สารสกัดดอกคาโมมายล์

สารสกัดดอกคาโมมายล์

ชื่อสามัญ Chamomile Extract

สารสกัดดอกคาโมมายล์

ประเภทและข้อแตกต่างของสารสกัดดอกคาโมมายล์

สารสกัดดอกคาโมมายล์เป็นสารสกัดที่ได้จากธรรมชาติ โดยในดอกคาโมมายล์มีการศึกษาวิจัยพบว่าจะประกอบไปด้วยสารสำคัญมากกว่า 120 ชนิด เช่น กรดอะมิโน โพลีแซ็คคาไรด์ กรดไขมันต่างๆ และยังพบสารประกอบในกลุ่มโพลีฟินอล จำพวกฟลาโวนอยด์หลากหลายชนิด เช่น อะพิจีนีน (apigenin) พาทูเลทิน (patuletin) เค วอซทิ นิ (quercetin) ซึ่งส่วนมากจะอยู่ในรูปที่ละลายน้ำได้ และมีความคงตัวสูง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสารสกัดดอกคาโมมายล์ จะสามารถแบ่งออกได้หลายชนิด ตามลักษณะของสารสกัดได้ เช่น ชนิดบดผง ชนิดแคปซูล ชนิดน้ำ รวมถึงในรูปแบบน้ำมันหอมระเหย เป็นต้น

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาของสารสกัดดอกคาโมมายล์

สารสกัดดอกคาโมมายล์ จะสกัดได้จากส่วนดอกของต้นคาโมมายล์ ซึ่งมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ เยอรมันคาโมมายล์ (Matricaria recutita L.) หรือ Chamomilla recutita L. และโรมันคาโมมายล์ (Chamaemelum nobile L.) แต่สายพันธ์เยอรมันคาโมมายล์จะเป็นนิยมใช้มากกว่า ซึ่งในการสกัดจะมีกรรมวิธีการสกัดที่แตกต่างกันไป ตามรูปแบบของสารสกัดที่ต้องการ สำหรับในส่วนของน้ำมันหอมระเหยของดอกคาโมมายล์นั้น หากเป็นสายพันธุ์เยอรมันคาโมมายล์นั้น น้ำมันหอมระเหยที่ได้จะมีสีน้ำเงินเข้ม มีกลิ่นแรง และเป็นกลิ่นเฉพาะตัวของดอกเยอรมันคาโมไมล์ ส่วนสายพันธุ์โรมมันคาโมมายล์นั้น น้ำมันหอมระเหยจะมีสีเขียว และมีกลิ่นอ่อนๆ

สารสกัดดอกคาโมมายล์ 

ปริมาณที่ควรได้รับจากสารสกัดดอกคาโมมายล์

สำหรับขนาดและปริมาณที่ควรได้รับ สารสกัดดอกคาโมมายล์ ในแต่ละวันนั้น ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดอย่างชัดเจนแต่อย่างใด แต่มีรายงานการศึกษาจากต่างประเทศระบุว่าปริมาณที่เหมาะสมและปลอดภัยในการบริโภคสารสกัดดอกคาโมมายล์ คือ 400-1600 มิลลิกรัม นอกจากนี้ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องรายชื่อพืชที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ยังระบุว่า อนุญาตให้ใช้ส่วนดอกของคาโมมายล์เป็นผลิตภัณฑ์อาหารได้ โดยใช้กระบวนการสกัดแบบบดผงโดยให้มีขนาดในการบริโภคไม่เกิน 90 มิลลิกรัมต่อวัน

ประโยชน์และโทษของสารสกัดดอกคาโมมายล์

มีการนำสารสกัดดอกคาโมมายล์มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ หลายด้าน เช่น ใช้แต่งกลิ่นไอศกรีม เครื่องดื่มต่างๆ และลูกอม ใช้เตรียมยาทาแผลในปาก ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง น้ำหอม และเครื่องใช้อื่นๆ ในครัวเรือน ส่วนน้ำมันหอมระเหยใช้แต่งกลิ่นและรสชาติในสุรา ใช้เป็นส่วนผสมในน้ำหอม น้ำมันนวดตัว และยาต่างๆ ส่วนในทางการแพทย์นั้น มีการใช้สารสกัดดอกคาโมมายล์ เพื่อลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ การต้านการอักเสบ ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ต้านอนุมูลอิสระ ลดอาการแพ้ ผื่นคัน ช่วยขับลมในกระเพาะ ช่วยให้หลับสนิท ช่วยให้รู้สึกสงบ และใช้คลายกังวล

