ตำลึง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ตำลึง งานวิจัยและสรรพคุณ 41 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ตำลึง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักแคบ (ภาคเหนือ), ผักตำนิน (ภาคอีสาน), แคเด๊าะ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Coccinia grandis (L.) Voigt.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Coccinia indica Wight & Arn., Coccinia cordifolia (L.) Cogn.
ชื่อสามัญ Ivy gourd
วงศ์ CUCURBITACEAE
ถิ่นกำเนิดตำลึง
มีการสันนิษฐานว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของตำลึงนั้นอยู่แถบคาบสมุทรมาเลเซีย และอินโดจีน เช่น ประเทศไทย, กัมพูชา, พม่า, เวียดนาม, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และจีน เป็นต้น ปัจจุบันพบตำลึงขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในประเทศเขตร้อนชื้นหลายสิบประเทศ แต่มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่รู้จักนำตำลึง มาใช้เป็นผักปรุงอาหาร เช่น ในประเทศอินเดีย ศรีลังกา และฟิลิปปินส์ จะมีการนำตำลึงมาใช้เป็นสมุนไพรเท่านั้น
สำหรับในประเทศไทยนั้น มีการนำตำลึงมาใช้ประโยชน์มานานแล้ว แต่ที่มีหลักฐานเป็นลายลักอักษร คือ ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลย์ พ.ศ.2416 โดยได้อธิบายความหมายของคำว่า “ตำลึง” ไว้ว่า “เป็นชื่อผักอย่างหนึ่ง เป็นเถาลูกมันสุกสีแดง ยอดอ่อนๆ ต้มกินก็ได้ แกงเลียงก็ดี อนึ่งเป็นชื่อเงินสี่บาท” ปัจจุบันเราจึงพบตำลึงขึ้นเองตามธรรมชาติอยู่ทั่วไปทุกภาคในประเทศไทย ผักตำลึง ที่ชาวไทยเก็บมาบริโภคทุกวันนี้อาจกล่าวได้ว่า เป็นตำลึงที่ขึ้นเองโดยธรรมชาติมากกว่าที่ปลูกเสียอีก
ประโยชน์และสรรพคุณตำลึง
- ช่วยกำจัดกลิ่นตัว กลิ่นเต่า (ตำผสมกับปูนแดง)
- ใช้ทำทรีตเม้นต์ทำให้ผิวหน้าเต่งตึง
- ใช้เป็นยารักษาตาไก่
- เป็นยาเย็นดับพิษร้อน
- แก้ตาช้ำ ปวดตา
- แก้ฝี ฝีแดง
- แก้โรคตาต่างๆ (แก้อาการตาแดง ตาฟาง ตาช้ำ ตาแฉะ พิษอักเสบในตา)
- แก้ปวดแสบปวดร้อน
- แก้คัน
- แก้ไข้หวัด
- ช่วยถอนพิษ
- แก้เริม
- ช่วยย่อยอาหาร
- แก้หลอดลมอักเสบ
- รักษาเลือดออกตามไรฟัน
- แก้โรคโลหิตจาง
- แก้ไข้
- แก้พิษจากขนพืช หรือ สัตว์ต่างๆ
- ช่วยลดความร้อน
- แก้เจ็บเส้น
- รักษาลิ้นเป็นแผล
- แก้โรคผิวหนัง
- แก้มะเร็ง
- ลดน้ำตาลในเลือด
- แก้โรคหัวใจ
- แก้ดวงตาเป็นฝ้า
- ลดไขมันในเลือด
- มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
- มีฤทธิ์ลดน้ำตาล
- ช่วยกระตุ้นการทำงานของเบต้าเซลล์
- ฤทธิ์ป้องกันการเกิดเบาหวาน
- ปกป้องตับจากสารพิษ
- ต้านการอักเสบ
- แก้ปวด
- แก้งูสวัด
- แก้ลิ้นเจ็บ ลิ้นเป็นแผล
- รักษาเบาหวาน
- ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
- แก้อาการวิงเวียนศีรษะ
- แก้อาการผิดสำแดงเพราะกินของแสลง
- แก้หิด
ยอด และใบตำลึงใช้กินเป็นผักสด หรือ อาจนำไปต้ม หรือ ลวกจิ้มกับน้ำพริก และใช้ปรุงในแกงต่างๆ เช่น แกงจืด แกงเลียง ต้มเลือดหมู ก๋วยเตี๋ยวหมูตำลึง นำไปผัดตำลึงไฟแดง หรือ ใส่ในไข่เจียว ผลอ่อนของตำลึงกินกับน้ำพริกคล้ายยอดสะเดา หรือ ดองกินคล้ายแตงดองได้ เนื้อในผลสุกของตำลึงมีรสอมหวาน
