ชะเอมไทย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ชะเอมไทย งานวิจัยและสรรพคุณ 26 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ชะเอมไทย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ชะเอมป่า (ภาคกลาง), อ้อยช้าง, ย่านงาย, กอกกั๋น (ภาคใต้), ตาลอ้อย (ภาคตะวันออก), ส้มป่อยหวาน (ภาคเหนือ), อ้อยสามสวน (ภาคอีสาน), เฌอเอม (กัมพูชา)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Albizia myriophylla Benth.
วงศ์ LEGUMINOSAE – MIMOSACEAE


ถิ่นกำเนิดชะเอมไทย

ชะเอมไทย จัดเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย โดยมีถิ่นกำเนิดบริเวณประเทศอินเดีย พมา ไทย ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยพบชะเอมไทย ขึ้นทั่วไปตามป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าโปร่ง และที่ราบเชิงเขาทั่วไป แต่จะพบได้มากทางภาคตะวันออกของประเทศ


ประโยชน์และสรรพคุณชะเอมไทย

  1. บำรุงธาตุ
  2. บำรุงกำลัง
  3. บำรุงกล้ามเนื้อให้เจริญ
  4. แก้โรคในลำคอ
  5. ช่วยขับเสมหะ
  6. แก้น้ำลายเหนียว
  7. แก้ลม
  8. แก้โรคเลือดออกตามไรฟัน
  9. แก้โรคในคอ
  10. ช่วยถ่ายลม
  11. แก้โรคตา
  12. ช่วยทำผิวหนังให้สดชื่น
  13. แก้กระหายน้ำ ทำให้ชุ่มคอ
  14. แก้ไอ
  15. แก้เจ็บคอ
  16. แก้โลหิตอันเน่าในอุทร
  17. แก้กำเดาให้เป็นปกติ
  18. ใช้เป็นยาระบาย
  19. ช่วยขับโลหิต
  20. ช่วยขับระดู ในสตรี
  21. แก้ดี และโลหิต
  22. ช่วยย่อยอาหาร
  23. แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  24. ช่วยลดไข้
  25. ช่วยลดอาการเครียด
  26. รักษาอาการอักเสบภายในช่องปากซึ่งมีสาเหตุจากบาดแผล หรือ การเน่าเปื่อยของแผลภายในช่องปาก

           มีการนำส่วนของเปลือกต้น และเนื้อไม้ของชะเอมไทย มาสกัดเป็นสารให้ความหวาน จากธรรมชาติ โดยเฉพาะสาร albiziasaponin B ซึ่งให้ความหวานถึง 600 เท่าของน้ำตาลซูโครส 


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ช่วยบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงกล้ามเนื้อให้เจริญ แก้โรคในลำคอ แก้ไอ แก้กระหายน้ำ ขับเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว โดยนำเนื้อไม้มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้อาการไอ ขับเสมหะ แก้กระหายน้ำ ทำให้ชุ่มคอ แก้เจ็บคอ ขับเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว ทำให้เสมหะงวด แก้โลหิตเน่าในอุทร แก้กำเดาให้ปกติ โดยใช้รากชะเอมไทย ยาวประมาณ 2-4 นิ้ว นำมาต้มกับน้ำดื่มเช้าและเย็น หากอาการไม่ดีขึ้นให้รับประทานติดต่อกัน 2-4 วัน
  • ใช้ขับโลหิตระดูของสตรี โดยนำใบมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ช่วยในการย่อยอาหาร โดยนำดอกมาตากแห้งชงดื่มเป็นชา
  • ใช้รักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน โดยนำเนื้อไม้มาต้มกับน้ำใช้อมกลั้วปาก
  • แก้โรคตับ โดยใช้ลำต้นชะเอมไทยเข้ากับเครือไส้ไก่ เครือหมาว้อ เครือตากวง (กำแพงเก้าชั้น) ต้มกับน้ำดื่ม

 

