มะคำดีควาย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
มะคำดีควาย งานวิจัยและประโยชน์ 39 ข้อ
ชื่อสมุนไพร มะคำดีควาย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ประคำดีความ (ทั่วไป, ภาคกลาง), มะซัก, ส้มป่อยเทศ (ภาคเหนือ), คำดีควาย (ภาคใต้), ชะแซ, ซะเหล่าด (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ มะคำดีควายสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ Sapindus rarak DC. และ Sapindus trifoliatus L.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ ชนิด S.rarak DC. คือ Dittelasma rarak (DC.) Benth. & Hook. f. และชนิด S. trifoliatus L. คือ Sapindus emarginatustus Vahl.
ชื่อสามัญ ชนิด S.rarak DC. คือ Soap Nut Tree . และ S. trifoliatus L. คือ Soapberry Tree
วงศ์ SAPINDACEAE
ถิ่นกำเนิดมะคำดีควาย
มะคำดีควาย (ทั้ง 2 ชนิด) มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อยของภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ในประเทศ อินเดีย (โดยเฉพาะแคว้นอัสลัม), เนปาล, บังคลาเทศ, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย ต่อมาได้มีการกระจายพันธุ์ไปในประเทศในทวีปเอเชียอื่นๆ เช่น ไต้หวัน, จีน, ปากีสถาน ฯลฯ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศโดยพบมากในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้งที่มีความสูงตั้งแต่ 150-1600 เมตร จากระดับน้ำทะเล
ประโยชน์และสรรพคุณมะคำดีควาย
- แก้ไข้
- ช่วยดับพิษร้อนภายใน ดับพิษทุกอย่าง
- แก้ไข้แก้เลือด
- แก้หอบเนื่องจากปอดชื้น
- แก้ปอดบวม
- แก้หวัด คัดจมูก
- แก้กาฬ
- แก้โรคผิวหนัง
- รักษาสิว
- แก้พิษตานซาง
- แก้เสลดสุมฝีอันเปื่อยพัง
- แก้จุดกาฬ
- บำรุงน้ำดี
- แก้สลบ
- แก้พิษ หัด สุกใส
- แก้ฝีเกลื่อน
- แก้ปากเปื่อย
- แก้สารพัดพิษ สารพัดกาฬ
- แก้ไข้จับเซื่องซึม
- แก้ร้อนในกระหายน้ำ
- แก้สารพัดไข้ทั้งปวง
- แก้ชันนะตุ (โรคผิวหนังพุพองบนศีรษะเด็ก)
- แก้เชื้อรา
- แก้รังแค
- ใช้บำรุงผมให้ดกดำ
- ใช้เป็นยากำจัดเหา
- ใช้ฆ่าเชื้อรา
- ใช่รังแคบนหนังศีรษะ
- แก้พิษกาฬ
- ดับพิษกาฬ
- แก้ทุราวาส
- แก้ริดสีดวงมองคร่อ
- แก้ลมคลื่นเหียน
- แก้กษัย
- รักษาผิวหนังพุพอง
- แก้น้ำเหลืองเสีย
- แก้โรคผิวหนัง
- แก้หืด หอบ
- แก้เสลดสุ่ม ฝีที่เปื่อยพัง
ในอดีตคนไทยตามชนบทใช้ประโยชน์จากมะคำดีควาย เช่น นำผลมาใช้เป็นสารชะล้างแทนสบู่เพื่อชำระล้างร่างกาย สระผม หรือ นำไปใช้ซักผ้า หรือ ใช้ทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ นำเมล็ดมะคำดีควายที่มีลักษณะกลม และแข็ง มีสีน้ำตาลดำ ไปใช้ร้อยทำเป็นลูกประคำ หรือ เครื่องรางของขลังต่างๆ และยังมีการนำผลของมะคำดีควาย มาใช้ในการเบื่อปลา และใช้เป็นยาฆ่าแมลงต่างๆ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
รักษาชันตุ ใช้ผล 4-5 ผล แกะเอาแต่เนื้อ ต้มกับน้ำประมาณ 1 ถ้วย ใช้น้ำทาที่ศีรษะที่เป็นชันตุวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น หรือ ใช้เนื้อ 1 ผล ตีกับน้ำสะอาดจนเป็นฟอง ใช้สระผมที่เป็นชันตุวันละ 1 ครั้ง จนกว่าจะหาย
รักษาผิวหนังพุพอง น้ำเหลืองเสีย ใช้ผลมะคำดีควาย 10-15 ผล ต้มกับน้ำพอประมาณ นำเฉพาะน้ำมาชะล้าง หรือ แช่บริเวณที่เป็นแผลนาน 5 นาที ทั้งเวลาเช้า และเย็น
ใช้เมล็ดสด หรือ แห้งนำมาตำให้ ละเอียด ใช้พอก หรือ เอามาละลายน้ำล้างแผล แก้โรคผิวหนัง ใช้ผลที่แห้งนำมาคั่วให้เกรียม จาก นั้นใช้ปรุงเป็นยาดับพิษได้ทุกชนิด แก้กาฬภายใน แก้ไข้ แก้หืด หอบ แก้โรคผิวหนัง และแก้เสลดสุ่ม ฝีที่เปื่อยพัง
ลักษณะทั่วไปของมะคำดีควาย
มะคำดีความ (ชนิด S.rarak DC.) จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้น ความสูงประมาณ 5-10 เมตร มีลักษณะเปลือกเป็นสีน้ำตาลอมเทา ค่อนข้างเรียบ มีเรือนยอดเป็นทรงพุ่มหนาทึบ
