พลับพลา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

พลับพลา งานวิจัยและสรรพคุณ 15 ข้อ

ชื่อสมุนไพร พลับพลา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กอม, หลาย, ลาย, หมากหอม, กะปกกะปู (ภาคเหนือ), คอมขม, คอมส้ม, ก้อมส้ม, มลาย (ภาคอีสาน), ขี้เถ้า (ภาคกลาง), พลองส้ม, คอมเกลี้ยง, มลาย (ภาคตะวันออก), พลาขาว, พลาลาย, พลา, น้ำลายควาย, จือมือแก (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Microcos tomentosa Smith
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Grewia affinis Hassk., G. paniculata G., blumei Hassk., G. cumingiana Turcz.
วงศ์ TILIACEAE

ถิ่นกำเนิดพลับพลา

พลับพลา เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย โดยมีเขตการกระจายพันธุ์คลอบคลุมในภูมิภาค เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นในประเทศ อินเดีย, ศรีลังกา, บังคลาเทศ, พม่า, ไทย, ลาว, เวียดนาม, กัมพูชา, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ รวมไปถึงทางตอนใต้ของประเทศจีนอีกด้วย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักจะพบในป่าเบญจพรรณชื้น ป่าแดง ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 50-300 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณพลับพลา

  • แก้หืด
  • ใช้เป็นบำรุงเลือดสตรี
  • ใช้เป็นยาระบาย
  • ใช้กระจายเลือด
  • รักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้
  • ใช้รักษาโรคงูสวัด
  • แก้ไทฟอยด์ (ในอินเดีย)
  • แก้ท้องเสีย (ในอินเดีย)
  • แก้อาการอาหารไม่ย่อย (ในอินเดีย และบังคลาเทศ)
  • รักษาแผลในปาก (ในอินเดีย)
  • แก้ไข้ (ในบังคลาเทศ)
  • รักษาอาการอักเสบ (ในบังคลาเทศ)
  • ใช้รักษาความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ (ในบังคลาเทศ)
  • แก้อาหารไม่ย่อย (ในไต้หวัน)
  • ยาขับพยาธิ (ในมาเลเซียและอินโดนีเซีย)

           ผลสุกพลับพลา ใช้รับประทาน ส่วนผลดิบใช้เป็นของเล่นเด็กในสมัยโบราณที่เรียกว่า “บั้งโผ๊ะ” หรือ “ฉับโผง” น้ำมันจากยางของเปลือกต้นสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง เปลือกต้นมีการนำมาใช้ทำเชือก และเนื้อไม้ก็มีการนำมาใช้ทำเป็นเครื่องเรือนต่างๆ ใบก็มีการนำมาใช้สวนยาสูบได้อีกด้วย

พลับพลา

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้บำรุงเลือดในสตรี โดยนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้เข้ากับยาชนิดอื่นๆ ก็ได้ ใช้แก้หืด ด้วยการใช้แก่นพลับพลา มาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ผสมกับแก่นจำปา แก่นโมกหลวง ลำต้นกำแพงเจ็ดชั้น พลองเหมือด สบู่ขาว และคำรอก แล้วนำมาต้มกับน้ำดื่ม ก็ได้ ใช้กระจายเลือดลมใช้เป็นยาระบาย โดยนำผลแก่ หรือ ผลสุกมารับประทานสด ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้ โดยนำลำต้น หรือ เปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้รักษาโรคงูสวัด โดยนำใบมาตำให้ละเอียดพอกบริเวณที่เป็น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ใช้ใบมาย่างไฟแล้วต้มน้ำดื่มเป็นยาขับพยาธิ