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- แก้พิษคันจากใบไม้คัน หรือ หนอนคัน (ตัวบุ้ง) โดยนำใบตำลึง สดสัก 4-5 ใบ มาขยี้ เอาน้ำชโลม หรือ ทาบริเวณที่คัน หรือ ใช้ใบสด 1 กำมือ (ใช้มากน้อยตามบริเวณที่มีอาการ) ล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียดผสมน้ำเล็กน้อยแล้วคั้นเอาน้ำมาทาบริเวณที่มีอาการ พอน้ำแห้งแล้วทาซ้ำบ่อยๆ จนกว่าจะหาย
- แก้เริม งูสวัด ให้ใช้ใบตำลึงล้างน้ำต้มสุกให้สะอาด ตำให้ละเอียด คั้นแล้วกรองเอาแต่น้ำผสมดินสอพอง สะตุ (เผาจนสุก) ทาผิวบริเวณที่เป็นให้เปียกชื้นอยู่เสมอ อาการแสบร้อนจะทุเลาลง แต่หากทาแล้วไม่รู้สึกเย็น ก็แปลว่ายาไม่ถูกโรคให้เลิกใช้
- ยอด เถา ใบ และราก ตำคั้นน้ำดื่มแก้หลอดลมอักเสบ
- ลิ้นเจ็บ ลิ้นเป็นแผล ให้เคี้ยวผลตำลึงอ่อนจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บแสบจากแผลได้
- ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้เถาแก่ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ หรือ จะใช้น้ำคั้นจากผลดิบ นำมาดื่มวันละ 2 รอบ เช้า,เย็น จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
- แก้อาการวิงเวียนศีรษะ ด้วยการใช้เถาตำลึงชงกับน้ำดื่ม
- แก้อาการตาแดง ตาฟาง ตาช้ำ ตาแฉะ พิษอักเสบในตา ด้วยการใช้เถาตำลึง นำน้ำต้มจากเถามาหยอดตา หรือ ตัดเถาเป็นท่อนยาว 2 นิ้ว นำมาคลึงพอช้ำแล้วเป่า จะเกิดฟองใช้หยอดตา
- แก้อาการผิดสำแดงเพราะกินของแสลง โดยใช้เถาตำลึง ตัดเป็นท่อน 3-4 ท่อน โดยแต่ละท่อน ยาว 1 คืบ นำไปใส่ในหม้อดินสุมไฟ จนไหม้เป็นขี้เถ้า นำมาบดให้ละเอียดแล้วผสมกับน้ำซาวข้าวดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา (เถา)
- ช่วยลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง ด้วยการรับประทานใบตำลึงสดๆ
- ใช้รักษาแผลอักเสบ ด้วยการใช้ใบสดหรือรากสด นำมาตำแล้วพอกบริเวณแผล
- ช่วยแก้หิด ด้วยการใช้เมล็ดตำผสมน้ำมันมะพร้าวแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็น
ลักษณะทั่วไปของตำลึง
ตำลึงจัดเป็นไม้เถาล้มลุกอายุหลายปี เถาแก่ของตำลึงจะใหญ่และแข็ง เถาตำลึงจะมีลักษณะกลม สีเขียว ตามข้อมีตำลึงจัดเป็นเอาไว้ยึดเกาะ ใบเป็นใบเดี่ยวออกแบบสลับ ใบรูปร่างคล้าย 5 เหลี่ยม ขอบใบเว้าเล็กน้อย บางครั้งจะเว้ามากเป็น 5 แฉก ขนาดกว้าง 5-8 เซนติเมตร ใบสีเขียวเรียบไม่มีขนของใบมีต่อมคายน้ำ ก้านใบยาว 3-6 เซนติเมตร
ทั้งนี้ชาวไทยแบ่งตำลึงออกเป็นสองชนิด คือ ตำลึงตัวผู้ และตำลึง ตัวเมีย โดยใช้ลักษณะของใบเป็นหลัก กล่าว คือ ชนิดที่มีใบเป็นหยักเว้าเข้าไปถึงโคนใบเรียกว่าตำลึงตัวผู้ ส่วนชนิดที่มีใบกว้างเต็ม หรือ เว้าเล็กน้อยเรียกว่าตำลึงตัวเมีย
ดอกเป็นดอกเดี่ยวออกจากบริเวณซอกใบ ดอกแยกเพศกันอยู่คนละต้น ดอกมีกลีบสีเขียว ปลายดอกแยกออกเป็น 5 แฉก โคนตัดกันเป็นกรวย กลีบดอกสีขาว เกสรตัวผู้มี 3 อัน เกสรตัวเมียมี 1 อัน ผลรูปร่างกลมรีคล้ายแตงแต่เล็กกว่า กว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร ยาว ประมาณ 5 เซนติเมตร ผลดิบสีเขียว มีสายขาวๆ เมื่อแก่สุกจัดมีสีแดง หรือ แดงอมส้มเนื้อในสีแดงและมีเมล็ดหลายเมล็ดข้างในลักษณะแบนสี ขนาด 2-3 เซนติเมตร
การขยายพันธุ์ตำลึง
ตำลึงสามารถขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะเมล็ด หรือ การเพาะชำเถาแก่ โดยมีวิธีการดังนี้ การปลูกด้วยการเพาะเมล็ดก่อนอื่นต้องเตรียมเมล็ดตำลึงที่แก่จัดมาผึ่งให้แห้งแล้วเตรียมดินโดยผสมปุ๋ยคอกลงไปในดินที่จะใช้ปลูก ขุดหลุมลึก 10-20 เซนติเมตร โดยมีระยะห่างประมาณ 50 เซนติเมตร ต่อหลุม แล้วนำเมล็ดพันธุ์ที่เตรียมไว้หยอดลงไปหลุมละ 2-3 เมล็ด จากนั้นกลบดินให้มิดแล้วรดน้ำให้ชุ่มจากนั้นรดน้ำ เช้า-เย็น แต่ควรระวังอย่าให้น้ำมากจนเกินไป หลังจากต้นกล้างอกประมาณ 5-7 เซนติเมตร ให้ทำค้างไว้ให้เถาตำลึง เกาะเลื้อยขึ้นไป ส่วนการปลูกด้วยการเพาะชำเถาแก่นั้น นำเถาแก่ของตำลึง (ต้องมีข้อของเถาในท่อนเถาแก่ที่จะนำมาปลูกด้วย) มาตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร แล้วนำไปเพาะในถุงชำที่ผสมดินกับปุ๋ยคอกแล้ว จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มรอให้ท่อนพันธุ์มีรากและใบงอกออกมา ประมาณ 10 เซนติเมตร จึงนำไปปลูกในแปลงได้
องค์ประกอบทางเคมี
การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ ของตำลึง พบว่า
ใบ ประกอบด้วย สารเบ้ตาแคโรทีน (b-carotene) บีตาไซโตสเตอรอล (b-sitosterol) พอลิพรีนอล (polyprenol) วิตามินซี วิตามินอี วิตามินเค1 แทนนิน โปรตีน โพแทสเซียม (potassium)
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของตำลึง
ที่มา : Wikipedia
- ผล ประกอบด้วย สารคิวเคอร์บิตาซิน บี (cucurbitacin B) บีตาแคโร-ทีน ไลโคพีน (lycopene) คริพโตแซนทิน (cryptoxanthin) บีตาไซโตสเตอรอล (b-sitosterol) เดาโคสเตอรอล (daucosterol) ทาราซีโรน (taraxerone) ทาราซีรอล (taraxerol) ลูพีออล (lupeol) บีตาอะไมริน (b-amyrin) วิตามินซี เส้นใย โปรตีน และเพกติน (pectin)
- ราก ประกอบด้วย สารคอกซินิโคไซด์ เค (coccinioside-K) ลูพีออล(lupeol) บีตาอะไมริน (b-amyrin) บีตาไซโตสเตอรอล (b-sitosterol)
- เมล็ด ประกอบด้วย กรดไขมัน ได้แก่ กรดปาล์มิติก (palmitic acid) โอเลอิก (oleic acid) ลิโนเลอิก (linoleic)
นอกจากนี้ตำลึง ในฐานะอาหารยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของตำลึง (ใบอ่อน) 100 กรัม
- พลังงาน 35 กิโลแคลอรี่
- ใยอาหาร 1 กรัม
- โปรตีน 3.3 กรัม
- ไขมัน 0.4 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 4.5 กรัม
- วิตามิน A 18608 IU
- วิตามิน B1 0.17 มิลลิกรัม
- วิตามิน B2 0.13 มิลลิกรัม
- วิตามิน B3 1.2 มิลลิกรัม
- วิตามิน C 34 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 126 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม
- เหล็ก 4.6 มิลลิกรัม
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของตำลึง
ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด สารสกัดจากส่วนต่างๆ ของตำลึง ได้แก่ ใบ ผล เถา ส่วนเหนือดิน และราก มีผลลดน้ำตาลในเลือดได้ดีเทียบเท่าหรือดีกว่ายาแผนปัจจุบัน โดยสารสกัดตำลึงมีฤทธิ์กระตุ้นการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ เพิ่มระดับอินซูลิน ทำให้มีการสังเคราะห์ไกลโคเจนเพิ่มขึ้น และลดการเปลี่ยนไกลโคเจนมาเป็นกลูโคสเป็นผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง
การศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานระยะเริ่มต้น (ระดับน้ำตาลในเลือด 110-180 มก. /ดล.) ซึ่งได้รับสารสกัด 50% อัลกอฮอล์จากใบและผล ขนาด 1 ก./วัน เป็นเวลา 90 วัน พบว่าผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง (fasting blood glucose) และหลังจากรับประทานอาหารไปแล้ว 2 ชั่วโมง (post-prandial blood glucose) ลดลงร้อยละ 16 และ 18 ตามลำดับ และยังมีผลลดน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด (HbA1c) แต่ไม่มีผลต่อระดับไขมันในเลือด และไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เมื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานยาเม็ดผงแห้งจากใบตำลึง ครั้งละ 3 เม็ด วันละ 2 ครั้ง นาน 6 สัปดาห์ จากนั้นทำการทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล (oral glucose tolerance test) โดยให้กลูโคส 50 ก. วัดระดับน้ำตาลในเลือดก่อน และหลังทำการทดสอบ พบว่าผู้ป่วยมีความทนต่อกลูโคสดีขึ้น และไม่พบความผิดปกติของน้ำหนักตัว ค่าทางโลหิตวิทยา เอนไซม์แอสพาร์เทตทรานส์อะมิเนส (aspartate transaminase) อะลานีนทรานส์อะมิเนส (ala-nine transaminase) ยูเรีย และไตของผู้ป่วย และในผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานสารสกัดจากตำลึง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้และตัวทำละลาย) ขนาด 500 มก./กก. เป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบว่าสารสกัดมีผลลดระดับของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสลายกลูโคส ได้แก่ กลูโคส-6-ฟอสฟาเตส (glucose-6-phosphatase) และแลกเตตดีไฮโดรจิเนส (lactate dehydrogenase) และเพิ่มระดับของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสลายไขมัน คือ ลิโปโปรตีนไลเปส (lipoprotein lipase) แสดงว่าสารสกัดจากตำลึงทำหน้าที่คล้ายกับอินซูลินในยับยั้งการสร้างน้ำตาล และกระตุ้นการสลายไขมัน ซึ่งช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยได้
นอกจากนี้งานวิจัยในสัตว์ทดลองที่ประเทศอินเดีย พบว่า สารสกัดน้ำ สารสกัดแอลกอฮอล์ และผงแห้งบดของใบและเถาตำลึง แสดงฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของหนูปกติ หนูที่อดอาหาร และหนูที่เป็นเบาหวานเนื่องจากได้รับสาร streptozotocin (STZ) เมื่อหนูที่เป็นเบาหวานดังกล่าวได้รับสารสกัดเอทานอลใบตำลึง 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ติดต่อกัน 45 วัน พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลงระดับอินซูลินเพิ่มขึ้น เพิ่มการออกซิเดชันของกลูโคสในตับและเม็ดเลือดแดง ลดกลูโคนีโอเจเนซิสระดับไขมัน และกรดไขมันในเลือดลดลง มีปริมาณวิตามินซีในพลาสมาเพิ่มขึ้น มีปริมาณเอนไซม์กำจัดสารพิษเพิ่มขึ้นทั้งกลูตาไทโอนเปอร์ออกซิเดส และกลูตาไทโอน เอส ทรานสเฟอเรส งานวิจัยชิ้นอื่น พบว่า ผงแห้งบดของใบและเถาตำลึงแสดงฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ทั้งในสุนัขปกติและสุนัขเบาหวาน สารสกัดน้ำและแอลกอฮอล์ของรากตำลึง แสดงฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในกระต่ายปกติ สารสกัดแอลกอฮอล์ที่ 250 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แสดงฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในหนูที่อดอาหาร นอกจากนี้ สารเพ็กทิน จากผลตำลึงที่ 200 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัมในหนู ปกติแสดงฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด เพิ่มการทำงานของเอนไซม์ ไกลโคเจนซินทีเตส และเพิ่มปริมาณไกลโคเจนในตับ
