เผือก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เผือก งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ

ชื่อสมุนไพร เผือก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อวิทยาศาสตร์ โอ่วถึง, โอว่ไหน่, โหวจือ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Colocasia esculenta (L.) Schott
ชื่อสามัญ Taro
วงศ์ ARACEAE


ถิ่นกำเนิดเผือก

เผือก จัดเป็นพืชในวงศ์บอน (ARACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมเป็นบริเวณกว้าง ตั้งแต่ในบริเวณทางตอนใต้ของเอเชียกลางและเอเชียใต้ รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้นจึงแพร่กระจายพันธุ์ไปสู่แอฟริกาเขตร้อนของอเมริกาและอเมริกาใต้ ในปัจจุบันพบว่ามีการเพาะปลูกทั่วโลก โดยประเทศที่เป็นผู้ผลิตเผือก รายใหญ่ ได้แก่ ไนจีเรีย เอธิโอเปีย แคเมอรูน กานา และจีน สำหรับในประเทศไทยสามารถพบการปลูกเผือกได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่แหล่งปลูกที่สำคัญได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ นครสวรรค์ นครราชสีมา สระบุรี อยุธยา สิงห์บุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น


ประโยชน์และสรรพคุณเผือก

  1. ช่วยบำรุงร่างกาย
  2. ช่วยบำรุงกระดูก
  3. ช่วยบำรุงฟัน
  4. ช่วยบำรุงไต
  5. ช่วยบำรุงลำไส้
  6. ใช้ลดไข้
  7. แก้ท้องเสีย
  8. แก้อักเสบ
  9. แก้ปวดบวม
  10. แก้ปวดเมื่อยตามเส้นเอ็นและกระดูก
  11. แก้เรื้อนกวาง
  12. ช่วยแก้พิษจากแมลงและสัตว์มีพิษกัดต่อย
  13. ใช้เป็นยาขับเสมหะ
  14. ช่วยกระตุ้นน้ำย่อย
  15. ช่วยย่อยอาหาร
  16. แก้บวม
  17. ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
  18. ใช้เป็นยาฝาดสมาน
  19. ใช้รักษาผมร่วง
  20. แก้พิษแมงป่อง
  21. แก้อาหารเป็นพิษ

           มีการนำส่วนหัวและส่วนใบของเผือก มาใช้ทำอาหารได้หลากหลายประเภท ทั้งอาหารคาว อาหารหวาน ขนม และของกินเล่นต่างๆ เช่น หัวเผือก นำมาใช้ทำ ซุปเผือกปลากะพง หัวปลาเผือกหม้อไฟ ข้าวต้มเผือก เผือกทรงเครื่อง หรือ ใช้ทำเป็นเผือกเชื่อม เผือกทอด เผือกกวน เผือกฉาบ แกงบวดเผือก เค้กเผือก หม้อแกงเผือก ส่วนใบก้านใบและยอดของเผือก ก็มีการนำมารับประทาน โดยใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น ใช้ทำแกง อาทิแกงใบเผือก หรือ นำไปทำเป็นผักดองก็ได้

เผือก

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้บำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย บำรุงไต ลดไข้ โดยนำหัวเผือก 100 กรัม นำมาต้มใส่กับข้าวสวย 100 กรัม ให้เป็นโจ๊กใช้รับประทาน
  • ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ช่วยทำให้กระดูกแข็งแรง โดยนำหัวเผือกมาต้ม หรือ ย่างไฟให้สุกใช้รับประทาน
  • ใช้แก้ปวดเมื่อยกระดูกและเส้นเอ็น แก้อาการอักเสบปวด แก้โรคเรื้อนกวาง โดยใช้ต้นกระเทียม 100 กรัม นำมาโขลกกับเผือกสด 100 กรัม ให้ละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วนำมาทาบริเวณที่เป็น
  • ใช้ถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย โดยใช้น้ำยางจากใบและก้านเผือกมาทาบริเวณที่เป็นหรือใช้บริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของเผือก

เผือก จัดเป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีลำต้นเป็นหัวสะสมอาหารอยู่ใต้ดิน โดยลักษณะของหัวเป็นรูปกลม หรือ เป็นรูป ลูกข่างกลมขนาดใหญ่ สีน้ำตาลและจะมีหัวเล็กๆ อยู่ล้อมรอบ โดยปกติมีกาบใบแทงออกมาบนดินเป็นลำต้นเทียม ที่มีความสูงประมาณ 0.4-2 เมตร