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสารสกัดดอกคาโมมายล์

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยของสารสกัดดอกคาโมมายล์ ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศหลายฉบับ ดังนี้
           มีการศึกษาวิเคราะห์หาสารประกอบฟินอลิกในสารสกัดของดอกคาโมมายล์อบแห้ง HPLC จากแหล่งผลิตดอกคาโมมายล์อบแห้งที่นำเข้าจากประเทศต่างๆ พบว่าผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรจากดอกคาโมมายล์พร้อมดื่มเนื่องจากดอกคาโมมายล์อบแห้งจะมีสารประกอบฟินอลิก จำพวกฟลาโวนอยด์ (flavonoids) ในปริมาณที่มาก โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยตามระดับการออกซิเดชั่น และหมู่ฟังก์ชันสารประกอบฟลาโวนอยด์ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นสารนิวตราซูติคอล (nutraceutical) ซึ่งหมายถึงอาหารหรือองค์ประกอบของอาหารที่สามารถนำมาใช้เป็นยาหรือมีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งในด้านการป้องกันและการรักษาโรคพบว่ามีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สามารถช่วยป้องกันการถูกทำลายของเซลล์และเนื้อเยื่อร่างกายจากอนุมูลอิสระและออกซิเจนอิสระ ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งได้ศึกษาผลประกอบฟินอลิกด้วยวิธี UHPLC-MS/MS ในสารสกัดของดอกคาโมมายล์ ซึ่งสกัดด้วยน้ำร้อนพบว่ามีสารประกอบฟินอลิกที่สำคัญเป็นปริมาณมาก และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระจำนวน 12 ชนิด มีสรรพคุณทางเภสัช เช่น chiorogrenic acid, caffeic acid, umbelliferon, quercetin-3-glucoside, rutin, apigenin-7-glucoside, quercitin, luteclin, kaempferol, apigenin และ isorthamnetin
           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ของสารสกัดดอกคาโมมายล์ เช่น ฤทธิ์คลายความวิตก มีการศึกษาทางคลินิกแบบ randomixed, double-blind, placebo-controlled ในกลุ่มที่มีภาวะโรควิตกกังวล โดยให้รับประทานสารสกัดจากดอกคาโมมายล์ 220 มิลลิกรัม ติดต่อกันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่ามีค่าคะแนน HAM score ซึ่งเป็นค่าแบบทดสอบวัดระดับความวิตกกังวลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่ทำในกลุ่มอาสาสมัครหญิงพบว่ากลิ่นของน้ำมันจากดอกคาโมมายล์ มีผลช่วยการทำงานของคลื่นสมองอัลฟา 1 ทำให้รู้สึกสบาย อยู่ในภาวะสงบ
           ฤทธิ์ลดอาการท้องเสีย มีการศึกษาทางคลินิกแบบ Randomized, double-blind, placebo-controlled ในกลุ่มเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 5 ปี ที่มีภาวะท้องเสียไม่รุนแรง โดยให้รับประทานสารสกัดคาโมมายล์ผสมกับเพคตินจากแอปเปิ้ลเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ให้รับประทานแต่อาหารและน้ำเกลือแร่ หลังจากนั้น 3 วันพบว่ากลุ่มที่รับประทานสารสกัดจากคาโมมายล์หายจากอาการท้องเสียเร็วกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับประทาน
           ฤทธิ์รักษาโรคสมาธิสั้น มีผลการศึกษาฤทธิ์ของคาโมมายล์ในการยับยั้งฮอร์โมนซีโรโทนิน และนอร์อะดรีนาลิน โดยทำการศึกษาทางคลินิกแบบ open trial ในผู้ป่วยนอกเพศชาย อายุระหว่าง 14-16 ปี จำนวน 3 คน ซึ่งถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้น โดยให้ผู้ป่วยกินยาเม็ดคาโมมายล์ ซึ่งประกอบด้วย Levomenol 100 มิลลิกรัม และน้ำมันหอมระเหย 0.19 กรัม 3 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของคาโมมายล์ ในการรักษาโรคสมาธิสั้น โดยทำการเปรียบเทียบกับเกณฑ์การวัดพฤติกรรมเด็กแบบ Conners’ parent ratings จากการศึกษาโดยการสังเกตพฤติกรรมพบว่า ผู้ป่วยมีคะแนนเฉลี่ยเกี่ยวกับความซน การขาดสมาธิและพัฒนาการการเจริญเติบโตดีขึ้น