ใบ ออกเป็นช่อ เรียงสลับกัน ช่อใบมีใบย่อยประมาณ 5-9 คู่ ใบย่อยมีลักษณะรูปหอก โคนใบสอบเข้าหากัน ปลายใบเรียวแหลม ใบกว้างประมาณ 0.6 -1.2 นิ้ว ยาวประมาณ 2.5- 4 นิ้ว ใบมีสีเขียวเข้มเหมือนใบทองหลาง
ดอกออกเป็นช่อ ตามปลายกิ่ง มีลักษณะดอกขนาดเล็ก สีขาวนวล หรือ สีเหลืองอ่อน ดอกมีกลีบรองกลีบดอกขนาดเล็ก ประมาณ 4 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกัน มีกลีบดอกประมาณ 5 กลีบ กลีบด้านนอกมีขนสั้น สีน้ำตาลปนแดง ขึ้นประปราย มีเกสรตัวผู้ตรงกลางดอก ประมาณ 10 อัน
ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม สีเขียวเมื่ออ่อน สีเหลืองฉ่ำเมื่อสุก และมีสีน้ำตาล จนถึงดำตามลำดับเมื่อแก่และแห้ง เปลือกหุ้มมีลักษณะแข็ง ข้างในประกอบด้วยเมล็ด ผลหนึ่งมี 1 เมล็ดเท่านั้น ออกผลหลาบผลเป็นพวง ขนาดผลเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 0.6 นิ้ว
ส่วนมะคำดีควาย (ชนิด Sapindus trifoliatus L.) จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เช่นกันมีเรือนยอดของต้นหนาทึบ ลำต้นมักคดงอ มีความสูงของต้นประมาณ 10-30 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน แตกเป็นร่องลึกตามแนวยาว ยอดอ่อน และกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล
ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกัน ในช่อหนึ่งจะมีใบย่อยอยู่ประมาณ 2-4 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-14 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบเป็นสีเขียว
ดอกออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ โดยจะออกบริเวณปลายกิ่ง ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน ลักษณะของดอกเป็นดอกเล็กสีขาวนวล หรือ เป็นสีเหลืองอ่อนๆ ในหนึ่งดอกจะมีกลีบรองดอกขนาดเล็กประมาณ 4 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกัน และมีกลีบดอกประมาณ 5 กลีบ กลีบข้างนอกมีขนสั้นๆ สีน้ำตาลปนแดงขึ้นประปราย ส่วนบริเวณกลางดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ 10 ก้าน
ผลออกรวมกันเป็นพวง มีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ผลสดสีเขียว ผิวผลเรียบ หรือ อาจมีรอยย่นที่ผลบ้างเล็กน้อย เปลือกผลเมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ผลมีพู 3 พู และมักจะฝ่อไป 1-2 พู เนื้อในผลมีลักษณะเหนียว ใส เป็นสีน้ำตาล และมีรสหวาน ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมสีดำเป็นมัน เป็นเมล็ดที่มีเปลือกหุ้มแข็ง
การขยายพันธุ์มะคำดีควาย
มะคำดีควาย สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด โดยใช้เมล็ดแก่แช่น้ำประมาณ 1-2 คืน ก่อนนำไปเพาะเพื่อให้งอกได้เร็วขึ้น แล้วจึงนำไปเพาะในกระบะเพาะ หรือ ถุงเพาะชำ จากนั้นให้น้ำทุกๆ วันจนเริ่มงอก และเมื่อต้นกล้าโตและมีความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร จึงนำไปปลูกลงหลุมในพื้นที่ที่ต้องการ หรือ อาจจะใช้เมล็ดที่แช่น้ำแล้วไปหยอดลงหลุมที่ต้องปลูกเลยก็ได้
องค์ประกอบทางเคมี
มะคำดีควาย ทั้ง 2 ชนิด พบสาร hederagenin Quercetin, Quercetin -3 - a - A- arabofuranoside, ß - Sitosterol, Emarginatoside, O - Methyl-Saponin, Sapindus–Saponin
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของมะคำดีควาย
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะคำดีควาย
ชนิด S.rarak DC. ฤทธิ์ต้านเชื้อรา สารสกัดจากผลมะคำดีควาย ไม่ระบุตัวทำละลาย และสารสกัดน้ำจากผล มีฤทธิ์ต้านเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคผิวหนัง, Candida albicans และ Cryptococcus neoformans ด้วยวิธีทดสอบแบบ agar disc diffusion แต่มีฤทธิ์ต้านเชื้อดังกล่าวต่ำกว่ายา ketoconazole (1, 2) สารสกัดน้ำจากเปลือกผลที่ทำให้แห้งด้วยวิธีแช่แข็ง แล้วผสมลงในแชมพู ความเข้มข้น 5 มก./มล. ทำให้เส้นผมสะอาดและอาการคันศีรษะลดลง
