ย่านางแดง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ย่านางแดง งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ย่านางแดง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เครือขยัน (ภาคเหนือ), เถาขยัน, ขยัน, (ภาคกลาง), สยาน (ลำปาง, ตาก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Bauhinia Strychnifolia Craib.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Bauhinia Strychnifliavar. pubescens Craib.
วงศ์ LEGUMINOSAE-FABACEAE
ถิ่นกำเนิดย่านางแดง
ย่านางแดงเป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในไทย โดยมีการศึกษาและบันทึกเอาไว้ว่าย่านางแดง เป็นพืชถิ่นเดียวในประเทศไทย สามารถพบเจอได้บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสานซึ่งมักจะพบได้บริเวณป่าดิบเขา ป่าแดง ป่าเบญจพรรณที่ค่อนข้างแห้งแล้ง
ประโยชน์และสรรพคุณย่านางแดง
- ใช้แก้พิษ ถอนพิษ ยาเมา ยาเบื่อ ยาสั่ง
- แก้ไข้พิษทั้งปวง
- ถอนพิษผิดสำแดง
- ช่วยขับพิษโลหิตและน้ำเหลือง
- ช่วยบำรุงธาตุ
- ช่วยบำรุงหัวใจ
- แก้ท้องผูกไม่ถ่าย
- แก้ไข้กาฬ
- แก้ไข้หัว
- แก้ไข้เซื่องซึม
- แก้ไข้สุกใส
- แก้ไข้ทับระดู
- แก้ไข้ป่าเรื้อรัง
- ช่วยลดพิษยาฆ่าแมลง
- ใช้เป็นยาบำรุงโลหิต สำหรับสตรีหลังคลอด ขณะอยู่ไฟ
- ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
- ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อราได้
- แก้อาการท้องผูกไม่ถ่าย
- ช่วยล้างสารพิษหรือสารตกค้าง
ย่านางแดงถูกนำมาใช้ประโยชน์หลายๆ ด้าน เช่น ยอดอ่อน และใบอ่อนสามารถนำมาใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริกลาบ ส่วนเปลือกต้นสามารถนำมาลอกใช้ทำเป็นเชือกได้ และยังมีการนำย่านางแดง มาปลูกเป็นไม้ประดับให้เถาเลื้อยตามซุ้ม หรือ ตมรั้วเนื่องจากมีสีดอกที่งดงาม
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ย่านางแดง
ใช้แก้พิษทั้งปวง ยาเบื่อ ยาสั่ง แก้พิษเบื่อเมา เบื่อเมาของเห็ด ถอนพิษยาเมา พิษผิดสำแดง โดยใช้เหง้าต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้อาการท้องผูกไม่ถ่าย โดยใช้เถาหรือรากมาฝนกับน้ำหรือน้ำซาวข้าว ใช้เป็นยาแก้ไข้หรือถอนพิษ ด้วยการต้มทั้งเถา ราก ใบ ของย่านางแดง ใส่น้ำ 3 ส่วน เคี้ยวเหลือ 1 ส่วน ดื่มครั้งละ 120 มล. 3 เวลาก่อนอาหาร เช้า กลางวัน เย็น ติดต่อกัน 7 วัน ล้างสารพิษหรือสารตกค้างจากยาฆ่าแมลงในร่างกาย หรือเกิดอาการแพ้ต่างๆ ด้วยการใช้ใบหรือเถานำมาต้มดื่มเป็นประจำหรือใช้กินแทนน้ำ ก็จะช่วยลดอาการดังกล่าวได้ (ใบ,เถา)
ใช้เป็นชาในการส่งเสริมสุขภาพ ใช้เถาหรือใบ 1 กำมือ หรือ ขิง แก่ 2-3 แว่น ต้มใส่น้ำ 1.5-2 ลิตร ต้มเดือด 5 นาที ดื่มเป็นชา หรือ ใช้ใบเถาหรือใบ 1 กำมือ ใส่น้ำ 1.5-2 ลิตร ต้มเดือด 5 นาที น้ำย่านางแดง 1 แก้วมาชงกับน้ำผึ้ง 2 ช้อนชา น้ำมะนาว 1-2 ช้อนชา ใช้ล้างสารพิษหรือยาฆ่าแมลงในร่างกาย หรือใช้ล้างสารพิษจากยาเสพติด โดยการใช้ใบ หรือ เถานำมาต้มดื่มเป็นประจำหรือใช้กินแทนน้ำ
ลักษณะทั่วไปของย่านางแดง
ย่านางแดง จัดเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง พาดพันไปตามต้นไม้อื่น สามารถยาวได้ถึง 5 เมตร เถาอ่อนมีขนาดกลาง เถาแบนมีร่องตรงกลางเป็นสีเทาน้ำตาล ส่วนเถาแก่ลม สีน้ำตาลแดง มีมือพันสำหรับยึดเกาะเป็นคู่ ปลายม้วนงอ
ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวแบบเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน กว้างประมาณ 3-7 ซม. ยาวประมาณ 6-12 ซม. ปลายใบแหลม มีติ่งหนาม โคนใบมนเว้าตื้นๆ ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงมันเป็นสีเขียวเข้ม (แต่ยอดอ่อน หรือ ใบอ่อนมีสีออกแดง) ท้องใบ และหลังใบเรียบ มีเส้นแขนง 3-5 เส้น และมีก้านใบยาวประมาณ 2.3-5 ซม.
ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อกระจะ ที่ปลายกิ่งมีรูปทรงกระบอกแคบ หรือ เป็นหลอดกลวงปลายบางหอยลง มาทางโคน ยาว 15-100 ซม. และมีดอกย่อยจำนวนมากโดยมีลักษณะ กลีบดอกสีแดงสด 5 กลีบ รูปไข่กลับ ยาว 1.2-1.5 ซม. มีขนสีขาวปกคลุม ปลายกลับดอกแหลมมน เป็นแฉก 5 แฉก ฐานรองดอกรูประฆัง มีเกสรเพศผู้ 3 อัน ก้านเกสรสีแดงยื่นพ้นกลีบดอก ไข่ยาวประมาณ 0.7 ซม. มีขนสั้นปกคลุม ก้านสั้น
ผล ออกเป็นฝักลักษณะแบนรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 15-16 ซม. โคนฝักมีลักษณะเป็นรูปหอก ส่วนปลายฝักแหลมมีขนนุ่มๆ สีน้ำตาลขึ้นปกคลุม เปลือกฝักแข็ง เมื่อแก่จะแตกอ้า และภายในฝักมีเมล็ดอยู่ประมาณ 8-9 เมล็ด มีลักษณะแบนสีดำ รูปขอบขนานยาวประมาณ 1.7 ซม.
การขยายพันธุ์ย่านางแดง
ย่านางแดง สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีได้แก่ การใช้เมล็ด การตอนกิ่ง และการแยกกอปลูก แต่ในปัจจุบันวิธีที่เป็นที่นิยมคือการใช้เมล็ด และการแยกกอปลูก สำหรับวิธีการปลูกนั้นก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการใช้เมล็ดและการแยกกอพันธุ์ไม้อื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ย่านางแดง เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้เร็วในดินร่วนและระบายน้ำและอากาศได้ดีและมีความต้องการน้ำในปริมาณปานกลางและยังชอบแสงแดดแบบจัด
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานการศึกษาสมุนไพร ย่านางพบว่า มีการแยกสารบริสุทธิ์ ซึ่งได้แก่ 3,5,7-trihydroxychromone-3-o-α-1-rhamnopyronoside,3,5,7,3,5-pentahydroxyflavonol-3-o-α-1-rhamnopyronoside และ β-sitosterol นอกจากนี้ยังพบว่าในใบย่านางแดงพบสารออกฤทธิ์ เช่น gallic acid, syringic acid, P-cormarin acid, Catechin, myricentin เป็นต้น
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของย่านางแดง
มีผลการศึกษาวิจัยของย่านางแดงระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้
ฤทธิ์ลดระดับแอลกอฮอลล์ในเลือด มีการศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครสุขภาพดีเพศชาย จำนวน 59 คน อายุระหว่าง 20-45 ปี โดยจัดแบ่งออกเป็น 2 ช่วงอายุ คือ 20-30 ปี และ 31-45 ปี ในกลุ่มช่วงอายุ 20-30 ปี แบ่งเป็นกลุ่มทดลองที่ได้รับยาสมุนไพร จำนวน 28 คน และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก จำนวน 15 คน และสำหรับช่วงอายุ 31-45 ปี แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง จำนวน 8 คน และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก จำนวน 8 คน อาสาสมัครทุกคนจะได้รับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 35% ปริมาตร 120 มล. (มีปริมาณเอทิลแอลกอฮอล์ 42 มล.) แล้วตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดด้วยเครื่องตรวจวัดชนิดเป่าลม