ลักษณะทั่วไปของพลับพลา

พลับพลา จัดเป็น ไม้ยืนต้น หรือ ไม้พุ่มขนาดกลาง (อาจพบพูพอนได้ในบางต้น) ลำต้นแตกล่อนเป็นสะเก็ดบางๆ ตั้งตรง สูงได้ถึง 15 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้มจนออกดำ เปลือกในสีชมพู มีเส้นใยเรียงตัวเป็นชั้น กิ่งอ่อน มีขนรูปดาวหนาแน่น ใบเป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ หรือ วงรีแกมรูปขอบขนาน มีขนาดกว้าง 4-10 เซนติเมตร และยาว 8-190 เซนติเมตร โคนใบสอบมน ปลายใบแหลมเป็นติ่ง หรือ เว้าแหว่งเป็นริ้ว ขอบใบเป็นหยักแบบฟันเลื่อย ไม่เป็นระเบียบ แผ่นใบมีลักษณะคล้ายกระดาษ หรือ อาจคล้ายกับแผ่นหนังด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างสีอ่อนกว่า บริเวณแผ่นใบมีขนรูปดาวขึ้นอยู่ทั้งสองด้าน แต่ด้านล่างจะมีหนาแน่นกว่า และมีเส้นแขนงใบอยู่ข้างละประมาณ 4-9 เส้น และมีเส้นใบย่อยจะคล้ายกับขั้นบันได ส่วนก้านใบมีขนขึ้นปกคลุมและมีความยาว 0.5-1 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อกระจุกแยกแขนง บริเวณซอกใบ หรือ ปลายกิ่ง ช่อดอกจะมีความยาวประมาณ 3-15 เซนติเมตร โดยใน 1 ช่อจะมีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกเมื่อยังตูมจะมีลักษณะกลม เป็นสีเหลือง มีใบประดับเป็นรูปแถบ หรือ เป็นรูปใบหอก มีขนอยู่หนาแน่น มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบแยกออกจากันเป็นอิสระ ลักษณะคล้ายรูปช้อน และมีขนอยู่ทั้งสองด้าน มีความกว้าง 2 มิลลิเมตร และยาว 6-7 มิลลิเมตร เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบดอกทั้ง 5 กลีบ จะแยกออกจากกันเป็นอิสระ โดยกลีบดอกจะมีลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอกมีขนสั้นๆ อยู่ทั้งสองด้าน มีความกว้าง 0.5-1.5 มิลลิเมตร และยาว 1.5-3 มิลลิเมตร ที่โคนกลีบด้านในมีต่อมลักษณะเป็นรูปรี ผลเป็นรูปกลม หรือ รูปไข่กลับ มีผนังผลคล้ายแผ่นหนังด้านในแข็ง กว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 1.5 เซนติเมตร เมื่อยังอ่อนผลมีสีเขียวเมื่อแก่สีเหลือง เมล็ด ด้านในผลมี 1 เมล็ด ทรงกลมลักษณะแข็ง ผลสุกรับประทานได้

พลับพลา

พลับพลา

การขยายพันธุ์พลับพลา

พลับพลาสามารถขยายพันธุ์ได้โดย การใช้เมล็ด และการตอนกิ่ง แต่ส่วนมากแล้วการขยายพันธุ์พลับพลาจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติ โดยอาศัยผลสุกร่วงหล่น หรือ ปลิวไปตามกระแสลม แล้วงอกเป็นต้นขึ้นมาใหม่ ไม่ค่อยมีการนิยมนำพลับพลา มาปลูกไว้ตามบ้านเรือน หรือ เรือกสวน ไร่นา เนื่องจากมีขนาดความสูงมาก และกิ่งก้านค่อนข้างเปราะหักง่าย สำหรับวิธีการเพาะเมล็ด และการปลูกพลับพลานั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและปลูกไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนราก และเปลอกต้นของพลับพลา ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น friedelin, syringaldehyde, stigmasterol, scopoletin, sitosterol, 3 -friedelinol, oleanolic acid, 6 -O-hexadecanoyl-D-glucosyl-sitosterol, 3 -O-trans-ferulyl-2, 23-dihydroxy-olean-12-en-28-oic acid, vanillin, mellein, 3β-taraxerol, 7-hydroxycadalene

โครงสร้างพลับพลา

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของพลับพลา

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดพลับพลา ากส่วนราก และลำต้นในต่างประเทศ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่น่าสนใจหลายประการ เช่นมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านอาการท้องร่วง และมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง นอกจากนี้สารกลุ่ม taraxerol ที่พบในสารสกัดจากส่วนรากของพลับพลา ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อจุลชีพ ต้านการอักเสบ ต้านเบาหวานและป้องกันโรคในระบบประสาท ได้อีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของพลับพลา

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้พลับพลา เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคนั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้

เอกสารอ้างอิง พลับพลา
  1. มัณฑนา นวลเจริญ. พรรณไม้ป่าชายหาด. ปทุมธานี. สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2552
  2. ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
  3. พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ. ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 16: พืชให้สารกระตุ้น. พิมพ์ครั้งที่ 2. กทม. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2544. หน้า 179
  4. พลับพลา .ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=243
  5. R.C.K. Chung, E. Soepadmo. 2005. A Synopsis of the Bornean Species of Microcos L. (Tiliaceae). Gardens’s Bulletin Singapore.
  6. Smitinand, T. and Larsen, K., eds. 1993. Flora of Thailand (Vol.6: 1). Bangkok: The Rumthai Press.
  7. R.C.K. Chung, E. Soepadmo. 2011. Taxonomic revision of the genus Microcos (Malvaceae-Grewioideae) in Peninsular Malaysia and Singapore Blumea. Pages 273-299.