ตะโกนา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ตะโกนา งานวิจัยและสรรพคุณ 27 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ตะโกนา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะโก, มะถ่านไฟฝี, พญาช้างดำ (ภาคเหนือ), โก (ภาคอีสาน), นมงัว (โคราช)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros rhodocalyx Kurz
ชื่อสามัญ Ebony
วงศ์ EBENACEAE
ถิ่นกำเนิดตะโกนา
ตะโกนาเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียบริเวณประเทศอินเดีย ศรีลังกา แล้วมีการกระจายพันธุ์ไปยังบังคลาเทศ พม่า จีนตอนใต้ ไทย มาเลเซีย หมู่เกาะแปซิฟิก รวมถึงในออสเตรเลียด้วย สำหรับ ในประเทศไทยสามารถพบตะโกนา ได้ทุกภาคของประเทศตามป่าเบญจพรรณป่าดิบแล้งป่าดิบชื้น และป่าละเมาะ รวมถึงตามทุ่งนา ที่มีความสูง 40-300 เมตร จากระดับน้ำทะเล
ประโยชน์และสรรพคุณตะโกนา
- ช่วยบำรุงธาตุ
- บำรุงกำลัง
- แก้ไข้
- แก้ร้อนใน
- ช่วยรักษาโรคกามตายด้าน
- เป็นยาอายุวัฒนะ
- ขับระดูในสตรี
- ขับระดูขาว
- รักษารำมะนาด (อาการเหงือกบวม ปวด)
- แก้ปวดฟัน
- รักษาเหงือกบวม
- แก้ท้องร่วง
- แก้คลื่นไส้
- ช่วยขับพยาธิ
- แก้บวม
- แก้กษัย
- แก้ปวดมดลูก
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้เหนา
- แก้น้ำเหลืองเสีย
- แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- แก้ร้อนในกระหายน้ำ
- รักษาทางเดินปัสสาวะ
- แก้ปวดเมื่อย
- แก้อ่อนเพลีย
- แก้กามตายด้าน
- ช่วยเจริญอาหาร
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ เป็นยาอายุวัฒนะ แก้ไข้ แก้ร้อนใน ขับระดูในสตรี แก้กามตายด้าน โดยใช้เปลือกต้น หรือ แก่นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ท้องร่วง แก้คลื่นไส้ ขับพยาธิ แก้กษัย แก้ปวดมดลูก แก้บวม โดยใช้ผลตะโกนา มาตากแดดให้แห้ง แล้วต้นกับน้ำดื่ม ใช้แก้เหนา แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ช่วยเจริญอาหาร แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ โดยใช้รากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ขับระดูในสตรี ขับปัสสาวะ โดยใช้เปลือกผลมาเผาไฟให้เป็นถ่าน แล้วนำมาแช่กันน้ำดื่ม ใช้แก้รำมะนาด ปวดฟัน เหงือกบวม โดยใช้เปลือกต้น และแก่นมาต้มกับน้ำใส่เกลือลงไปรอจนเย็นนำมาอม และบ้วนปาก
ลักษณะทั่วไปของตะโกนา
ตะโกนา มีใบ เป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับ กว้าง 2.5-7 ซม. ยาว 3-12 ซม. มีก้านใบยาว 2-7 มม. ทรงใบรูปไข่ ป้อม จนถึงรูสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนกลายๆ โคนใบสอบเป็นรูปลิ่ม หรือ ป้าน ปลายใบมนป้าน หรือ อาจหยักเว้าเข้า ขอบใบเรียบ เนื้อใบหนา ผิวหลังใบเกลี้ยง ส่วนท้องใบเมื่อยังเป็นใบอ่อนจะมีขนประปราย ใบมีเส้นแขนงใบ 5-8 คู่ คดไปมา เส้นใบย่อยเป็นแบบเส้นร่างแห เส้นกลางใบจะออกสีแดง หรือ ชมพูเรื่อๆ เมื่อใบแห้ง ก้านใยอ่อนมีขนนุ่ม ดอกออกเป็นช่อ ดอกเป็นแบบแยกเพศต่างต้น และดอกเพศผู้จะออกเป็นช่อเล็กๆ ตามกิ่ง หรือ ตามง่ามใบ โดยในหนึ่งช่องจะมีดอกย่อยประมาณ 3 ดอก ซึ่งดอกจะมีกลีบดอก กลีบเลี้ยงอย่างละ 4 กลีบ และกลีบดอกจะยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันเป็นรูปเหยือกน้ำ หรือ รูปป้อมๆ ปลายแยกออกเป็นแฉกเล็กๆ เกลี้ยงเกลาทั้งสองด้าน มีก้านดอกมีขนนุ่มยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ส่วนกลีบรองดอกยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร โดยโคนกลีบจะเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยปากกว้าง