และ ปี พ.ศ.2546 ทีมผู้วิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทำการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับพืชอาหาร และสมุนไพรที่ใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือด พบว่าตำลึง และโสมอเมริกันเป็นพืชที่มีข้อมูลสนับสนุนประสิทธิภาพด้านนี้ดีที่สุด การทดลองทางคลินิก (แบบ double-blind ขนานกัน 2 กลุ่ม) ในประเทศบังกลาเทศพบว่า เมื่อให้ผงแช่แข็งแห้งของใบตำลึงวันละ 1.8 กรัมกับผู้ป่วยเบาหวาน ชนิด 2 นาน 6 เดือน ประกอบกับการควบคุมอาหาร พบว่า ค่าน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (fasting plasma glucose) ของกลุ่มผู้ป่วยลดลง จาก 178.8 เป็น 122.1 และค่าน้ำตาลในเลือดแบบสุ่ม (random plasma glucose) จาก 245.4 เป็น 186.9 โดยกลุ่มควบคุมไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเช่นนี้
ฤทธิ์แก้ปวด เมื่อฉีดสารสกัดน้ำจากใบ ขนาด 25, 50, 100, 200 และ 300 มก./กก. เข้าทางช่องท้องของหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้ปวดด้วยวิธี tail flick test เปรียบเทียบผลกับมอร์ฟีน ขนาด 2 มก./กก. และยาไอบูโปรเฟน (ibuprofen) ขนาด 20 มก./กก. พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์แก้ปวดได้ โดยที่ขนาด 300 มก./กก. จะมีฤทธิ์ดีใกล้เคียงกับมอร์ฟีน สารสกัดน้ำจากใบ ขนาด 1 ก./กก. ผงน้ำคั้นจากผลสด ขนาด 50-200 มก./กก. มีฤทธิ์แก้ปวดในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยวิธี acetic acid-induced writhing tail flick test และด้วยเครื่อง analgesy meter
ฤทธิ์ต่อการฝังตัวของตัวอ่อน การศึกษาในหนูแรทเพศเมียน้ำหนัก 200-250 กรัม ที่เหนี่ยวนำให้มีโปรแลคติน (prolactin) ในเลือดสูง (hyperprolactinemia) หรือ เหนี่ยวนำให้มีฮอร์โมนเพศชาย หรือ เหนี่ยวนำให้เป็นโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) ซึ่งทำให้มีลูกยาก แบ่งหนูออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมป้อนน้ำเกลือ (normal saline) 1 มล./กก. กลุ่มที่ 2 ป้อนยาแผนปัจจุบัน bromocriptine เพื่อกระตุ้นให้ไข่ตก ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการหลั่งฮอร์โมน prolactin ขนาด 30 มก./กก. หรือยา clomiphene citrate ที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้ไข่ตกแต่มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือยา danazol ซึ่งเป็นยารักษาโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ กลุ่มที่ 3 และ 4 เป็นกลุ่มที่ป้อนสารสกัดน้ำของตำลึงขนาด 500 มล./กก. (ขนาดต่ำ) และ 1,000 มล./กก. (ขนาดสูง) ตามลำดับ ทำการศึกษาทั้งสิ้นนาน 3 รอบ ของการมีรอบเดือน พบว่าหนูแรทที่ได้รับยาแผนปัจจุบัน bromocriptine และกลุ่มที่ได้รับสารสกัดน้ำของตำลึงขนาดสูง 1,000 มล./กก. จำนวนครั้งการฝังตัวที่มดลูกเท่ากับ 6.4 ± 1.94 และ 6.0 ± 0.75 ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มควบคุมมีค่าเท่ากับ 0.6 ± 0.4 ส่วนกลุ่มที่ได้รับสารสกัดน้ำของตำลึงขนาดต่ำ 500 มล./กก. จำนวนครั้งการฝังตัวที่มดลูกเท่ากับ 5.0 ± 0.70 ซึ่งได้ผลน้อยกว่ายาแผนปัจจุบัน และสารสกัดน้ำตำลึงขนาดสูง