ลักษณะทั่วไปของชะเอมไทย

ชะเอมไทย จัดเป็นไม้เถายืนต้นขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ สูง 5-8 เมตร ตามลำต้นและกิ่งก้าน มีหนามด้านๆ ขึ้นทั่วไป เปลือกนอกสีน้ำตาลอมเทามีรูอากาศกระจายทั่วไป ส่วนเนื้อไม้มีสีเหลืองอ่อน มีรสหวาน

           ใบชะเอมไทย เป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น ปลายคู่มีก้านใบประกอบยาว 10-15 เซนติเมตร ช่อใบย่อยมี 10-20 คู่ ปลายใบมนส่วนใบย่อยเล็กละเอียดรูปขอบขนาน กว้าง 0.5-2 มิลลิเมตร ยาว 4-8 มิลลิเมตร ออกเรียงตรงช่อใบย่อยข้ามกันเนื้อใบบางคล้ายกระดาษ แผ่นใบเรียบ โคนใบป่องออก มี 20-60 คู่

           ดอกชะเอมไทย ออกเป็นแบบช่อแยกแขนง ยาว 10-15 เซนติเมตร ประกอบด้วยช่อดอกย่อยแบบช่อกระจุกแน่น 3-4 กลุ่ม ซึ่งในแต่ละช่อกระจุกมีดอกย่อย 10-12 ดอก ลักษณะดอกย่อยสีขาวนวลถึงสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบดอกมีขนาดเล็ก สีขาวอมเหลือง โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด กว้าง 1.0-1.5 มิลลิเมตร ยาว 3.5-5.5 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็น 5 แฉก รูปไข่กลับถึงรูปไข่แกมรูปรี ปลายแหลม ยาว 1-2 มิลลิเมตร และมีก้านช่อดอกยาว 1.3-2.3 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย หรือ รูประฆัง ยาวประมาณ 0.7 มิลลิเมตร มีขนประปราย กลีบดอกมีผล

           ผลชะเอมไทย เป็นฝักแบน โคนและปลายแหลมฝักกว้าง 2.3-2.5 เซนติเมตร ยาว 7.2-14 เซนติเมตร ตรงกลางฝักบริเวณที่มีเมล็ดจะเห็นเป็นรอยนูนชัดเจน ฝักอ่อนสีเขียว มีขนหนาแน่น ฝักแก่สีเหลืองถึงน้ำตาล เกลี้ยง แห้งแล้วแตก ใน 1 ฝักจะมีเมล็ด 3-10 เมล็ดต่อฝัก มีก้านผลยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร เมล็ดรูปกลมถึงรูปไข่กลับ สีน้ำตาล กว้าง 4-6 มิลลิเมตร ยาว 5-8 มิลลิเมตร ป่องตรงกลางเล็กน้อย

ชะเอมไทย

ชะเอมไทย

การขยายพันธุ์ชะเอมไทย

ชะเอมไทยสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี อาทิเช่น การใช้เมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำ เป็นต้น สำหรับในธรรมชาติเมื่อฝักแก่ของชะเอมไทย แตกออก เมล็ดชะเอมไทยจะถูกพัดปลิวไปตามกระแสลมไปตกตามพื้นดิน ก็จะเจริญขึ้นเป็นต้นใหม่ แต่สำหรับการนำมาปลูกนั้น ส่วนมากแล้วจะนิยมนำมาปักชำ เนื่องจากเป็นวิธีที่สะดวกรวดเร็ว และขึ้นเป็นต้นได้เร็วกว่า ส่วนวิธีการปักชำชะเอมไทย นั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกับการปักชำไม้เถา หรือ ไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ชะเอมไทยเป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบความชื้นปานกลาง ไม่ชื้นแฉะจนเกินไป


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมี จากส่วนเนื้อไม้ของชะเอมไทย ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดเช่น albizzine, palustrine, lupinifolin, 8-methoxy-7’ 3’ 4’-trihydroxyflavone, 7,8,3’ ,4’-tetrahydroxyroxyflavone, lupeol, β-sitosterone, stihmasta-5,22-dien-3-one, β-sitosterol และ stigmasterol                                

           นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ายังพบสารในกลุ่ม imino sugars ได้แก่ 1-deoxymannojirimycin (DMJ), 4-O-β-D-glucopyranosyl1-deoxymannojirimycin, 3-O-β-D-glucopyranosyl-1-deoxymannojirimycin, 2R,5R-dihydroxy methyl-3R,4R-dihydroxypyrrolidine (DMDP), 2,5-dideoxy-2,5-imino-D-glucitol และยังพบสารให้ความหวาน ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม triterpenoid saponin คือ albiziasaponin A, albiziasaponin B, albiziasaponin C, albiziasaponin D และ albiziasaponin E ซึ่งเป็นสารให้ความหวานจากธรรมชาติ โดยมีรายงานว่าสาร albiziasaponin B หวานกว่าซูโครส ถึง 600 เท่า ในขณะที่ albiziasaponin A หวานกว่าซูโคสประมาณ 5 เท่า

           นอกจากนี้ยังปรากฏการใช้ชะเอมไทย ใน“พิกัดทศกุลาผล” คือ การจำกัดจำนวนตัวยาตระกูลเดียวกัน 10 อย่าง มีชะเอมทั้ง 2 (ชะเอมไทย ชะเอมเทศ) ลำพันทั้ง 2 (ลำพันแดง ลำพันขาว) ลูกผักชีทั้ง 2 (ผักชีล้อม ผักชีลา) ลูกเร่ว ทั้ง 2 (เร่วน้อย เร่วใหญ่) อบเชยทั้ง 2 (อบเชยไทย, อบเชยเทศ) เป็นส่วนประกอบในตำรับซึ่งระบุว่ามีสรรพคุณ แก้ไข้เพื่อดี และเสมหะ ขับลมในลำไส้ บำรุงธาตุ บำรุงปอด แก้รัตตะปิตตะโรค แก้ลมอัมพฤกษ์ อัมพาต บำรุงกำลัง บำรุงดวงจิตให้แช่มชื่น แก้ไข้ อีกด้วย

โครงสร้างชะเอมไทย

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของชะเอมไทย

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดชะเอมไทย จากส่วนต่างๆ หลายฉบับระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีรายงานการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH ของสารสกัดเมธานอลจากส่วนของใบ และกิ่งของชะเอมไทยมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยมีค่า IC50 เท่ากับ 21.93 และ 272.68 µg/mL ตามลำดับ ส่วนสารสกัด 60% น้ำ-เมทานอลจากรากของชะเอมไทย ความเข้มข้น 2.0 mg/ml มีเปอร์เซ็นต์ยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH เท่ากับ 81.93% และมีการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH และ lipid peroxidation ของสารสกัดเอทานอลจากพืช 10 ชนิด ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานของหมอพื้นบ้านไทย จากผลการทดสอบพบว่าสารสกัดจากสารภี (Mammea siamensis) เนระพูสี (Tacca chantrieri) และชะเอมไทย (A. myriophylla) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระดีที่สุด จากการทดสอบด้วยวิธี DPPH มีค่า EC50 เท่ากับ 10.17, 10.24 และ 14.45 µg/mL ตามลำดับ และผลของการทดสอบด้วยวิธี lipid peroxidation สารสกัดของพิกุล (Mimusops elengi) สารภี (M. siamensis) และชะเอมไทย (A.myriophylla) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระดีที่สุด โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.39 ,0.43 และ 0.70 µg/mL ตามลำดับ