           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีรายงานผลการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดดอกคาโมมายล์ ด้วยน้ำ และแอลกอฮอล์ น้ำมันหอมระเหย และสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ และเทอร์พีนอยด์ที่เป็นองค์ประกอบในสารสกัดและน้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ต้านการอักเสบทั้งในหลอกทดลองและสัตว์ทดลอง โดยพบว่า สารสกัดดอกคาโมมายล์มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูที่ถูกทำให้อักเสบที่หูจากน้ำมันละหุ่ง โดยพบว่าสารสกัดจากดอกสดให้ผลยับยั้งได้ดีกว่าดอกแห้ง โดยสามารถยับยั้งการหลั่ง prostaglandin E2 จาก lipopolysaccharide-activated macrophages ในหลอดทดลอง ยับยั้งเอ็นไซม์ 5-lipoxygenase และ cyclooxygenase 2 (COX-2) โดยสารออกฤทธิ์ที่สำคัญคือ (-)-alpha-bisabolol และ apigenin  นอกจากนี้ยังพบว่าสาร apigenin ที่ยังมีฤทธิ์ยับยั้ง nitric oxide synthase (NOS) ใน LPS-activated macrophages และยับยั้งการสร้าง interleukin-6 และ tumour necrosis factor-alpha เมื่อให้ทางปากใน หนู mice ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย LPS ส่วนการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบที่ผิวหนังในอาสาสมัคร พบว่าครีมและขี้ผึ้งคาโมมายล์ใช้ภายนอก มีต้านการอักเสบได้ดีเมื่อเทียบกับยาขี้ผึ้ง hydrocortisone
           ต้านการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ และรักษาแผลในทางเดินอาหาร มีการศึกาวิจัยพบว่าสารสกัดและน้ำมันหอมระเหยจากดอกคาโมมายล์ และสารที่เป็นองค์ประกอบมีฤทธิ์ต้านการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ของสัตว์ทดลองที่เหนี่ยวนำให้เกิดการหดเกร็งด้วยสาร acetylcholine และ histamine แต่มีฤทธิ์อ่อนกว่า papaverine นอกจากนี้สารสกัดดอกคาโมมายล์ด้วยเอทานอลในน้ำและสาร (-)-alpha-bisabolol ยังสามารถยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารสัตว์ทดลองที่เหนี่ยวนำด้วย indromethacin ความเครียด และแอลกอฮอล์ โดยสามารถลดความเป็นกรดและเพิ่มปริมาณมิวซินในกระเพาะอาหาร
          ฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระ อันเนื่องมาจากการติดเชื้อพยาธิในลำไส้ มีผลศึกษาฤทธิ์ฆ่าพยาธิ Heligmosomoides polygyrus ของสารสกัดเมทานอลจากดอกคาโมมายล์ (Matricaria recutita L.) ในจานเพาะเลี้ยงตัวอ่อนระยะที่ 3 เปรียบเทียบกับยาฆ่าพยาธิ albendazole (in vitro) และศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ และฆ่าพยาธิของดอกคาโมมายล์ในหนูเม้าส์ที่ถูกทำให้ติดเชื้อพยาธิในลำไส้ด้วยการให้ตัวอ่อนระยะที่ 3 ของพยาธิ H. polygyrus ผ่านทางสารสวนกระเพาะอาหาร (in vivo) โดยป้อนสารสกัดเมทานอลดอกคาโมมายล์ขนาดวันละ 200 400 และ 800 มก./กก. ให้แก่หนูเม้าส์ในวันที่ 18-21 หลังจากการป้อนตัวอ่อนพยาธิ เปรียบเทียบกับการใช้ยา albendazole ขนาดวันละ 100 มก./กก. หลังจากป้อนสารสกัดดอกคาโมมายล์และยาฆ่าพยาธิ 7 วัน ทำการเก็บตัวอย่างเลือดหนูเพื่อวิเคราะห์ค่าทางชีวเคมี และชำแหละซากหนูและเก็บตัวอย่างลำไส้เพื่อตรวจนับจำนวนพยาธิตัวเต็มวัย พบว่าสารสกัดเมทานอลจากดอกคาโมมายล์มีฤทธิ์ฆ่าพยาธิ H. polygyrus ทั้งในการศึกษาแบบในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง โดยขึ้นอยู่กับขนาดความเข้มข้น (dose-dependent) เช่น เดียวกับการใช้ยา albendazole และผลจากการวิเคราะห์ค่าทางชีวเคมีในเลือดหนูพบว่า การป้อนสารสกัดเมทานอลดอกคาโมมายล์และยา albendazole ทุกขนาด มีผลลดการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการอักเสบได้แก่ tumor necrosing factor-α (TNF-α), interleukin-6 (IL-6) และ interleukin-1β (IL-1β) นอกจากนี้ยังมีผลเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการเกิดนอนุมูลอิสระได้แก่ superoxide dismutase (SOD), catalase (CAT) และ glutathione peroxidase (GPx) และลดระดับ malondialdehyde (MDA) ซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้ถึงการเกิดปฏิกิริยาออกซิดชั่นของไขมันสาเหตุหนึ่งของการเกิดอนุมูลอิสระได้อีกด้วย ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า สารสกัดเมทานอลจากดอกคาโมมายล์มีฤทธิ์ฆ่าพยาธิ H. polygyrus ต้านการเกิดอนุมูลอิสระ และต้านการอักเสบอันมีสาเหตุเนื่องมาจากการติดเชื้อพยาธิชนิดดังกล่าวได้

