โสน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
โสน งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ
ชื่อสมุนไพร โสน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ดอกโสน, โสนดอกเหลือง, โสน กินดอก, โสนหิน (ภาคกลาง), ผักฮองแฮง (ภาคเหนือ), สีปรี่หล่า (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Sesbania javaica Miq.
ชื่อสามัญ Sesbanea pea, Sesbania
วงศ์ FABACEAE
ถิ่นกำเนิดโสน
โสนเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในประเทศอินเดียแล้วมีการกระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนทางตะวันออกซึ่งได้แก่พม่า ไทย ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แล้วต่อมาจึงได้กระจายพันธุ์ไปยังทวีปแอฟริกาด้วยโดยส่วนมากแล้วมักจะพบโสนขึ้นตามธรรมชาติ บริเวณพื้นที่ที่มีน้ำขังเป็นครั้งคราว และบริเวณริมแม่น้ำลำคลอง อ่างเก็บน้ำ เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบเห็นโสนได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่ส่วนมากจะพบบริเวณภาคกลาง โดยเฉพาะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้มีการสันนิษฐานกันว่ามีจารึกในประวัติศาสตร์ว่า เมื่อครั้งก่อตั้งกรุงศรีอยุธยาตั้งเป็นราชธานีนั้น พระเจ้าอู่ทองได้ปักหลักสร้างเมืองสร้างพระราชวังใหม่ที่ตำบลหนองโสน (ปัจจุบันเรียกว่า บึงพระราม) ณ วันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล โทศก จุลศักราช 712 ซึ่งคาดว่าหนองโสน นี้น่าจะเรียกมาจากการที่มีต้นโสนขึ้นเป็นจำนวนมาก
ประโยชน์และสรรพคุณโสน
- แก้พิษร้อน
- ใช้ถอนพิษไข้
- ใช้ลดไข้
- แก้อาการปวด
- ใช้เป็นยาสมานแผลลำไส้
- ช่วยเจริญอาหาร
- ใช้บำรุงสายตา
- ใช้บำรุงผิวพรรณ
- ช่วยขับเสมหะ
- แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้อาการปัสสาวะเล็ด
- แก้ปวดมวนท้อง
- ใช้ถอนพิษฝี
- รักษาแผล
- แก้ร้อนในกระหายน้ำ
- ช่วยขับพยาธิ
- ช่วยขับปัสสาวะ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้แก้พิษร้อนถอนพิษไข้ บำรุงสายตา บำรุงผิวพรรณ ช่วยให้เจริญอาหาร โดยการใช้ดอกโสน มาประกอบอาหารรับประทาน ใช้ลดไข้สมานแผลในลำไส้ แก้ปวดมวนท้อง แก้พิษร้อนใน โดยการนำดอกโสนแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ชงแบบชาเขียว ดื่มก็ได้ ช่วยขับปัสสาวะ แก้อาการปัสสาวะเล็ด โดยนำต้นโสนมาเผาให้เกรียบแล้วต้องเป็นชิ้นพอประมาณ นำมาแช่น้ำให้เป็นด่างแล้วใช้ดื่ม ใช้รักษาแผล ถอนพิษฝี ถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อยโดยนำใบโสน มาตำพอกบริเวณที่เป็น หรือ ใช้ใบโสนตำผสมกับดินสอพองพอกบริเวณที่เป็นฝี
ลักษณะทั่วไปของโสน
โสนน่าจะเป็นที่รู้จักของคนไทยมาตั้งแต่สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาแล้ว เพราะโสน จัดเป็นไม้ล้มลุกสกุลเดียวกับแคโดยจะมีอายุประมาณ 1 ปี ลำต้นสูงประมาณ 1-4 เมตร ลำต้นเป็นตั้งตรงทรงกลม หรือ เหลี่ยมเล็กน้อย ผิวเรียบมีร่องละเอียดตามความยาวของลำต้น ทรงพุ่มเป็นแบบโปร่ง เปลือกลำต้นมีสีเขียวเข้ม เนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน เปราะหักง่าย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก โดยมีก้านใบเรียงสลับจากลำต้น ใบแต่ละก้านใบจะมีใบย่อย ประมาณ 10-40 คู่ เรียงกันเป็นคู่ๆซ้าย-ขวา ใบย่อยมีลักษณะมนรี