเปื่อยพุพอง
  6. รักษาอาการไข้
  7. รักษาอาการตัวร้อน
  8. แก้ผื่นคัน

           ม่อนไข่ จัดเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่นิยมใช้รับประทานเป็นผลไม้สด ชาวไทยใช้รับประทาสดๆ แบบผลไม้ แต่ในทวีปอเมริกานิยมรับประทานร่วมกับเกลือ พริกไทย มายองเนส หรือ น้ำมะนาว และ นอกจากผลจะใช้รับประทานสดแล้วม่อนไข่ ยังสามารถนำมาทำเป็นขนมได้อีก เช่น แพนเค้ก คัสตาร์ด ทาร์ต เยลลี่ หรือ แยม เป็นต้น ส่วนเนื้อไม้มีความแข็งแรง และละเอียด สามารถนำมาใช้ทำเป็นไม้กระดาน หรือ ใช้ในงานก่อสร้างได้ หรือ สามารถนำม่อนไข่มา ปลูกเป็นไม้ประดับ ใบสีเขียวเข้มสวย และให้ร่มเงาได้ดี เนื่องจากไม่มีการผลักใบ และเมื่อผลสุกจะมีสีเหลือง เข้มตัดกับสีใบดูสวยงาม อีกทั้งม่อนไข่ยังเป็นพืชในวง์เดียวกันกับ พิกุล จึงมีลักษณะของดอกกลิ่นหอมเหมือนเดิมเหมาะที่จะนำมาปลูกประดับอีกด้วย

ม่อนไข่

ม่อนไข่

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้เป็นยารักษาอาการไข้ ตัวร้อน โดยนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้รักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน ใช้บำรุงสมอง บำรุงสายตา บำรุงผิวพรรณ โดยนำผลม่อนไข่ สุกมารับประทานสดๆ
  • ใช้รักษาผดผื่นคัน โดยนำเปลือกต้นมาทุบให้ละเอียดใช้ทาบริเวณที่มีผดผื่นคัน หรือ ใช้พอกบริเวณแผลพุพอง
  • ใช้รักษาแผลเน่าเปื่อยโดยนำเมล็ดมาทุบให้ละเอียดใช้พอกบริเวณแผล

 

ลักษณะทั่วไปของม่อนไข่

ม่อนไข่จัดเป็นไม้ยืนขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ทรงพุ่มโปร่งกว้าง สูงประมาณ 8 เมตร แต่สามารถสูงได้ถึง 10-20 เมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของต้น 30-50 เซนติเมตร  ลำต้นและกิ่งอ่อนเป็นสีน้ำตาล มียางสีขาว ลำต้นค่อนข้างตรง และแตกกิ่งก้านสาขาที่ความสูงประมาณ 1 เมตร เหนือระดับพื้นดิน ใบเป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับเป็นกระจุก บริเวณปลายกิ่งลักษณะเป็นรูปหอก โคนใบเรียวปลายใบเรียวแหลม ของใบเรียบ กว้าง 7-9 เซนติเมตร ยาว 15-28 เซนติเมตร ผิวใบสีเขียวเป็นมันและแผ่นใบบางสามารถมองเห็นเส้นใบได้ชัดเจน ดอกออกเป็นดอกเดียว ซึ่งในแต่ละช่อจะมีดอกย่อยบริเวณซอกใบใกล้ปลายยอด โดยจะออกเป็นช่อสั้นๆจำนวนมาก ช่อละ 2-3 ดอก ลักษณะดอกย่อยจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอก 1-1.5 เซนติเมตร และมีปลายแหลมสีขาวนวล หรือสีครีม จำนวน 24 กลีบ เรียงซ้อนกันสองชั้น ดอกจะมีกลิ่นหอมและมีก้านดอกยาว ผลออกเป็นผลเดี่ยว มีลักษณะเป็นกลมรูปรี ทรงไข่ หรือทรงรี ปลายผลแหลมหรือมีจะงอยแหลม ผลมีขนาดกว้าง 5-7.5 เซนติเมตร และยาว 7.5-12.5 เซนติเมตร ผลดิบมีสีเขียววเปลือกผลบางและเป็นมัน เมื่อสุกจะเป็นสีเหลืองอ่อน เนื้อในผลเป็นสีเหลืองสดน่ารับประทาน เนื้อมีลักษณะเหนียว นิ่ม คล้ายกับไข่แดงต้ม รสชาติหวาน ภายในผลมีเมล็ดขนาดใหญ่ 1-2 เมล็ด มีลักษณะเป็นรูปรีสีดำเป็นมัน

ม่อนไข่

ม่อนไข่

การขยายพันธุ์ม่อนไข่

ม่อนไข่ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด การตอนกิ่ง และการทาบกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ด ซึ่งม่อนไข่ สามารถปลูกได้ในดินทุกชนิด แต่จะเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย โดยการปลูกโดยวิธีการเพาะเมล็ดจะต้องให้ต้นกล้ามีอายุประมาณ 3 เดือน แล้วค่อยนำมาปลูกลงในแปลง โดยให้มีระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 4x6 เมตร ทั้งนี้ม่อนไข่ ชอบดินที่มีการระบายน้ำได้ดี ชอบแสงแดด แต่ต้องให้น้ำเพียงพอ หลังจากการปลูกประมาณ 2-3 ปี ม่อนไข่จะเริ่มให้ผลผลิต