นอกจากนี้สารสกัดน้ำตำลึงขนาดสูงมีฤทธิ์เพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับสารสกัดน้ำตำลึงขนาดต่ำ และกลุ่มที่ได้รับยาแผนปัจจุบัน clomiphene citrate ซึ่งสารสกัดน้ำตำลึงทั้งสองขนาดไม่มีผลต่อระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน และไม่มีผลต่อความหนาของมดลูกและเยื่อบุมดลูก ส่วนการศึกษาในหนูแรทที่ได้รับยา danazol พบว่าทั้งยา danazol และสารสกัดตำลึงทั้งสองขนาดลดการเจริญเติบโตของเยื่อบุมดลูกเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าสารสกัดน้ำของตำลึง ขนาดสูง 1,000 มล./กก. มีผลช่วยให้มีการเพิ่มการฝังตัวที่มดลูกเป็นการรักษาการมีลูกยากในหนูแรทที่เหนี่ยวนำให้มีโปรแลคตินในเลืดสูงได้ โดยไปเพิ่มจำนวนครั้งการฝังตัวของมดลูก เพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่ไม่ได้ผลช่วยในการฝังตัวที่มดลูกในหนูที่เหนี่ยวนำให้เกิดภาวะ endometriosis หรือ เหนี่ยวนำให้มีฮอร์โมนเพศชาย
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดน้ำจากใบและเถาตำลึง ขนาด 50, 100 และ 200 มก./กก. ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าด้วย 1% ฟอร์มาลดีไฮด์ เปรียบเทียบกับยาอินโดเมทาซิน (indomethacin) ขนาด 10 มก./กก. พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ โดยที่สารสกัดน้ำจากใบมีฤทธิ์ดีที่สุด เมื่อฉีดสารสกัดน้ำจากใบ ขนาด 25, 50, 100, 200 และ 300 มก./กก. เข้าทางช่องท้องของหนูแรทก่อน และหลังเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าด้วยสารคาราจีแนน เปรียบเทียบผลกับยาไดโคลฟีแนค (diclofenac) ขนาด 20 มก./กก. พบว่าการให้สารสกัดก่อนเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบสามารถลดอาการบวมของอุ้งเท้าหนูได้ โดยสารสกัดที่ขนาด 50 มก./กก. จะให้ผลดีที่สุดและเทียบเท่ากับยาไดโคลฟีแนค สำหรับการให้สารสกัดหลังเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบ พบว่าสารสกัดทุกขนาด ยกเว้นขนาด 25 มก./กก. มีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้เช่นกัน แต่มีบางงานวิจัยที่พบว่าการป้อนสารสกัดน้ำจากใบ ขนาด 1 ก./กก. ไม่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูแรท นอกจากนี้มีรายงานว่าผงน้ำคั้นจากผลสด ขนาด 50-200 มก./กก. มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าด้วยสารคาราจีแนน และฮิสตามีน
สารสกัดอัลกอฮอล์จากใบ ขนาด 1, 2.5, 10 และ 20 มก./กก. มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าด้วยสารคาราจีแนนได้ แต่มีฤทธิ์น้อยกว่ายาเพรดนิโซโลน (prednisolone) ขนาด 5 และ 10 มก./กก. และตำรับครีมที่มีสารสกัดเดียวกันนี้ผสมอยู่ 2% ไม่ทำให้เกิดอาการระคายเคือง หรือ ลดรอยแดงจากยุงกัดในอาสาสมัคร จำนวน 5 คน เมื่อเทียบกับครีมเบส
การศึกษาทางพิษวิทยาของตำลึง
การทดสอบความเป็นพิษ สารสกัด 50% เอทานอลจากทั้งต้นขนาด 10 ก./กก. ไม่ทำให้เกิดพิษเมื่อป้อนทางสายยางสู่กระเพาะอาหาร หรือ ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังของหนูถีบจักร และเมื่อฉีดสารสกัดเดียวกันนี้เข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่าขนาดต่ำสุดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่าเท่ากับ 750 มก./กก.