คล้ายใบมะขาม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ สีเขียวสด โคนใบ และปลายใบมน ขนาดใบกว้างประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อกระจุก บริเวณที่ปลายกิ่ง ชอกใบ และซอกกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 10 เซนติเมตร มีดอกย่อย 5-12 ดอก ยาว 2.5 เซนติเมตร มีกลีบดอกสีเหลือง 5 กลีบ แบ่งเป็นกลีบนอก และกลีบใน โดยกลีบนอกจะมีขนาดใหญ่กว่ากลีบในบางครั้งกลีบนอกมีจุดกระสีน้ำตาล หรือ สีม่วงแดง กระจายอยู่ทั่วไป ผลมีลักษณะเป็นฝักกลมยาวขนาดเล็กคล้ายกับถั่วฝักยาว กว้าง 4-5 มิลลิเมตร ยาว 15-20 เซนติเมตร ฝักอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะกลายเป็นสีม่วงอมสีน้ำตาล จะปริ และแตกออก เมื่อฝักแก่ จะแห้งจัด ภายในมีเมล็ดขนาดเล็ก 10-20 เมล็ด เมล็ดมีขนาดเล็กมากมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมสีน้ำตาลเป็นมันมีขนาดประมาณ 0.05 เซนติเมตร เมื่อต้นโสน
การขยายพันธุ์โสน
โสนสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ดในธรรมชาติ เมื่อฝักแก่ของโสนแห้งก็จะแตกออกแล้วเมล็ดก็จะตกลงสู่พื้นแล้วเจริญเติบโตงอกเป็นต้นใหม่ขึ้นมา เราจึงมักเห็นโสนในธรรมชาติออกเป็นทุ่งโสน หนาแน่นหลายๆ ต้น แต่การปลูกโสน ในเชิงพาณิชย์นั้นสามารถทำได้ดังนี้
ก่อนอื่นต้องเตรียมพื้นที่ปลูกโสนโดยพื้นที่ปลูกโสนจะต้องเป็นพื้นที่ลุ่ม ที่มีความชื้นสูง เช่น แปลงนาลุ่ม ขอบบ่อ ขอบแม่น้ำ ลำคลองและพื้นที่รกร้างที่น้ำท่วมขังบางครั้งคราว และจะต้องเตรียมแปลงด้วยการกำจัดวัชพืชออกก่อน และตากดินนาน 10-20 วัน ส่วนวิธีการปลูกจะใช้วิธีการหว่าน หรือ หยอดเมล็ด หากใช้วิธีหยอดเมล็ดเป็นหลุมจะใช้ระยะปลูก 25×50 เซนติเมตร ส่วนการหยอดเป็นแถวๆ จะใช้ระยะห่างแถวประมาณ 100 เซนติเมตร สำหรับการหว่านลงแปลงจะใช้การกะระห่างให้เหมาะสม ทั้งนี้ ปริมาณเมล็ดที่ใช้อยู่ที่ 3-5 กิโลกรัม/ไร่ โดยหลังจากปลูกโสนแล้ว 40-50 วัน ดอกจะเริ่มบาน ก็สามารถเก็บดอกใช้ประโยชน์ได้
องค์ประกอบทางเคมีโสน
มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของดอกโสน พบว่ามีสารสำคัญ ๆ อยู่หลายชนิดเช่น สารกลุ่ม Flaronoids เช่น Qureccetin 3-2 (G)-rhamnosylrutinoside สารกลุ่ม Carotenoid เช่น β-cryptoxanhin, Lutein และ Zeaxanthin เป็นต้น นอกจากนี้ในดอกโสนยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของดอกโสน (100 กรัม)
พลังงาน 38 กิโลแคลอรี่
โปรตีน 2.5 กรัม
ใยอาหาร 2.2 กรัม
ไขมัน 0.5 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 5.9 กรัม
แคลเซียม 62 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 62 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 2.1 มิลลิกรัม
วิตามิน A 3338 หน่วนสากล
วิตามิน B 1 0-13 มิลลิกรัม
วิตามิน B 2 0.26 มิลลิกรัม
วิตามิน C 51 มิลลิกรัม
เบต้าแคโรทีน 34.3 ไมโครกรัม
ข้อมูลจาก : กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของโสน
ฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็ง มีการศึกษาฤทธิ์ชีวภาพของเควอเซทินจากดอกโสน พบว่า เควอเซทิน (Quercetin 3-2 (G)-rhamnosylrutinoside) มีฤทธิ์กระตุ้นให้เซลล์มะเร็งตายด้วยกระบวนการอะพ็อปโทซิส (apoptosis) โดยจะเข้าไปหยุดยั้งการแบ่งเซลล์ของเซลล์มะเร็ง และระงับการอักเสบ รวมถึงป้องกันอันตรายของเซลล์ปกติต่อความเครียดจากกระบวนการต้านอนุมูลอิสระได้