จากนั้นอาสาสมัครในกลุ่มทดลอง จะได้รับยาผงฟองฟู่ย่านางแดง 1 ซอง (5 ก.) ซึ่งประกอบด้วยผงแห้งของสารสกัดน้ำย่านางแดง 1.3 ก. กับผงฟองฟู่ 3.7 ก. และกลุ่มยาหลอกที่ได้รับผงฟองฟู่ที่ปราศจากย่างนางแดง 1 ซอง ทำการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดทุก 15 นาที จำนวน 8 ครั้ง ในเวลา 2 ชม. พร้อมใช้แบบสอบถามประเมินผลร่วมด้วย ผลพบว่ากลุ่มอาสาสมัครในช่วงอายุ 20-30 ปี ที่ได้รับผงยาย่านางแดง จะมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากรับประทานยาตั้งแต่ 45 นาที เป็นต้นไป เมื่อเทียบกับยาหลอก สำหรับอาสาสมัครในช่วงอายุ 31-45 ปี พบว่าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดในกลุ่มที่ได้รับผงยาย่านางแดงและกลุ่มยาหลอกไม่มีความแตกต่างกัน การศึกษาผลข้างเคียงโดยการสัมภาษณ์ ไม่พบอาการข้างเคียงแต่อย่างใด สรุปได้ว่า ย่านางแดงมีประสิทธิภาพในการลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของอาสาสมัครในช่วงอายุ 20-30 ปี ได้ โดยไม่พบอาการข้างเคียงที่เป็นอันตราย
ฤทธิ์ลดการบาดเจ็บในเซลล์ตับจากแอลกอฮอลล์ มีการศึกษาวิจัยโดยให้หนูทดลองได้รับแอลกอฮอล์เป็นเวลา 7 วัน แล้วให้สารสกัดย่านางแดงต่อเป็นเวลา 7 วัน หลังจากนั้นตรวจระดับเอนไซม์ aspartate aminotransferase (AST) และ alanine aminotransferase (ALT) ในเลือด ผลการทดลองพบว่าระดับ AST ในกลุ่มหนูทดลองที่ได้รับสารสกัดย่านางแดงที่ความเข้มข้น 500, 1,000 และ 1,500 mg/kg มีค่าเท่ากับ 101.7 +24.03, 71.3 +26.76 และ 72.3 +9.07 U/L ตามลำดับซึ่งน้อยกว่าระดับ AST ในหนูทดลองที่ได้รับแอลกอฮอล์อย่างเดียวอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.01) ส่วนระดับ ALT มีค่าเท่ากับ 54.0 +39.28, 35.7 +4.04 และ 28.7 +3.51 U/L ตามลำดับซึ่งน้อยกว่าระดับ ALT ในหนูทดลองที่ได้รับแอลกอฮอล์อย่างเดียวอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) การศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงฤทธิ์ของสารสกัด ย่านางแดงที่ช่วยลดการบาดเจ็บของเซลล์ตับ
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยอีกหลายฉบับพบว่าสารสกัดจากย่านางแดง มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง ได้แก่ non-small cell lung adenocarcinoma และ breast cancer cell lines ยังมีฤทธิ์ต้าน HIV-1 integrase และฤทธิ์ต้านอาการภูมิแพ้ ได้อีกด้วย
การศึกษาทางพิษวิทยาของย่านางแดง
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้ย่านางแดง เป็นสมุนไพร นั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณ ที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์รวมถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ก่อนจะใช้ย่านางแดเป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ ทั้งนี้ควรระวังในการใช้ย่านางแดง ในผู้สูงอายุเพราะยาเย็นจัดจะมีผลต่อหัวใจและตับได้
เอกสารอ้างอิง ย่านางแดง
- พีระพล ใสสะอาด, วรรณชัย ชาแท่น สุธิรา มณีฉาย. 2015. ความหลากหลายของพืชสกุลชงโค (Buahinia L.) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย. วารสารวิจัย มสด. สาขา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 8(2), 87-116.