ด้านนอกมีขนนุ่ม ด้านในมีขนยาวๆ แน่น ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 14-16 ก้าน มีขนแข็งๆ แซม รังไข่เทียมมีขนแน่น สำหรับดอกเพศเมียจะออกเป็นดอกเดียวตามซอกใบ กลีบเลี้ยง และกลีบดอกจะเหมือนกับดอกเพศผู้แต่มีขนาดใหญ่กว่า ก้านดอกยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร รังไข่มีลักษณะป้อม มีขนเป็นเส้นไหมคลุม ภายในแบ่งเป็นช่อง 4 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีไข่อ่อนหนึ่งหน่วย มีเกสรเพศผู้เทียมประมาณ 8-10 ก้าน มีขนแข็งๆ แซมอยู่ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน ผล ทรงกลม มีขนาด 2-3 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ติดอยู่ เมื่อผลยังอ่อนผิวจะมีขนละเอียดสีน้ำตาลแดงปกคลุมอยู่ แต่เมื่อผลแก่ขนจะหลุดร่วงไปมีสีเหลืองอมเขียวแต่เมื่อสุกจะเป็นสีส้มแดง ผลมีลักษณะคล้ายผลมังคุดหรือลูกพลับ เมื่อผลสุกรับประทานได้รสหวานอมฝาด
การขยายพันธุ์ตะโกนา
ตะโกนา สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่งแต่วิธีที่เหมาะสม นิยมปฏิบัติกันโดยทั่วไปในปัจจุบันนี้ คือ การเพาะเมล็ด เนื่องจากทำได้สะดวก การเพาะเมล็ด และการดูแลรักษากล้าไม้ไม่ต้องอาศัยวิธีปฏิบัติที่ยุ่งยากซับซ้อนมาก อีกทั้งเป็นวิธีการที่ทำได้ง่าย และประหยัด แต่ถึงอย่างไรก็ตามปัจจุบันตะโกนาก็ยังไม่เป็นที่นิยมปลูกกันมากนัก เพราะเป็นไม้ที่เติบโตช้าและมีขนาดที่ใหญ่ ดังนั้นการขยายพันธุ์ของตะโกนา จึงเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากกว่า สำหรับวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการปลูกตะโกนานั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด และปลูกไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้าที่
องค์ประกอบทางเคมี
มีผลการศึกษาวิจัยส่วนต่างๆ ของตะโกนา พบว่ามีสารสำคัญๆ ได้แก่ Betulin, B-sitosterol, Lupenone, Taraxerone, Stigmast-4-en-3-one, Stigmast4-en-3-one 1–O-ethyl-B-D-glucopyrahoside, Lupeol, Stigmast-4-en-3-one 1-O-ethyl-B-D-glucoside, Stigmasterol, Taraxerol, Betulinic acid และ Taraxerol acetate
ที่มา : Wikipedia
นอกจากนี้ในผลสุกของตะโกนา ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของผลตะโกนา (ผลสุก 100 กรัม)
- พลังงาน 99 กิโลแคลอรี
- โปรตีน 0.3 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 24.5 กรัม
- เส้นใย 1.5 กรัม
- แคลเซียม 19 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 79 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.4 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 2.2 มิลลิกรัม
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของตะโกนา
ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง มีผลการศึกษาวิจัยในสารสกัดหยาบด้วยเอทานอลจากเปลือกต้นตะโกนา พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากของมนุษย์ชนิด PC-3 ซึ่งมีความเป็นพิษต่อเซลล์คิดเป็นค่า IC50 เท่ากับ 911.22 μg/ml
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีผลการศึกษาวิจัยในสารสกัดด้วยเอทานอลของเปลือกตะโกนาพบว่า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยจากการทำ DPPH radical scavenging activities ได้ค่า IC50 เท่ากับ 120.81 ± 7.25 μg/mL
ฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ acetylcholinesterase สารสกัดด้วยเมทานอลของเปลือกตะโกนา มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ acetylcholinesterase โดยคิดเป็นร้อยละ 15.52 ± 3.67 ซึ่งอาจมีผลในการป้องกัน และรักษาโรค Alzheimer ได้
