หญ้าเกล็ดหอยเทศ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

หญ้าเกล็ดหอยเทศงานวิจัยและสรรพคุณ 9 ข้อ

ชื่อสมุนไพร  หญ้าเกล็ดหอยเทศ

ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น  หญ้าเกล็ดหอย,หญ้าเกล็ดหอยเล็ก(ทั่วไป),เทียนโอว่ซุย,เทียนหูซุยพูตี้จิ่น,โพวตี่กิ้ม(จีน)

ชื่อวิทยาศาสตร์Hydrocotyle sibthorpioides Lam.

ชื่อสามัญLawn marsh penny wort ,Water pennywort

วงศ์ ARALIACEAE

ถิ่นกำเนิด หญ้าเกล็ดหอยเทศจัดเป็นพืชล้มลุกในวงศ์ เล็บครุฑ (ARALIACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณประเทศพม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนอื่นๆ ของโลก สำหรับในประเทศไทยสามารถพบหญ้าเกล็ดหอยเทศได้ทั่วทุกภาคของประเทศ บริเวณที่รกร้างว่างเปล่า ริมสองข้างทาง หรือตามที่โล่งที่มีความชุ่มชื้นสูง รวมถึงบริเวณบ่อน้ำ ลำธารหรือตามหน้าผาที่มีความเย็นชื้นทั่วไป

ประโยชน์/สรรพคุณ  หญ้าเกล็ดหอยเทศถูกนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับคลุมดิน ตามอาคารสถานที่ หรือตามสวนหย่อม สวนสาธารณะ และตามบ้านเรือนทั่วไป เนื่องจากใบมีสีเขียวเป็นมันและเจริญเติบโตแผ่เป็นผืนคลุมดินได้สวยงาม นอกจากนี้เกษตรกรที่ทำปศุสัตว์ยังมีการใช้หญ้าเกล็ดหอยเทศมาใช้เป็นยารักษาสัตว์ อาทิเช่น  

  • วัวที่มีอาการเจ็บคอหรือคออักเสบ ใช้ลำต้นสดและโล้ยเถ่าเช่าสด อย่างละ 1 กำมือ นำมาตำคั้นเอามาผสมกับน้ำเล็กน้อยให้วัวกิน 
  • หมูที่เป็นไตอักเสบ บวมน้ำ ใช้ลำต้นสด ผักกาดสด มั่งแส่โชย และกึงป๊วก อย่างละ 39 กรัม นำมาต้มเอาน้ำผสมกับน้ำเต้าหู้ ประมาณครึ่งชามและน้ำตาลทราย 60 กรัม ให้หมูกิน
  • สัตว์เลี้ยงที่มีอาการป่วยเป็นไข้ ใช้ลำต้นหญ้าเกล็ดหอยสดประมาณ 250 กรัม นำมาตำคั้นเอาน้ำให้สัตว์เลี้ยงกิน
  • สัตว์เลี้ยงที่เยื่อตาอักเสบ ใช้ลำต้นหญ้าเกล็ดหอยสด นำมาคั้นเอาน้ำผสมกับเกลือเล็กน้อย แล้วนำไปป้ายตา เป็นต้น

สำหรับสรรพคุณทางยาสมุนไพรของหญ้าเกล็ดหอยเทศนั้น ตามตำรายาไทย และตำรายาจีนนั้นได้ระบุถึงสรรพคุณเอาไว้ดังนี้

  • ทั้งต้นมีกลิ่นหอมมีรสขมฝาด เผ็ดเล็กน้อย ใช้เป็นยาเย็นออกฤทธิ์ต่อตับ ไต และม้าม ใช้เป็นยาดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ช่วยแก้อาการร้อนใน ขับเสมหะ แก้ไอ ไอกรน แก้เจ็บคอ คออักเสบ แก้ท้องมาน แก้บวมน้ำ ขับปัสสาวะ แก้บิดมูกเลือด แก้นิ่ว นิ่วในไต แก้ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ แก้ดีพิการ ดีซ่าน แก้ตาแดง ตาเป็นต้อ ใช้ห้ามเลือด ใช้ใส่แผลสด แผลเรื้อรัง แก้ผื่นคัน แก้งูสวัด
  • ส่วนในอินเดีย ใช้เป็นยาบำรุงตับ บำรุงสมอง ล้างพิษ และในอินโดนีเซีย ใช้รักษาโรคกระเพาะอหาร ขับลม แก้ไอ แก้ตับอักเสบ แก้ดีซ่าน รักษาฝี รักษาบาดแผล แก้ผดผื่นคันและรักษากระดูกหัก