           ใบเผือก เป็นใบเดี่ยวออกเรียงเวียนรอบหัวมีก้านใบสีเขียวอ่อน หรือ สีม่วง (แล้วแต่สายพันธุ์) ยาว 0.45-1 เมตร ลักษณะของใบมีขนาดใหญ่เป็นรูปหัวใจ หรือ เป็นรูปลูกศร โดยมีขนาดกว้าง 25-30 เซนติเมตร ยาว 40-50 เซนติเมตร โคนใบกลม หรือ เป็นเหลี่ยม เล็กน้อยเว้าเข้าหากันเป็นรูปหัวใจปลายใบแหลมขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ผิวใบมีสีเขียวหนาเป็นมัน ด้านล่างมีสีนวลสามารถมองเห็นเส้นใบได้ชัดเจน

           ดอกเผือก ออกเป็นช่อโดยอาจจะออกเดี่ยว หรือ หลายช่อ ช่อดอกเผือก เป็นช่อเชิงลดมีกาบ ซึ่งกาบหุ้มช่อดอกมีสีเหลืองและมีความยาวประมาณ 15-35 เซนติเมตร ลักษณะตั้งตรงเป็นสีเขียว ปลายกาบเรียวแหลม มีดอกย่อยทั้งดอกเพศผู้และเพศเมีย โดยดอกเพศผู้จะอยู่ด้านบนปลายช่อดอก ส่วนดอกเพศเมีย อยู่ทางด้านล่าง และมีผลเป็นผลสดมีขนาดเล็กเกาะเป็นกลุ่มอยู่ในก้านดอก

           ผลเผือก มีเนื้อผลอวบน้ำเมื่อผลแก่จะมีเมล็ดสีดำขนาดเล็กอยู่ภายในผลสีเขียวเปลือกบาง

เผือก
เผือก

การขยายพันธุ์เผือก

เผือกเป็นพืชหัวที่สามารถขยายพันธ์ุน้อยได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การขยายพันธุ์โดยใช้หน่อและการขยายพันธุ์โดยใช้หัวพันธุ์ แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การใช้หัวพันธุ์ขนาดเล็ก ที่ติดอยู่รอบๆ หัวขนาดใหญ่ หรือ ที่เรียกว่า “ลูกซอ” มาปลูก โดยเริ่มจากเลือกหัวเผือก “ลูกซอ” ที่มีขนาดปานกลางไม่เล็ก หรือ ใหญ่เกินไป ซึ่งหัวพันธุ์ที่มีขนาดสม่ำเสมอจะทำให้เผือก ที่ปลูกแต่ละต้นลงหัวในเวลาใกล้เคียงกัน เก็บเกี่ยวได้พร้อมกัน จากนั้นก่อนการปลูกเผือก 1-2 เดือน ให้แทรกเตอร์ไถตะวันผาน 3 หรือ 4 ตากไว้ระยะหนึ่งแล้วไถแปร แล้วให้เตรียมหลุมกว้าง 30-40 เซนติเมตร ลึก 20-30 เซนติเมตร ระยะปลูกระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระยะห่างแถว 1 เมตร แล้วใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุมก่อนปลูก นำดินบางส่วนจากสันร่องกลบหัวพันธุ์ จากนั้นคอยพูนโคนเมื่อเผือกเจริญเติบโตขึ้น แล้วรดน้ำให้ชุ่มทั้งนี้ เนื่องจากหัวเผือกก็คือ ลำต้นใต้ดินที่ขยายออกเพื่อสะสมอาหารจึงเจริญขึ้นบนมากกว่าลงหัวลึกลงไป จึงต้องคอยพูนโคนอยู่เสมอ


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของหัวเผือกและใบเผือกระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น ในหัวเผือกพบสาร Flavonoids, Alkaloid, Anthraquinone, Saponin, Apigenin, Anthocyanin, Cyanidine, 3-glucoside, Luteolin ส่วนใบเผือกพบสาร vitexin, isovitexin, p-coumaric acid, caffeic acid, isoorientin, orientin, อนุพันธ์ apigenin, อนุพันธ์ luteolin และอนุพันธ์ chrysoeriol นอกจากนี้ทั้งหัวเผือกและใบเผือก ยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของหัวเผือกดิบ (100 กรัม)

  • พลังงาน                     112        กิโลแคลอรี
  • โปรตีน                       1.5          กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต           26.46      กรัม
  • ไขมัน                         0.20        กรัม
  • น้ำตาล                       0.40        กรัม
  • ใยอาหาร                  4.1          กรัม
  • โซเดียม                     11            มิลลิกรัม
  • วิตามิน A                   76            หน่วยสากล
  • วิตามิน B1                  0.095      มิลลิกรัม
  • วิตามิน B2                 0.025      มิลลิกรัม
  • วิตามิน B3                  0.600      มิลลิกรัม
  • วิตามิน B5                  0.303      มิลลิกรัม
  • วิตามิน B6                  0.283      มิลลิกรัม
  • วิตามิน B9                 22          ไมโครกรัม
  • วิตามิน C                    4.5          มิลลิกรัม
  • วิตามิน E                    2.38        มิลลิกรัม
  • วิตามิน K                    1.0          ไมโครกรัม
  • แคลเซียม                  43           มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม                 33           มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก                    0.55        มิลลิกรัม
  • แมงกานีส                   0.383      มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส         84           มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม              591         มิลลิกรัม
  • สังกะสี                        0.23         มิลลิกรัม
  • ทองแดง                     0.172       มิลลิกรัม
  • ซีลีเนียม                    0.7          ไมโครกรัม

 
          คุณค่าทางโภชนาการของใบเผือกดิบ (100 กรัม)

  • พลังงาน                      42           กิโลแคลอรี
  • โปรตีน                         5             กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต             6.7          กรัม
  • ไขมัน                           0.74        กรัม
  • น้ำตาล                         3             กรัม
  • เส้นใยอาหาร               3.7          กรัม
  • วิตามิน A                     241          ไมโครกรัม
  • เบต้าแคโรทีน            2,895       ไมโครกรัม
  • ลูทีนและซีแซนทีน      1,932       ไมโครกรัม
  • วิตามิน B1                   0.209       มิลลิกรัม
  • วิตามิน B2                   0.456       มิลลิกรัม
  • วิตามิน B3                  1.513       มิลลิกรัม
  • วิตามิน B6                   0.146       มิลลิกรัม
  • วิตามิน B9                   129          ไมโครกรัม
  • วิตามิน C                      52           มิลลิกรัม
  • วิตามิน E                     2.02        มิลลิกรัม
  • วิตามิน K                     108.6       ไมโครกรัม
  • แคลเซียม                    107          มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม                  45            มิลลิกรัม
  • แมงกานีส                    0.714      มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส                    60           มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม                648         มิลลิกรัม
  • สังกะสี                          0.41        มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก                    2.25        มิลลิกรัม

โครงสร้างเผือก

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของเผือก

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากใบของเผือกระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้
           ฤทธิ์ต้านเบาหวาน มีรายงานการศึกษาวิจัยระบุว่าสารสกัดเอทานอลของใบเผือก มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองที่ถูกชักนำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจาก alloxan 120 มก./กก. 100, 200 และ 400 มก./กก. และยาเมตฟอร์มิน 450 มก./กก. โดนในขนาดของสารสกัด 400 มก./กก. ระดับน้ำตาลในเลือดเริ่มลดลงที่ 96 มก./ดล. ในชั่วโมงที่ 4 และลดลงสูงสุดที่ 120 มก./ดล. ในชั่วโมงที่ 6

           ฤทธิ์ต้านจุลชีพ มีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดจากใบเผือกมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพต่อแบคทีเรีย 4 สายพันธุ์ ได้แก่ Staphylococcus aureus, Pseudomonasaeruginosa, Escherichia coli, Klebsiella sp และ candida albicans

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีรายงานผลการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากใบเผือก โดยวิธี DPPH เมื่อเทียบกับ ascorbic acid พบว่าค่าการต้านอนุมูลอิสระของ ascorbic acid อยู่ที่ 84% ในขณะที่ สารสกัดเอทานอลจากใบมีค่าการต้านอนุมูลอิสระที่ 76.46% และสารสกัดคลอโรฟอร์มมีค่า 72.46% จากการศึกษาวิจัยนี้จึงสรุปได้ว่า สารสกัดจากใบเผือกมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระอยู่ในระดับสูง

           นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอีกหลายฉบับพบว่า มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ต้านอาการวิตกกังวล ต้านภาวะซึมเศร้า มีฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจน ฤทธิ์ปกป้องตับ ต้านการเกิดนิ่วในไต กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด สมานแผล ต้านการก่อกลายพันธุ์ และเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งหลายชนิดอีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของเผือก

           มีรายงานผลการศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดน้ำและเอทานอลจากส่วนใบของเผือกในหนูเม้าส์ พบว่าเมื่อให้หนูกินสารสกัดน้ำจากใบเผือกขนาด 2,000 มก./กก. และสารสกัดเอทานอลจากใบเผือกขนาด 5,000 มก./กก.ไม่ทำให้เกิดการตาย หรือ ความผิดปกติใดๆ กับสัตว์ทดลองแต่อย่างใด

           นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าในทุกส่วนของเผือก จะมีสารที่ลบ หรือ ต้านคุณค่าทางโภชนาการ (antinutritional factors) ได้แก่ phytates, tannins, oxalates โดยในใบเผือก 100 ก. จะมีสาร phytates 8.59-9.88 มก. tannins 419.80-504.24 มก. และสาร oxalates 198.61-257.92 มก.นอกจากนี้ยังพบว่า calcium oxalate ที่พบในส่วนหัวและใบของเผือกดิบยังมีพิษต่อมนุษย์อีกด้วย


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ก่อนนำส่วนต่างๆ ของเผือกมารับประทาน ต้องนำไปผ่านกรรมวิธีในการรกำจัด หรือ ลดปริมาณของ calcium oxalate เสียก่อน เช่น การนำไปต้มในน้ำเดือด การต้มกับน้ำเกลือ 5% หรือ การทำให้สุกเนื่องจาก calcium oxalate ซึ่งเป็นสารที่เป็นผลึกทำให้ใบเผือก มีรสเฝื่อน โดยหากรับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดอาการคันบริเวณริมฝีปาก ช่องปากและลำคอ อีกทั้งอาจทำให้เกิดการบวมจนเป็นอันตรายต่อระบบการหายใจได้ นอกจากนี้ในตำรายาจีนยังระบุไว้ว่าการรับประทานเผือกในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้ม้ามทำงานไม่เป็นปกติได้


เอกสารอ้างอิง เผือก
  1. มาโนช วามานนท์, เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. ผักพื้นบ้าน : ความหมายและภูมิปัญญาของสามัญชนไทย.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2538.
  2. พีรศักดิ์ วรสุนทรโรสถ. และคณะ.ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 9 พืชให้คาร์โบไฮเดรตที่ไม่ใช่เมล็ด.กทม. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2544. หน้า 88-90
  3. กฤติยา ไชยนอก.ใบเผือก...อีกทางเลือกที่น่าสนใจ. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์. สมุนไพรไทย ตอนที่ 2. กรุงเทพฯ: หจก. นิวธรรมดาการพิมพ์; 2522.
  5. มาลินี พิทักษ์, สมศรี บุญเรือง, รังสิมันตุ์ สัมฤทธิ์.การปลูกเผือก, สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 13 หน้า.
  6. Khobragade  CN, Bodade RG, Manwar AV. Synthesis and antioxidant activity of some flavone derivatives. Asian J. Res. Chem. 2010; 3(1):139-141
  7. Mitharwal S, Kumar A, Chauhan K, Taneja NK. Nutritional, phytochemical composition and potential health benefits of taro (Colocasia esculenta L.) leaves: A review. Food Chem. 2022;383:132406. doi: 10.1016/j.foodchem.2022.132406.
  8. Meena AK, Rao MM, Meena RP, Panda P, Renu. Pharmacological and Phytochemical Evidences for the Plants of Wedelia genus- A Review. Asian J. Pharm. Res. 2011; 1(1):7-12
  9. Kumawat NS, Chaudhari SP, Wani NS, Deshmukh TA, Patil VR. Antidiabetic activity of ethanol extract of Colocasia esculenta leaves in alloxan induced diabetic rats. Int J PharmTech Res. 2010;2(2):1246-9
  10. Kalariya M, Parmar S, Seth N. Neuropharmacological activity of Hydro alcoholic extracts of leaves of Colocasia esculenta. Pharm. Biol. 2010; 48(2)
  11. Vasant OK, Vijay BG, Virbhadrappa SR, Dilip NT, Ramahari MV, Laxamanrao BS. Antihypertensive and diuretic effects of the aqueous extract of Colocasia esculenta Linn. leaves in experimental paradigms. Iran J Pharm Res. 2012;11(2):621-34.
  12. Pereira P, Mattor F, Correa A, Vericimo M, Vericimo M, Paschoalin V. Anticancer and Immunomodulatory Benefits of Taro (Colocasia esculenta), Corms, an Under exploited Tuber Crop. Int. J. Mol. Sci.2020; 22(1):265
  13. Quisumbling E. Medicinal plants of the Philippines. Quezon City: JMC Press, Inc.; 1978.
  14. Muthakumaran P, Solomi S, Umamaheshwari R. In-vitro Anti-oxidant activity of Premnaserratifolia Linn. Asian J. Res.Pharm. Sci. 2013; 3(1); 15-18
  15. Moon J, Sung J, Choi I, Kim Y. Anti-obesity and Hypolipidemic activity of taro powder in mice fed with  high fat and cholesterol diets. Korean J. Food Sci. Technol. 2010; 42(5):620-626