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของม่อนไข่ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สารสกัดเอทานอลจากใบ และเมล็ดพบสาร Myricetin, Myricetin-3-O-β-galactoside, Myricetin-3-O-α-L-rhamnoside, Quercetin, Quercetin 3-O-α-L-rhamnopyranoside, Quercetin 3-O-β-arabinopyranoside, Taxifolin 3-O-α-arabinofuranoside, Taxifolin 3-O-α-rhamnopyranoside, Trans-taxifolin 3-O-α-arabinopyranoside, Gallat acid และ protoeatechuic acid เป็นต้น ส่วนสารสกัดเอทิลอะซิเตท จากเปลือกต้นมีรายงานว่าพบสาร Spinasterol นอกจากนี้เนื้อผลของม่อนไข่ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของม่อนไข่ 100 กรัม (เนื้อผล)

  • พลังงาน                         138.8           กิโลแคลอรี
  • โปรตีน                           1.68             กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต               36.69           กรัม
  • ไขมัน                             0.13             กรัม
  • เส้นใย                            0.10             กรัม
  • เบต้าแคโรทีน              0.32             มิลลิกรัม
  • วิตามิน B1                     0.17             มิลลิกรัม
  • วิตามิน B2                     0.0.1            มิลลิกรัม
  • วิตามิน B3                    3.72             มิลลิกรัม
  • วิตามิน C                       58.1             มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก                      0.92              มิลลิกรัม
  • แคลเซียม                    26.5              มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส                     37.3              มิลลิกรัม
  • ทริปโตเฟน                    28                 มิลลิกรัม
  • เมไธโอนีน                     13                 มิลลิกรัม
  • ไลซีน                            84                 มิลลิกรัม

โครงสร้างม่อนไข่

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของม่อนไข่

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของม่อนไข่ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           มีรายงานการศึกษาวิจัยเพื่อประเมินฤทธิ์ระงับปวด ต้านการอักเสบ และฤทธิ์รักษาแผลในระบบทางเดินอาหาร ของสารสกัดเอธานอลของใบ และเมล็ดม่อนไข่ พบว่าสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดสามารถยับยั้งการอักเสบในการทดสอบอาการบวมน้ำที่อุ้งเท้าหนู โดยให้สารสกัดในขนาด 100 มก./กก. หลังจากผ่านไป 4 ชม. สามารถลดการอักเสบได้ถึง 85% ส่วนสารสกัดเอธานอลจากใบ ในขนาด 200 มก./กก. มีฤทธิ์ระงับปวดสูงสุดหลังจากผ่านไป 90 นาที และสำสหรับในการทดสอบฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหารพบว่าสารกสัดเอทานอลจากใบ และเมล็ดสามารถลดจำนวนแผลในกระเพาะอาหาร และความรุนแรงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

           นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยฉบับอื่นๆ ระบุว่าเนื้อผลของม่อนไข่เป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยแคโรทีนอยด์ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและป้องกันตับ ส่วนสารสกัดจากเมล็ดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อจุลชีพ และสารสกัดจากใบมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านอาการปวด ต้านจุลชีพ และลดความดันโลหิตอีกด้วย


การศึกษาทางพิษวิทยาของม่อนไข่

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยด้านพิษวิทยาของสารสกัดม่อนไข่ จากใบ ระบุว่า ค่า LD50 ของสารสกัดเอทานอลจากใบม่อนไข่ในขนาด 2.5 ก./กก. และสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดม่อนไข่ ในขนาดเมล็ด 2ก./กก. มีอัตราความปลอดภัยสูง


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการรับประทานม่อนไข่เป็นผลไม้ หรือ นำไปแปรรูปเป็นอาหารมีความปลอดภัยสูง ส่วนการนำม่อนไข่ มาใช้เป็นยาสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง ม่อนไข่
  1. นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. ม่อนไข่ หรือ ทิสชา ใน ผลไม้ 111 ชนิด คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550. หน้า 125
  2. วิชัย ปทุมชาติพัฒน์. ม่อนไข่..ผลไม้หลายชื่อ. การผลิตบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์สุขภาพไม้ดอกไม้ประดับ, พืชผัก. ไม้ผลความหลากหลายทางชีวภาพ. โครงการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศ. มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.
  3. Aseervatham GS, Sivasudha T, Sasikumar JM, Christabel PH, Jeyadevi R, Ananth DA (2013). Antioxidant and hepatoprotective potential of Pouteria campechiana on acetaminophen-induced hepatic toxicity in rats. J. Physiol. Biochem. 70(1):1-14
  4. Costa DSA, Wondracek DC, Lopes RM, Vieira RF, Ferreira, FR (2010). Carotenoids composition of canistel (Pouteria campechiana (Kunth) Baehni). Rev. Bras. Frutic. 32(3):903-906.
  5. Addae-mensah I, Achenbach H (1985). Terpenoids and flavonoids of Bridelia ferruginea. Phytochemistry 24(8):1817-1819.
  6. Kubola J, Siriamornpun S, Meeso N (2010). Phytochemicals, vitamin C and sugar content of Thai wild fruits. Food Chem. 126(3):972-981.
  7. Buck WB, Osweiter GD, Van Gelder AG (1976). Clinical and Diagnostic Veterinary Toxicology (2nd Ed). Iowa: Kendall/Hunt Publishing Company