           ฤทธิ์ต้านเบาหวานมีรายงานการศึกษาวิจัยสารสกัดน้ำของเปลือกชะเอมไทย ในขนาด 5 และ 25 mg/kg พบว่ามีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวาน ประเภทที่ 2 ที่กระตุ้นด้วย streptozotocin-nicotinamide โดยไม่พบความเป็นพิษต่อตับและไต เมื่อเทียบกับหนูกลุ่มควบคุม นอกจากนี้ สารสกัดน้ำของเปลือกชะเอมไทย ในขนาด 5 mg/kg ยังสามารถลดสภาพความเสียหายของตับ และไตที่ถูกทำลายจากเบาหวานได้อีกด้วย ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งระบุว่าการให้สารสกัดน้ำของเปลือกชะเอมไทยร่วมกับน้ำมันมะพร้าว บริสุทธิ์ (virgin coconut oil) สามารถลดน้ำตาลในเลือดในหนูที่ถูกกระตุ้นให้เป็นเบาหวานด้วย streptozotocin ได้ แต่จะเพิ่มน้ำหนักตัวของหนูด้วย

           ฤทธิ์ต้านจุลชีพ มีรายงานการศึกษาวิจัยระบุว่า สารสกัด 60% น้ำ-เมทานอลจากรากของชะเอมไทย มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ Proteus vulgaris TISTR100 (MIC 16 µg/ml), Staphylococcus aureus ATCC13150 (minimum inhibitory concentration; (MIC) เท่ากับ 16 µg/ml), Bacillus subtilis ATTC6633 (MIC เท่ากับ 32 µg/ml), Streptococcus faecalis TISTR 459 (MIC เท่ากับ 32 µg/ml), Streptococcus cremoris TISTR 058 (MIC เท่ากับ 32 µg/ml), Escherichia coli ATCC 29214 (MIC เท่ากับ 32 µg/ml), Candida krusei TISTR 5256 (MIC เท่ากับ 32 µg/ml), Candida tropicalis ATCC 9968 (MIC เท่ากับ 32 µg/ml), Saccharomyces cerevisiae ATCC 18824 (MIC เท่ากับ 32 µg/ml)

           และมีการศึกษาฤทธิ์ของสารกลุ่ม flavonoid 3 ชนิด สารกลุ่ม trierpenoid 1 ชนิด และสารกลุ่ม srerols 4 ชนิด ที่แยกได้จากเนื้อไม้ชะเอมไทย (A.myriophylla) พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ streptococcus mutans โดยมีค่า MIC ระหว่าง 1-128 µg/mL และสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อดีที่สุด คือ สารกลุ่ม flavonoid ที่มีชื่อว่า สาร lupinfolinมีค่า MIC เท่ากับ 1 µg/mL จากนั้นนำสาร lupinfolin มาทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ S.mutans 10 สารพันธุ์ ที่แยกได้จากช่องปากของผู้ป่วยพบว่ามีค่า MIC ระหว่าง 0.25-2 µg/mL

           อีกทั้งยังมีการศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราในกลุ่ม Candida จำนวน 6 สารพันธุ์ จากสารสกัดเมทานอลจากลำต้นของชะเอมไทย (A.myriophylla) พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราทั้ง 6 สายพันธุ์ ได้แก่ C.albicans, C.glabrata, C.guilliermondii, C.krusei, C.parapsilosis และ C.tropicalis โดยมีค่า MIC ระหว่า 100-500 µg/mLและมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อราทั้ง 6 สายพันธุ์ 99.9% ภายในเวลา 2 ชั่วโมง

            ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส มีการศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสของสารสกัดด้วยตัวทำละลายต่างๆ จากส่วนเถาชะเอมไทย (A.myriophylla) ด้วยวิธี dopachrome ที่ระดับความเข้มข้นของสารสกัด 1 µg/mL พบว่าสารสกัดเมทานอล และเอทธิล อะซิเทต มีค่า IC50 เท่ากับ 5.82 และ 6.79 µg/mL ตามลำดับ และสารสกัดไดเอททิล อีเทอร์, 80% เอทานอล และ 80% เมทานอล มีค่า IC50 เท่ากับ 6.76 , 11.77 และ 11.77 µg/mL ตามลำดับ