รูปแบบ/ขนาดวิธีใช้ ใช้ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไอ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ปัสสาวะติดเชื้อ ขับนิ่วในไต แก้บิดมูกเลือด แก้ท้องมาน แก้บวมน้ำ โดยนำทั้งต้นสด 30-60 กรัม หรือทั้งต้นแห้ง 10-20 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม

ลักษณะทั่วไป  หญ้าเกล็ดหอยเทศจัดเป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกขนาดเล็กเลื้อยไปตามหน้าดิน ลำต้นมีลักษณะเป็นเส้นเล็ก 10-50 เซนติเมตร แผ่สาขาปกคลุมดินเป็นแผ่น ลำต้นจะเป็นข้อๆ และจะแตกรากฝอยยึดต้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับ ใบมีลักษณเป็นรูปค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-2 เซนติเมตร โคนใบเว้าเข้าหากันเป็นรูปหัวใจ ขอบใบมีรอยหยัก 5-9 หยัก แผ่นใบค่อนข้างบาง หลังใบเป็นมันสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีขาวและมีขนสั้นอ่อนนุ่มขึ้นปกคลุมเล็กน้อย และจะมองเห็นเส้นใบออกจากโคนใบ จำนวนเท่ากับหยักของแต่ละใบ สำหรับก้านใบจะเป็นเส้นบางเล็ก ยาว 1-8 เซนติเมตร  ดอกออกเป็นช่อหรือออกเป็นกระจุกบริเวณข้อของลำต้นหรือตามง่ามใบ โดยช่อดอกมีลักษณะคล้ายร่ม และในช่อหนึ่งจะมีดอกย่อย 10-15 ดอก ดอกย่อยมีขนาดเล็กมากมีลักษณะเป็นสีเขียวอมขาวหรือสีเหลืองอ่อน กลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นรูปกลมรี ไม่มีก้านดอกหรืออาจมีแต่จะสั้นมาก มีเกสรเพศผู้มี 5 อัน มีรังไข่ 2 ช่อง ซึ่งในแต่ละช่อจะมีออวุล 1 เม็ด ส่วนยอดเกสรเพศเมียมี 2 อัน  ผลเป็นผลแห้งออกเป็นคู่ มีลักษณะแบน เป็นเหลี่ยมคล้ายรูปหัวใจ กว้างประมาณ 1.5-2  มิลลิเมตร ยาว 1-1.25 มิลลิเมตร ผิวผลเป็นมันและมีแต้มเป็นจุด เมื่อผลแก่จัดจะแตกครึ่งด้านในมีเมล็ดรูปไข่กลมขนาดเล็กจำนวนมาก

การขยายพันธุ์ หญ้าเกล็ดหอยเทศสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ดและการปักชำ แต่ทั้งนี้ในปัจจุบันยังไม่มีการนิยมทนำหญ้าเกล็ดหอยเทศมาทำการขยายพันธุ์ ดังนั้นการขยายพันธุ์ของหญ้าเกล็ดหอยเทศนั้นจึงเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติ ไม่ได้ถูกนำมาปลูกโดยมนุษย์แต่อย่างใด ซึ่งในการขยายพันธุ์ในธรรมชาติก็จะเป็นการขยายพันธุ์โดยเมล็ดและการแตกต้นคลุมดินไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้หญ้าเกล็ดหอยเทศเป็นพืชที่ชอบความชุ่มชื้นสูง และชอบดินร่วนที่มีการระบายน้ำดี แต่ก็ต้องการแสงแดดจัดเช่นกัน

องค์ประกอบทางเคมี  มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนต่างๆของหญ้าเกล็ดหอยเทศระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น asiaticoside , madecassoside , catechin, epicatechin,   rosmarinic acid, chlorogenic acid, biochanin A, ferulic acid, rutin, gallic acid, caffeic acid , quercetin, hyperoside, quercetin 3-(6-caffeoylgalactoside), stigmasterol และ udosaponin B เป็นต้น ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากส่วนใบยังพบสาร  camphene, genistein, hydrocosisaponin A-F, hydrocotyloside I-VII, isorhamnetin, l-sesamin, ocimene, phytol,α-humulene, α-pinene, β-caryophyllene และ β-pinene เป็นต้น