การศึกษาทางพิษวิทยาของตะโกนา
มีผลการศึกษาทางพิษวิทยาของสารสกัดหยาบตะโกนา (Diospyros rhodocalyx Kurz.) พบว่าสารสกัดตะโกนา ความเข้มข้น 20, 1000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แก่หนูขาวเพศผู้พบว่าค่าเม็ดเลือดเเดงอัดแน่น ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (P≤0.05) แต่ค่า AST, ALT, BUN และจำนวนเม็ดเลือดขาวโดยรวมเพิ่มขึ้นเมื่อได้รับสารสกัดที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าจำนวน neutrophil เพิ่มขึ้นในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดตะโกนาความเข้มข้น 20, 200 และ 1000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมแต่ lymphocyte ลดลงในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดตะโกนา ความเข้มข้น 200 และ 1000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม การให้สารสกัดหยาบตะโกนาเป็นระยะเวลานาน พบว่า ALT ลดลง แต่น้ำหนักม้าม และจำนวนเม็ดเลือดขาวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจำนวน neutrophil แต่จำนวนของ lymphocyte ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (P≤0.05) สรุปได้ว่าการใช้ตะโกนาอาจทำให้เกิดผลเสียต่อตับ, ไต, ม้าม และระบบภูมิคุ้มกัน
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ตะโกนา เป็นสมุนไพรเพราะตามสรรพคุณมีฤทธิ์ขับระดู
- สำหรับการใช้ตะโกนาเพื่อเป็นยาสมุนไพรในการบำบัดรักษาอาการของโรคต่างๆ ตามสรรพคุณที่ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ นั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำรายานั้นๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินกว่าที่ระบุ และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้ตะโกนาเป็นสมุนไพรบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง ตะโกนา
- พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “ตะโกนา ”. หน้า 96.
- วิมลา ดีแท้. ผลของสารสกัดหยาบของโด่ไม่รู้ล้ม (Elephantopus scaber Linn.) และตะโกนา (Diospyros rhodocalyx Kurz.) ต่อสมรรถภาพทางเพศในหนูขาวเพศผู้.
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. หนังสือสมุนไพร ไทย เล่ม 1. “ตะโกนา (Tako Na)”. หน้า 118.
- ตะโกนา. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขคติ คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/index.php?page=seasch.detail&medicinal_id=286
- Mingkwan Rachpirom, Chitchamai Ovatlarnporn, Suriyan Thengyai, Chonlatid Sontimuang, Panupong Puttarak. (2016). Dipeptidyl Peptidase-IV (DPP-IV) Inhibitory Activity, Antioxidant Property and Phytochemical Composition Studies of Herbal Constituents of Thai Folk Anti-Diabetes Remedy. Walailakjournal.
- Chutima Chaisanit, Chantragan Srisomsap, Rattana Panriansaen, Wichai Cherdshewasart. Cytotoxicity of the rejuvenating Thai herbal plants against prostate cancer cells
- Kornkanok Ingkaninan, Prapapan Temkitthawon, Kanchanaporn Chuenchom, Thitaree Yuyaem, Warawit Thongnoi. (2003). Screening for acetylcholinesterase inhibitory activity in plants used in Thai traditional rejuvenating and neurotonic remedies. Journal of Ethnopharmacology. 89 (2003): 261–264