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ตำลึงที่ใช้เป็นผักนิยมใช้ชนิดตัวเมีย ส่วนชนิดตัวผู้นั้นจะใช้เป็นสมุนไพรเท่านั้น
- มีการศึกษาวิจัยพบว่าใบและยอดของตำลึงมีฤทธิ์ช่วยการกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ ดังนั้นในการนำมาบริโภคเพื่อเป็นอาหาร หรือ ใช้เป็นสมุนไพรไม่ควรรับประทานมากจนเกินไปเพราะอาจทำให้ท้องเสียได้
- การทาน้ำตำลึง เพื่อแก้คัน หรือ รักษาโรคผิวหนังต่างๆไม่ควรถูแรงจนเกินไปในบริเวณที่เป็นผิวบอบบาง เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ หรือ การอักเสบขึ้น
เอกสารอ้างอิง ตำลึง
- นันทวัน บุณยะประภัศร อรนุช โชคชัยเจริญพร, บรรณาธิการ. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 2. กรุงเทพฯ:บริษัท ประชาชน จำกัด, 2541: 640 หน้า
- เดชา ศิริภัทร.ตำลึง.ผักพื้นบ้านที่รู้คุณค่าได้จากชื่อ.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 191. มีนาคม 2538
- อรัญญา ศรีบุศราคัม.ตำลึง .ผักสวนครัวลดเบาหวาน. รอบรู้เรื่องสมุนไพร.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข.
- สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.ผักพื้นบ้าน.ความหมายและภูมิปัญญาของสามัญชนไทย.กรุงเทพฯ.โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก,2538
- ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม). พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด. 2544.
- รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ.ผักตำลึง.อาหารสมุนไพร ริมรั้ว.คอลัมน์บทความพิเศษ. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 330. ตุลาคม 2549
- สุวดี แซ่เฮง โสวรส โรจน์สุธี. การหาปริมาณวิตามินเคในผักพื้นบ้าน. โครงการพิเศษ คณะเภสัชศาสตร์ม. มหิดล, 2007
- พร้อมจิต. ศรลัมน์.แกงเลียง.อาหารเด็ดของคนไทย. จุลสารข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.ปีที่ 30 ฉบับที่ 3. เมษายน2556
- ผลของตำลึงต่อการตั้งครรภ์ในหนูแรทเพศเมียที่ทำให้เกิดภาวะตั้งครรภ์ยาก.ข่าวความเคลื่อนไหว.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ตำลึง.ฐานข้อมูลสมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- เสริมเกียรติ บ้วนวงศ์ อดิศักดิ์ แซ่ลี้ เพ็ญโฉม พึ่งวิชา ยุวดี วงษ์กระจ่าง. ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดและบำบัดอาการเบาหวานของตำลึง. โครงการพิเศษ คณะเภสัชศาสตร์ ม. มหิดล, 1985.
- ถวัลย์ จรดล บัณฑิต ธีราธร บุญเจือ ธรณินทร์. ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของน้ำสกัดเถาตำลึง. สารศิริราช 2515;24(6):934-40.
- Munasinghe MAAK, Abeysena C, Yaddehige IS, Vidanapathirana T, Piyuma KPB. Blood sugar lowering effect of Coccinia grandis (L.) J. Voigt: Path for a new drug for diabetes mellitus. Experimental Diabetes Research 2011; Article ID 978762, 4 pages.
- Hossain MZ, Shibib BA, Rahman R. Hypoglycemic effects of Coccinia indica: inhibition of key gluconeogenic enzyme, glucose-6-phosphatase. Indian J Exp Biol 1992;30(5):418-20.
- Singh N, Singh P, Vrat S, Misra N, Dixit KS, Kohll RP. A study on the anti-diabetic activity of Coccinia indica in dogs. Indian J Med Sci 1985;39:27-9, 42.
- Vaishnav MM, Gupta KR. A new saponin from Coccinia indica roots. Fitoterapia 1995; 66(6):546-7
- Rao GMM, Rao CV, Sudhakara M, Pandey MM, Rawat AKS, Sirwaikar A, et al. Anti-inflam-matory and antinociceptive activities of “Coccinia indica W.&A.” fruit juice powder in animals. Nat Prod Sci 2004;10(1):20-3.