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของชะเอมไทย

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ชะเอมไทยเป็นยาสมุนไพร โดยเฉพาะในรูปแบบการรับประทาน เนื่องจากส่วนใบของชะเอมไทย มีสรรพคุณขับโลหิต ขับระดู ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ สำหรับบุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรงก็ควรใช้ชะเอมไทยในรูปแบบสมุนไพร อย่างระมัดระวัง โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่น้อยจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง ชะเอมไทย
  1. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ: ปริษัทประชาชนจำกัด. 2544.
  2. เสงี่ยม พงษ์บุญรอด. ไม้เทศเมืองไทย, กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ไทยเทิดธรรม 2508
  3. สมพร ช้างเผือก ตำราเภสัช (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จารึกไว้ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร, สุวีริยาสาส์น ; 2553.
  4. ไซมอน การ์ดเนอร์, พินดา สิทธิสุนทรและ วิไลวรรณ อนุสารสุนทร. ต้นไม้เมืองเหนือ. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ: 2543
  5. นิจศิริ เรืองรังษี, ชัยศักดิ์ จันศรีนิยม, นิรันดร์ วิพันธุ์เงิน, การศึกษาสมุนไพร ชะเอมไทย เพื่อประเมินคุณค่า และความสำคัญ ประกอบการพิจารณาในการประกาศให้เป็นสมุนไพรควบคุมตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย. รายงานฉบับสมบูรณ์. 33 หน้า
  6. ณุฉัตรา จันทร์สุวานิชย์, ชาตรี ชาญประเสริฐ. พืชสมุนไพรและพืชใช้ประโยชน์ต่างๆ ของชาวท้องถิ่น ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์, วารสารแพทย์เขต 7.2537;2:145-64.
  7. คณะอนุกรรมการจัดทำตาราอ้างอิงยาสมุนไพร ในคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย. ตำราอ้างอิงยาสมุนไพรไทย เล่ม 1. กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด (มหาชน). 2551
  8. จันทร์จีรา บุญมา. ปริมาณสาร lupinifolin และฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ streptococcus mutans ของชะเอมไทย (Albizia my riophylla Benth.) จากพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์หลักสูตรการแพทย์แผนไทยมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. ปีการศึกษา 2558. 102 หน้า
  9. นันทิยา จ้อยชะรัด, จันทร์จีรา บุญมา สุรศักดิ์ ลิ้มสุวรรณ และคณะฤทธิ์ต้านเชื้อ Streptococcus mutans ของสารลูปินิโฟลินในสารสกัดหยาบเอทานอลของชะเอม ว.วิทย์ มข.2557.42(4):806-19.
  10. มนสิชา ขวัญเอกพันธ์. ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสของสารสกัดจากส่วนเถาชะเอมไทย (วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต, สาขาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง คณะวิทยาศาสตร์) เชียงราย, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ; 11-7.
  11. ชะเอมไทย. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=52
  12. ชะเอมไทย. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=41
  13. Yoshikawa M, Morikawa T, Nakano K, Pongpiriyadacha Y, Murakami T, Matsuda H. Characterization of new sweet triterpene saponins from Albizia myriophylla. Journal of Natural Products. 2002;65(11):1638–42
  14. Joycharat N, Thammavong S, Limsuwan S, Homlaead S, Voravuthikunchai SP, Yingyongnarongkul B-E, et al. Antibacterial substances from Albizia myriophylla wood against cariogenic Streptococcus mutans. Archives of Pharmacal Research. 2013;36(6):723–30.
  15. Saat A, Syakroni N, Rosli R. Potential hypoglycemic property of Albizia myriophylla in streptozotocinnicotinamide induced diabetic rats. International Journal of Pharmacy and Pharmaceutical Sciences. 2012;4(SUPPL.3):427–31.
  16. Butkhup L, Samappito S. In vitro free radical scavenging and antimicrobial activity of some selected Thai medicinal plants. Research Journal of Medicinal Plant. 2011;5(3):254–65.
  17. Asano N, Yamauchi T, Kagamifuchi K, Shimizu N, Takahashi S, Takatsuka H, et al. Iminosugarproducing Thai medicinal plants. Journal of Natural Products. 2005;68(8):1238–42.