ชนิด S.trifolialusL. ฤทธิ์ต้านเชื้อรา สารสกัดซาโปนินจากผลมะคำดีควาย มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา dermatophytes คือ Epidermophyton floccosum, Microsporum gypseum และ Trichophyton mentagrophytes ค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา (MIC) เท่ากับ 250 มคก./ล. และยังมีการทดลองของซาโปนินจากสารสกัดต้านเชื้อรา T. mentagrophytes และ E. floccosum ที่ค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา (MIC) เท่ากับ 25 มก./ล. และต้านเชื้อรา M. gypseum ที่ค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา (MIC) เท่ากับ 50 มก./ล. มีการทดลองทางคลินิกโดยใช้สารสกัดเอทานอล (70%) ทาภายนอก ขนาด 2% ในคน มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา
ฤทธิ์ลดการอักเสบ มีการทดลองทางคลินิกโดยใช้น้ำสกัดฉีดเข้าช่องท้องของคน พบว่ามีฤทธิ์ลดการอักเสบได้
ฤทธิ์แก้ปวด สารสกัดเอทานอลและน้ำ ในอัตราส่วน 1:1 กรอกเข้าทางกระเพาะอาหารของหนูถีบจักร พบว่าไม่มีฤทธิ์แก้ปวด
การศึกษาทางพิษวิทยาของมะคำดีควาย
การทดสอบความเป็นพิษพบว่า เมื่อฉีดสารสกัดด้วยเอทานอลและน้ำ (1:1) เข้าช่องท้องหนูถีบจักร ขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) คือ 17.8 มก./กก. ส่วนอีกการทดลองพบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่ามากกว่า 1 ก./กก.
โดยสารเคมีในผลมะคำดีควาย ที่เป็นพิษ คือ saponin, emerginatonede และ o-methyl-saponin มีรสเฝื่อน ขม และกลิ่นฉุน โดยจะออกฤทธิ์ทำลายเม็ดเลือดแดงได้ ถ้าเป็นผงแห้ง หากเข้าทางจมูกจะเกิดการระคายเคืองเยื่อบุจมูก
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ในการใช้ผลมะคำดีควายต้มแล้วใช้ชโลมผมเพื่อแก้ชันนะตุ ไม่ควรชโลมไว้นานเกินไปและควรระวังอย่าให้เข้าตาเพราะอาจทำให้แสบตา และทำให้ตาอักเสบได้และไม่ควรใช้บ่อย หรือ ใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป
- เมื่อใช้น้ำต้มผลมะคำดีควายชโลมผมแล้วควรล้างออกให้หมด เพราะอาจทำให้ผมร่วงได้
- ไม่ควรรับประทานผลมะคำดีควายเพราะ จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน มีอาการท้องร่วง ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารได้
- หากผงของมะคำดีควาย ซึ่งมีสารซาโปนินเข้าทางจมูก จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองและทำให้จาม ถ้าหากฉีดเข้าเส้นเลือดจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตก
เอกสารอ้างอิง มะคำดีควาย
- หนังสือสมุนไพร ในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “มะคำดีควาย”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 151.
- มะคำดีควาย ฐานข้อมูลสมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “มะคำดีควาย ”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 151.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “มะคำดีควาย Soapberry”. หน้า 183.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ประคำดีควาย”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 445-446.
- มะคำดีควาย, ส้มป่อย. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์อุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudruy.com/main.php?action=viewpage&pid=103
- ประคำดีควาย. กลุ่มยาลดไข้ ลดความร้อน.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี(ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plant_data/herbs/herbs_09_6.htm.
- ประคำดีควาย (Soapberry) สรรพคุณ และพิษประคำดีควาย. พืชเกษตรดอทคอม.เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com