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. ขยัน (Khayan). หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 58.
- เต็ม สมิตินันท์, 2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. สวนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการกรมป่าไม้ กรุงเทพมหานคร หน้า 71.
- รัชนี นามมาตย์ และไชยา สนิท. (2556). การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชา สมุนไพรจากสมุนไพรพื้นบ้านในผลิตภัณฑ์ชาเพื่อสุขภาพ (รายงานผลการวิจัย). มหาสารคาม: ศูนย์ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม.
- นวรัตน์ จัดเจน และคณะ. คุณภาพทางเคมีของใบย่านางแดง. รายงานการวิจัย. สถาบันวิจับสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ กระทรวงสาธารณะสุข.
- นวพร เหลืองทอง ชาคริยา หลิน วีระสิงห์เมืองมั่น และ สุรพจน์วงศ์ใหญ่. (2559).การศึกษาผลเบื้องต้นของสมุนไพร ย่านางแดงต่อระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของอาสาสมัครสุขภาพดี.วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ ทางเลือก, 14(2), 177–187.
- สุวิทย์ คล่องทะเล และคณะ. ฤทธิ์ของสารสกัดย่านางแดงต่อเซลล์ตับของหนูทดลองที่ได้รับบาดเจ็บจากแอลกอฮอลล์. เอกสารประกอบการประชุม. งานประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2562. ( 26 เมษายน 2562). หน้า 85-92.
- รัชนี นามมาตย์, ชลธี โพธิ์ทอง. องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในผลิตภัณฑ์ย่านางแดง ที่ย่างด้วยเครื่องย่างแบบสองสายพานลำเลียง. บทความวิจัย. วารสารสมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย ปีที่ 23. ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2560. หน้า 44-51.
- ย่านางแดง. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=113.
- ย่านางแดง. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงไดจาก http://www.phargarden.com/main.php.?action=viewpage&pid=147.
- Kaewpiboon, C., Lirdprapamongkol, K., Srisomsap, C., Winayanuwattikun, P., Yongvanich, T., Puwaprisirisan, P., Assavalapsakul, W. (2012). Studies of the in vitro cytotoxic, antioxidant, lipase inhibitory and antimicrobial activities of selected Thai medicinal plants. BMC Complementary and Alternative Medicine, 12(1).
- Wutthithammavet, W. 1997. Thai Traditional Medicine. Odean Store Press. Bangkok.
- Bunluepuech, K., Wattanapiromsakul, C., Madaka, F., & Tewtrakul, S. (2013). Anti-HIV-1 integrase and antiallergic activities of Bauhinia strychnifolia. Songklanakarin Journal of Science and Technology, 35(6), 659–664.
- Yuenyongsawad, S., Bunluepuech, K., Wattanapiromsakul, C., & Tewtrakul, S. (2013). Anti-cancer activity of compounds from Bauhinia strychnifolia stem. Journal of Ethnopharmacology, 150(2), 765–769.