โครงสร้างสารสกัดดอกคาโมมายล์

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาวิจัยระบุว่าการใช้สารสกัดดอกคาโมมายล์ จะมีความปลอดภัยสูง แต่ทั้งนี้ในการใช้สารสกัดดังกล่าวควรใช้อย่างระมัดระวัง เช่น เดียวกันกับการใช้สารสกัดชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดที่เหมาะสมไม่ใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ นอกจากนี้ผู้ที่แพ้ดอกไม้ ตระกูลดอกเดซี่และดอกไม้ในวงศ์ทางตะวันอาหารหลีกเลี่ยงการใช้สารสกัดดอกคาโมมายล์รวมถึงควรหลีกเลี่ยนการใช้สารสกัดคาโมมายล์ร่วมกับยาไซโคลลปอรินและยาวงค์ฟาริน เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้

เอกสารอ้างอิง สารสกัดจากคาโมมายล์

⦁ รศ.ดร.สุพจน์ วงศ์ใหญ่.คาโมมายล์ พืชสมุนไพร เพื่อสุขภาพ.วารสารอาหารปีที่ 43.ฉบับที่ 3 กรกฏาคม-กันยายน 2556 หน้า 33-36
⦁ คาโมมายล์รักษาโรคสมาธิสั้น.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
⦁ ผศ.ดร.พญ.ณัฏฐินี อนันตโชค. ดอกคาโมมายล์. บทความเผยแพร๋ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
⦁ ประเทศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องรายชื่อพืชที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลงวันที่ 7สิงหาคม 2560
สารสกัดดอกคาโมมายล์ ต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระอันเนื่องมาจากการติดเชื้อพยาธิในลำไส้. ข่าวความเคลื่อนไหลสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
⦁ Srivastava JK. and Gupta S. Extraction, Characterization, Stability and Biological Activity of Flavonoids Isolated from Chamomile Flowers. Mol Cell Pharmacol. 2009; 1(3): 138
⦁ McKenna DJ, Jones K, Hughes K. Botanical Medicines: The Desk Reference for Major Herbal Supplements. 2nd Ed. NY: The Haworth Herbal Press, 2002.
⦁ Srivastava JK., Shankar E, and Gupta S. Chamomile: A herbal medicine of the past with bright future. Mol Med Report. 2010; 3(6): 895–901.
⦁ Barnes J, Anderson LA, Phillipson JD. Herbal Medicines. 3rd Ed. London: The Pharmaceutical Press, 2007.
⦁ McKay DL. and Blumberg JB. A Review of the Bioactivity and Potential Health Benefits of Chamomile Tea (Matricaria recutita L.). Phototherapy research Phytother. 2006; 20: 519–530.
⦁ Amsterdam JD. et al. A randomized, double-blind, placebo-controlled trial of oral Matricaria recutita(Chamomile) extract therapy of generalized anxiety disorder. J Clin Psychopharmacol. 2009; 29(4): 378–382.