- Sungpuag P. Food sources of b-carotene and their vitamin A activity. Mahidol university annual research abstracts and bibliography of non-formal publication 1991;19:535.
- Deokate UA, Khadabadi SS. Pharmacology and phytochemistry of Coccinia indica. Journal of Pharmacognosy and Phytotherapy 2011;3(11):155-9
- Niazi J, Singh P, Bansal Y, Goel RK. Anti-inflammatory, analgesic and antipyretic activity of aqueous extract of fresh leaves of Coccinia indica. Inflammopharmacol 2009;17:239-44.
- Bajpai A, Ojha JK, Sant HR. Medicobotany of the Varanasi district. Int J Pharmacog 1995;33(2):172-6.
- Mueller-Oerlinghausen B, Ngamwathana W, Kanchanapee P. Investigation into Thai medicinal plants said to cure diabetes. J Med Ass Thailand 1971;54(2):104-11.
- Bhakuni DS, Srivastava SN, Sharma VN, Kaul KN. Chemical examination of the fruits of Coccinia indica. J Sci Ind Res (India) 1962;21B:237-8.
- Tangsucharit P, Kukongviriyapan V, Kukongviriyapan U, Airarat W. Screening for analgesic and anti-inflammatory activities of extracts from local vegetables in the northeast of Thailand. Srinagarind Med J 2006;21(4):305-10.
- Anon. Treatment of diabetes mellitus with Coccinia indica. Idma Bull 1980;11:229-30.
- Mallick C, Mandal S, Barik B, Bhattacharya A, Ghosh D. Protection of testicular dysfunc-tions by MTEC, a formulated herbal drug in streptozotocin induced diabetic rat. Biol Pharm Bull 2007;30(1):84-90.
- Mukherjee K, Ghosh NC, Datta T. Coccinia indica Linn. as potential hypoglycaemic agent. Indian J Exp Biol 1972;10(9):347-9
- Vaishnav MM, Jain P, Jogi SR, Gupta KR. Coccinioside-k, triterpenoid saponin from Coccinia indica. Oriental J Chem 2001;17(3):465-8.
- Nagaraju N, Rao KN. A survey of plant crude drugs of Rayalaseema, Andhra pradesh, India. J Ethnopharmacol 1990;29(2):137-58
- Chanwitheesuk A, Teerawutgulrag A, Rakariyatham N. Screening of antioxidant activity and antioxidant compounds of some edible plants of Thailand. Food Chem 2005; 92(3):491- 7.
- Azad KAK, Akhtar S, Mahtab H. Coccinia indica in the treatment of patients with diabetes mellitus. Bangladesh Med Res Council Bull 1979;5(2):60-6.
- Siddiqui IA, Osman SM, Sabbaram MR, Achaya KT. Fatty acid components of seed fats from four plant families. J Oil Technol Ass India 1973;5(1):8-9
- Guha J, Sen SP. The cucurbitacins-a review. Plant Biochem J 1975;2: 127.
- Khan azad AK, Akhtar S, Mantab H. Treatment of diabetes mellitus with Coccinia indica. Brit Med J 1980;280:1044.
- Singh G, Gupta P, Rawat P, Puri A, Bhatia G, Maurya R. Antidyslipidemic activity of polyprenol from Coccinia grandis in high-fat diet-fed hamster model. Phytomedicine 2007;14(12):792-8.
- Mokkhasmit M, Swatdimongkol K, Satrawaha P. Study on toxicity of Thai medicinal plants. Bull Dept Med Sci 1971;12(2/4):36-65.
- Leelapornpissid P, Manosroi A, Sajawatee P, Chaikul P, Nopsiri V, Manosroi J. Anti-inflam-matory activity of extract from leaves of Coccinia grandis (tum-loeng), formulation and evaluation of cream preparation containing the extract. 16th Annual Symposium of Health Science, Chiang Mai, August 1998:270.
- Kumar GP, Sudheesh S, Vijayalakshmi NR. Hypoglycaemic effect of Coccinia indica: mechanism of action. Planta Med 1993;59(4):330-2.
- Deshpande SV, Patil MJ, Daswadkar SC, Suralkar U, Agarwal A. A study on anti-inflamma-tory activity of the leaf and stem extracts of Coccinia grandis L. Voigt. IJABPT 2011;2(3): 247-50.