นอกจากนี้ในต่างประเทศยังมีการศึกษาวิจัย สาร B-Carotene ในดอกโสน พบว่ามีฤทธิ์ ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ของร่างกาย ป้องกันโรคมะเร็ง ป้องกันจอประสาทตาเสื่อม ป้องกันโรคหัวใจ และหลอดเลือด ป้องกันการเกิดริ้วรอยได้อีกด้วย
การศึกษาทางพิษวิทยาของโสน
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการใช้ดอกโสน เพื่อเป็นยาสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้โสน เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง โสน
- รศ.ดร.กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติธนะ.ดอกโสน บ้านนา. คอลัมน์บทความพิเศษ.นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 369. มกราคม. 2553
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “โสนกินดอก (Sano Kin Dok)”. หนังสือสมุนไพร ไทย เล่ม 1 หน้า 311.
- คุณค่าทางโภชนาการอาหารไทย. กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. 2535
- สุพิชญา คำคม. ผลของการเติมผลดอกโสนอบแห้งที่มีต่อลักษณะทางกายภาร คุณค่าทางโภชนาการและทางประสาทสัมผัสของคุกกี้เนย. วารสารวิจัยราชภัฎพระนคร สาขาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ปีที่ 13 ฉบับที่ 1. มกราคม-มิถุนายน 2561. หน้า 139-154
- โสน.ดอกโสน สรรพคุณ และการปลูกโสน.พืชเกษตรดอทคอม. เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
- Nishia, K., Muranakaa, A., Nishimotob, S., Kadotac, A. & Sugahara, T. (2012). Immunostimulatory effect of β-cryptoxanthin in vitro and in vivo. Journal of Functional Foods. 4, 618-625
- Van Poppel, G. & Goldbohm, R.A. (1995). Epidemiologic evidence for β-carotene and cancer. American Journal of Clinical Nutrition. 62, 1393S-402S.
- Snodderly, D.M. (1995). Evidence for protection against age-related macular degeneration by carotenoids and antioxidant vitamins. American Journal of Clinical Nutrition. 62, 1448S-61S.
- Kijparkorn, S., Plaimast, H. & Wangsoonoen, S. (2010). Sano (Sesbania javanica Miq.) flower as a pigment source in egg yolk of laying hens. Thai Journal of Veterinary Medicine. 40(3), 281- 287. (in Thai)
- Kohlrneier, L. & Hastings, S.B. (1995). Epidemiologic evidence of a role of carotenoids in cardiovascular disease prevention. American Journal of Clinical Nutrition. 62, 1370S-6S
- Ames, B.N., Shigenaga, M.K. & Hagen, T. M. (1993). Oxidants, antioxidants, and the degenerative diseases of aging. Proceedings of the National Academy of Sciences of the United State of America. 90(17), 7915-7922.
- Palozza, P., Muzzalupo, R., Trombino, S., Valdannini, A. & Picci, N. (2006). Solubilization and stabilization of β-carotene in niosomes: delivery to cultured cells. Chemistry and Physics of Lipids. 139, 32-42.
- Dweyer, J., Navab, M., Dwyer, K., Hassan, K., Sun, P., Shircore, A., Hama-Levy, S., Hough, G., Wang, X. & Drake, T. (2001). Oxygenated carotenoid lutein and the progression of early atherosclerosis. Circulation. 103, 2922-2927.