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยา มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากทั้งต้นของหญ้าเกล็ดหอยเทศ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการอาทิเช่น มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเพื่อศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดเอทานอลจากหญ้าเกล็ดหอยเทศในหนูทดลอง 25 ตัว โดยหนูจะถูกแบ่งออกเป็นห้ากลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุมเชิงบวกหนึ่งกลุ่ม กลุ่มเปรียบเทียบหนึ่งกลุ่ม และกลุ่มทดสอบสามกลุ่ม อีกทั้งยังมีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อัลฟา-อะไมเลสและเอนไซม์อัลฟา-กลูโคซิเดสของ สารสกัดจากส่วนเหนือดินของหญ้าเกล็ดหอยเทศระบุว่าสามารถ แสดงฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ทั้งสองชนิด โดยขึ้นอยู่กับความเข้มข้น ซึ่งพบว่าสารสกัดแสดงฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อัลฟา-กลูโคซิเดสได้ดีกว่า เอนไซม์อัลฟา-อะไมเลส อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ทางสถิติ (P ≤ 0.05 ระดับ) ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในคุณสมบัติการยับยั้งเอนไซม์ของสารสกัดและอะคาร์โบส (สารอ้างอิง) ทั้งนี้ในกรณีของฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อัลฟา-อะไมเลส สารสกัดแสดงฤทธิ์ยับยั้งได้ดีกว่าเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับสารประกอบอ้างอิงอย่าง อะคาร์โบส โดยที่ความเข้มข้นของพืช 5 มก./มล. พบว่าสารสกัดฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อัลฟา-อะไมเลสอยู่ที่ 96.12 ± 3.86% ส่วนอะคาร์โบส อยู่ที่ 90.73 ± 5.19% นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าน้ำต้มจากหญ้าเกล็ดหอยเทศ ในความเข้มข้น 1:1 มีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียในกลุ่ม Strepto coccus และ Staphylo coccus ได้และยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อปิด และเชื้อไทฟอยด์ได้ดีอีกด้วย

การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยา มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดจากทุกส่วนของหญ้าเกล็ดหอยเทศระบุว่า มีรายงานผลการศึกษาวิจัยพิษเฉียบพลันทางคลินิกกับสารสกัดจากทุกส่วนของหญ้าเกล็ดหอยเทศในหนูเผือก พบว่ามีค่า LD50 (ค่าที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง) มากกว่า 2,000 มก./กก. ของน้ำหนักตัว จึงถือว่ามีความปลอดภัยสูง

ข้อแนะนำ/ข้อควรระวัง  ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของหญ้าเกล็ดหอยเทศระบุว่ามีความปลอดภัยสูง แต่สำหรับการใช้หญ้าเกล็ดหอยเทศเป็นยาสมุนไพรนั้น ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด/ปริมาณที่เหมาะสม ตามที่ได้ระบุว่าไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้

อ้างอิงหญ้าเกล็ดหอยเทศ

  1. วิทยา บุญวรพัฒน์.  “หญ้าเกล็ดหอยเทศ”.หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.    หน้า 576.
  2. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.  “หญ้าเกล็ดหอย”.  หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  หน้า 799-801.
  3. Quamar MF Bera SK. Ethno-Medico-Botanical Studies of Plant Resources of Hoshangabad District, Madhya Pradesh, India: Retrospect and Prospects. 2014;1(1):1-11.
  4. Hazarika, Iswar; Geetha, K.M.; Sundari, P. Sivakami; Madhu, Divya (2019). "Acute oral toxicity evaluation of extracts of Hydrocotyle sibthorpioides in Wister albino rats as per OECD 425 TG". Toxicology Reports. 6: 321–328.
  5. Mandal M Paul S Uddin MR Mondal MA Mandal S Mandal V. In vitro antibacterial potential of Hydrocotyle javanica Thunb. Asian Pacific J Trop Dis. 2016;6(1):54-62
  6. Barukial J, Sarmah JN (2011) Ethnomedicinal plants used by the people of Golaghat district, Assam, India. Int J Med Aromat Plants 1(3):203–211
  7. Anas B Harry BS. TUMBUHAN LIAR BERKHASIAT OBAT. Bandung: Forda Press; 2016.
  8. "Hydrocotyle sibthorpioides- Lam". Plants for a Future. Retrieved 7 November 2016.
  9. Robinson T. Kandungan Organik Tumbuhan Tinggi. Edisi ke-4. Bandung: ITB Press; 1995
  10. Gogoi M, Saikia BM, Dutta M (2019) Use of medicinal plants in traditional health care practices by tribes of Dhemaji district, Assam, India. Int J Herb Med 7(5):01–06
  11. Rahmatullah, Mohammed (2010). "A Comparative Analysis of Medicinal Plants used by Folk Medicinal Healers in Villages Adjoining the Ghaghut, Bengali, Padma Rivers of Bangladesh". American- Eurasian Journal of Sustainable Agriculture (4): 70–85.